WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8858 ข่าวสดรายวัน


มหาเถรย้ำมติ ธัมมชโยไม่ผิด 
ดีเอสไอ สอบ'เช็ค'สหกรณ์ฯ พบโยงใย กับ 6 กลุ่ม


มหาเถรฯ- สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ครั้งที่ 6/2558 ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 27 ก.พ.

      มหาเถรฯ ประชุมรับ รองมติที่ประ ชุมเมื่อวันที่20 ก.พ. ระบุ กรณีอธิกรณ์ธัมมชโยจบไปแล้ว พ้นผิด ไม่ต้องรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่ ยกเว้นแต่จะมีการยื่นร้องเอาผิด-ฟ้องใหม่ แต่ต้องเป็นไปตามลำดับชั้น โฆษกมส.ยืนยันไม่มีการหารือกรณีนี้อีก เตือนชาวพุทธใช้สติไตร่ตรองในการติดตามข่าวสาร ชี้ถ้าจะยุบมหาเถรสมาคมก็ต้องแก้พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ด้านดีเอสไอแบ่ง 6 กลุ่มรับเช็คคดีสหกรณ์คลองจั่น ไล่สายเงินพบโยงธรรมกาย จ่อเรียก?ธัมมชโย?สอบ คาดสัปดาห์หน้ามีความชัดเจน

      เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 27 ก.พ. ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 6/2557 โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน มีกรรมการมหาเถรสมาคมเข้าประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง

      พระพรหมเมธี กรรมการและโฆษก มหาเถรฯ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับรองมติการประชุมครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. โดยมีรายละเอียด ดังนี้ มหาเถรฯ รับทราบรายงานที่นายพนม ศรศิลป์ ผอ. สำนัก งานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขาธิการมหาเถรฯ แจ้งต่อที่ประชุมว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2558 นายไพบูลย์ นิติ ตะวัน ประธานกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีหนังสือเชิญผอ.สำนักพุทธฯ หรือผู้แทน สำนักพุทธฯ เข้าร่วมประชุมชี้แจง และแสดงความคิดเห็นในประเด็นดัง 1.กรณีพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก และความคืบหน้า ในการดำเนินการตามพระลิขิต 2.ความคืบหน้าการจัดทำและการเสนอร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา

      พระพรหมเมธี กล่าวต่อว่า ผู้แทนสำนักพุทธฯ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการชุดดังกล่าว มีสาระสำคัญตามเอกสารที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้ กรมการศาสนาได้นำพระลิขิตเสนอที่ประชุมมหาเถรฯ ครั้งที่ 15/2542 เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2542 และในการประชุมมหาเถรฯ ครั้งที่ 16/2542 เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2542 ที่ประชุมมหาเถรฯ มีมติสนองพระดำริให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 17/2542 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2542 ที่ประชุมมหาเถรฯ รับทราบตามรายงานของอธิบดีกรมการศาสนาที่ว่า พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยืนยันตามหนังสือของวัด ลงวันที่ 9 พ.ค. 2542 ซึ่งแสดงเจตนาที่จะมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่วัดพระธรรมกาย และรายงานต่อที่ประชุมมหาเถรฯ เพิ่มเติมว่า ต่อมานายมาณพ พลไพรินทร์ และนายสมพร เทพสิทธา ต่างได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ต.ค. 2543 และลงวันที่ 5 ต.ค. 2543 ตามลำดับ เป็นโจทก์ฟ้องเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่าล่วงละเมิด พระธรรมวินัย ด้วยการบิดเบือนหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา อวด อุตริมนุสธรรมที่ไม่มีในตน ลักทรัพย์ ฉ้อโกง และหลอกลวงประชาชน

       โฆษกมหาเถรฯ กล่าวต่ออีกว่า การพิจารณาดำเนินการด้านพระธรรมวินัย ในชั้นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้พิจารณาตาม กฎมส. ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรมแต่เนื่องจากในขณะนั้น ได้แจ้งความในฝ่ายอาณาจักรให้ดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย การดำเนินการตามพระธรรมวินัยจึงต้องรอไว้ก่อน ตามข้อ 15(1) แห่งกฎมหาเถรฯ ฉบับที่ 11 อย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์ได้มีคำสั่งพักเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายจากการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2542 

       "ต่อมา นายมาณพได้มีหนังสือวันที่ 15 พ.ค. 2549 ถอนฟ้องวัดพระธรรมกายใน ทุกกรณี เมื่อศาลอาญาได้มีคำสั่งในวันที่ 22 ส.ค. 2549 พนักงานอัยการถอนฟ้องวัดพระธรรมกาย และจำหน่ายคดีออกเสียจากระบบ โดยอ้างเหตุว่าได้มอบที่ดินทั้งหมดให้วัดแล้ว เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในฐานะผู้พิจารณาได้ตรวจลักษณะของผู้กล่าวหาที่เหลือ คือ นายสมพร เทพสิทธา และเห็นว่า มีความบกพร่อง จึงมีคำสั่งไม่รับคำกล่าวหาของ ผู้กล่าวหา ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของคณะ ผู้พิจารณาชั้นต้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2549 จากนั้นเจ้าคณะตำบลคลองสี่ได้มีคำสั่งให้พระราชภาวนาวิสุทธิ์ กลับมาดำรงตำแหน่ง ดังเดิม ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. 2549 จึงขอประทานเสนอที่ประชุมเพื่อโปรดทราบ ที่ประชุมรับทราบ"โฆษกมหาเถรสมาคมระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สรุปแล้วมหาเถรฯ วันนี้มีมติอะไรบ้าง พระพรหมเมธีกล่าวว่า ได้รับรองมติการตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูลและศึกษาสถานการณ์ทางพระพุทธศาสนา และรับรองรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 เท่านั้น ส่วนกรณีเกี่ยวกับ พระธัมมชโยไม่ได้มีการพูดถึง เพราะมหาเถรฯ จะพิจารณาเฉพาะเรื่องงานของมหาเถรฯ เท่านั้น

       ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างสงฆ์อยากจะฝากประชาชนอย่างไร พระพรหมเมธีกล่าวว่า มุมมองของสังคมไทยเราคนหนึ่งอาจมองเป็นอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งอาจมองเป็นอย่างหนึ่งก็ต้องใช้วิจารณญาณดูว่าอะไรที่ถูกที่ควร เนื่องจากเรื่องศรัทธาของประชาชน ที่มีความศรัทธาต่อพระสงฆ์นั้น แตกต่างกันไป เราคิดว่าใครเป็นลูกศิษย์ใครก็คิดว่าอาจารย์ของตัวเองนั้นทำดีและทำถูก อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเอาองค์กรใหญ่ คือ มหาเถรฯ ทำในสิ่งที่ถูกเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ทำให้พระพุทธศาสนานี้มั่นคงแข็งแรง โดยอาศัยพื้นฐานความศรัทธาของประชาชน อย่าให้กระทบต่อศรัทธาของประชาชน

      ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะนิมนต์พระพุทธอิสระมาทำความเข้าใจในเรื่องนี้หรือไม่ พระพรหมเมธีกล่าวว่า เรามีเจ้าคณะปกครองตามลำดับ เมื่อพระพุทธอิสระขึ้นอยู่กับ เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ที่จะดำเนินการและรายงานเรื่องนี้มาเป็นลำดับ เช่น จาก เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะภาค เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กว่าจะมาถึงที่ประชุมมหาเถรฯ เป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งเรื่องนี้อยู่ที่การพิจารณาของเจ้าคณะผู้ปกครองดังที่กล่าวมานี้ ในทางตรงกันข้าม เจ้าคณะผู้ปกครองที่ดูแลวัดพระธรรมกายก็ได้ทำหน้าที่นี้เช่นกัน 

      ส่วนกรณีพระพุทธอิสระจะมีการแจ้งความโฆษกมหาเถรฯ โฆษกสำนักพุทธฯ และพระพรหมโมลี ว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่นั้น พระพรหมเมธีกล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้พูดคุยกัน และยังไม่เคยพบกับพระพุทธอิสระ เพราะว่าอาจจะเห็นต่างไป เราไปบังคับไม่ได้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเรื่องเดียวแต่มีการมองคนและแบบ

       ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า มหาเถรสมาคมจะรื้อฟื้นมติเดิมมาพิจารณาหรือไม่ พระพรหมเมธีกล่าวว่า ในระเบียบเตือนในพระวินัยของพระสงฆ์ ถ้าเรื่องใดที่เจ้าคณะตามลำดับพิจารณาแล้วและมีมติไปแล้ว จะไปพิจารณาใหม่ทางพระวินัยกำหนดไว้เลยว่า อธิกรณ์ที่ได้พิจารณาแล้วไปรื้อฟื้น องค์คณะที่ไปรื้อฟื้นนั้นจะเป็นอาบัติ ดังนั้นเราต้องรับทราบตามรายงาน ส่วนจะไปแก้ไขอย่างไร ต้องไปแก้ที่ต้นทาง หมายถึงองค์คณะจังหวัดที่ปทุมธานี เช่น มีการตั้งเรื่องฟ้องใหม่ หากไม่มีการฟ้องใหม่ก็ต้องยึดตามมติเดิม

      "อาตมภาพอยากทำความเข้าใจว่า อาตมภาพก็มีหน้าที่แถลงเรื่องมหาเถรฯ ส่วนเรื่องวัดพระธรรมกายก็ต้องไปถามเจ้าคณะ ผู้ปกครอง รวมถึงเรื่องพระลิขิตด้วย เมื่อองค์คณะสงฆ์ได้พิจารณายุติไปแล้วก็ต้องยึดตามนั้น ส่วนจะรื้อฟื้นเรื่องใหม่ก็ต้องว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง การร้องพระภิกษุก็ต้องมีโจทก์เป็นผู้ร้อง หากมีการฟ้องเรื่องใหม่มา ศาลท่านก็จะเป็นผู้พิจารณาเอง ส่วนเรื่องเก่าที่ตัดสินกันแล้วก็ต้องแล้วไป และอยู่ที่ว่าจะฟ้องในประเด็นไหน" พระพรหมเมธีกล่าว

      ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีพระพุทธอิสระที่มีการเรียกร้อง ขณะนี้ถือว่าเป็นโจทก์ได้หรือไม่ พระพรหมเมธีกล่าวว่า ยังไม่เห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องร้องไปที่เจ้าคณะผู้ปกครองตามกฎนิคหกรรม เรามีทางเข้าทางออกเป็นไปตามลำดับ ดังนั้น สถานะของพระธัมมชโย ก็ยังคงตามมติของ มส.เมื่อปี 2549 ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า แสดงว่าพระธัมมชโยยังไม่ปาราชิก ใช่หรือไม่ พระพรหมเมธีกล่าวว่า ไม่ทราบ และที่ประชุมมหาเถรฯ ไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย 

      ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า สำหรับแนวทางปฏิรูปซึ่งจะมีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของกรรมการมหาเถรฯ ด้วย เห็นว่าอย่างไร โฆษกมหาเถรฯ กล่าวว่า แล้วจะตรวจสอบเรื่องอะไร คือ ถ้าตรวจสอบของมหาเถรฯ และพระสงฆ์ทั่วไปก็เหมือนการตรวจสอบศรัทธาของประชาชน พระรูปนี้ก็มีลูกศิษย์มาก พระรูปนี้มีลูกศิษย์น้อย อย่างอาตมภาพบวชมาตั้งแต่อายุ 12 ปี จนมาถึงปัจจุบัน 50 กว่าปี ก็มีลูกศิษย์มากมาย ลูกศิษย์ก็มีศรัทธา แต่ถ้าเราไปตรวจสอบทรัพย์สินของวัด สามารถตรวจสอบได้ แต่ตรวจสอบมหาเถรฯ จะตรวจสอบเรื่องอะไร ส่วนจะเป็นการก้าวล่วงหรือไม่นั้น สังคมคิดว่าถ้าชาวบ้านมาก้าวล่วงกับพระสงฆ์อย่างพระเถระที่มีลูกศิษย์ลูกหาที่เขาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างอดีตนายกรัฐมนตรี เขาก็อาจจะเดือดร้อนว่ามารุกรานครูบาอาจารย์ของเขา นี่เป็น เรื่องยากที่จะมีการตรวจสอบ

        ส่วนเรื่องการปฏิรูปคณะสงฆ์ ในส่วนของคณะสงฆ์มีความคิดเห็นอย่างไร พระพรหมเมธีกล่าวว่า คณะสงฆ์จะพิจารณาแต่เรื่องของศาสนจักร ส่วนบ้านเมืองก็เป็นเรื่องของอาณาจักร คือ ราชการบ้านเมืองเขาต้องทำอะไรที่นำไปสู่ความสงบเรียบร้อยทำไป ทุกอย่างเพราะคิดว่าดีแล้ว อาจจะมีใครหรือพระสงฆ์องค์ไหนที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไป แต่ขอย้ำว่า ในที่ประชุมมหาเถรฯ ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด

     ผู้สื่อข่าวถามว่า บางความคิดเห็นเสนอให้ยุบกรรมการมหาเถรฯ พระพรหมเมธีกล่าวว่า คณะกรรมการมหาเถรฯ ตั้งโดย พ.ร.บ. คณะสงฆ์ 2505 ดังนั้น จะต้องไปรื้อพ.ร.บ. คณะสงฆ์ 2505 เท่านั้น 

       ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวถึงความเห็นต่างในคณะสงฆ์ต่อกรณีของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ว่า บอกไปแล้วว่าเรื่องพระก็เป็นเรื่องของพระ ว่ากันตามกฎหมาย เพราะมีมหาเถรสมาคมพิจารณาอยู่แล้ว อะไรที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามนั้น บ้านเมืองต้องอยู่ใต้กฎหมาย ตนตอบแทนไม่ได้ เพราะไม่รู้รายละเอียด เราอย่าไปก้าวก่ายมากเลย 

      ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ตอนหนึ่งว่า ในเรื่องของศาสนานั้น ในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.สำนัก นายกฯ ไปศึกษาทำความเข้าใจกับประเด็นของปัญหา แล้วใครที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่อยากเรียกว่าคู่ขัดแย้ง เพราะเป็นเรื่องของศาสนา เรื่องใดที่เป็นการกระทำผิดข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องระบบการเงิน การคลัง หรืออะไร ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของรัฐจะต้องดำเนินการ ในส่วน ทางศาสนา เรื่องของพระ ก็อาจต้องตั้งคณะกรรมการฝ่ายสงฆ์มาช่วยดูแล ตอนนี้กำลังคิดอยู่ จะได้ช่วยการทำงานของคณะสงฆ์เดิมที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ ได้รับความเชื่อถือ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นศาสนาของประเทศ 

     นายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคดีความต่างๆ ที่รัฐดำเนินการอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ศาสนจักรเหล่านี้ ก็คงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ทั้งสองฝ่ายดูแลไปพร้อมๆ กันด้วย อย่าไปก้าวก่ายซึ่งกันและกันให้มากนัก ก็ทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้น คิดว่าทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็ต้องยอมรับ ฝ่ายประชาชนก็ต้องยอมรับในการพูดคุยหารือกันในเรื่องนี้ มีองค์กรกำกับดูแลอยู่แล้ว ประเทศชาติก็มีอยู่หลายเรื่องที่สำคัญต้องรีบดำเนินการ ขอความร่วมมือทุกพวกทุกฝ่ายช่วยกันขจัดความขัดแย้งให้ได้ พูดจาหารือหาทางออกกัน ใครผิดก็ว่าไป อย่าใช้กระแส อย่าใช้การชุมนุม อย่าใช้อะไรมาทำให้เกิดความวุ่นวายอีกก็แล้วกัน ขอร้องจริงๆ 

เมื่อเวลา 15.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ว่า หลังประชุมเสร็จคงจะรายงานผลให้ตนทราบ ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มพระสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งที่เดินสายแจ้งความ มส. ตนก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร 

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนั้น ยังไม่มีความคืบหน้า มีเพียงการโทรศัพท์แจ้งตนนิดหน่อย แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ซึ่งตามขั้นตอนของการดำเนินการเรื่องนี้ ตนยังตอบไม่ได้ต้องขอเวลาระยะหนึ่ง เมื่อถามว่ากรมบัญชีสหกรณ์ถือว่ามีความบกพร่องหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่กล้าบอกว่าบกพร่อง หรือไม่ แต่เขาก็รับผิดชอบด้วย

วันเดียวกัน คณะนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตอุบลราชธานี ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 ระบุว่า ด้วยคณะนิสิต มจร. วิทยาเขตอุบลราชธานีได้ติดตามข่าวการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปพุทธศาสนา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีบุคคลที่เคยเป็นแกนนำ กปปส. ในการล้มรัฐบาลที่ผ่านมาเข้ามาจัดระเบียบคณะสงฆ์โดยที่มีการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวตลอด ว่าจะดำเนินการตั้งองค์กรมากำกับดูแลมหาเถรสมาคม ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ได้แสดงออกถึงความเคารพและจริงใจในการที่จะปกป้องพระพุทธศาสนา และยังมีการคุกคามมหาเถรสมาคมโดยการนำคนบุกไปถึงวัดประธานมหาเถรสมาคมซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง

     ทางคณะจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำเนินการกับคณะกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนาชุดนี้และพุทธะอิสระ ดังนี้ 1.ให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนาชุดนี้ภายใน 15 วัน 2.ให้ดำเนินคดีกับพุทธะอิสระในข้อหาขัดขืนกฎอัยการศึก และ 3.ให้หยุดคุกคามมหาเถรสมาคมและพระพุทธศาสนา

      ทางคณะนิสิต มจร. วิทยาเขตอุบล ราชธานี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศไทย จะมีการดำเนินการตามที่คณะได้เรียกร้อง เพื่อเป็นการสืบทอดไว้ซึ่งสถาบันพระพุทธศาสนา อันเป็นที่พึ่งทางจิตใจของคนไทยมาช้านาน

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.วรนันท์ ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ พร้อมด้วยพ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 แถลงภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าของพนักงานสอบสวนติดตามความคืบหน้าคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ว่า ขณะนี้แบ่งพนักงานสอบสวนเป็น 5 ชุด คือ 1.ด้านติดตามร่องรอยทางการเงิน มีหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินจากการสั่งจ่ายของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ คลองจั่น ทั้ง 878 ฉบับ 2.ด้านบัญชี จะตรวจสอบเส้นทางของเงินในบัญชีสหกรณ์ฯ คลองจั่น เพื่อสืบหาผู้กระทำความผิดและผู้ที่เกี่ยวข้อง 3.ด้านกฎหมาย จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อกฎหมายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์และดูพฤติกรรมว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ 4.ด้านติดตามทรัพย์สิน จะทำงานร่วมกับด้านติดตามร่องรอยทางการเงิน และ 5.เลขานุการ เป็นการทำงานในภาพรวมเกี่ยวกับระบบการทำงานและการสอบสวน โดยมี พ.ต.ท.สมบูรณ์เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

     พ.ต.ท.วรนันท์ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในสัปดาห์นี้ พนักงานสอบสวนชุดติดตามร่องรอยทางการเงินได้ดำเนินการตรวจสอบเช็ค 878 ฉบับ รวมถึงที่มีการสั่งถอนที่หน้าเคาน์เตอร์ โดยพนักงานสอบสวน ชุดดังกล่าวได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า การติดตามเอกสารเกี่ยวกับเรื่องการเงินแล้ว สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้ 6 กลุ่ม คือ 1.วัดพระธรรมกายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดกลุ่มนี้นอกจากตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมทางการเงิน เราสามารถยึดหลักฐานทางการเงินได้บางส่วนแล้ว 2.บริษัท เอช.ดับบลิว. โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี นายสถาพร วัฒนาศิริกุล เป็นกรรมการบริษัท และผู้เกี่ยวข้อง 3.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มงคลเศรษฐี ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามา โดยพบว่ามีกระบวนการทางการเงินเชื่อมโยงสหกรณ์ฯ คลองจั่น 4.กลุ่มมูลนิธิรัฐประชา ที่มีนายจิรเดช วงเพียงกุล และนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ ที่มีชื่อเกี่ยวข้องกับการรับโอนเงินจากนายศุภชัยรวมกว่า 2,500 ล้านบาท 5.กลุ่มญาติธรรม ซึ่งเป็น กลุ่มที่มีเส้นทางการเงินไหลผ่าน และ 6.เป็นกลุ่มที่มีการรับเงินจากสหกรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลหนี้ระหว่างกันอย่างถูกกฎหมาย ทั้งนี้ การตรวจสอบด้านกฎหมายพบว่ากรณีของนายศุภชัยและพวกได้มีการ กระทำความผิดตั้งแต่พ.ร.บ.สหกรณ์ รวมถึงข้อบังคับและข้อระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานทางบัญชีที่มีการนำเงินออกไปจากระบบ

     ด้านพ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่เข้าข่ายว่ามีการกระทำความผิด เรามองว่า กลุ่มที่ 1-5 เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราจะดูเรื่องเจตนาของกลุ่มเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม วัดพระธรรมกายอยู่ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะทราบถึงรายละเอียด เนื่องจากขณะนี้ยังได้รับสเตตเมนต์ไม่ครบ จึงต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน ส่วนกลุ่มญาติธรรม เป็นบุคคลธรรมดาหลายคนที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำบุญ โดยเป็นเช็ควิ่งผ่าน ซึ่งสำหรับกลุ่มนี้ก็จะเป็นเช็ครายย่อยที่ไม่มีจำนวนมากเท่าไหร่ จึงเอามาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเอกชน โดยเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้ากับกลุ่มที่ 1-4 แต่คาดว่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน

      พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า กรณีการตรวจสอบที่ดินของวัดพระธรรมกายที่มีการระบุว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์นั้น จะต้องดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินก่อน เพื่อให้ทราบถึงเจตนาในการนำเงินเหล่านั้นไปลงทุน จึงจะสามารถระบุได้ว่าที่ดินมีขึ้นไว้เพื่อทำอะไร อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่ามีเงินถูกโอนไปยังวัดพระธรรมกายประมาณ 800 กว่าล้าน เช็คทั้งหมด 15 ฉบับ แต่เช็คที่ถูกนำมาขึ้นเงินเพียง 13 ฉบับ ซึ่งเป็นเงิน 737 ล้านบาท ทั้งนี้ การจะเรียกใครมา สอบปากคำนั้นต้องรอให้เรามีเอกสารหลักฐานครบก่อน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!