WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8853 ข่าวสดรายวัน


สงฆ์รุ่นใหม่แถลง ชน'สปช.' จี้ยุติคุกคาม'มส.'
อจ.ร่วมมหาจุฬาฯ ยื่นบิ๊กตู่-สั่งยุบ กก.ปฏิรูปศาสนา ไพบูลย์ไล่บี้ต่อ เงินวัดธรรมกาย


ยื่นบิ๊กตู่ - พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีมหาจุฬาฯ ร่วมกับนักวิชาการ แถลงเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ และประธานสปช. ในวันที่ 24 ก.พ. ขอให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนา โดยให้เหตุผลว่ากรรมการหลายคนมีความสุดโต่งทางการเมือง 

      องค์กรสงฆ์รุ่นใหม่ จี้ 'สปช.'หยุดคุกคาม 'มหาเถรฯ'ฉะคณะกรรมการปฏิรูปฯ ชุด 'ไพบูลย์'นำศาสนามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ขณะที่รองอธิการบดีมหาจุฬาฯ ยื่นหนังสือถึง 'นายกฯ บิ๊กตู่' และ'เทียนฉาย'ปธ.สปช. ยุบคณะกรรมการชุดนี้ ชี้กก.ส่วนใหญ่มีความคิดสุดโต่ง หวั่นนำความขัดแย้งมาสู่สังคม ไม่ให้เกียรติพระผู้ใหญ่ ยินดีให้ปฏิรูป แต่ต้องเข้ามาแบบดีงาม ส่วนไพบูลย์ย้ำตรวจสอบ'มส.'แน่ อ้างทำตามอำนาจหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง เรียก ปปง.ชี้แจง ลุยเรื่องเงินวัดพระธรรมกาย 

       จากกรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตร การปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ขับเคลื่อนงานปฏิรูปพุทธศาสนา ผลักดันให้มหาเถรสมาคม (มส.) ดำเนินการตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปีพ.ศ.2542 ให้พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก ต่อมา มส.ประชุมและมีมติไม่ปาราชิก ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ยืนกรานเดินหน้าลุยเอาผิดต่อไป และจะตรวจสอบ มส.ด้วย เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตามที่เสนอข่าวไปตามลำดับแล้วนั้น

     ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กทม. พระเมธี ธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชา สัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ ผศ.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ เลขาธิการสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา ร่วมแถลงว่าในวันที่ 24 ก.พ. จะมีการประชุมครม. ทางเครือข่ายชาวพุทธ ประกอบด้วยพระสงฆ์ สามเณร และฆราวาส จำนวนมากจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยื่นหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา 

     พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่าสาเหตุที่ต้องยื่นหนังสือ เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมการทั้ง 16 คนนั้น บางคนมีเป้าหมายทางศาสนา หลายคนมีเงื่อนไขการจัดการศาสนา บางคนเคยขึ้นเวทีทางการเมือง โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่มีความสุดโต่งทางการเมือง นำความขัดแย้งมาสู่สังคม ขณะเดียวกัน การจัดตั้งคณะกรรมการ ปฏิรูปฯ นั้นเป็นการมองปัญหาอย่างเดียว แต่ไม่เคยพูดถึงคุณงามความดีของพระสงฆ์ ทั้งที่การปฏิรูปควรต้องปรึกษาคณะสงฆ์ด้วย นอกจากนี้ ยังประกาศตรวจสอบการทำงานของมหาเถรสมาคม (มส.) เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะกรรมการมส.เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ ควรให้เกียรติ

       รองอธิการบดีมหาจุฬาฯ กล่าวต่อว่าดังนั้น หากต้องการปฏิรูป ยืนยันว่ามีความยินดีจะเปิดช่องทางให้ แต่ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ เข้ามาแบบมีสัมมาทิฐิ เข้ามาแบบดีงาม มีความเคารพพระสงฆ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปพระพุทธศาสนาอย่างงดงามยั่งยืนและควรปรึกษาคณะสงฆ์ด้วย ขอให้รัฐบาลเคารพและปกป้องดูแลสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ด้วย เพระไม่เคยมีรัฐบาล ไหนตั้งฆราวาสมาปกครองคณะสงฆ์ พระไม่ได้กลัว แต่คนที่เข้ามาไม่ควรเป็นคน ที่มีมิจฉาทิฐิ และการเดินทางไปยื่นหนังสือในวันที่ 24 ก.พ.นี้ ยืนยันว่าไม่ละเมิดกฎหมายและกฎอัยการศึก

      ส่วนผศ.เมธาพันธ์กล่าวว่าขอยืนยันว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ มส. อิงพระธรรมวินัย และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แต่ในส่วนของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ นั้น มีความคิดเห็นตรงกันข้าม เนื่องจากพบความเชื่อมโยงอย่างชัดเจน ที่ต้องการนำแนวคิดของพุทธอิสระมาดำเนินการ และกรณีที่พุทธอิสระนำมวลชนและทหารพร้อมอาวุธเดินทางไปวัดปากน้ำภาษีเจริญเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ขอให้รัฐบาลพิจารณาว่าละเมิดกฎอัยการศึกหรือไม่ เพราะนำมวลชนไปมากกว่า 5 คนขึ้นไป

      "พฤติกรรมพุทธอิสระหลายครั้งไม่เหมาะสม และทำผิดพระธรรมวินัย ตั้งแต่การประกาศตัวเป็นแกนนำการชุมนุม กปปส. อีกทั้งยังมีข้อหากบฏ ดังนั้นพุทธอิสระจึงไม่เหมาะที่จะออกมาเรียกร้อง เพราะตัวเองเป็นพระสงฆ์ แต่กลับนำมวลชนเข้าไปในวัดปากน้ำ ปลุกปั่นปลุกเร้า มีเจตนาจงใจละเมิดกฎอัยการศึก และอยากขอให้ คสช.ดูแลผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จ พระสังฆราช และอย่าให้ละเมิดกรรมการ มส.ด้วย" เลขาฯ สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนากล่าว

     ขณะที่ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์ข้อความใน เฟซบุ๊กระบุถึงกรณีพุทธอิสระนำมวลชนไปวัดปากน้ำภาษีเจริญว่า ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของพวกไม่รู้จักเคารพกฎกติกาของสังคม เป็นเรื่องยากที่จะอยู่ร่วมกับคนที่ชอบตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลาง ขยายอัตตาใหญ่โตเท่าภูเขา และมองคนอื่นๆ ตัวเล็กเหมือนก้อนกรวด ธัมมชโย วัดพระธรรมกาย จะถูกหรือผิดเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินตามกฎเกณฑ์ของศาสนา 

นายชูวิทย์ระบุต่อว่า หากพุทธอิสระตั้งตัวเป็นความถูกต้อง ปล่อยให้กิเลสของตัวเองแตกซ่าน แล้วเที่ยวปลุกระดมคนมีจริตให้ออกมาสู้ คงไม่แคล้วต้องตัดสินกันที่ มวลมหาฆราวาส ว่าใครมีเยอะกว่าใคร ผลสุดท้ายก็พังกันเป็นแถบๆ การเมืองกับศาสนาเหมือนกันที่ความเชื่อและความศรัทธา คสช.อย่ามัวแต่เรียกฆราวาสไปปรับทัศนคติเลย พระบางรูปก็ต้องปรับทัศนคติโดยด่วนเหมือนกัน 

      ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ กล่าวว่ามติมส.เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา สรุปว่าพระเทพญาณ มหามุนี เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ผิดพระวินัย ไม่ถือเป็นความผิด ถือเป็นอันยุติ ไม่ต้องปาราชิก นั้น ถือว่ามส.มีความเห็นต่างกับคณะกรรมการปฏิรูปศาสนา จากเดิมที่เคยมีความคิดว่าจะเข้าหารือกับมส.เพื่อหาแนวทางการปฏิรูปร่วมกัน ตอนนี้กลายเป็นว่าเราอยู่ในฐานะที่จะต้องตรวจสอบ มส.ด้วยแล้ว

     นายไพบูลย์ กล่าวว่าขอเรียกร้องให้มส. ส่งมติและเอกสารรายละเอียดทั้งหมดของปีพ.ศ.2549 ที่อ้างว่าพระธัมมชโยไม่ต้องปาราชิก และไม่ขัดต่อพระลิขิตสมเด็จ พระสังฆราช และมติของการประชุมครั้ง ที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ชี้ให้เรื่องทั้งหมดถือเป็นอันยุติ มายังคณะกรรมการปฏิรูปฯ เพื่อนำไปใช้ศึกษาวิเคราะห์ต่อไปด้วย เพราะมติมส.เมื่อปีพ.ศ.2549 ถือว่าขัดต่อพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปีพ.ศ.2542 ที่ชี้ว่าพระธัมมชโยผิดพระธรรมวินัย ต้องปาราชิก ส่วนมติล่าสุดของมส.นั้น ถือว่ามีความผิดปกติ โดยเฉพาะที่บอกว่า ให้เรื่องเป็นอันยุติ อย่าวิจารณ์เนื่องจากผ่านไปแล้ว 

     ต่อข้อถามถึงกรณีรองอธิการบดีมหาจุฬาฯ เรียกร้องให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ ตรวจสอบพระสุเทพ เทือกสุบรรณ พุทธอิสระ และสันติอโศก ตลอดจนเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ เนื่องจากนำบุคคลที่มีความคิดสุดโต่งทางการเมืองมาทำหน้าที่ นายไพบูลย์กล่าวว่าทำหน้าที่ไปตามที่สปช.ให้อำนาจหน้าที่ไว้ ขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ไปตามที่กำหนด โดยในวันที่ 23 ก.พ. เวลา 09.00 น. จะเชิญตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาชี้แจงเรื่องการเงินของวัดพระธรรมกาย 

      "การปฏิรูปศาสนาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคยขึ้นเวทีกปปส. หรืออุดมการณ์ทางการเมือง แต่ที่ต้องดำเนินการเพราะเป็นไปตามการเรียกร้องของประชาชน น่าแปลกใจว่าเมื่อหยิบเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมกายมาพิจารณา ก็มีปฏิกิริยาตามมามากมาย ข้อเรียกร้องให้ยุบกรรมการชุดนี้ทิ้งก็แล้ว แต่มุมมองของแต่ละคน เหมือนกรณีที่พระ พุทธอิสระนำประชาชนเข้าพบพระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ก็ถือเป็นแนวทางของหลวงปู่ ส่วนเราก็ศึกษาวิเคราะห์กิจการศาสนาในภาพรวมและเฉพาะกรณี โดยเริ่มจากธัมมชโยต่อไป" นายไพบูลย์กล่าว 

       ส่วนนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่าเรื่องของพระพุทธศาสนามี 2 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือศาสนจักรและอาณาจักร โดยศาสนาจักรคือมส.ที่ดำเนินการไปตามระเบียบของฝ่ายสงฆ์ ด้านอาณาจักรคือรัฐบาลและหน่วยงานราชการ อาทิ พศ. ต้องทำหน้าที่ทำนุบำรุงศาสนา กำชับให้พศ.ทำงานอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง ทุกกรณีที่มีผลกระทบทางลบ ต่อพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้องเรียน เรื่องคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน หรืออยู่ในการไต่สวนของศาล โดยไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะมีบางกรณีในอดีต ฝ่ายการเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยว จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ยกตัวอย่าง กรณีที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้เป็นสิ่งที่มีนานหลายปี แต่กลับไม่แก้ไข หรือหาข้อยุติ 

       นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้มอบหมายให้พศ.ไปพิจารณาศึกษากฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ทั้งกฎหมายที่มีอยู่ และร่างกฎหมายใหม่ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน กำชับให้ทำอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะเชื่อมโยงกับการปฏิรูปด้วย พศ.กำลังจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคุ้มครองพระพุทธศาสนาในหลายมิติ รวมถึงการดูแลอุปถัมภ์ หรือช่วยกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ส่งเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมครม. เพราะตนจะตรวจทบทวนอีกครั้งว่าเนื้อหาของร่างมีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นไปในปัจจุบันหรือไม่ 

       รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวต่อว่าสำหรับแผนระยะยาวคือการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง สปช.มีคณะกรรมา ธิการที่กำลังทำเรื่องนี้ ขณะที่ตนเป็น ผู้ประสานงานระหว่างรัฐบาลกับสปช.อยู่แล้วการดำเนินงานทั้งหมด ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาทำงานร่วมกัน และต้องปรึกษาหารือกับคณะสงฆ์ด้วย กำลังนัดหมายเข้าพบพระเถระชั้นผู้ใหญ่เพื่อปรึกษาหารือถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ยืนยันว่าการทำงานของรัฐบาลและพศ. เดินหน้าไปบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ทำทุกอย่างตามเนื้อผ้า ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง หรือสิ่งอื่นใด

       วันเดียวกัน เฟซบุ๊กปกป้องสังฆมณฑล โพสต์ในนามกลุ่มองค์กรสงฆ์รุ่นใหม่ แถลง การณ์ฉบับที่ 1 เรื่องให้ยุติการคุกคามพระพุทธศาสนา ระบุว่าด้วยองค์กรสงฆ์ รุ่นใหม่ได้เฝ้าติดตามการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สั่งโดยสปช.เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย ตามที่สปช.กล่าวอ้าง แต่คณะกรรมการ ชุดดังกล่าวมิได้แสดงวิสัยแห่งวิญญูชน ผู้เคารพในพระรัตนตรัยพึงกระทำ กลับแสดงทัศนคติ อันเป็นการข่มขู่คุกคามต่อพระมหาเถระ ในหมู่สงฆ์ เฉกเช่นมิจฉาทิฐิบุคคลพึงแสดง ทั้งมีการแสดงออกอย่างชัดแจ้งว่า นำศาสนามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ล้มล้างจารีตความสัมพันธ์ ระหว่างอาณาจักรและศาสนจักร ตามแบบอย่างบรรพชน อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในประวัติศาสตร์ศาสนาของสังคมไทย อันมิได้นำมาซึ่งความปรองดอง สมานฉันท์ของชาวพุทธทั้งปวง สร้างความไม่สบายใจ แก่พระสงฆ์ ทั่วสังฆมณฑล

       ดังนั้น องค์กรสงฆ์รุ่นใหม่ ประกอบด้วยองค์กรเครือข่ายพระนิสิต พระนักศึกษา สงฆ์อาสาพระวิทยากร พระธรรมทูตทั่วประเทศ จึงเรียกร้องไปยังสปช.สั่งให้คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ยุติการคุกคามพระพุทธศาสนา และคณะสงฆ์ไทยทุกรูปแบบ เพื่อนำความสงบสุขคืนสู่พระพุทธศาสนา รักษา ปกป้อง และธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้สถิตสถาพรสืบไป


วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 22:52 น. ข่าวสดออนไลน์

ปมร้อนพระลิขิตปาราชิก โยง"ธัมมชโย-ธรรมกาย" 'ไพบูลย์'บี้'สุวพันธุ์'ชี้
ทะลุคนทะลวงข่าว
    มติมหาเถรสมาคม (มส.) ประกาศแล้ว พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกาย ไม่ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ เนื่องจากได้คืนทรัพย์สินทั้งหมดให้วัดแล้ว
  อีกทั้งผลการสอบสวน พบว่าพระธัมมชโยไม่ได้มีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์สินของวัดไปเป็นของตน
  กรณีมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินจากผู้ถวายให้วัดพระธรรมกาย
   ไม่ถือเป็นการขัดต่อพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลงวันที่ 26 เม.ย. 2542 แต่อย่างใด โดยยืนตามคำตัดสินเดิมเมื่อ ปี 2549
   "ขออย่านำเรื่องเดิมมาพูดกันอีก บ้านเมืองกำลังจะปรองดอง วินัยพระดูที่เจตนา" พระพรหมเมธี โฆษก มส.กล่าว
      วัดพระธรรมกาย กลับมาเป็นประเด็นร้อนของสังคม เมื่อผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เข้าชี้แจงที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการ พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่าลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ลงวันที่ 26 เม.ย. 2542 ชี้ชัดว่าพระธัมมชโย เจ้าอาวาส ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุ
   เป็นคณะกรรมการที่มีไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน และประกาศภารกิจชัดเจน กรณีแรกที่ให้ความสำคัญคือ ผลักดันพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ให้มีผลบังคับปฏิบัติจริง ด้วยการให้มหาเถรสมาคม (มส.) ต้องปฏิบัติตาม
เรื่องนี้ประธานออกตัวแรง ให้พระผู้ใหญ่ จัดการตามพระลิขิต ชี้ด้วยว่านอกจากปาราชิกตั้งแต่ 16 ปีก่อนแล้ว ปัจจุบันยังเกี่ยวข้องกับเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ผู้บริหาร ยักยอกกว่าหมื่นล้านจนถูกดำเนินคดี
    ระบุว่า พระลิขิตดังกล่าวถือว่า ธัมมชโยพ้นจากความเป็นพระชัดเจน ดังนั้น การที่ ผู้จัดการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น บริจาคเงิน 120 ล้านบาท ให้ในฐานะ พระสงฆ์ ถือเป็นการสมรู้ร่วมคิดในฐานะการฉ้อโกงประชาชน และเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินซึ่งประชาชนที่ฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ย นคลองจั่นเป็นเจ้าทุกข์ที่ฟ้องเอาผิดได้ ส่วนรัฐก็ต้องดำเนินคดี ฐานการฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดตามอาญาแผ่นดิน
อ้างว่าเรื่องนี้ไม่ เกี่ยวกับการยุบวัดพระธรรมกาย เพราะเป็นวัดที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่จะต้องเปลี่ยนแปลงคำสอนให้ถูกต้องตามแนวพุทธบัญญัติ พุทธศาสนิกชนที่ไปศึกษาในวัดพระธรรมกายจะได้ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามธรรม วินัย
สปช.ไพบูลย์ วัย 61
    นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เคยเป็นอดีต ส.ว.สรรหา และเป็นสมาชิกกลุ่ม 40 ส.ว.
ขาประจำเวที กปปส. ห้อยนกหวีดเป่าปรี๊ดๆ
ล่าสุดได้รับตั้งเป็นประธานกรรมการปฏิรูปศาสนา สปช.
   ขณะที่สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล พศ. ย้ำว่าปาราชิกเทียบโทษประหารของพระ
แจงว่าเดิมทีเรื่องดังกล่าวมี 2 เรื่องด้วยกัน คือเรื่องที่ดิน เป็นคดีฟ้องร้อง และต่อมาอัยการถอนฟ้องไปในปี 2549 และเรื่องความผิดนี้เป็นปาราชิกหรือไม่
    ทั้งนี้โทษปาราชิกนั้นเหมือนเป็นโทษประหารชีวิตสำหรับพระสงฆ์ เพราะว่าหากต้องโทษปาราชิกแล้วก็ไม่สามารถกลับมาบวชได้
ที่สำคัญ ไม่ใช่เรื่องที่ฆราวาสจะชี้ขาด เป็นเรื่องของคณะสงฆ์จะชี้ความผิดต่างๆ ยกตัวอย่างพระกระทำผิดและถูกจับ ตำรวจต้องนิมนต์ไปให้พระสังฆาธิการดำเนินการสึก เป็นต้น
    ออกตัวด้วยว่า ฝ่ายรัฐบาลเพียงอำนวยความสะดวก ส่งเสริมและปกป้องพระพุทธศาสนา อะไรที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสียหายก็ต้องป้องกัน แก้ไข กับส่งเสริมให้ได้รับความศรัทธาเชื่อถือจากประชาชน
ย้ำเรื่องปาราชิกเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพระทุกรูป จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง การวินิจฉัยพระรูปใดไม่ว่าจะชื่ออะไรก็แล้วแต่ต้องพิจารณาให้ดี
รมต.สุวพันธุ์ วัย 62 สำเร็จปริญญาตรีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รับราชการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กระทั่งเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง แห่งชาติ
ส.ค. 2557 เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
    ระบุ ด้วยว่า เรื่องดังกล่าวมหาเถรฯ เคยพิจารณาและระบุว่ายังเป็นคดีความอยู่ ขอให้ทางคดีสิ้นสุดก่อน แต่ทางคดีมีการถอนฟ้องเสียก่อน และเชื่อพระผู้ใหญ่อยากปกป้องไม่ให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย
    ทั้งเชื่อ ไม่มีนอกมีใน เรื่องนี้ตรงไป ตรงมา
     ที่แจ้งมาจากโฆษก พศ. พระธัมมชโยได้คืนที่ดินและทรัพย์สินให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว ส่วนเรื่องที่มีคนกล่าวอ้างว่าพระธัมมชโยมีคำสอนที่ผิดเพี้ยน เมื่อตรวจสอบแล้วก็ไม่มีมูลความจริง ดังนั้น มติ มส.ในขณะนั้นไม่สามารถเอาผิดได้ และไม่ได้ให้พระธัมมชโยปาราชิกแต่อย่างใด
ขณะที่ พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ทำหนังสือชี้แจงว่า ขอยืนยันว่าข้อกล่าวหาต่างๆ ยุติแล้ว
พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) หรือพระธัมมชโย ดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกาย นามเดิม ไชยบูลย์ สุทธิผล เกิด 22 เม.ย. 2487
ศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ปริญญาตรีสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    อุปสมบท เมื่อ ส.ค. 2512 ณ วัดปากน้ำภาษีเจริญ มีพระเทพวรเวที (ปัจจุบัน คือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา ธัมมชโย
   สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ มีพระลิขิตวินิจฉัยว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกแล้ว แต่ไม่มีคำสั่งหรือเอกสารที่ระบุว่าขาดจากความเป็นภิกษุตามพระลิขิต จึงดำรงสมณเพศต่อมา และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพญาณมหามุนี เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2554
    ล่าสุด มติมส.ประกาศชัด ไม่ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ
    ไม่ถือเป็นการขัดต่อพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ แต่อย่างใด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!