WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ปิดคดีพระลิขิต-ธัมมชโย ผลถก'มส.'ฟื้นเป็นอาบัติ-ยึดมติปี 49 ชี้ตรวจสอบเงินสงฆ์ไม่ได้ 'คลองจั่น'ลุยฟ้องให้ชดใช้ เลขาฯวัดธรรมกาย 119 ล.

ประชุม มส. -สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคม โดยที่ประชุมไม่ได้หยิบยกผลการประชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ เกี่ยวกับกรณีพระธัมมชโยมาหารือแต่อย่างใด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์

มส.ลั่นไม่ได้ลงมติพระธัมมชโย แค่ยืนตามม'ติปี'49 ชี้ยุติไปแล้ว หยิบมาถกซ้ำถือว่าอาบัติ ยกเว้นมีโจทก์ฟ้องร้องประเด็นใหม่ พร้อมปัดหารือพระลิขิต 5 ฉบับ'บิ๊กตู่'มอบ'วิษณุ-สุวพันธุ์'แก้ปัญหาธรรมกาย

มส.ถกตั้งกก.ติดตามข่าวสาร

      เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่หอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธาน โดยใช้เวลาหารือเกือบ 1 ชั่วโมง ท่ามกลางการดูแลความสงบเรียบร้อยของทหารและตำรวจประมาณ 60 นาย จากนั้นพระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) กรรมการ และโฆษกมหาเถรสมาคม แถลงข่าวว่า ที่ประชุม มส.มีมติแต่งตั้งกรรมการ มส. 4 รูป และฆราวาส 2 คน ประกอบด้วย พระพรหมสิทธิ กรรมการ มส. วัดสระเกศ, พระพรหมบัณฑิต กรรมการ มส. วัดประยุรวงศาวาส, พระธรรมบัณฑิต กรรมการ มส. วัดพระราม 9, นายจำนงค์ สวมประคำ, นายพิสิฐ เจริญสุข และอาตมา เพื่อทำหน้าที่ติดตามข้อมูลข่าวสารการปฏิบัติงานของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จากนั้นนำมาสรุปรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ว่าเรื่องใดกระทบต่อพระพุทธศาสนา เพื่อรายงานต่อ มส.ต่อไป 

ยัน'ธัมมชโย'ยึดมติมส.ปี 2549

    พระพรหมเมธีกล่าวต่อว่า ที่ประชุม มส.ยังได้รับรายงานเรื่องที่ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ใน 2 เรื่อง คือ 1.พระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องอาบัติปาราชิก และความคืบหน้าในการดำเนินการตามพระลิขิต และ 2.ความคืบหน้าการจัดทำและการเสนอร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา 

     "กรณีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชเกี่ยวกับพระธัมมชโย เป็นเรื่องที่สื่อและประชาชนให้ความสนใจมาก ดังนั้นขอแจ้งว่าการประชุม มส.เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่ได้นำเรื่องพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชขึ้นมาพิจารณาใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ นายสมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ มส. เข้ามารายงานต่อที่ประชุม มส.เท่านั้น และขอยืนยันว่ายังยึดมติ มส.ปี 2549 ที่รับรองมติแล้วว่าพระธัมมชโยไม่ปาราชิก" พระพรหมเมธีกล่าว 

ถ้ามีโจทก์ฟ้องประเด็นจะพิจารณา

     ผู้สื่อข่าวถามว่า พระธัมมชโยปาราชิกหรือไม่ปาราชิก พระพรหมเมธีกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะอ่านตามรายงาน ส่วนเรื่องลิขิตทั้ง 5 ฉบับ และเรื่องพระธัมมชโยปาราชิกหรือไม่ปาราชิก ทาง มส.จะไม่หยิบขึ้นมาพิจารณาอีก เพราะเรื่องไหนที่เคยพิจารณาและยุติไปแล้ว หากหยิบยกขึ้นมาอีกถือว่าผิดหลักพระธรรมวินัย ทำให้อาบัติได้ คดีของพระธัมมชโยจะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งก็ต่อเมื่อมีโจทก์ไปฟ้องร้องในเรื่องใหม่เท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องเดิมถือว่าจบแล้ว

     พระพรหมเมธี กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่พระพุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม แจ้งความนายสมชาย สุรชาตรี โฆษก พศ., พระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และอาตมาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ยังไม่ได้รับเอกสารการฟ้องร้อง ถ้าพระพุทธะอิสระฟ้องก็ไม่สามารถบังคับได้ ส่วนกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์ฯ เสนอให้ตรวจสอบทรัพย์สินของกรรมการ มส.นั้น เรื่องนี้ทำไม่ได้ เพราะกรรมการ มส.แต่ละรูปบวชมานาน มีลูกศิษย์มากมายที่มาถวายปัจจัยส่วนตัว ถ้าจะตรวจสอบต้องไปตรวจสอบศรัทธาของประชาชน แต่ถ้าจะมาตรวจสอบทรัพย์สินของวัดสามารถทำได้ 

     ด้านนายสมชายปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กรณีถูกพระพุทธะอิสระฟ้อง 

ธรรมกายเล็งคืนเงินให้คลองจั่น

    ที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานคณะกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เปิดเผยว่า ขณะนี้สหกรณ์คลองจั่นฯได้ฟ้องร้องติดตามทรัพย์ในคดีแพ่งกับ 1.นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 2.วัดพระธรรมกาย ภายใต้การนำของพระไชยบูลย์ ธัมมชโย หรือพระราชภาวนาวิสุทธิ์ และ 3.พระปลัดวิจารณ์ ในฐานะเลขานุการวัดพระธรรมกาย หลังจากที่นายศุภชัยได้ยักยอกทรัพย์จากสหกรณ์และนำเงินไปจ่ายเป็นเช็คให้วัด ถวายทำบุญ 818 ล้านบาท และพระปลัดวิจารณ์ 119 ล้านบาท ทำให้สหกรณ์คลองจั่นฯขาดสภาพคล่องทางการเงินจำนวนมาก

     "อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัดพระธรรมกายนั้น ศาลได้นัดวันพิจารณาคดีเพื่อซักซ้อม และไกล่เกลี่ยในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ซึ่งทุกอย่างมีแนวโน้มที่ดีว่า วัดพระธรรมกายเตรียมตั้งกองทุนคืนเงินทั้งหมดให้สหกรณ์คลองจั่นฯ ทางเราก็จะถอนฟ้องคดีแพ่งดังกล่าว แต่ในส่วนของพระปลัดวิจารณ์ยังยืนยันว่าได้รับเงินจากนายศุภชัยมาอย่างสุจริต ดังนั้นก็ต้องว่ากันในศาลต่อไป แต่หากพบว่าวัดพระธรรมกายรู้เห็นเป็นใจกับนายศุภชัยในการรับเงินมาอย่างทุจริตนั้น จะฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเช่นกัน" นายเผด็จกล่าว

ฟ้อง"ศุภชัย-18กก."สหกรณ์

นายเผด็จกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ทางสหกรณ์อยู่ระหว่างฟ้องร้องคดีแพ่งเพื่อติดตามทรัพย์กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐีที่ตั้งอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย อีกทั้งยังมีนายศุภชัยเป็นอดีตผู้บริหารและผู้ก่อตั้งสหกรณ์ จำนวนเงิน 400-500 ล้านบาท เนื่องจากนายศุภชัยโอนเงินให้กู้จากสหกรณ์คลองจั่นฯไปยังสหกรณ์ยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ซึ่งทาง ปปง.กำลังยื่นฟ้องทางแพ่งเพื่อยึดทรัพย์คืน แต่ติดปัญหาว่าขณะนี้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในพื้นที่กำลังตรวจทรัพย์สินและสภาพคล่องของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี และพบว่าสหกรณ์ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะคืนเงินได้เลย นอกจากนี้สหกรณ์คลองจั่นฯได้ฟ้องร้องคดีแพ่งกับนายศุภชัยและอดีตคณะกรรมการสหกรณ์อีก 18 คน ฐานยักยอกทรัพย์ไปกว่า 10,000 ล้านบาทอีกด้วย จนขณะนี้ทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายถึง 15,000 ล้านบาท

มจร.เชียงใหม่แนะ2แนวปฏิรูป

พระราชสิงหวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ในฐานะรองประธานสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอกพระอารามหลวง ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการประจำวิทยาเขต มจร. ครั้งที่ 2/2558 ที่ห้องศรีปริยัตยานุรักษ์ อาคาร

วิทยบริการ มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าและพัฒนาการเรียนการสอน พร้อมเสวนาการปฏิรูปศาสนาและกิจการสงฆ์ ภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีแนวคิดให้ฆราวาสมีอำนาจตรวจสอบ ควบคุมดูแลพระสงฆ์และกิจการสงฆ์ทั่วประเทศ มีผู้ร่วมประชุมกว่า 20 คน โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง

พระครูธีรสุตพจน์ หรือพระมหาสง่า ธีรสังวโร ผู้อำนวยการสำนักงาน มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เสนอแนวทางการปฏิรูปศาสนาและพระสงฆ์ 2 แนวทาง คือปรับโครงสร้างการปกครองสงฆ์ หรือแก้ไขพระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระธรรมวินัยให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน พร้อมสังคายนาพระไตรปิฎกหรือคำสั่งสอนให้ทันสมัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสังคม เกิดแนวทางปฏิบัติที่ดีงาม และประเทศเดินหน้าต่อไปได้

ขู่ประท้วงหากปล่อยไล่พระผู้ใหญ่

"สังคมต้องการทางออกการปฏิรูปศาสนาและกิจการสงฆ์ ไม่ใช่ปิดกั้นเส้นทางเดิน เพราะยังหาทางออกแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่เจอ ไม่เหมาะสม ให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ทำลายล้างตัวบุคคล เพราะพระสงฆ์ชั้นสมเด็จหรือชั้นผู้ใหญ่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทำงานแทนสถาบันและแบ่งเบาพระราชกรณียกิจพระองค์ท่าน แล้วรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำไมไม่ใช้กฎอัยการศึกควบคุมเพื่อความสงบเรียบร้อยบ้านเมือง ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย จัดการได้ไหม เพราะมีการเมืองแอบแฝง ไม่ได้ทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์" พระครูธีรสุตพจน์กล่าว

พระครูธีรสุตพจน์กล่าวว่า หากมีขบวนการเคลื่อนไหวขัดขวาง จ้องทำลาย หรือไล่ล่าพระชั้นผู้ใหญ่ เครือข่ายพระสงฆ์และวัดทั่วประเทศอาจชุมนุมเดินขบวนต่อต้านกลุ่มดังกล่าว ซึ่งโอกาสเป็นไปได้สูง หากรัฐบาลและ คสช.ไม่แก้ปัญหาให้ยุติโดยเร็ว

ตั้ง5ชุดสอบโกงสหกรณ์คลองจั่น

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.วรนันท์ ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ร่วมกันแถลงภายหลังประชุมพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามความคืบหน้าคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ว่า ขณะนี้ได้แบ่งพนักงานสอบสวนเป็น 5 ชุด คือ 1.ด้านติดตามร่องรอยทางการเงิน มีหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินจากการสั่งจ่ายของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์คลองจั่นฯ ทั้ง 878 ฉบับเป็นเงิน 1,900 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2552-2555 2.ด้านบัญชี จะตรวจสอบเส้นทางของเงินในบัญชีสหกรณ์คลองจั่นฯ เพื่อสืบหาผู้กระทำความผิดและผู้ที่เกี่ยวข้อง 3.ด้านกฎหมาย จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อกฎหมายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ และดูพฤติกรรมว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ 4.ด้านติดตามทรัพย์สิน จะทำงานร่วมกับด้านติดตามร่องรอยทางการเงิน และ 5.เลขานุการ เป็นการทำงานในภาพรวมเกี่ยวกับระบบการทำงานและการสอบสวน โดยมี พ.ต.ท.สมบูรณ์เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน

จำแนก6กลุ่มเช็กเส้นทางเงิน

พ.ต.ต.วรนันท์กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าในสัปดาห์นี้ พนักงานสอบสวนชุดติดตามร่องรอยทางการเงินได้ดำเนินการตรวจสอบเช็ค 878 ฉบับ รวมถึงที่มีการสั่งถอนที่หน้าเคาน์เตอร์ โดยพนักงานสอบสวนชุดดังกล่าวได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า การติดตามเอกสารเกี่ยวกับเรื่องการเงินแล้ว สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้ 6 กลุ่ม คือ 1.วัดพระธรรมกายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัด กลุ่มนี้นอกจากตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมทางการเงิน ขณะนี้สามารถยึดหลักฐานทางการเงินได้บางส่วนแล้ว 2.บริษัท เอช.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีนายสถาพร วัฒนาศิริกุล เป็นกรรมการบริษัท และผู้เกี่ยวข้อง 3.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้ามา โดยพบว่ามีกระบวนการทางการเงินเชื่อมโยงสหกรณ์คลองจั่นฯ 4.กลุ่มมูลนิธิรัฐประชา มีนายจิรเดช วงเพียงกุล และนายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ 

มีชื่อเกี่ยวข้องกับการรับโอนเงินจากนายศุภชัยรวมกว่า 2,500 ล้านบาท 5.กลุ่มญาติธรรม เป็นกลุ่มที่มีเส้นทางการเงินไหลผ่าน และ 6.เป็นกลุ่มที่มีการรับเงินจากสหกรณ์ เป็นกลุ่มที่มีมูลหนี้ระหว่างกันอย่างถูกกฎหมาย ทั้งนี้ การตรวจสอบด้านกฎหมายพบว่า กรณี ของนายศุภชัยและพวกมีการกระทำความผิดตั้งแต่ พ.ร.บ.สหกรณ์ รวมถึงข้อบังคับและข้อระเบียบที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานทางบัญชีที่มีการนำเงินออกไปจากระบบ

โอนเงินไปวัดธรรมกาย737ล้าน

ด้าน พ.ต.ท.สมบูรณ์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่เข้าข่ายว่ามีการกระทำความผิด มองว่ากลุ่มที่ 1-5 เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะดูเรื่องเจตนาของกลุ่มเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม วัดพระธรรมกายอยู่ในกลุ่มที่ 1 ภายในสัปดาห์หน้าจะทราบถึงรายละเอียด เนื่องจากขณะนี้พนักงานสอบสวนยังได้รับเอกสารการทำธุรกรรมการเงินไม่ครบ จึงต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน ส่วนกลุ่มญาติธรรม เป็นบุคคลธรรมดาหลายคนที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำบุญ โดยเป็นเช็ควิ่งผ่าน สำหรับกลุ่มนี้จะเป็นเช็ครายย่อยที่ไม่มีจำนวนมากเท่าไหร่ จึงเอามาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ไม่ใช่กลุ่มเอกชน เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้ากับกลุ่มที่ 1-4 แต่คาดว่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน 

พ.ต.ท.สมบูรณ์กล่าวต่อว่า กรณีการตรวจสอบที่ดินของวัดพระธรรมกายที่มีการระบุว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์นั้น จะต้องดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินก่อน เพื่อให้ทราบถึงเจตนาในการนำเงินเหล่านั้นไปลงทุน จึงจะสามารถระบุได้ว่าที่ดินมีขึ้นไว้เพื่อทำอะไร อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า มีเงินถูกโอนไปยังวัดพระธรรมกายประมาณ 800 กว่าล้าน เช็คทั้งหมด 15 ฉบับ แต่เช็คที่ถูกนำมาขึ้นเงินเพียง 13 ฉบับ เป็นเงิน 737 ล้านบาท เช็คระบุทั้งชื่อบุคคลและวัด ทั้งนี้ การจะเรียกให้บุคคลใดมาสอบปากคำนั้นต้องรอให้มีเอกสารหลักฐานครบก่อน 

"บิ๊กป้อม"ชี้ปมสงฆ์ให้กม.จัดการ 

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นต่างกรณีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ปาราชิกขาดจากความเป็นพระสงฆ์ ว่า บอกแล้วเรื่องพระก็เป็นเรื่องของพระ เรื่องกฎหมายมาถามตนก็ตอบไม่ได้หรอกไม่รู้รายละเอียด อันไหนผิดกฎหมายก็ว่าไปตามกฎหมาย เพราะมีมหาเถรสมาคมของจัดการ อย่าเข้าไปก้าวก่าย เพราะมีกฎหมายอยู่อะไรที่ทำผิดกฎหมายก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย เอากฎหมายเป็นตัวจัดการ บ้านเมืองต้องอยู่ได้ด้วยกฎหมาย

"บิ๊กตู่"มอบ"วิษณุ-สุวพันธุ์"แก้ปัญหา

เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่า เรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ไปศึกษาทำความเข้าใจกับประเด็นของปัญหา แล้วใครที่เกี่ยวข้องตนไม่อยากเรียกว่าคู่ขัดแย้ง เพราะเป็นเรื่องของศาสนา เรื่องใดที่เป็นการกระทำผิดข้อกฎหมาย เกี่ยวกับเรื่องระบบการเงิน การคลัง หรืออะไรก็แล้วแต่ก็เป็นเรื่องของรัฐที่ต้องดำเนินการ ในส่วนของทางศาสนา เรื่องของพระ เรื่องของอะไรต่างๆ ก็อาจจะต้องตั้งคณะกรรมการฝ่ายสงฆ์มาช่วยดูแล ตอนนี้กำลังคิดอยู่ก็จะได้ช่วยการทำงานของคณะสงฆ์เดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ ได้รับความเชื่อถือ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นศาสนาของประเทศ

ขอร้องทุกฝ่ายสงบอย่าชุมนุม

"ปัจจุบันมีคดีความต่างๆ ที่รัฐดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ศาสนจักรเหล่านี้ ก็คงเป็นเรื่องที่เราต้องให้ทั้งสองฝ่ายดูแลไปพร้อมๆ กัน ก็อย่าไปก้าวก่ายซึ่งกันและกันให้มากนัก ทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้น คิดว่าทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็ต้องยอมรับ แล้วก็ฝ่ายประชาชนก็ต้องยอมรับในการพูดคุยหารือกันในเรื่องนี้ มีองค์กรกำกับดูแล อย่างไรก็ตาม ประเทศชาติก็มีอยู่หลายเรื่องที่สำคัญ ที่ผมต้องรีบดำเนินการขอความร่วมมือทุกพวกทุกฝ่ายช่วยกันขจัดความขัดแย้งให้ได้ พูดจาหารือหาทางออกกัน ใครผิดก็ว่าไป อย่าใช้กระแส อย่าใช้การชุมนุม อย่าใช้อะไรมาทำให้เกิดความวุ่นวายอีกก็แล้วกัน ขอร้อง ขอร้องจริงๆ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!