WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สมเด็จวัดปากน้ำขอให้ยุติ ห่วงยืดเยื้อ สปช.โต้-ปัดวางหมากสกัด บิ๊กตู่ไม่ยุ่งเรื่องของพระ ให้วงการสงฆ์แก้กันเอง เครือพุทธจี้ยุบกก.ปฏิรูป วิษณุขอตรวจ พระลิขิต' ปปง.เช็คที่ดิน'ธรรมกาย'

ขอให้ยุบ - เครือข่ายองค์กรชาวพุทธฯ นำโดยพระเมธีธรรมาจารย์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯผ่านเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการประชาชน โดยให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา โดยระบุว่ากรรมการส่วนใหญ่มีความคิดสุดโต่งทางการเมือง ณ ศูนย์บริการประชาชน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์

     'สุวพันธ์'แจง มส.ไม่มีมติธัมมชโย นายกฯย้ำกรณีธรรมกาย'พระ'ต้องแก้เอง 'วิษณุ'ชี้รัฐบาลสั่งการ มส.ไม่ได้-ไร้อำนาจยุบคณะ กก.ปฏิรูปศาสนา ห่วงสร้างแตกแยกแนะระมัดวัง

@ "เครือข่ายพุทธฯ"ร้อง"บิ๊กตู่"ยุบกก.

      จากกรณีความขัดแย้งหลังได้มีการรายงานที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่อาบัติปาราชิกพ้นจากความเป็นสมณะ เนื่องจากไม่ได้ฝืนพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ปี 2542 และได้ปฏิบัติตามพระลิขิต ไม่มีเจตนาฉ้อโกงทรัพย์สินวัดพระธรรมกาย ต่อมาได้ทยอยคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดแล้ว จนก่อให้เกิดกระแสความไม่เห็นด้วยจากบุคคลหลายฝ่าย เนื่องจากเห็นว่ามติ มส.ขัดต่อพระลิขิต และได้มีแนวคิดให้มีการตรวจสอบการดำเนินการของ มส.ด้วย

      เวลา 09.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์บริการประชาชน ภายในอาคารสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เครือข่ายองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย นำโดยพระเมธีธรรมาจารย์ ประธานสงฆ์สังฆสามัคคี ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ 8/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธานคณะกรรมการ เพราะเห็นว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากบุคคลที่มีความสุดโต่งทางการเมืองและศาสนา และมีเงื่อนไขที่จะเข้ามาบริหารจัดการกิจการของคณะสงฆ์ และตั้งแต่โบราณมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนที่ตั้งคณะบุคคลมาเพื่อดำเนินกิจการพระศาสนา ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ยกร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ แต่คณะสงฆ์ทั่วประเทศรวมทั้ง มส.ไม่ได้มีส่วนร่วม วันนี้จึงมายื่นหนังสือเพื่อขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี เพราะหากยังคงมีคณะกรรมการชุดนี้อยู่จะยิ่งสร้างความแตกแยกทั้งในสังคมและวงการพระสงฆ์มากขึ้น จึงขอให้นายกฯพูดคุยกับประธาน สปช. เพื่อยกเลิกคำสั่งดังกล่าวภายใน 15 วัน และหากไม่ได้รับการพิจารณาก็จะมีการเคลื่อนไหวอื่นๆ ภายใต้กรอบพระธรรมวินัยต่อไป

@ พระเมธีฯปัดไม่ได้ปกป้องใคร 

      พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวภายหลังว่า ที่คณะสงฆ์มาร้องเรียนในวันนี้เพราะเห็นว่าคณะกรรมการปฏิรูปมีเจตนาที่ผิดคิดว่าพระสงฆ์มีปัญหามาก จึงเป็นห่วงผู้ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการชุดนี้เนื่องจากมีความสุดโต่งทางด้านศาสนาและการเมือง ซึ่งบุคคลดังกล่าวไม่ได้มีส่วนร่วมหรือความตั้งใจที่จะปฏิรูปพระสงฆ์อย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นห่วงว่าจะถูกตรวจสอบหรือคิดว่าคณะสงฆ์ไม่โปร่งใส และยืนยันว่ายินดีให้ตรวจสอบทุกประการ หากการตรวจสอบนั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์และไม่มีเจตนาแอบแฝง คณะสงฆ์จึงมีความต้องการคณะกรรมการดังกล่าวเข้ามาด้วยสัมมาทิฐิ และมีความเคารพต่อพระสงฆ์ 

@ ขอทำปฏิรูปด้วยความบริสุทธิ์ใจ

      เมื่อถามถึงกระแสที่ มส.มีความเชื่อมโยงกับพระธรรมกายและพระธัมมชโย พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ใน มส.จึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และขอยืนยันว่าที่มาร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีวันนี้เพียงเพื่อต้องการให้มีการปฏิรูปศาสนาด้วยความบริสุทธิ์ใจ อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักว่าหากมีใครจะมาตรวจสอบแต่ผู้ถูกตรวจสอบไม่มีส่วนร่วม จะทำให้การตรวจสอบเป็นไปด้วยความโปร่งใสได้อย่างไร

@ ขู่พระสงฆ์ทั่วประเทศเคลื่อนไหว

เมื่อถามว่า หากคณะกรรมการชุดดังกล่าวยื่นข้อเสนอให้คณะสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย จะดำเนินการต่ออย่างไร พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า เหตุผลทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้ เพราะการเข้าไปมีส่วนร่วมของคณะสงฆ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่องค์ประกอบที่สำคัญอยู่ที่บุคคลในคณะกรรมการว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ทั้งขอให้ยุบคณะกรรมการชุดนี้หากไม่อยากให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้าเพราะแค่ตั้งมาไม่ถึงหนึ่งเดือนก็มีปัญหามากมาย เชื่อถ้ายังคงดำเนินการต่อไปพระสงฆ์ทั่วประเทศจะลุกขึ้นเคลื่อนไหวแน่ แต่ตอนนี้ยังไม่ทำอะไรเพราะเกรงใจนายกฯว่าหากเดินทางมาจำนวนคนเกินกว่ากฎอัยการศึกกำหนดอาจเกิดปัญหาได้

@ บุกรัฐสภาร้องปธ.สปช.

จากนั้นเวลา 09.45 น.ที่รัฐสภา พระเมธีธรรมาจารย์ นำเครือข่ายองค์กรชาวพุทธฯ เข้ายื่นหนังสือต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ผ่านเจ้าหน้าที่เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่ง สปช.ในการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้มีการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ขัดแย้งต่อหน้าที่ โดยเฉพาะนายไพบูลย์มีพฤติกรรมล่วงละเมิดต่อ มส.ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของพระพุทธะอิสระ จึงขอให้ยุบคณะกรรมการชุดนี้ภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องคุ้มครอง มส.และพระพุทธศาสนา

@ "ไพบูลย์"ปฏิเสธแผนสกัดขึ้นสังฆราช

กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวระบุว่าการตรวจสอบกรณีพระธัมมชโยมีวาระซ่อนเร้นและเป็นขบวนการของพรรคการเมืองว่า ที่มีการออกมาให้ข่าวว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการมีความไม่เป็นกลาง ไม่รู้เรื่องปฏิรูปสงฆ์นั้น เป็นเพียงความเห็นทั่วไป เพราะโดยหลักการในฐานะ สปช.ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ปฏิรูปด้านต่างๆ ของสังคม ดังนั้น ขอยืนยันว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีพระธัมมชโย ไม่ได้เป็นการสกัดกั้นรักษาการพระสังฆราชเพื่อขึ้นทำหน้าที่เป็นพระสังฆราช แต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ทั้งโครงสร้างและกฎหมาย โดยนำกรณีพระธัมมชโยเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเข้าข่ายทั้งกรณีการถือที่ดินและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และการเผยแผ่คำสอนที่ไม่เป็นตามแนวทางพระพุทธบัญญัติ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินการไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมือง เพราะ มส.ไม่ใช่องค์กรหรือพรรคการเมือง

@ "นายกฯ"ชี้เรื่องพระให้พระจัดการ 

เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาความขัดแย้งกรณีพระธัมมชโยว่า เรื่องนี้ขอให้แยกออกจากกันระหว่างคำว่าอาญาจักรกับศาสนจักร เพราะแต่ละองค์กรมีกฎหมายคุ้มครองกันอยู่แล้ว ในส่วนของพระมีพระราชบัญญัติหลายฉบับก็ไปว่ากันตรงนั้นจะผิดถูก ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ ไม่ควรเข้าไปยุ่ง แต่บางเรื่องที่ได้ตัดสินไปแล้ว สิ่งที่จะต้องดูแลคือกฎหมายการเงิน คดีอาญาในเรื่องการทุจริต ที่ดูแลอยู่คือการทุจริตภายในสหกรณ์เครดิตฯ โดยได้สั่งการให้หน่วยการที่เกี่ยวข้องดูว่ามีการโยงใยอย่างไรก็ต้องทำการสอบสวน อย่าให้ไปก้าวล่วงกันมากนักเพราะจะเกิดปัญหา 

"ทุกคนต่างเป็นไทยพุทธ และหลายคนก็นับถือทางโน้นทางนี้บ้าง แต่เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับความเชื่อ แต่ถ้าเรื่องคำสอนจะทำอย่างไรอันไหนถูกหรือผิด ต้องให้กระทรวงไปทบทวนกันว่าคำสอนอันไหนผิดอันไหนถูก และต้องให้คณะสงฆ์พิจารณากัน อะไรที่เป็นเรื่องของพระ พระก็ต้องเป็นคนแก้ไข และไม่ใช่มีแค่พระอย่างเดียว มีคนที่นับถือพระ ประชาชนเป็นล้านๆ คน ก็ไม่อยากให้ประชาชนขัดแย้งขึ้นมาในเรื่องศาสนาอีก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ พระผู้ใหญ่เตือนต้องฟังแบบมีสติ

เมื่อถามว่า ตอนนี้มีพระผู้ใหญ่บางรูปมีความเห็นต่างและแสดงความคิดเห็นออกสู่สาธารณะ จะทำให้มีปัญหามากขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ไม่เป็นไร รับฟังอย่างมีสติ การนับถือศาสนา นับถือพระ ไม่ได้มีการบังคับ ถ้ารูปไหนคิดว่าไม่ดี ไม่ศรัทธาก็ไม่เคารพก็ปล่อยไป มีองค์กรของท่านถ้าองค์กรของท่านไม่ดูแลก็เสียหายเอง" 

เมื่อถามถึงกรณีที่เครือข่ายองค์กรชาวพุทธฯขอให้นายกฯยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปฯ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมปฏิรูปหรือยัง ใครสั่งเล่า พูดไม่รู้เรื่อง สปช.เขาคิดก็คิดไป เขามีหน้าที่ปฏิรูปของเขา ผมไม่ได้ไปสั่งอะไรสักอย่าง เขามีคณะปฏิรูป 11 คณะ จะปฏิรูปอะไรก็เรื่องของเขา ผมยังไม่ได้อนุมัติเลยสักอย่าง ยังไม่มีใครรับไปปฏิบัติสักอย่าง ยังไม่เป็นรูปธรรมเลย พูดอะไรมาอย่าไปฟังให้มันมากมายนัก"

@ อย่าเอามาพันเรื่องทุจริตต้องสอบ

เมื่อถามอีกว่า การปฏิรูปพลังงานจบด้วยการทบทวนแก้ไขกฎหมาย ปัญหาของคณะสงฆ์จะจบเหมือนกันหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็คงเหมือนกัน อะไรที่มีปัญหาก็ต้องมาทบทวนกัน เรื่องศาสนาปล่อยให้ว่าไปก่อนอย่าเอามาพันกัน เรื่องทุจริตก็สอบต่อไปไม่ใช่ศาสนาต้องสลายล่มลงไปแล้วทุกอย่างต้องให้ตนฟื้นเวลาเดียวกันมันทำไหวไหม เพราะคนมันต้องออกมาแห่แหนต่อสู้เรื่องนี้เรื่องนั้น เรื่องพลังงาน เรื่องพระบ้าง คือทุกเรื่องสรุป คสช.ต้องทำให้ได้หมดแล้วมันเรื่องอะไร ทำไมไม่รู้จักลดราวาศอกกันไปบ้าง จัดระเบียบกันบ้าง 

เมื่อถามว่า นายกฯเกรงไหมว่าเรื่องพระจะกลายเป็นเรื่องการเมือง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ต้องเกรงๆ คุณชอบถามว่าเกรงไหม ไม่เอา ถ้าผมบอกว่าไม่เกรง คุณก็บอกว่านายกฯเดินหน้ายัน อีโธ่! คุณอย่ามาถามแบบนี้ ก็ที่พูดอยู่นี่กลัวมันจะเป็นปัญหา เมื่อกี้ก็พูดอยู่ว่าไม่อยากให้ประชาชนออกมาเดือดร้อน ออกมาถูกปลุกปั่นเดินขบวน ออกมาผิดกฎหมาย อย่ามาถามอย่างอื่น"

@ "วิษณุ"ไม่ตรวจสอบกรรมการ มส.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีพระธัมมชโยว่า เรื่องนี้อยู่ในการกำกับดูแลของนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์เห็นว่ามีทั้งมิติด้านศาสนา ด้านกฎหมาย และด้านมวลชนจึงมอบหมายให้ตนไปช่วยดูแล ซึ่งอาจจะต้องทำงานประสานกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกระทรวงยุติธรรม แต่รัฐบาลคงไม่เข้าไปตรวจสอบ มส.

@ รัฐบาลไร้อำนาจยุบกก.ปฏิรูปฯ

"เรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา จึงต้องเข้าใจก่อนว่าบทบาทของรัฐบาลบางเรื่องเป็นหน้าที่ต้องทำ 100% แต่บางเรื่องรัฐบาลไม่ได้มีอำนาจเต็มที่จะใช้อำนาจกับองค์กร และบางครั้งก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ ในประเด็นนี้เป็นเรื่องทางศาสนาที่มีกฎหมายรองรับอยู่คือ มส.เป็นผู้ปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ครม.จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากไม่ได้ สรุปแล้วพระจะเป็นผู้ชี้ขาด ฝ่ายบ้านเมืองทำได้เพียงแต่รวบรวมหลักฐานให้เท่านั้น เรื่องนี้สุดท้ายถ้าชี้ว่าปาราชิกหรือไม่แล้วจบอยู่แค่นั้น รัฐบาลคงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไร นอกจากมีการชี้ว่าปาราชิกแล้วไม่ยอมสึกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนี้มีประเด็นว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับสหกรณ์

ยูเนี่ยนฯ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลติดตามอยู่แล้ว หากพบว่าเงินรั่วไหลไปทางไหนก็คงต้องเข้าดำเนินการต่อไป ถ้าไม่มีเรื่องนี้มาก็อาจจะจบไปได้ ยืนยันว่ารัฐบาลจะเข้าไปเกี่ยวก็ต่อเมื่ออยู่ในอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น" รองนายกฯกล่าว 

@ อยากเห็นวงการสงฆ์ไม่มัวหมอง

เมื่อถามว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า รับทราบ แต่ขณะนี้ยังพูดอะไรไม่ได้ จึงบอกว่ามีหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องศรัทธาของประชาชนที่มองข้ามไปไม่ได้ เพราะฝ่ายหนึ่งอยากเห็นวงการสงฆ์บริสุทธิ์ไม่มัวหมอง กับอีกฝ่ายหนึ่งมีศรัทธาว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะเชื่ออย่างนั้น จึงทำให้เกิดเรื่องมวลชนเข้ามา ซึ่งไม่ต้องการให้เป็นชนวนของความแตกแยก อย่างไรก็ตามการปฏิรูปต้องทำไปพร้อมกับการสร้างความปรองดองถ้าทำแล้วจะทำให้เกิดความแตกร้าวขึ้นมาก็ต้องระมัดระวัง เพราะเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก แต่ไม่ว่าจะละเอียดอ่อนแค่ไหน ถ้ามีมูลความผิดทางกฎหมายก็ต้องดำเนินการในส่วนนี้ไป

@ เตือนระวังปฏิรูปสร้างขัดแย้ง 

เมื่อถามว่า การปฏิรูปสงฆ์สามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การปฏิรูป 11 ด้านไม่มีเรื่องคณะสงฆ์ แต่ปรากฏว่าด้านที่ 11 คือด้านอื่นๆ มีความหมายรวมหลายเรื่อง คณะกรรมการปฏิรูปฯที่นายไพบูลย์เป็นประธาน คงไม่ได้หมายความว่าจะปฏิรูปศาสนา แต่จะปฏิรูปวงการศาสนาที่หมายรวมไปถึงพุทธบริษัท ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา และวัตรปฏิบัติของสงฆ์ แต่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หัวใจของ สปช.คือการปฏิรูป แต่ต้องควบคู่ไปกับการสร้างความปรองดอง แต่หากปฏิรูปแล้วเกิดความขัดแย้งก็ต้องระมัดระวัง ที่พูดไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ เพราะสามารถทำได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งการใช้คำพูด การแสดงออกที่ไม่ถูกใจคน เพราะแท้ที่จริงแล้วการปฏิรูปต้องทำให้ถูกใจคนทั้งหมด ดังนั้นจึงขอให้ทำงานสักระยะหนึ่งร่วมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก่อน

@ เทียนฉายซัดไร้เหตุยุบชุดไพบูลย์

เมื่อถามว่าเครือข่ายชาวพุทธฯให้เวลารัฐบาล 15 วันในการระงับการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาศาสนา นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น แต่ สปช.เป็นคนตั้งขึ้นมา 18 คณะ รัฐบาลจะไปยกเลิกไม่ได้ ที่จริงแล้วการปฏิรูปเรื่องนี้มีอยู่แต่ต้องทำให้ดี ถ้าลงลึกเกินไปก็จะถูกมองเป็นอย่างอื่นได้ 

นายเทียนฉายกล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายองค์กรชาวพุทธฯเรียกร้องให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯที่มีนายไพบูลย์เป็นประธาน โดยกล่าวสั้นๆ เพียงว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะยังไม่เห็นข่าว และไม่เห็นเหตุผลว่าจะยุบไปทำไม เพราะได้มีการตั้งขึ้นมาแล้ว

@ โฆษก พศ.ยืนยันไม่มีมติโหวต

นายสมชาย สุรชาตรี โฆษก พศ.กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปฯ สปช. ระบุว่าลิขิตสมเด็จพระสังฆราชให้พระธัมมชโยปาราชิก เป็นพระบัญชา ไม่ใช่พระดำริ และเมื่อเป็นพระบัญชา ถ้าไม่ทำตามสามารถเอาผิดทางกฎหมายได้นั้นควรให้นักกฎหมายตีความ 

"มีข่าวว่าในที่ประชุม มส.วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการโหวตลงมติ มส.แทนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์นั้น ยืนยันว่าไม่จริง ที่ประชุม มส.ไม่เคยมีการโหวตมาเป็น 100 ปีแล้ว เหมือนที่ประชุม ครม." โฆษก พศ.กล่าว 

@ "เต้น"โพสต์"พระ-ฆราวาส"วุ่น

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง "ทั้งคน ทั้งพระ ทั้งฆราวาส วุ่นไปหมดเลยประเทศไทย" ว่า "เห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่แปลกใจที่เป็นแบบนี้ เพราะที่ผ่านมาร่วมสิบปีหลักการพื้นฐานที่ค้ำยันให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เช่น หลักประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึง สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียมเพื่อยืนยันว่า "คนเท่ากัน" และหลักความยุติธรรม ถูกทำลายจนแทบไม่เหลือสภาพ เราเห็นการสถาปนา "คนดี" ขึ้นมามีอิทธิพลเหนือทุกหลักการ ทุกกฎกติกา โดยทั่วไปใครคือคนดีชี้วัดยาก แต่บ้านเมืองนี้ใครมีพฤติการณ์ในอดีตหรือปัจจุบันเหวอะหวะแค่ไหน เมื่อหลักการอ่อนแอ คนกลุ่มหนึ่งอวยกันเองว่าต่างเป็น "คนดี" แล้วชี้พวกเห็นต่างว่าเป็น "คนชั่ว" แถมยังมีผู้มีอำนาจให้ท้ายไม่วุ่นวายก็แปลกแล้ว" 

@ ปปง.ลุยสอบต่อเงินที่ดินวัด

นายนพดล อุเทน ผู้อำนวยการกองคดี 1 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวว่า หลังจากที่นายไพบูลย์เรียกให้เข้าไปรายงานความคืบหน้าคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้กำชับให้เร่งดำเนินการตรวจสอบโดยเร็วเกี่ยวกับหลักฐานในส่วนที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น สั่งจ่ายเช็คให้กับพระธัมมชโยพร้อมกับที่ดินของวัดที่เป็นที่ธรณีสงฆ์ 196 ไร่ ส่วนที่ดินอีกกว่า 1,000 ไร่ อยู่ในนามมูลนิธิ ซึ่งในการตรวจสอบเมื่อพบว่ามีข้อมูลหรือหลักฐานที่ส่อว่ามีการกระทำความผิดเพิ่มเติมแล้ว ปปง.จะส่งหลักฐานทั้งหมดเข้าหารือที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมว่าจะมีมติให้ยึดอายัดทรัพย์หรือไม่ 

@ "หลวงพี่น้ำฝน"แจงร้องส่งรถหรู

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครปฐม กล่าวว่า ขอชี้แจงกรณีพระพุทธะอิสระระบุว่ามีพฤติกรรมครอบครองรถหรู และเป็นผู้จัดส่งรถหรูไปให้กับ มส.นั้น ขอยืนยันว่าข้อมูลเลอะเทอะ ไม่จริงแม้แต่นิดเดียว ทั้งหมดเป็นเรื่องตลกที่พยายามสร้างเรื่องกันขึ้นมา ซึ่งดีเอสไอได้นำรถไปตรวจแล้ว ไม่ใช่รถหรู เป็นแค่รถโบราณเก่าๆ ส่วนที่บอกว่าเป็นผู้จัดส่งรถหรูให้กับ มส.นั้น ทุกวันนี้หาเงินสร้างวัดก็เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว จะเอาปัญญาที่ไหนไปส่งรถหรู

@ สำนักพุทธฯนำเอกสารแจงยิบ

เวลา 18.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังหารือร่วมกับรอง ผอ.พศ.ว่า พศ.นำเอกสารชี้แจงว่าที่ประชุม มส.ไม่ได้มีมติเกี่ยวกับพระธัมมชโย ต่างจากที่ปรากฏเป็นข่าวและการประชุมดังกล่าว เนื่องจาก สปช.เชิญผู้แทน พศ.ไปชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย และนำมารายงานให้ มส. ส่วนที่มีข่าวว่ามติ มส.ระบุว่าไม่มีความผิดนั้น ได้สอบถามแล้วว่า พบว่าไม่มีคำว่าปาราชิกหรือไม่ปาราชิกปรากฏในมติ มส. จึงแนะนำให้ปรึกษากันในกรรมการ มส.ว่าจะชี้แจงอย่างไร โดยทราบว่าในครั้งต่อไปจะมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือใน มส.เพื่อให้รับรองมติ จากนั้นจึงแถลงให้ทราบต่อไป

@ รอตรวจสอบพระลิขิต5ฉบับ

"วันนี้ต้องแยกให้ออก แต่เอาทุกเรื่องมาปนกันทำให้ มส.ถูกกล่าวหาไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีโอกาสออกมาแก้ตัวตอนนี้ แต่ต่อไปจะชี้แจงอย่างไรก็ว่ากันไป วันนี้เอาทุกอย่างมารวมกันหมด" นายวิษณุกล่าว

เมื่อถามกรณีที่มีข้อสงสัยระหว่างพระลิขิตกับพระบัญชา นายวิษณุกล่าวว่า ได้เห็นพระลิขิตทั้ง 5 ฉบับ และมีคำตอบแล้วแต่ไม่อยากพูดอะไรในตอนนี้ ขอตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน

@ สมเด็จฯวัดปากน้ำขอให้จบเรื่อง

ขณะที่พระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และกรรมการ มส.กล่าวว่า กรณีพระราชวิจิตรปฏิภาณ หรือ "เจ้าคุณพิพิธ" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิรูปวงการสงฆ์ในขณะนี้ น่าจะมีกระบวนการเบื้องหลัง และคดีธรรมกายเป็นแค่ประเด็นที่ถูกนำมาฟาดฟันไม่ให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยอ้างว่าเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโยนั้น ไฟจะดับได้เมื่อไม่เติมเชื้อ ในกรณีที่เจ้าคุณพิพิธให้สัมภาษณ์นั้น บางประเด็นพูดด้วยความเห็นใจ "อาตมาเป็นคนของวัดปากน้ำ จะพูดอะไรบางแง่บางมุมจะดูไม่เหมาะสม เหมือนเป็นโจทก์จำเลย หรือคู่กรณีต่อกัน ถ้าพูดไปอาจมีหลายมุมมองที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย 

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ส่วนตัวท่านเป็นพระที่มัธยัสถ์ รักความสงบเรียบร้อย เรื่องไหนที่จบได้ก็ขอให้จบ ไม่ประสงค์ให้ปัญหายืดเยื้อ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนมีสาเหตุ เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้ก็ไม่สร้างปัญหาเพิ่ม ถ้าอยู่ในฐานะที่แก้ได้ก็พร้อมที่จะแก้ พระพุทธศาสนาอยู่ได้เพราะพระ และโยม ยกย่องเชิดชู ถ้าเอาความเห็นส่วนบุคคลเป็นใหญ่ หลักธรรมอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าก็คงจะไม่เกิด เพราะถูกลบล้างด้วยความเห็นส่วนตัว" พระพรหมโมลีกล่าว

 

ยึดตามกฎหมาย

 

 

บทนำมติชน

คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน รื้อฟื้นเรื่องการต้องอาบัติปาราชิกของพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดยอ้างถึงพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ปี 2542 เรียกร้องกรรมการมหาเถรสมาคม หรือ มส. พิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง ต่อมา มส.ประชุมยืนยัน พระธัมมชโยไม่อาบัติปาราชิก เนื่องจากมิได้ฝืนพระลิขิตและปฏิบัติตามพระลิขิต อีกทั้งผลสอบสวนก็ไม่พบว่าผิดพระธรรมวินัย การยืนยันมติของ มส.นี้ก่อให้เกิดความเห็นต่าง ทั้งในหมู่ฆราวาสและพระสงฆ์ ถึงขั้นนำมวลชนเคลื่อนไหวต่อต้าน มส. รวมถึงเอาผิดพระเทพญาณมหามุนี

มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มีสมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ เพื่อให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม รวมถึงกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครองสำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหาย แต่ปัญหาเกิดขึ้น ก็เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปฯไม่ยอมรับมติ มส.โต้แย้งว่าพระธัมมชโยพ้นจากสมณเพศตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชไปแล้ว พระสงฆ์บางหมู่คณะก็เคลื่อนไหวไม่ยอมรับมติ

ความยุ่งเหยิง วุ่นวาย ไม่สงบสุขทั้งในทางโลกทางธรรมทุกวันนี้ เกิดจากการไม่ยอมรับ กฎเกณฑ์ กฎหมาย กติกาการอยู่ร่วมกัน การพิทักษ์ปกป้องพุทธศาสนาและพระธรรมวินัย เป็นเรื่องดี แต่จะก่อให้เกิดปัญหาไม่จบสิ้นหากไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ สภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ต้องเคารพกฎหมาย และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างตรงไปตรงมา ความเห็นต่างหรือความขัดแย้งในแต่ละเรื่องนั้น มีเครื่องมือตัดสินเป็นทางออกยุติปัญหาอยู่แล้ว หากเห็นว่าเครื่องมือ หรือกฎหมาย ระเบียบนั้นไม่ทันสมัย หรือไม่ทันปัญหา ก็ต้องไปแก้ไขที่เครื่องมือ โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ชอบธรรม และหลักทางศาสนาที่เกี่ยวข้อง มิฉะนั้น อาจก่อให้เกิดวิกฤตที่สร้างความแตกร้าวให้กับสังคมที่บอบช้ำมากอยู่แล้วซ้ำอีก

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!