WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8718 ข่าวสดรายวัน

วัย 17 ปีพิชิตโนเบล 'มาลาลา'สาวน้อยนักสู้ปากีฯ 
รณรงค์เพื่อสิทธิ์ การศึกษาผู้หญิง จนถูกตาลิบันยิง 'มติชน'จัดพิมพ์ หนังสือชีวประวัติ ฉบับแปลเป็นไทย


โนเบล - น.ส.มาลาลา ยูซัฟไซ วัย 17 ปี ชาวปากีสถาน ที่ถูกกลุ่มตาลิบันยิงศีรษะจากการรณรงค์เรียกร้องให้ ผู้หญิงได้เรียนหนังสือ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2014 ขณะที่หนังสือชีวประวัติได้รับความสนใจไปทั่วโลก

        สาวน้อยนักต่อสู้วัย 17 ปี ชาวปากีฯ'มาลาลา'คว้ารางวัล'โนเบลสันติภาพ'ได้ร่วมกับนักต่อสู้เพื่อเด็กชาวอินเดีย เผยเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์โนเบลสันติภาพที่มีมาถึง 113 ปี ล่าสุดร่วมกับนักข่าวอังกฤษเขียนหนังสือเล่าชีวประวัติ แล้วแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงไทยด้วย ในชื่อ'I Am Malala เด็กหญิงที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิแห่งการศึกษา และถูกตาลิบันยิงศีรษะ'สำนักพิมพ์มติชนได้ลิขสิทธิ์จัดพิมพ์ฉบับภาษาไทย เตรียมเปิดตัวในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ วันที่ 15-26 ต.ค.นี้ ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์
        เมื่อวันที่ 10 ต.ค. คณะกรรมการโนเบลสาขาสันติภาพ ประเทศนอร์เวย์ ประกาศมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2557 ให้แก่ น.ส.มาลาลา ยูซัฟไซ อายุ 17 ปี นักต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของผู้หญิงและเด็กชาวปากีสถาน และนายไกลาศ สัตยาร์ที อายุ 60 ปี นักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กชาวอินเดีย จากผลงานการรณรงค์เพื่อสิทธิเด็ก โดยน.ส.มาลาลาเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มีมา 113 ปี
        คณะกรรมการโนเบลระบุว่า โลกจะพัฒนาไปได้อย่างสันติก็ต่อเมื่อสิทธิของเด็กและผู้เยาว์ได้รับการเคารพ น.ส.มาลาลาได้ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงมานานหลายปี และเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าเด็กและผู้เยาว์สามารถปรับปรุงสถานการณ์ในชีวิตของตนเองได้ น.ส.มาลาลาผลักดันสิ่งเหล่านี้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อันตรายยิ่ง ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว กระทั่งกลายเป็นนักพูดชั้นนำที่รณรงค์เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิง 
     ส่วนนายไกลาศเป็นผู้นำการประท้วง และการเรียกร้องหลากหลายรูปแบบด้วยวิธีสันติ เพื่อปกป้องเด็กจากการถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ นายไกลาศอุทิศตนเพื่อพัฒนาการประชุมสำคัญระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก
      แถลงการณ์ของคณะกรรมการโนเบลระบุด้วยว่า เด็กต้องไปโรงเรียน ไม่ใช่ถูกใช้แสวงหาประโยชน์ การเคารพสิทธิของเด็กและผู้เยาว์เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีก่อนจะพัฒนาโลกได้อย่างสันติ โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งที่การคุกคามละเมิดเด็กนำไปสู่การกระทำความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่น
      "เป็นเรื่องสำคัญที่ชาวฮินดู ชาวมุสลิม ชาวอินเดีย และปากีสถานจะร่วมกันต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาและต่อต้านกลุ่มสุดโต่ง ในประเทศยากจนทั่วโลก มีประชากรที่อายุต่ำกว่า 25 ปี อยู่ร้อยละ 60 ปัจจุบันยังมีเด็กถูกใช้แรงงานราว 168 ล้านคน แต่เมื่อปี 2543 มีจำนวนมากกว่านี้ 78 ล้านคน ถือว่าโลกกำลังเข้าใกล้เป้าหมายการลดตัวเลขแรงงานเด็กแล้ว" แถลงการณ์ระบุ ทั้งนี้มีรายงานว่าในช่วงการประกาศรางวัล น.ส.มาลาลาอยู่ในห้องเรียนที่ประเทศอังกฤษ
      ส่วนนายไกลาศให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่สำนักงานเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเด็กของตนเองในกรุงนิวเดลี เมื่อทราบผลรางวัลด้วยสีหน้าปลาบปลื้มยินดีว่า คาดหวังว่านอกเหนือไปจากที่ตนต่อสู้เพื่อไม่ให้เด็กตกเป็นทาสแล้ว ตนและน.ส.มาลาลาจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาค
      "ผมเชิญเธอเข้าร่วมการสร้างสันติภาพในภูมิภาคของพวกเรา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กๆ จำเป็นสำหรับชาวอินเดียทุกคน สำหรับชาวปากีสถานทุกคน และสำหรับพลเมืองทุกคนของโลก" นายไกลาศกล่าว
        สำหรับ งานมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะจัดที่เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ ส่วนสาขาอื่นๆ จัดที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในวันที่ 10 ธ.ค. มีเงินรางวัลราว 35 ล้านบาท เกียรติบัตรและเหรียญทองคำเกียรติยศ
       ด้านนายนาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับน.ส.มาลาลา โดยยกย่องว่าเป็นความภูมิใจของชาวปากีสถาน ทำให้ผู้นำประเทศภาคภูมิใจ ความสำเร็จของน.ส.มาลาลาไม่มีที่เปรียบ และยากจะหาใครเสมอเหมือน เด็กหญิงและชายทั่วโลกควรเอาเยี่ยงอย่างการต่อสู้และความมุ่งมั่นของเธอ
      ขณะที่นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในฐานะทูตพิเศษด้านการศึกษาโลกของสหประชาชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนน.ส.มาลาลา ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับทั้งน.ส.มาลาลา และนายไกลาศว่า ทั้งสองเป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทที่ดีที่สุด และเป็นนักรณรงค์ระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่สมควรได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพจากความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ที่ว่าไม่สมควรมีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยยกย่องน.ส.มาลาลาที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงตั้งแต่ในปากีสถานไปทั่วโลก
       น.ส.อาเยชา คาลิด เพื่อนนักเรียนของมาลาลา กล่าวว่า ไม่ใช่มาลาลาเท่านั้นที่ชนะรางวัลนี้ เด็กผู้หญิงปากีสถานทั้งมวลชนะด้วย มาลาลาเป็นแสงสว่างให้ดวงตาของพวกเรา และเป็นปากเสียงแทนใจของพวกเรา มาลาลาได้พิสูจน์แล้วว่าการทำลายล้างโรงเรียนไม่สามารถยับยั้งการศึกษาได้ ส่วนนายชามา อักบาร์ อายุ 15 ปี นักเรียนจากเมืองมินโกรา เมืองใหญ่ในปากีสถาน กล่าวเสริมว่า รางวัลนี้พิสูจน์ว่าปากีสถานไม่ใช่ประเทศของ ผู้ก่อการร้ายแต่เป็นต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย และยังพิสูจน์ว่าชาวปากีสถานรักการศึกษา
      สำหรับน.ส.มาลาลาเป็นลูกสาวของนาย เซียอุดดิน ยูซัฟไซ ครูผู้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงในเขตสวัต มาลาลาเริ่มรณรงค์สิทธิการศึกษาพร้อมพ่อตั้งแต่อายุยังน้อย โดยขณะอายุ 11 ขวบ เริ่มเป็นที่รู้จักในโลกตะวันตกจากการเขียนเรื่องราวชีวิตของผู้คนในเขตสวัตที่ถูกตาลิบันคุกคามผ่านบล็อกส่วนตัวที่เขียนให้แก่สำนักข่าวบีบีซี ประเทศอังกฤษ
      ก่อนได้รับรางวัลโนเบล มาลาลาเคยได้รางวัลอื่นๆ มาหลายรางวัล รวมถึงรางวัล ซาคารอฟ รางวัลทรงคุณค่าของสหภาพยุโรปเมื่อปีก่อน ทำให้กลุ่มตาลิบันไม่พอใจมาก และข่มขู่จะสังหารหญิงสาวอีก 
     ปัจจุบันอายุ 17 ปี มาลาลาอาศัยอยู่กับครอบครัว ประกอบด้วยพ่อ แม่ และน้องชาย 2 คน ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ภาคกลางของประเทศอังกฤษ โดยยังไม่มีโอกาสกลับไปบ้านเดิมที่เขตสวัต ประเทศปากีสถาน นับตั้งแต่ที่เกิดเหตุถูกมือปืนตาลิบันยิงศีรษะในวันที่ 9 ต.ค.2555 และถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลควีนอลิซาเบธในอังกฤษจนหายดี ปัจจุบันเรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมเอดจ์บาสตัน
      ขณะเดียวกัน มาลาลายังจัดตั้งกองทุนมาลาลา หรือ Malala Fund สำหรับการช่วยเหลือด้านการศึกษาเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ยังคงไร้โอกาส พร้อมกันนี้มาลาลาและนายเซียอุดดิน บิดา เดินสายไปประเทศต่างๆ เพื่อรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็ก ผู้หญิง เช่นในปีนี้เดินทางไปเยี่ยมเด็กที่ค่ายอพยพของประเทศซีเรีย และไปประเทศไนจีเรีย พบญาติและเพื่อนของเหยื่อนักเรียนหญิงของชาวไนจีเรีย ที่เผชิญเหตุการณ์กลุ่มติดอาวุธโบโกฮารามลักพาตัวไปกว่า 200 คน
      นอกจากนี้ มาลาลายังร่วมกับน.ส.คริสตินา แลมบ์ นักข่าวชาวอังกฤษ เขียนหนังสือเล่าชีวประวัติตัวเองในชื่อ "I Am Malala : The Girl Who Stood Up for Education and Was Shot by the Taliban" ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อเดือนต.ค.2556 จากนั้นมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาไทย ในชื่อ 'I Am Malala เด็กหญิงที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิแห่งการศึกษาและถูกตาลิบันยิงศีรษะ'แปลโดย สหชน สากลทรรศน์ สำนักพิมพ์มติชน ที่จะเปิดตัวในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 19 ในวันที่ 15-26 ต.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!