WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8852 ข่าวสดรายวัน


สปช.บี้สอบมหาเถร ส่อบาน สงฆ์นัดระดมโต้ 
ระบุการเมืองก้าวก่ายศาสนา'ไพบูลย์'ฉะมส.-อุ้มธัมมชโย ม็อบฮือบุกวัดปากน้ำภาษีเจริญ


ข้องใจ - พุทธอิสระนำลูกศิษย์มาขอคำชี้แจงมติมหาเถรสมาคม กรณีให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พ้นผิดปาราชิก ท่ามกลางเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 21 ก.พ.

      สปช.ลุยยื่นสอบเอาผิด มส.ยันพระธัมมชโยปาราชิกแล้ว อ้างมส.เป็นหน่วยงานรัฐ-กรรมการเป็นจนท.รัฐ จึงตรวจสอบได้เล็งสอบวัดพระธรรมกายด้วย ปมรับเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เผยมติเรื่องนี้มีปัญหาแน่ ระบุพระธัมมชโยคืนทรัพย์สินให้วัดแล้วไม่ต้องปาราชิกเป็นคนละเรื่องกัน ยันเมื่อกระทำไปแล้วต้องขาดจากพระทันที ขณะที่สนช.ก็ออกโรงบี้ 'มส.'ทำตามพระลิขิตพระสังฆราช จี้สังคายนาคำสอนให้ถูกต้อง ลงโทษพระทำผิด-ต้องคดี ด้านพุทธอิสระนำมวลชนบุกวัดปากน้ำภาษีเจริญ เผยที่ผ่านมามส.ไม่เคยสอบพระธัมมชโย ให้มวลชนคว่ำบาตรมหาเถร คณะสงฆ์ถัดถกใหญ่ จี้บิ๊กตู่-เทือนฉาย ยกเลิกคกก.ปฏิรูปพุทธศาสนา ยันไม่ควรเอาคนสุดโต่ง-ฝ่ายปฏิปักษ์มาแก้ไข แนะสปช.ให้ตรวจสอบพระสุเทพ-พุทธอิสระ-สันติอโศกด้วย
     จากกรณีคณะกรรมาธิการการศาสนาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เชิญผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าชี้แจงตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีพระลิขิต ลงวันที่ 26 เม.ย.2542 ชี้ว่าพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะ ทำให้มหาเถรสมาคม (มส.) นัดประชุมพิจารณากรณีดังกล่าว ก่อนมีมติพระธัมมชโยไม่ต้องปาราชิก เพราะไม่ได้ละเมิดพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชเมื่อ ปี 2542 และโอนที่ดินที่รับบริจาคในนามส่วนตัวให้วัดทั้งหมดแล้ว เมื่อสอบสวนไม่พบเจตนายักยอก อีกทั้งผู้ที่ยื่นฟ้องคดีก็ถอนฟ้องและอัยการก็สั่งยุติคดี จนกระทั่งคณะสงฆ์คืนตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายให้ และเลื่อนสมณศักดิ์เมื่อปี 2549 ตามที่เคยเสนอข่าวไปนั้น
      ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า มติมหาเถรสมาคมในเรื่องนี้จะต้องถูกตรวจสอบ เพราะขัดแย้งกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชปี 2542 ที่รับรองโดยมติของมหาเถรสมาคมเอง ดังนั้นการมีมติไปหักล้างกับมติเมื่อปี 2542 เป็นการใช้มติที่ประชุมของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ที่มีมติคือกรรมการมหาเถรสมาคม ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งในกฎหมายยังเขียนด้วยว่ามติจะมีผล ต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยด้วย มติดังกล่าวจึงต้องถูกตรวจสอบว่ามีการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่ามตินี้มีปัญหาแน่นอน เมื่อมีปัญหาออกมามหาเถรสมาคมก็ต้องมีปัญหาที่จะต้องถูกตรวจสอบด้วย 
      "สำหรับมติของมหาเถรสมาคมในเรื่องนี้ที่ระบุว่าไม่ขัดกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช แต่ส่วนตัวดูอย่างไรก็ขัด อีกประการคือระบุว่าพระธัมมชโยคืนทรัพย์สินให้วัดหมดแล้ว ไม่มีเจตนาถือไว้ จึงไม่ต้องปาราชิก กรณีนี้ถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะการเอาทรัพย์สินที่เป็นของวัดมาใส่ชื่อของตัวเอง ถือว่าขาดจากความเป็นพระแล้ว ยกตัวอย่างพระที่เสพเมถุน แม้ไม่ผิดกฎหมายก็ปาราชิก เรื่องเอาทรัพย์สินมาเป็นของตัวเอง แม้สุดท้ายเจ้าของทรัพย์จะ ยอมความไม่เอาผิด ทางโลกถือว่าพ้นผิด แต่ในทางธรรมถือว่าปาราชิกตั้งแต่มีเจตนามาใส่ชื่อตัวเอง" นายไพบูลย์กล่าว
     นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระลิขิตอีกฉบับเมื่อปี 2542 ระบุว่าพระธัมมชโยได้ปาราชิกไปแล้ว เพราะบิดเบือนคำสอนของพระพุทธศาสนา ทำให้สงฆ์แตกแยก ซึ่งมติของมหาเถรสมาคมที่ออกมาเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่ได้ระบุถึงเรื่องนี้ โดยพระลิขิตฉบับวันที่ 10 พ.ค.2542 ลิขิตชัดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย การที่ทรงใช้คำนี้ เพราะเห็นว่าพระธัมมชโยขาดจากความเป็นพระไปแล้ว การปาราชิกก็มีผลทันทีตั้งแต่ตอนนั้น 
      "ส่วนขั้นตอนการตรวจสอบมหาเถรสมาคมนั้น จะเป็นการตรวจสอบในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนการตรวจสอบพระธัมมชโย คณะกรรมการจะดูไปถึงพฤติกรรมที่ไปรับเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่ไปฉ้อโกงเงินของประชาชนและรับเงินไปนานแล้ว เมื่อมีเรื่องร้องเรียนในศาลก็ไปพูดว่า ไม่รู้จักกับอดีตประธานสหกรณ์ แต่ยังถือไว้อีก ทำให้เราจะตรวจสอบ ในฐานะตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีปัญหาทำให้ต้องถูกตรวจสอบ" นายไพบูลย์กล่าว
    ที่รัฐสภา นายภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา อนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เยาวชนในหลายภาคส่วนมีความกังวลและสับสนในวิธีสอนและคำสอนในพุทธศาสนาที่แปลกประหลาดออกไปในรูปแบบต่างๆ เสมือนการแสดงโชว์และจัดอีเวนต์ เช่น การเผยแพร่ของวัดพระธรรมกายและผู้ใหญ่ในสังคม นักธุรกิจ นักการเมือง ที่หันเหไปสนับสนุนและให้ความนับถือในคำสอนที่อาจบิดเบือน ผิดแปลกและโชว์อีเวนต์ธุดงค์ที่ค่อนข้างแปลกประหลาด ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการที่รับผิดชอบด้านสังคม เด็กและเยาวชน จึง อดเป็นห่วงไม่ได้ พร้อมขอเสนอต่อกมธ.และทุกองค์กรที่รับผิดชอบในด้านการสังคมและศาสนา ทำความชัดเจนให้ปรากฏ
    นายภูมิสรรค์ กล่าวต่อว่า โดยขอเสนอให้มหาเถรสมาคมทำตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ให้ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีพระธัมมชโย วัดพระธรรมกายว่าปาราชิกหรือไม่ ถ้าปาราชิกทำไมมหาเถรสมาคมปล่อยปละละเลยมาถึงปัจจุบัน พร้อมขอให้ส่วนที่เกี่ยวข้องสังคายนาคำสอนในพุทธศาสนา ให้ถูกต้องและตรงกันตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ขอให้ลงโทษขั้นเด็ดขาดกับพระที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ผิดหรือต้องคดีต่างๆ ให้ดำเนินไปโดยความรวดเร็วเป็นธรรมตามกฎหมาย ขอให้มหาเถรฯชะลอการเสนอแต่งตั้งสมณะ พระที่ต้องหาหรือติดคดีความต่างๆ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด และให้มีพ.ร.บ.ควบคุมสมบัติของวัดและที่ดินวัดให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการทุจริตมิชอบของพวกแสวงหาผลประโยชน์ โดยตนหวังไว้กับคณะรักษาความสงบแห่งขาติ (คสช.) และรัฐบาลในยุคนี้ว่าจะทำสำเร็จและเป็นรูปธรรมปราศจากการแทรกแซง
      วันเดียวกัน เมื่อเวลา 13.00 น. ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม พร้อมลูกศิษย์และมวลชนจำนวนมาก นำตะกร้าขนาดใหญ่บรรจุดอกไม้จันทน์ เสื้อผ้า รองเท้า ธูปเทียน สากกะเบือ กางเกงในและอุปกรณ์ยังชีพ มาถวายสังฆทานให้กับกรรมการมหาเถรสมาคม โดยพุทธอิสระเข้าพบพระพรหมโมลี (สุชาติ ธัมมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะประธานคณะเลขานุการผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อสอบถามและต้องการรับฟังการชี้แจงกรณีมีมติพระธัมมชโยไม่ต้องปาราชิก โดยใช้เวลาประมาณ 1 ช.ม.
     พุทธอิสระ กล่าวว่า วันนี้มาวัดปากน้ำเพื่อมาถาม 4-5 เรื่อง คือ 1.มติมหาเถรสมาคมที่ออกมายึดเอามติสำคัญกว่าพระธรรมวินัยใช่หรือไม่ 2.พระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชถือว่าเป็นกฎหมายหรือไม่ และถ้าไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ 3.มหาเถรสมาคมวินิจฉัยพระธัมมชโยว่าไม่อาบัติปาราชิก ในฐานะที่ยักยอกทรัพย์แล้วคืนทรัพย์ ถือว่าใช้เป็นบรรทัดฐานในการปกครองคณะสงฆ์ต่อไปใช่หรือไม่ 4.เมื่อสมเด็จพระสังฆราช มีพระลิขิตว่าธัมมชโยปาราชิก แต่มติมหาเถรสมาคมระบุว่าไม่ปาราชิก เมื่อไม่เป็นความจริงสมเด็จพระสังฆราชต้องอาบัติสังฆาทิเสสหรือไม่เพราะเป็นผู้โจทก์อาบัติ 
    พุทธอิสระ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามหาเถรสมาคมเคยเรียกพระธัมมชโยมาสอบสวนหรือไม่ คำตอบคือไม่เคย แต่ได้รับรายงานจากเจ้าคณะตามลำดับชั้นเท่านั้นแล้วนำมาวินิจฉัย เมื่อมติไม่ถูกต้องตามหลักธรรมวินัย เพราะผู้สอบไม่ได้เรียกผู้กระทำผิดมาสอบ แต่กลับมาวินิจฉัยว่าไม่ผิด ซึ่งมีศาลที่ไหนในโลกบ้าง ไม่เคยเรียกจำเลยมาถาม แต่ก็บอกว่าไม่ผิด โดยเชื่อพยานเอกสารเฉยๆ นี่คือการทำงานของมหาเถรสมาคม
     "การทำงานของมหาเถรสมาคมต้องมีบุคลากรขึ้นมาทำหน้าที่แทน และให้มหาเถรสมาคมขึ้นไปนั่งแท่นให้คนกราบไหว้เฉยๆ โดยบุคลากรที่มาทำงานแทนต้อง เป็นบุคคลที่ชำนาญเฉพาะ ด้านการบริหาร การปกครอง ตุลาการ การศึกษา การ สาธารณูปโภค ให้เข้ามาเป็นกรรมการร่วมการปกครองและบริหารสังฆมณฑลร่วมกับคณะสงฆ์ ส่วนบุคลากรให้ขยับไปเป็นที่ปรึกษา"พุทธอิสระกล่าว
     พุทธอิสระกล่าวอีกว่า ท่าทีหลังจากนี้ ขอเรียกร้องให้มวลชนช่วยกันคว่ำบาตรกรรมการมหาเถรสมาคม โดยอย่าคุย อย่าพูด อย่าไหว้ อย่าให้ข้าวให้น้ำ อย่านิมนต์ อย่ามอง และอย่าเทิดทูนบูชา จนกว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใส่ใจพระธรรมวินัยมากกว่าพวกพ้อง ซึ่งการคว่ำบาตรสามารถทำได้ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนไว้เป็นการดัดสันดานพระสงฆ์หรือฆราวาส 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังพุทธอิสระพูดคุยและถวายสังฆทานให้กรรมการมหาเถรสมาคมผ่านตัวแทนวัดปากน้ำแล้ว ได้พามวลชนและลูกศิษย์เดินทางกลับทันที โดยมีกำลังตำรวจสน.ภาษีเจริญ และทหารกว่า 30 นาย คอยดูแลความสงบเรียบร้อย
     ด้านนายสมเกียรติ ธงศรี ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมกล่าวหลังร่วมรับฟังข้อคิดเห็นของพุทธอิสระว่า เบื้องต้นพระพรหมโมลีรับฟังข้อเสนอแนะของพุทธอิสระ พร้อมตอบคำถามที่พุทธอิสระสอบถาม เกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย รวมถึงมติมหาเถรสมาคมต่างๆ นอกจากนี้พระพรหมโมลีเสนอแนะพุทธอิสระไปว่าหากจะร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทำหนังสือตามขั้นตอนการปกครองคณะสงฆ์ส่งมายังมหาเถรสมาคม ซึ่งพุทธอิสระได้ตอบว่า คงไม่ทำหนังสือ เพราะครั้งนี้มาร้องเรียนด้วยวาจาเท่านั้น
    ขณะที่นายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายฝ่ายถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์มหาเถรสมาคมไปในทางเสียหาย ดังนั้นจะขอชี้แจงข้อมูลโดยไล่เรียงตามลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย เมื่อปี 2542 หรือกว่า 16 ปีมาแล้วให้ประชาชนได้เข้าใจและรับทราบข้อเท็จจริง โดยในวันที่ 26 เม.ย.2542 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระลิขิต ซึ่งพระลิขิต (ข้อคิดเห็น) มิใช่พระบัญชา (คำสั่ง) ออกมา โดยมีใจความว่า "ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำสอน โดยกล่าวหาว่า พระไตรปิฎกบกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไป กลายเป็นสอง มีความเข้าใจ ความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำให้สงฆ์แตกแยก เป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก
    ส่วนที่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที (5 เม.ย.2542) ไม่คิดให้มีโทษ เพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ให้ว่า ในขั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคืนสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้อง พ้นจากความเป็นสมณะ โดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับ ผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา" ลงพระนาม สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 เม.ย.2542
      นายสมชาย กล่าวต่อว่า จากนั้นมีการนำพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชฉบับดังกล่าว เข้าสู่การประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ 15/2542 ในวันที่ 26 เม.ย.2542 เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่สมเด็จ พระสังฆราชทรงมีพระดำริเกี่ยวกับสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้กรมการศาสนา ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ยกร่างเกี่ยวกับการถือกรรมสิทธิ์และการถือครองที่ดินของวัดขึ้น ต่อมาวันที่ 9 พ.ค.2542 วัดพระธรรมกายมีหนังสือเลขที่ วธก.1260/260 เรื่องการแสดงเจตนาเรื่องที่ดิน ถึงอธิบดีกรมการศาสนา โดยสิ่งที่แนบมาด้วยมีหนังสือแสดงเจตนา และสำเนาโฉนดที่ดิน มีใจความว่าด้วยมหาเถรสมาคมมีการประชุมตามวาระในวันที่ 10 พ.ค.2542 และมีเรื่องเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการถือครองทรัพย์สินของพระภิกษุนั้น อาตมภาพขอนำหนังสือแสดงเจตนา เรื่องที่ดินที่แนบมาพร้อมหนังสือฉบับนี้ ขอให้อธิบดีนำเสนอต่อมหาเถรสมาคม เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย ลงนาม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
     โฆษกสำนักพุทธฯ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 10 พ.ค.2542 กรมการศาสนานำหนังสือที่วัดพระธรรมกายเสนอมหาเถรสมาคมได้รับทราบ ซึ่งมหาเถรสมาคมรับทราบ และให้กรมการศาสนาร่วมกับเจ้าคณะภาค 1 ติดตามกรณีอื่นๆ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยพิจารณาว่า ถ้ามีเจตนาโกงจะมีความผิดตามพระธรรมวินัย แต่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมีหนังสือแสดงเจตนาคืนที่ดิน ซึ่งแสดงว่าไม่ได้มีเจตนาเอาที่ดินเป็นของตนเอง ในขณะเดียวกันได้มีโจทก์ไปยื่นฟ้องอาญา เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยักยอกที่ดินและปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ทางมหาเถรสมาคมในขณะนั้นได้ยึดแนวปฏิบัติ โดยอาศัยกฎนิคหกรรม ข้อที่ 12 (ง) ถ้าเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล คณะสงฆ์จะยังไม่รับคำฟ้อง แต่คณะสงฆ์จะอำนวยความสะดวกแก่บ้านเมือง โดยสั่งพักตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งมีการไต่สวนนานถึง 5 ปี ต่อมาในปี 2547 ศาลได้สั่งอัยการถอนฟ้อง ตามที่ผู้กล่าวหาถอนฟ้อง คดีจึงยุติ มหาเถรสมาคมจึงอาศัยกฎที่ 24 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ คืนตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายในปี 2549
    ส่วนบรรยากาศที่วัดพระธรรมกาย เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีศิษยานุศิษย์เดินทางมาทำบุญถวายภัตตาหารให้แก่พระภิกษุจำนวนมาก ขณะที่พระภิกษุยังคงปฏิบัติกิจตามปกติ โดยทั้งพระสงฆ์และศิษย์วัดธรรมกายมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่ไม่ได้พูดถึงผลการประชุมของมหาเถรสมาคมแต่อย่างใด
     ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสภาหน้าโดมจัดเสวนาทางวิชาการบรรยายสาธารณะ เรื่องศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้ โดยมีนายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการประวัติศาสตร์ ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นักวิชาการชื่อดัง และศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการ ร่วม ภายในงานมีนักประวัติ ศาสตร์ชื่อดัง นักศึกษา ประชาชนและภิกษุสงฆ์ ให้ความสนใจเข้ารับฟังบรรยายจำนวนมาก
    โดยศ.นิธิกล่าวตอนหนึ่งว่า ถึงช่วงสมัยนักบวชจะถูกยกเป็นชนชั้นนำทางสังคม คนสมัยก่อนเรียนรู้จากวัด แต่เมื่อมีการตั้งกระทรวงศึกษาธิการขึ้นมา พระจึงถูกดึงออกไปจากการศึกษา ส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจของศาสนาที่มีต่อการปกครองลดหายไป ซึ่งถือเป็นการลิดรอนอำนาจคณะสงฆ์ที่ร้ายแรงที่สุด ทุกวันนี้บทบทาทของมหาเถรสมาคมในสังคมได้หมดลง พูดอะไรไปก็ไม่มีใครฟัง ดังนั้นการจะรื้อฟื้นบทบาทของพระสงฆ์ จึงเป็นหน้าที่ของบุคคลหรือสำนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สันติอโศก ธรรมกาย หรือว.วชิรเมธี ขณะที่อำนาจของรัฐเข้มแข็งขึ้นทุกวัน และมีแนวคิดใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือ เช่น การผลักดันพ.ร.บ.ปกป้องพระพุทธศาสนา เพื่อกำหนดบทลงโทษผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนา ซึ่งการใช้อำนาจรัฐคุ้มครองพุทธศาสนานี้ จะส่งผลให้พุทธศาสนาหมดความศักดิ์สิทธิ์ ความสำคัญ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และถูกต่อต้าน
    พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า ในเวลา 14.00 น. วันที่ 22 ก.พ. สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา จะหารือเกี่ยวกับแนวทางการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทาง และมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. เมื่อหารือกันแล้วเสร็จจะออกเป็นแถลงการณ์ โดยจะมีตัวแทนพระสงฆ์เดินทางนำหนังสือความเห็นจากการหารือไปยื่นกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้ยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. และที่ปรึกษาทั้ง 14 คน ไม่เช่นนั้นพระสงฆ์อาจต้องรวมตัวกันทำกิจกรรมบางอย่าง เพราะแนวทางนี้ถือเป็นแนวทางที่ร้าวฉาน ทำให้ประเทศและสังคมแตกแยก ซึ่งตอนนี้บ้านเมืองแตกแยกอยู่แล้ว จึงไม่ควรดึงพระสงฆ์ให้แตกแยกด้วย
    พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวอีกว่า สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. ต้องทำงานโดยพื้นฐานของความเข้าใจและมีสัมมาทิฏฐิ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ตอนนี้ให้ดีขึ้น ซึ่งความจริงปัญหาไม่ได้มาจากพระสงฆ์ทั้งหมด แต่เพียงมีพระสงฆ์บางรูปที่มีชื่อเสียงอาจไปทำการบางอย่าง ทั้งที่ความจริงพระสงฆ์ทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาหรือความผิด แต่กับถูกเหมารวมไปด้วย ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขพ.ร.บ.สงฆ์ ควรมาถามพระสงฆ์ด้วย เพื่อให้พระสงฆ์เดินตามได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการมาถามพระสงฆ์หรือพระผู้ใหญ่ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร แต่กลับไปถามประชาชน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายประชาชนจะกว้างขวางและมีข้อเสนอแนะครอบคลุมหรือไม่
     "ถ้าต้องการแก้ไขปัญหาด้วยความบริสุทธิ์ใจและต้องการพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ต้องตั้งเป้าหมายที่สัมมาทิฏฐิ ไม่ใช่เอาคนสุดโต่งทางการเมืองมา แล้วบอกว่าพระสงฆ์และองค์กรพุทธศาสนาคุยกันหลายรอบแล้ว จึงอยากสะท้อนไปยังพล.อ.ประยุทธ์ และนายเทียนฉาย ให้หาช่องทางบริหารจัดการให้ถูกทาง เพราะพระสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่กลัวการตรวจสอบ แต่ต้องเข้าช่องทางที่ถูกต้องและดีงาม มีความคิดเห็นที่รับฟังได้ ไม่ใช่เอาฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์เข้ามาแก้ไข" พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว
      พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวถึงกรณีพุทธอิสระนำมวลชนบุกไปยังวัดปากน้ำภาษี เจริญว่า การปฏิบัติของพุทธอิสระถือว่าไม่เหมาะ ทั้งเรื่องของสงฆ์และทางกฎหมาย เพราะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ ดังนั้นการประกาศผ่านเฟซบุ๊ก เพื่อระดมคนออกมาต้องดูด้วยว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยตอนนี้หลายฝ่ายมีความคิดเอาผิดกับพระสงฆ์และบางวัด แต่พระสงฆ์บางรูป อย่างพระสุเทพ เทือกสุบรรณ พุทธอิสระและสันติอโศกกลับทำได้ โดยไม่ถูกจับตาจากภาครัฐ แต่อีกฝ่ายกลับถูกขุดคุ้ย อย่างนี้ถือว่าเป็นธรรมกับพระสงฆ์หรือไม่ เรื่องนี้จะโทษมหาเถรสมาคมคงไม่ได้ จึงอยากตั้งคำถามไปยังนายเทียนฉายด้วยว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีกับพระสุเทพ พุทธอิสระและสันติอโศก ด้วยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องไม่มีการหนุนหลัง พร้อมยืนยันมติของมหาเถรสมาคมสามารถวิจารณ์ได้ แต่อยากให้พูดโดยมีสติ ไม่ใช่พอไม่ได้ดั่งใจแล้วมาต่อว่ากัน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!