WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8719 ข่าวสดรายวัน


โอบามา-ผู้นำทั่วโลก ยินดี'มาลาลา' 
เป็นตัวแทนสตรี-เด็ก หนังสือชีวประวัติฮิต 'มติชน'เพิ่มยอดพิมพ์


ฉลองโนเบล - ชาวปากีสถานจัดงานตัดเค้กฉลองให้ "มาลาลา ยูซัฟไซ" เด็กสาวนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่คว้ารางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ขณะที่หนังสือไอ แอม มาลาลา ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนนำมาแปล (ภาพเล็ก) ได้รับความนิยมจนต้องพิมพ์เพิ่ม

      บรรดาผู้นำทั่วโลกแห่แสดงความยินดีมาลาลา ยูซัฟไซ ผู้คว้ารางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ โอบามาเผยทึ่งใน ความกล้าหาญของเด็กสาววัย 17 ชิมอน เปเรส ชูเป็นตัวแทนของผู้หญิงและเด็ก ผู้หญิงทั่วโลก สำนักพิมพ์มติชนเผยกระแสตอบรับหนังสือ 'ไอ แอม มาลาลา'สุดเปรี้ยง สั่งพิมพ์เพิ่มแล้วหลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ชูเป็นไฮไลต์งานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่ศูนย์สิริกิติ์ พร้อมจัดกิจกรรมเสวนา 16 ต.ค.นี้
      เมื่อวันที่ 11 ต.ค. เอเอฟพีรายงานว่า ผู้นำโลกและองค์กรระหว่างประเทศ ต่างออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับน.ส.มาลาลา ยูซัฟไซ นักต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิง ชาวปากีสถาน วัย 17 ปี ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2557 และเป็นผู้ที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การมอบรางวัลสาขานี้ที่มีมานาน 113 ปี โดยน.ส.มาลาลาได้รับรางวัลร่วมกับนายไกลาศ สัตยาร์ที นักต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กชาวอินเดีย วัย 60 ปี
     ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ผู้นำสหรัฐ ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลทั้งสองคน โดยยกย่องความแน่วแน่และมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงของน.ส.มาลาลา และว่าด้วยอายุเพียง 17 ปี น.ส.มาลาลาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก ด้วยความพยายามเพื่อให้เด็กผู้หญิงทุกคนได้รับการศึกษา เมื่อตาลิบันพยายามจะทำให้เธอเงียบ น.ส.มาลาลาตอบโต้ความโหดเหี้ยมของคนเหล่านั้นด้วยความเข้มแข็งและมุ่งมั่น พร้อมทั้งระบุว่าตนและนางมิเชล ภริยา รู้สึกทึ่งในความกล้าหาญของน.ส.มาลาลา รางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้กับมาลาลา ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความเร่งด่วนในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของเยาวชนของพวกเราทุกคน


ฉลองโนเบล - ชาวปากีสถานจัดงานตัดเค้กฉลองให้ "มาลาลา ยูซัฟไซ เด็กสาว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่ทำการพรรคประชาชนปากี สถาน กรุงอิสลามาบัด

       ด้านนางอิรินา โบโกว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีเช่นกัน โดยกล่าวว่า การตระหนักถึงบทบาทของน.ส.มาลาลาทำให้ผู้คนในโลกเห็นความสำคัญของการศึกษา และการสร้างสังคมที่มีสันติภาพและยั่งยืน ที่ผ่านมายูเนสโกทำงานร่วมกับผู้ชนะรางวัลโนเบลอย่างใกล้ชิด สำหรับน.ส.มาลาลาจะได้ต่อสู้ร่วมกันเพื่อการศึกษาสากล โดยเฉพาะการศึกษาเพื่อเด็กผู้หญิง
       นายชิมอน เปเรส อดีตประธานาธิบดีอิสราเอล อายุ 91 ปี ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2537 แถลงแสดงความยินดีว่า การตัดสินใจมอบรางวัลให้กับน.ส.มาลาลาเป็นการตัดสินใจที่มีคุณค่า น.ส.มาลาลาเป็นตัวแทนของ ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลก และเป็นตัวอย่างสำหรับพวกเราทุกคน เธอเอาชนะคนที่พยายามจะปิดปาก และชัยชนะของเธอเป็นชัยชนะเพื่อสันติภาพ พวกเราทุกคนภูมิใจในตัวเธอ
      ด้านนายกรัฐมนตรี สตีเฟน ฮาร์เปอร์ ของแคนาดา แถลงว่า ในนามของชาวแคนาดาทุกคน ขอแสดงความยินดีกับน.ส.มาลาลา และนายสัตยาร์ที สำหรับงานเพื่อมนุษยชาติที่น่าทึ่ง จากความพยายามไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อสิทธิเด็ก กระทั่งกลายเป็นที่สนใจของทั้งโลก และขอแจ้งว่า ในวันที่ 22 ต.ค. น.ส.มาลาลาจะเดินทางมายังแคนาดา หลังจากที่รัฐบาลแคนาดาประกาศยกย่องให้น.ส.มาลาลาเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์เมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นชาวต่างชาติคนที่ 6 ที่ได้รับเกียรติเช่นเดียวกับองค์ ทะไลลามะ อดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้ และนางออง ซาน ซู จี วีรสตรีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวพม่า
      ด้านน.ส.มาลาลากล่าวเปิดใจที่โรงเรียนในเมืองเบอร์มิงแฮมของอังกฤษซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน โดยแถลงข่าวหลังชั่วโมงเรียนวิชาเคมี ว่า ภูมิใจที่เป็นชาวปากีสถานคนแรกและเป็นเด็กสาวคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ เดิมไม่คาดว่าจะได้ กระทั่งครูมาแจ้งให้ทราบระหว่างเรียนวิชาเคมีอยู่ รางวัลนี้อุทิศให้แก่เด็กทั่วโลกที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียง ซึ่งทุกเสียงเหล่านั้นจำเป็นต้องได้รับการรับฟัง พร้อมทั้งพูดติดตลกว่ารางวัลนี้คงจะไม่ได้ช่วยให้ทำข้อสอบผ่าน แต่ยืนยันว่าทำให้ตนเองกล้าที่จะสู้ต่อไป และกระตุ้นให้เด็กทั่วโลกยืนหยัดเพื่อสิทธิของตัวเอง โดยไม่ต้องรอใครมาช่วย และคิดว่าการได้รับรางวัลเป็นเพียงการเริ่มต้นของการต่อสู้
      น.ส.มาลาลา กล่าวด้วยว่า มีความสุขและเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลร่วมกับชาวอินเดียซึ่งมีผลงานที่ยิ่งใหญ่เพื่อสิทธิเด็กและต่อต้านการตกเป็นทาสแรงงานซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับตนเช่นกัน คนหนึ่งมาจากปากีสถาน อีกคนมาจากอินเดีย คนหนึ่งเชื่อในฮินดู อีกคนเชื่อมั่นในอิสลาม เป็นสารที่ส่งถึงผู้คนให้เห็นความรักระหว่างปากีสถานและอินเดีย และระหว่างความแตกต่างของศาสนา โดยเราทั้งคู่จะสนับสนุนกันและกัน ไม่สำคัญว่าผิวสีอะไร พูดภาษาใด หรือศรัทธาศาสนาใด พร้อมกันนี้น.ส.มาลาลาได้กล่าวเชื้อเชิญนายนาวาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากี สถาน และนายนเรนทรา โมที นายกรัฐมนตรีอินเดียให้ไปร่วมพิธีมอบรางวัลที่กรุงออสโลของประเทศนอร์เวย์ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ด้วย ขณะที่ทั้งสองประเทศมีปัญหาปะทะกันอยู่ในแคว้นแคชเมียร์
      น.ส.มาลาลา ยังกล่าวขอบคุณผู้สนับ สนุนและครอบครัว โดยเฉพาะบิดาที่ไม่หักปีกของตนทิ้งและแสดงให้โลกเห็นว่าผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย แม้ว่าพี่ชายน้องชายของตนจะคิดว่าตนได้รับการดูแลดีกว่าพวกเขาก็ตาม
      ข่าวการได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพของน.ส.มาลาลาสร้างความดีใจให้กับประชาชนชาวปากีสถานทั่วประเทศ โดยพรรคประชาชนปากีสถาน (พีพีพี) ในกรุงอิสลามาบัดจัดงานตัดเค้กเพื่อฉลองให้น.ส.มาลาลา ส่วนที่บ้านเกิดของน.ส.มาลาลาในเมืองมินโกรา ชาวบ้านต่างออกมาเต้นรำ ร้องเพลง และรับประทานขนมเค้กฉลองร่วมกัน
       วันเดียวกัน น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บมจ. มติชน กล่าวถึงกระแสการต้อนรับหนังสือ "I Am Malala" หรือ ฉันคือมาลาลา ว่า ขณะนี้มีประชาชนให้ความสนใจกับหนังสือเล่มนี้ดีมาก งานเปิดตัวหนังสือเป็นช่วงที่มาลาลาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพพอดี โดยสำนักพิมพ์มติชนได้สั่งพิมพ์หนังสือเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เพราะจากกระแสตอบรับที่มีมาก และคาดว่าในช่วงงานหนังสือแห่งชาตินี้ หนังสือ I Am Malala จะได้รับความสนใจมากขึ้นด้วย
     น.ส.ปานบัว กล่าวอีกว่า มั่นใจกับหนังสือเล่มนี้ เพราะเป็นหนังสือที่ดี และต้องการผลักดันเป็นไฮไลต์ของบูธหนังสือสำนักพิมพ์มติชนด้วย คาดว่าจะทำให้นักอ่านหลายคนสนใจในหนังสือเล่มนี้มากขึ้น ทั้งนี้จะมีงานเปิดตัวหนังสือในวันที่ 16 ต.ค. นี้ เวลา 13.00 น. ที่มีตติ้งรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

'มาลาลา ยูซัฟไซ' 'หนังสือ-ปากกา'เปลี่ยนโลก


     มีแต่เสียงชื่นชมยินดีจากคนทั่วทุกวงการสำหรับผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อันเป็นรางวัลทรงเกียรติรางวัลหนึ่งในเวทีโลกประจำปีนี้ไปครอง โดยในปีนี้ มาลาลา ยูซัฟไซ สาวน้อยชาวปากีสถานวัยเพียง 17 ปี เป็นผู้คว้ารางวัลไปโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ ร่วมกับ ไกลาศ สัตยารธี นักเคลื่อนไหวชาวอินเดียวัย 60 ปี ที่เคลื่อนไหวต่อต้านการกดขี่ใช้แรงงานเด็กมาเกือบตลอดทั้งชีวิตการทำงานของเขา

    คนหนึ่งเป็นมุสลิมชาวปากีสถานและยังเป็นเพียงเด็กนักเรียนหญิงตัวเล็กๆ ที่กำลังเริ่มต้นก้าวเดินชีวิตที่สดใสของเธอ ส่วนอีกคนเป็นชายฮินดูชาวอินเดียที่ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายแล้ว แม้ทั้งสองคนจะมีความแตกต่างกันอยู่ในหลายๆ ด้าน แต่สิ่งที่มาลาลาและไกลาศมีร่วมกันจนทำให้เขาทั้งสองได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินี้ไปครองก็คือ ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวและยอมเสี่ยงแม้กระทั่งชีวิตของตนเองในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันเท่าเทียมกันทางการศึกษาของเด็กๆ และให้เด็กทุกคนบนโลกใบนี้ได้มีชีวิตโดยเป็นอิสระจากการถูกล่วงละเมิดทำร้ายหรือถูกแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ

    สำหรับ "ไกลาศ" จัดเป็นนักเคลื่อนไหวแถวหน้าของโลกที่ยึดหลัก "อหิงสา" แนวทางเดียวกับมหาตมะ คานธี ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติการหาผลประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานเด็กมานับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 การต่อสู้ดังกล่าว

    ได้นำไปสู่การปลดปล่อยเด็กนับหลายหมื่นชีวิตให้หลุดพ้นจากการตกเป็นทาสแรงงานและเขายังประสบผลสำเร็จจากการพัฒนารูปแบบทางการศึกษาใหม่ให้แก่เด็กๆ ผลงานของเขาเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้คนมากมาย 

    ทว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ ไฮไลต์ถูกจับจ้องไปที่ "มาลาลา" ในฐานะที่เธอเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่มีอายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา จากการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษา โดยเฉพาะการเรียกร้องให้เด็กผู้หญิงอย่างเธอในปากีสถานได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเหมือนเด็กผู้ชายทั่วไป แม้การต่อสู้นี้

    ของมาลาลาจะเป็นการท้าทาย "ทาลิบัน" กลุ่มติดอาวุธมุสลิมที่ตีความหลักคำสอนแบบผิดๆ ให้เป็นไปในทางกดขี่สตรีเพศ ซึ่งรวมถึงการจำกัดสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิง และแม้การต่อสู้นี้จะทำให้ชีวิตของเธอต้องเฉียดความตายมาแล้วก็ตาม!!

    การรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ของมาลาลาจากคมกระสุนของมือปืนทาลิบันที่เหนี่ยวไกยิงศีรษะของเธอ จนกระสุนทะลุกระดูกสันหลัง ขณะที่เธอกำลังนั่งรถโรงเรียนกลับบ้านพร้อมกับเพื่อนๆ ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 ตุลาคม 2555 แต่หลังจากการเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้งและได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดีจากทีมแพทย์โรงพยาบาลควีนเอลิซาเบธ ในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ที่เธอถูกส่งตัวจากปากีสถานไปรักษาที่นั่นในเกือบจะทันที อีก 3 เดือนต่อมา มาลาลาได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ซึ่งก็คือ บ้านในเมืองเบอร์มิงแฮมที่เธอและครอบครัวอาศัยอยู่จนถึงปัจจุบันนี้เพื่อความปลอดภัย 

    มาลาลา เคยเปิดใจบอกกับสื่อก่อนหน้านี้ว่า แวบแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของเธอเมื่อฟื้นคืนสติขึ้นก็คือ "ขอบคุณพระเจ้า ฉันยังไม่ตาย"!! นั่นหมายความว่าเธอยังมีลมหายใจที่จะต่อสู้ในสิ่งที่เธอยึดมั่นศรัทธาต่อไป 

   จากบทบาทการต่อสู้เพื่อให้เด็กผู้หญิงได้เรียนหนังสือโดยเกือบจะต้องแลกกับหนึ่งชีวิตบริสุทธิ์ของมาลาลา ได้ดึงดูดความสนใจของคนทั่วโลกมายังตัวมาลาลาอย่างจริงจังนับตั้งแต่นั้น แต่ในส่วนของมาลาลาเองได้เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางการศึกษาให้กับเด็กผู้หญิงในปากีสถานมาตั้งแต่เธอมีอายุเพียงแค่ 11 ขวบเท่านั้น 

    "เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้าม สามารถเปลี่ยนโลกนี้ได้"

    เป็นหนึ่งในคำกล่าวของมาลาลาบนเวทีสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถ้อยคำที่ใช้อาจดูธรรมดา ทว่าช่างจับหัวจิตหัวใจคนฟังเป็นอย่างยิ่งในแก่นความหมายที่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ต้องการจะสื่อสารถึงชาวโลกให้ตระหนักว่า การศึกษานี่แหละถือเป็นอาวุธที่ทรงพลานุภาพในการต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาหรือภัยคุกคามใดๆ ทั้งปวง ไม่ว่าฤทธิ์ของภัยคุกคามนั้นจะรุนแรงเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม 

   มาลาลา ถือเป็นเยาวชนตัวอย่างคนหนึ่งของโลก ที่พิสูจน์ให้เราได้เห็นประการหนึ่งว่า เรื่องของวัยและประสบการณ์ ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการมีจิตสำนึกในการต่อสู้เพื่อสิทธิพื้นฐานของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะด้านใดๆ มาลาลาไม่เพียงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงที่ถูกกดขี่ข่มเหงในประเทศปากีสถาน แต่เธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนอีกมากมายในทุกช่วงวัยและทั่วทุกวงการในการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่นศรัทธา 

     จากเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่กำลังก้าวเข้าสู่สาววัยแรกแย้ม ด้านหนึ่งมาลาลายังคงใช้ชีวิตเหมือนเด็กผู้หญิงวัยรุ่นทั่วไป เธอไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน ยามว่างก็นั่งเล่นพูดคุย

     หยอกล้อกับเพื่อนๆ แม้มาลาลาจะพูดได้คล่องถึง 3 ภาษา แต่เธอยอมรับว่า "เลข" เป็นวิชาที่เธอชอบน้อยที่สุด ทว่าในอีกด้านสะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่ช่างโตเกินตัวของเธอ มาลาลายังคงออกรณรงค์ให้โลกตระหนักถึงสิทธิเด็กที่จะต้องได้เรียนหนังสือ วงเสวนาและการประชุมในเวทีต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงนานาชาติที่ยังเปิดโอกาสให้เธอได้กระทบไหล่บุคคลสำคัญระดับโลก ล้วนเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้เธอได้สะท้อน "เสียงที่ไม่ได้ยิน" ของเด็กๆ ทั่วโลกที่ถูกละเมิด กดขี่ และลิดรอนสิทธิ

    มาลาลากล่าวหลังการได้รับรางวัลโนเบลว่า นี่ไม่ใช่การสิ้นสุดของการรณรงค์ต่อสู้เพื่อสิทธิในการศึกษาของเด็ก แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องทำกันต่อไป เธอต้องการเห็นเด็กทุกคนได้ไปโรงเรียน มีการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีชีวิตที่มีความสุข สำหรับรางวัลนี้ถือเป็นรางวัลเพื่อเด็กที่ไร้เสียงเหล่านั้น ซึ่งเสียงของพวกเขาจะต้องทำให้ได้ยิน และเธอจะเป็นคนที่พูดและยืนหยัดเพื่อพวกเขา 

     ถึงวันนี้ มาลาลาบอกว่าเธอยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะกลับไปปากีสถาน อันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของเธอในสักวันหนึ่ง ที่สำคัญเธอจะเข้าสู่เวทีการเมือง!!

     ทั้งนี้ หนังสือ "I Am Malala" ผลงานเขียนชิ้นแรกของมาลาลา ที่มี คริสตินา แลมป์ นักข่าวหญิง ช่วยขัดเกลาให้โด่งดังก้องโลกติดอันดับขายดี ได้รับการแปลไปหลายภาษา โดย "สำนักพิมพ์มติชน" ได้ลิขสิทธิ์การแปลเป็นภาษาไทย จัดวางจำหน่ายทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ 

     และเตรียมเปิดตัวเป็นทางการ ในการจัดเสวนาหัวข้อ "I Am Malala หนังสือและปากกาเหนือกว่าอาวุธ" วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม ระหว่างเวลา 13.00-17.00 น. ณ ห้องมีตติ้งรูม 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

     เป็นอีกเล่มที่โดดเด่น และพลาดไม่ได้ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติปีนี้  

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!