- Details
- Category: การแพทย์-สธ
- Published: Thursday, 04 July 2024 19:20
- Hits: 9325
วว. ผนึกกำลัง จุฬาฯ พันธมิตรภาคเอกชน ขับเคลื่อนธุรกิจ BCG เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง /ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติก เสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้ผู้บริโภค
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับเครือข่ายพันธมิตรสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาคเอกชน ผ่านการดำเนินงานหลักโดย ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. ในกรอบเป้าหมายดำเนินงานสำคัญของ วว. คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อันเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม และขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ไปใช้ในการสนับสนุนส่งเสริมและร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเชิงบูรณาการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจ BCG ของไทย ให้มีความยั่งยืนและแข่งขันได้ระดับโลก ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี ดังนี้
1) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับ ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายณัฐภพ ภูริเดช กรรมการบริษัท วีก้า เวลเนส จำกัด โดยมีระยะเวลาดำเนินงานร่วมกัน 5 ปี เพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advance Therapy Medicinal Product, ATMP) และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อสุขภาพของประชากรและธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ขององค์กรและประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพสูงขึ้น รวมทั้งบูรณาการทำงานและลดข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน ยกระดับมาตรฐาน ATMP ของไทยให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานของสากล นำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติอย่างแท้จริง
2) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับ นายต่อลาภ ไชยเชาวน์และนางสาวสุวารินทร์ ก้อนทอง กรรมการ บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค จำกัด (มหาชน) นายแพทย์เดโชวัต พรมตาและนางสาวแพร ภัทรสกล กรรมการ บริษัท พรีซิชั่น เอ็กซ์ จำกัด ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีอาหาร ด้านการแพทย์และสุขภาพ ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยจะเริ่มต้นในการร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติก เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งผลักดันให้เกิดการบูรณาการส่งเสริมศักยภาพ กระบวนการผลิตและการให้บริการอย่างมี มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือของ วว. และพันธมิตรทั้ง 4 หน่วยงาน ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ อีกทั้งยังจะส่งผลดีต่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการนำงานวิจัยพัฒนาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทำให้ศักยภาพขององค์กรสมดุลยิ่งขึ้น และเป็นส่วนสำคัญร่วมกันในการเติมเต็มการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ทันสมัยของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
คณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะฯ มุ่งการวิจัยด้านนวัตกรรมมากขึ้น และมีงานวิจัยที่มีคุณภาพ ดังนั้นความร่วมมืออย่างเป็นทางการครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สะท้อนความมุ่งมั่นดำเนินงานร่วมกันของพันธมิตรในการสร้างประโยชน์และทำให้เกิดนวัตกรรมทางการแพทย์ เกิดผลผลิตต่อสังคมในวงกว้าง ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้น
กรรมการบริษัท วีก้า เวลเนส จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นและพร้อมให้ความร่วมมือกับทุกส่วนในสังคม เพื่อให้นำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือนี้เราจะช่วยเร่งให้เกิดผลงานออกมาเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
นายต่อลาภ ไชยเชาวน์ กรรมการ บริษัท ดีโอดี ไบโอเทคฯ กล่าวว่า มีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีคุณภาพ เชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิดงานวิจัย ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์เดโชวัต พรมตา กรรมการ บริษัท พรีซิชั่น เอ็กซ์ฯ กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความยั่งยืนด้าน Medical Hub ของประเทศ สนับสนุนส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจด้านสุขภาพ
7123