WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

DAma

 

บิ๊กตู่ปัดใช้'ม.44' จับพระธัมมชโย

       หัวหน้าคสช.ย้อนจะใช้มาตรา 44 จับพระ 'บิ๊กตู่'ปัดกรณีผู้ตรวจฯชงสอบธัมมชโย -อดีตอสส.-ผอ.สำนักพุทธฯ ด้านวิษณุแจงส่งมาในช่องทางที่ถูกต้อง แต่เพียงแค่คำแนะนำ ทำหรือไม่ทำก็ได้ จะลองศึกษาดูว่าจะต้องทำอย่างไร ขณะที่เลขาธิการสำนักงานมหาเถรฯยันดำเนินการตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชจบสิ้นแล้ว ด้านม็อบธรรมกายนับร้อยบุกสำนักงานผู้ตรวจฯประท้วง ซัดแทรกแซงคณะสงฆ์

 

วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9002 ข่าวสดรายวัน

ประท้วง - พระวัดพระธรรมกายกว่า 100 รูป เดินทางมาศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม. ประท้วงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีตั้งกก.สอบพระธัมมชโย เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 

 

       เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานพิจารณาว่าการที่มีการถอนฟ้องกรณีของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) หรือธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กรณีเมื่อปี 2549 ซึ่งขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการกระทำของพระธัมมชโยถือว่ามีความผิดตามพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อปี 2542 หรือไม่ว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ส่งหนังสือดังกล่าวมายังสำนักพุทธฯ จึงยังไม่เห็นรายละเอียดของหนังสือ ดังกล่าวทั้งหมด ตนเพียงทราบเรื่องจากทางสื่อมวลชนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนได้รายงานในเบื้องต้นไปยังนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักพุทธฯ แล้ว ซึ่งนายสุวพันธุ์ได้สั่งการให้รวบรวมรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุการณ์กรณีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายตั้งแต่ปี 2542-2549 แล้วให้รายงานด้วย

       ด้านนายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักพุทธฯ กล่าวว่า ยืนยันว่ากรณีของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนั้น มหาเถรสมาคมปฏิบัติตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2542 ทุกประการ 

       เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยคฤหัสถ์ และบรรพชิต เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ว่า "เรื่องพระธัมมชโย ใช่ไหม เรื่องมาตรา 44 สื่อเอามาใช้ก็แล้วกัน มันมีวิธีการตั้งเยอะแยะ กฎหมายปกติก็มีอยู่ และระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการสอบสวน ถ้ามันถูกก็ว่าไปตามถูก แต่ถ้ามันผิดก็ต้องว่าไปตามผิด จะใช้มาตรา 44 ไปจับพระอย่างนั้นหรือ ให้มันรู้เรื่องกันบ้าง"

        เมื่อถามย้ำว่าแต่เขาต้องการให้มีการตรวจสอบเรื่องผิดพระธรรมวินัย นายกฯ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ตรวจสอบอยู่แล้ว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ตรวจสอบอยู่ มีผลสอบสวนออกมาระยะหนึ่ง ไปตรวจค้นกันดู อย่าไปขัดแย้งกันมากมาย ผิดก็คือผิด อย่างไรมันก็ผิด วันนี้ผลสอบยังไม่ออกเดี๋ยวคณะกรรมการชุดเดิมก็สอบมีผลออกมาให้เวลาฝ่ายกฎหมายทำงานบ้าง จะมาเร่งอย่างนั้นอย่างนี้เดี๋ยวก็ลุกขึ้นมาต่อสู้กัน กฎหมายก็เดินหน้าไม่ได้ การพิจารณาต่างๆ ก็ติดขัดไปหมด เพราะมีการสร้างความขัดแย้งสูง ผิดหรือไม่มันก็ผิด ไม่ผิดวันนี้ก็ผิดวันพรุ่งนี้ ถ้าทุกคนยอมรับ ความผิดกันทั้งหมด ถึงจะมาคุยกันได้ว่าจะหาทางออกกันอย่างไร แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก มันก็ยากและลำบาก ทุกคนจะยอมหรือไม่

       ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ถนนพิษณุโลก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน หยิบยกเรื่องการถอนฟ้องคดีการ ซื้อที่ดินของพระธัมมชโย ขึ้นมาพิจารณาใหม่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ว่า เรื่องนี้พล.อ. ประยุทธ์ สอบถามกับตน เพราะคิดว่าได้รับเรื่องแล้ว ตามข่าวระบุว่าจะส่งเรื่องนี้มาถึง นายกฯ เข้าใจว่านายกฯ ได้รับเรื่องแล้ว แต่ นายกฯระบุว่ายังไม่ได้รับเรื่องและคิดว่าส่งมาถึงตน จึงตอบไปว่ายังไม่ได้รับเรื่อง และขอดูเรื่องที่เขาจะส่งมาก่อน เมื่อได้รับแล้วต้องดูว่าเขาขอให้ทำอะไร ตอนนี้ตอบอะไรไม่ได้เพราะยังไม่เห็นเรื่อง อ่านจากข่าวจากหนังสือพิมพ์เท่านั้นจึงไม่สามารถตอบได้ว่าเรื่องคืออะไร

       เมื่อถามว่ารัฐบาลจำเป็นต้องปฏิบัติตาม คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินทุกข้อ หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่แน่ใจว่า เป็นคำวินิจฉัยหรืออะไร จากที่อ่านจากหนังสือพิมพ์เห็นทุกฉบับลงตรงกันว่า นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า สำนัก งานผู้ตรวจการฯเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงส่งเรื่องมาเพื่อให้นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดังนั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการฯ เมื่อส่งมาถึงรัฐบาล แปลว่าไม่ได้ส่งมาตามช่องทางอำนาจที่ถูกต้อง เพียงแต่ให้คำแนะนำมาว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ดังนั้นการจะปฏิบัติหรือไม่นั้น จึงเป็นดุลพินิจของรัฐบาล แต่ถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการฯ แล้วมีการวินิจฉัย ส่งมาถึงรัฐบาล คนที่รับเรื่องต้องปฏิบัติตาม 


ประท้วง- พระภิกษุจากวัดพระธรรมกายกว่า 100 รูป เดินทางมาศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กทม. ประท้วงกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีตั้งกก.สอบพระธัมมชโย ว่าอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ เมื่อวันที่ 21 ก.ค.

        "เมื่อผู้ตรวจการฯออกตัวตั้งแต่แรกว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจ ทำอะไรไม่ได้ จึงให้รัฐบาลทำนั้น เขาก็รู้ว่ารัฐบาลทำอะไรไม่ได้ จึงต้องให้ไปใช้มาตรา 44 ซึ่งก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะคนที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 คือคสช.ไม่ใช่รัฐบาล จึงขอดูในรายละเอียดก่อนแล้วค่อยพูด ว่าให้ทำอะไร ให้ใครเป็นคนทำ และทำอย่างไร หากมาถึงรัฐบาลแล้วระบุว่าขอใช้มาตรา 44 ก็ต้องส่งกลับไปให้คสช. หากส่งเป็นคำแนะนำมาก็ต้องดูว่าเราทำอะไร ได้บ้าง บางทีอาจจะทำอะไรไม่ได้ ขณะเดียวกันถ้าทำได้แล้วเป็นประโยชน์กับประเทศชาติก็ยินดีจะทำ"

เมื่อถามถึงกรณีมีการหยิบยกพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ที่มีความเห็นว่าธัมมชโยต้องปาราชิก แต่มหาเถรสมาคมยังไม่ตัดสินในเรื่องดังกล่าว นายวิษณุกล่าวว่า ขอยังไม่ตอบ ถ้าจะให้ดี ต้องตรวจสอบ ต่อข้อถามว่าเรื่องนี้เหมือนโยนเผือกร้อนมาให้รัฐบาลแก้ไขหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่เผือก ใครมีปัญหาอะไรแล้วคิดว่ามีทางออก และแก้ไขเพื่อให้คลี่คลายก็ควรจะทำอยู่แล้ว แต่ใครจะเป็นคนทำ ทำแค่ไหนต้องขอดูอีกที เพราะรัฐบาลนี้ไม่ได้จับเรื่องนี้มาตั้งแต่แรก แต่รัฐบาลเก่าอาจจะเคยทำมาก่อน ดังนั้น หากจะต้องทำอะไรก็ต้องไปเอาเรื่องเก่ามาดู เพราะเรื่องนี้ผ่านมา 7 ปีแล้ว

        เมื่อเวลา 13.30 น. บริเวณหน้าอาคาร รัฐศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระภิกษุจากวัดธรรมกายกว่า 100 รูป พร้อมประชาชนร่วม 600 คน เดินทางมาพร้อมรถขยายเสียงปราศรัย แสดงความไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับกรณี ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอให้นายกฯ และ หัวหน้าคสช. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อเท็จจริงว่า พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่

     จากนั้น เวลา 15.30 น. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มารับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม มีนายอดิศักดิ์ วรรณสิน เป็นตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์พระธัมมชโย หนังสือดังกล่าวระบุว่าประเด็นเรื่องพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินอ้างถึงเป็นคำแนะนำ ไม่มีผลบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์และมหาเถรสมาคมได้นำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ปี 2542 การรื้อฟื้นเรื่องที่เสร็จสิ้นไปแล้วจึงถือว่าขัดหลักนิติธรรมและฝ่าฝืนพระธรรมวินัย ส่วนกรณีที่อัยการสูงสุด ถอนฟ้องก็เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย และศาลก็ได้อนุญาตให้ถอนฟ้องแล้ว เท่ากับศาลเห็นว่าถูกต้องเหมาะสมที่จะอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ดังนั้นผู้ตรวจการ แผ่นดินจึงไม่มีอำนาจหน้าที่และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเสนอให้ตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการมาดำเนินการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ ให้เป็นที่เสียหายแก่ระบบการปกครองทั้งศาสนจักร และอาณาจักรอีกต่อไป และถือว่าไม่ยุติธรรม ต่อพระธัมมชโย ทั้งยังจะสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนอันจะขัด ต่อนโยบายปรองดององ คสช.จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทบทวนและยุติการดำเนินการกรณีดังกล่าว

       ด้านนายรักษเกชากล่าวชี้แจงว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินทำไปตามหน้าที่ เนื่องจากเรื่อง ดังกล่าวมีผู้มายื่นร้องเรียน หากไม่ดำเนินการอาจถูกฟ้องร้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของผู้ตรวจฯ ยังไม่ใช่จุดสิ้นสุด ไม่เหมือนศาล ถ้าได้รับข้อมูลที่อาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยได้ก็ยินดีที่จะน้อมรับ ซึ่งตนจะนำข้อเสนอนี้ไปรายงานกับผู้ตรวจการแผ่นดินให้รับทราบ ส่วนกรณีการถอนฟ้องของอัยการก็ขอให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจไปตรวจสอบ อีกทั้งการส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.นั้น เพื่อขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบนั้นท้ายที่สุดผลที่ออกมาอาจบริสุทธิ์ตามแบบเดิมก็เป็นได้ เพียงแค่มีคนช่วยหาคำตอบอีกชั้นหนึ่ง นี่เป็นครั้งแรกที่มีคนมายื่นหนังสือแล้วได้รับพร 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนที่มาชุมนุมนั้นต่างถือป้ายที่มีข้อความระบุว่า คดีดังกล่าวจบไปแล้วจะรื้อฟื้นขึ้นมาอีกทำไม พระธัมมชโยไม่มีความผิด เรามาขอความเป็นธรรม ให้หลวงพ่อธัมมชโย ลูกหลวงพ่อไม่เล่นการเมืองแต่รักความยุติธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ใช้หลักกฎหมาย แต่ตะเกียกตะกาย ใช้หลักกู รวมทั้งมีข้อความระบุว่าผู้ตรวจการแผ่นดินตาบอดหรือไง คนรีดไถโรงแรม ไม่ปาราชิกหรือ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ นายรักษเกชาได้ชี้แจงแล้วพระภิกษุและประชาชนต่างแยกย้ายกันกลับโดยไม่มีเหตุวุ่นวายแต่อย่างใด

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!