- Details
- Category: ศิลปวัฒนธรรม
- Published: Monday, 19 February 2024 22:38
- Hits: 11531
‘มูลนิธิอมตะ’ จัดพิธีมอบรางวัล ‘นักเขียนอมตะ’ ครั้งที่ 9 และ 10 เชิดชูเกียรติ อัศศิริ ธรรมโชติ นักเขียนผู้สร้างสมดุลระหว่างชนชั้นในสังคม และ ‘โบตั๋น’ สตรีผู้สะท้อนปัญหาสังคมร่วมสมัย
ประธานมูลนิธิอมตะ “วิกรม กรมดิษฐ์” มอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ครั้งที่ 9 /63 และ ครั้งที่ 10/66 เชิดชูเกียรติให้ อัศศิริ ธรรมโชติ และ สุภา สิริสิงห หรือ “โบตั๋น” สองนักเขียนต้นแบบ เจ้าของวรรณกรรมอันทรงคุณค่าที่สร้างสรรค์สังคมไทย ณ มูลนิธิอมตะ อาคารกรมดิษฐ์ ชั้น 6
นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ (AMATA FOUNDATION ) เปิดเผยว่า ทางมูลนิธิอมตะได้จัดงานพิธีมอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ประจำปี 2563 และ 2566 พร้อมมอบโล่รางวัล และเงินรางวัล จำนวนคนละ 1,000,000 บาท ให้แก่ นายอัศศิริ ธรรมโชติ ผู้ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 9 ประจำปี 2563 และนางสุภา สิริสิงห หรือ “โบตั๋น” ผู้ได้รับรางวัลนักเขียนอมตะ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2566 โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาวรรณกรรม พิจารณาเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ภายใต้หลักเกณฑ์ในการพิจารณา ประกอบด้วย ต้องเป็นนักเขียนสัญชาติไทย มีชีวิตอยู่ในวันที่เสนอชื่อ และมีผลงานเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องเป็นภาษาไทย รวมถึงต้องเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าสร้างสรรค์สังคมและมวลมนุษยชาติ
อัศศิริ ธรรมโชติ เป็นทั้งนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ผลงานทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย และวรรณกรรมเยาวชน สะท้อนความเข้าใจโลกและชีวิตเป็นอย่างดี เน้นความเป็นมนุษย์ได้อย่างเข้มข้นทั้งในแง่มุมของนักข่าวและนักเขียน ทำให้ผู้อ่านมีจิตสำนึกอันดีงาม เป็นการยกระดับจิตใจมนุษย์ และลดช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคม ทั้งเป็นตัวอย่างของเรื่องสั้นที่มีสุนทรียภาษา อันแสดงพลังภาษาไทยได้ดียิ่ง มีผลงานมากกว่า 20 เล่ม รวมเรื่องสั้น “ขุนทอง...เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2524 และได้รับการประกาศเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2543
ส่วนสุภา สิริสิงห หรือ “โบตั๋น” เป็นนักเขียนสตรีผู้สะท้อนมุมมองปัญหาสังคมร่วมสมัย เช่น ปัญหาคนรากหญ้า ปัญหาเด็กและวัยรุ่น ปัญหาผู้หญิง ผลงานมีทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนนับ 100 เรื่อง ได้รับการกล่าวขาน และเป็นที่นิยมของผู้อ่าน จนมีการพิมพ์ซ้ำ และมีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เช่น ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด, ทองเนื้อเก้า, ตราไว้ในดวงจิต, โดยผลงานหลายเรื่องได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ เช่น นวนิยายเรื่องจดหมายจากเมืองไทย (2512) ได้รับรางวัล ส.ป.อ. (สนธิสัญญาป้องกันเอเชียอาคเนย์) และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากกว่า 10 ภาษา ได้รับการประกาศเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี 2542
รางวัลนักเขียนอมตะ ถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ อันเปี่ยมด้วยคุณค่า มาตรฐาน และคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ อิสระ เชิดชูเกียรติประวัตินักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฏ และถือเป็นรางวัลที่สร้างขวัญและกำลังใจแก่นักเขียนไทยที่ทุ่มเท และอุทิศตน เพื่อผลงานทรงคุณค่าควรแก่การนำมาเผยแพร่สู่สาธารณชน ในระดับสากล มูลนิธิได้ประกาศเชิดชูเกียรตินักเขียนอมตะแล้ว 9 ราย ได้แก่ นายศักดิชัย บำรุงพงศ์ นามปากกา “เสนีย์ เสาวพงศ์”, นายโรจ งามแม้น นามปากกา “เปลว สีเงิน”, นายโกวิท เอนกชัย นามปากกา “เขมานันทะ”, นายสมบัติ พลายน้อย นามปากกา “ส.พลายน้อย”, พระไพศาล วิสาโล, นายคำสิงห์ ศรีนอก นามปากกา “ลาว คำหอม”, นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ นามปากกา “พนมเทียน”, นายอาจินต์ ปัญจพรรค์ และนางสุกัญญา ชลศึกษ์ นามปากกา “กฤษณา อโศกสิน”
อนึ่ง ในปี 2564 และ 2565 มูลนิธิได้ยกเว้นการมอบรางวัลอมตะไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด
2638