WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ไอซีที จับมือสอท.ปั้นดิจิตอลอีโคโนมี สร้างเงินหมื่นล้านผ่านธุรกิจออนไลน์

    แนวหน้า : ไอซีที-สอท. สนองนโยบายรัฐบาล ผนึกกำลังส่งดิจิตอลอีโคโนมีสู่ภาคอุตสาหกรรมหวังใน 3 ปี ซื้อขายออนไลน์สะพัดหมื่นล้านบาท

    นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า กระทรวงมีแนวทางที่จะสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (ดิจิตอลอีโคโนมี) ของรัฐบาลโดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ที่มีสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) จำนวนมาก โดยส่งเสริมผู้ประกอบการดังกล่าวให้เข้าสู่การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่าน 4 แนวทางหลัก ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 2.ส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม 3.ปรับรูปแบบการค้าการลงทุนในเชิงธุรกิจดิจิตอล และ 4.เกิดตลาดใหม่ในอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนส์ ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ ได้

  นายสุพันธุ์ มงคลธุลี ประธานสอท. กล่าวว่าสอท. มีนโยบายที่จะส่งเสริมสมาชิกของ สอท.กว่า 8,000 บริษัท ให้เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจจากการซื้อ-ขาย แบบเดิมไปทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น โดยสอท. ได้มีการจัดทำเว็บไซต์กลาง www.ftiebusiness.com เพื่อให้สมาชิก สามารถทำธุรกิจผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้ เบื้องต้นสมาชิกจะมีหน้าร้านออนไลน์ รายการสินค้าออนไลน์ เพื่อเป็นพื้นที่ให้สมาชิกสามารถระบายสินค้าที่มีอยู่ได้

  สอท.ยังได้เสนอโครงการเพื่อสนับสนุนอีก 4 โครงการ ได้แก่ 1.ส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สู่ภาคอุตสาหกรรม (อี-บิสซิเนส) ที่เป็นการเพิ่มช่องทางการซื้อขายสินค้าแบบออนไลน์สู่ภาคอุตสาหกรรมแก่ผู้ประกอบการกว่า 3,000 ราย ที่สามารถสร้างโอกาสส่งเสริมการซื้อขายผ่านโครงการได้กว่า 2,000 ล้านบาท ในปีแรกรวมทั้งคาดในอีก 3 ปี จะสามารถส่งเสริมการซื้อขายได้รวมกว่า 10,000 ล้านบาท

   2.การปรับเปลี่ยนมาตรฐานการซื้อขายสินค้าให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นการช่วยลดขั้นตอนการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้ารวมไปถึงการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น 3.ศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมไทย ที่จะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลโครงการผลิตของอุตสาหกรรมแต่ละแขนง จำนวน 43 กลุ่ม ใน 3 ปี และ 4.การพัฒนาบุคลากร ซึ่งสอท. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาผู้ประกอบการถึงแนวคิดดิจิตอลอีโคโนมีไปสู่สากลไม่น้อยกว่า 1,000 คน ใน 3 ปี และพัฒนาความรู้ผู้พัฒนาระบบเทคโนโลยี ไม่ต่ำกว่าปีละ 200 ราย

  นอกจากนี้ สอท.และกระทรวงไอซีที ยังมีมติร่วมกันในการตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานเพื่อมาช่วยกันขับเคลื่อนงานในด้านต่างๆตามที่ได้มีข้อตกลงร่วมกันไปจนถึงดูในส่วนของข้อกฎหมายต่างๆ ที่จะมีขึ้นเพื่อช่วยส่งเสริมในการใช้งานสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการซื้อขายของภาคอุตสาหกรรมให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น รวมทั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะยังมีหน้าที่พิจารณางบประมาณในส่วนต่างๆ ที่ทางกระทรวงไอซีทีจะให้การสนับสนุน สอท. ในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประเมินแต่อย่างใดว่าต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนเท่าใด แต่คาดคงไม่ใช่ในจำนวนเงินที่สูงอย่างแน่นอน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!