- Details
- Category: อาชีวะ
- Published: Saturday, 11 March 2023 21:53
- Hits: 2050
อาชีวะ จับมือ 'วช.' บ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ ยกระดับกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง
ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมเป็นเกียรติและบรรยายพิเศษ ในงาน ‘กิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา Smart Invention & Innovation’ ประจำปี 2566 ภาคใต้ โดยมีดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานในพิธีเปิด
โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2566 ดำเนินการโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนักเรียน นักศึกษา และครูผู้สอน ในสังกัด สอศ. ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ณ แก้วสมุยรีสอร์ท จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า ตามที่ สอศ. ได้กำหนดวิสัยทัศน์ ‘ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ’ นั้น กระบวนการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยที่ผ่านมา สอศ.ได้ดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการยกระดับผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ในมิติต่างๆ ทั้งในเชิงชุมชน สังคม
ตลอดจนการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นเลิศ ของผู้เรียนทั้ง Hard Skills และ Soft Skills กล่าวคือ ทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านวิชาการ และด้านการดำเนินชีวิต อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับผู้เรียนอาชีวศึกษาสู่การเป็นผู้เรียนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงอาชีวศึกษา
เลขาธิการ กอศ.กล่าวเน้นย้ำต่อว่า สอศ.มีความมุ่งหวังให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อยอดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ทั้งในมิติเชิงกว้างและเชิงลึก โดยคำนึงถึงการพัฒนาผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่และสาขาวิชาที่มีความแตกต่างหลากหลายได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมช่าง อุตสาหกรรมเกษตรนวัตกรรม อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ ฯลฯ อันจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ทั้งนี้ สอศ.และ วช. จึงได้ร่วมจัดวางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
โดยมีรูปแบบในการจัดกิจกรรมบ่มเพาะในการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การเปลี่ยนขยะให้เป็นสินค้าด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม Creative Thinking for Creative Innovation เทคนิคการนำเสนอผลงาน พร้อมกันนี้ได้มีกิจกรรมแบ่งกลุ่มการฝึกปฏิบัติ ตามเรื่องผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ดังนี้
1.ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2.ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
3.ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ
4.ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ
5.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติฝมาให้ความรู้ ความเข้าใจ การสร้างแรงบันดาลใจกับนักศึกษาอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคน ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 12 ประเทศไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต โดยเพิ่มกำลังคนคุณภาพรองรับภาค การผลิตเป้าหมาย และพัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ศูนย์ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษา