- Details
- Category: DES
- Published: Wednesday, 18 January 2023 22:07
- Hits: 1870
กระทรวงดิจิทัลฯ ชี้แจง ปัญหาโจรไซเบอร์อาละวาด ลั่น! ไม่นอนใจ เร่งแก้ไขหลอกลวงออนไลน์ต่อเนื่อง
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะโฆษกกระทรวง เปิดเผยว่า ปัญหามิจฉาชีพที่ใช้สารพัดกลยุทธ์ทางเทคโนโลยีหลอกลวงประชาชน โดยเฉพาะกรณีหลอกดูดข้อมูลด้วยสาย ชาร์จปลอม และได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกรายงานในหน้าสื่อโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนมีข้อวิจารณ์ว่ารัฐบาลเพิกเฉยไม่เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งดีอีเอส ไม่เคยนิ่งนอนใจ และเดินหน้าร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดการปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทน สมาคมธนาคารไทย สำนักงาน ป.ป.ง. และหน่วยงานอื่นๆ โดยมีการดำเนินการดังนี้
1.การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา รัฐบาล มีนโยบายเร่งรัดแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ และสั่งการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานกสทช. ดำเนินการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ มีการสรุปผลของการปฏิบัติงานและสถิติการดำเนินคดีทางอาชญากรรมออนไลน์ที่สำคัญ ในปี 2565 (เดือนมกราคม ถึงธันวาคม 2565) ประกอบด้วย
– ดำเนินคดีแก๊ง Call Center ในต่างประเทศ 8 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหา 166 คน
– ปิดกั้นการโทรหลอกลวง/ข้อความ SMS หลอกลวง จำนวน 118,530 หมายเลข
– การอายัดบัญชีม้าจำนวน 58,463 บัญชี และปิดกลุ่มโซเชี่ยลมีเดียซื้อขายบัญชีม้า จำนวน 8 กลุ่ม
– การดำเนินคดีหลอกลวงลงทุน ระดมทุน ออนไลน์และหลอกลวงทางการเงิน ดำเนินคดีจำนวน 657 คดี จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 673 ราย
– การปราบพนันออนไลน์ โดยดำเนินคดี 318 คดี มีผู้ต้องหาจำนวน 461 ราย และปิดกั้นเว็บพนันจำนวน 1,830 เว็บ
– การดำเนินคดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ จำนวน 263 คดี และจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 270 ราย
2.การแก้ปัญหา บัญชีม้า และ sim ผี ดีอีเอสได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการปราบบัญชีม้า และ SIM ผิดกฎหมาย (SIM ผี) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มิจฉาชีพใช้ประกอบการฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน สำหรับการแก้ปัญหาบัญชีม้าและบัญชีต้องสงสัยนำไปใช้กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้จัดทำประกาศหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง
ซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศฉบับนี้ ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 12 มกราคม 2566 นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ได้แจ้งรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย ประมาณ 1,000 รายชื่อ ให้สถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับ การแก้ปัญหา SIM ผิดกฎหมาย สำนักงาน กสทช. ได้มีแผนดำเนินการ กรณีผู้ถือครองซิมการ์ด 100 ซิมขึ้นไป ประมาณ 8,000 ราย ต้องยืนยันตัวตนให้ถูกต้องภายใน มกราคม 2566 ทั้งนี้ เพื่อตัดวงจรการที่มิจฉาชีพใช้ SIM ผีประกอบการหลอกลวงประชาชน และทำธุรกรรมการเงินออนไลน์
3.การแก้ปัญหา Remote app ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และสมคมธนาคารไทย ได้จัดทำระบบป้องกันมิจฉาชีพใช้ Remote Application ควบคุมการทำ Mobile Banking และสวมรอยโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย โดย ธนาคารพาณิชย์ได้จัดทำระบบป้องกัน และปรับปรุงต่อเนื่อง
4.การเตือนภัย อาชาญากรรมออนไลน์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นช่องทางใหม่แจ้งเตือนภัยออนไลน์เนื่องจากประชาชนมีการใช้งานกว่า 40 ล้านคน โดยได้แจ้งเตือนข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังแล้ว ซึ่งการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นการดำเนินการเพิ่มเติมจากการเตือนภัยออนไลน์ ของหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสื่อมวลชนทุกแขนง
กระทรวงดิจิทัลฯ มีความมุ่งมั่น ที่จะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน และขอแสดงความห่วงใย ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทัน ภัยออนไลน์จากมิจฉาชีพ อย่าหลงเชื่อ หากท่านใดได้รับความเดือดร้อนจากแก๊งมิจฉาชีพ หรือถูกหลอกลวงออนไลน์ต่างๆ หรือพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ทางสายด่วนโทร 1212 ตลอด 24 ชั่วโมง
สำนักงาน กสทช. เตือนประชาชนระวัง SMS หลอกลวง อย่ากดลิงค์ทันที เช็คให้แน่ใจที่มา เพื่อไม่ให้สูญเสียเงินหรือถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ช่วงนี้ประชาชนจำนวนมากได้รับข้อความสั้น หรือ SMS หลอกลวงจากมิจฉาชีพที่แอบอ้างว่าส่งมาจากธนาคาร หน่วยงานราชการ รัฐบาล โดยใช้วิธีการส่งลิงค์ ประกอบกับข้อความในลักษณะที่สร้างความตกใจ หรือสร้างความสนใจ หรือส่งข้อความลักษณะเหมือนการแจ้งเตือนจากระบบ อี-แบงค์กิ้ง หรือ SMS แจ้งสถานะทางบัญชี
อาทิ แจ้งเงินเข้าบัญชีจำนวนมาก บัญชีของคุณถูกแจ้งปิดบริการ ธนาคารแจ้งอัพเดทระบบ หรือข้อความบอกกดเงินสำเร็จทั้งๆ ที่ประชาชนที่ได้รับข้อความก็ไม่ได้ทำธุรกรรมใดๆ กับธนาคาร หรือได้รับการช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน XXX บาท ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนกดลิงค์ที่แนบมา ซึ่งหากประชาชนกดลิงค์ดังกล่าวแล้วเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือทำการใดๆ จะทำให้ต้องเสียเงิน หรือถูกนำข้อมูลไปใช้ก่อให้เกิดความเสียหายได้
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ขอให้ประชาชนระมัดระวัง เมื่อได้รับ SMS ที่มีลิงค์ขอให้ตั้งสติ อย่าเพิ่งตกใจ หรือเชื่อในข้อความที่ได้รับ อย่ากดลิงค์ที่ส่งมากับ SMS ทันที แต่ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของ SMS ก่อน สังเกตลิงค์ หรือ url ให้มั่นใจก่อนกด ถ้าเป็นมิจฉาชีพลิงค์ หรือ url ที่ส่งมาจะเป็นชื่อแปลกๆ ไม่ตรงกับหน่วยงาน (ธนาคาร หรือหน่วยงานราชการ ) ที่อ้างใน SMS แต่จะเป็นตัวสะกด เป็นข้อความภาษาอังกฤษหรือเครื่องหมายแปลกๆ
หากได้รับ SMS ที่มีข้อความและลิงค์เหล่านี้ อย่าไปกดลิงค์ หรือถ้าสงสัยให้โทรสอบถาม Call Center ของหน่วยงานนั้นๆ อย่าหลงกรอกข้อมูลส่วนตัว Username Password หรือ OTP ผ่านลิงค์ที่ได้รับเด็ดขาด เพราะมิจฉาชีพได้พัฒนากลอุบายต่างๆ เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนแล้วนำไปทำธุรกรรม ถอนเงินจากบัญชีของท่านจนหมดได้
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้สั่งการให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกราย ตรวจสอบ ดูแล การส่ง SMS ที่ผ่านระบบของผู้ให้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชน หรือเกิดกรณีหลอกลวงเช่นนี้
“อยากให้ประชาชนระมัดระวัง อย่ากรอก Username Password ที่ใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ กับธนาคารในลิงค์ที่ส่งมากับ SMS หรืออย่าให้ข้อมูลส่วนตัวไปง่ายๆ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อน เพื่อระมัดระวังไม่ให้ข้อมูลเหล่านี้ตกไปอยู่ในมือมิจฉาชีพที่จะเอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ทำธุรกรรม ขโมยเงินของเรา หรือนำไปก่อความเสียหายได้”นายสุทธิศักดิ์ กล่าว