WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ICTlogoก.ไอซีที ภารกิจหนักปูทางสู่เศรษฐกิจดิจิตอลกลายร่างเป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

      บ้านเมือง : เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สรุปผลงานเด่นรอบ 6 เดือน ซึ่งผลงานเด่นที่กำลังดำเนินการ คือการผลักดันกฎหมายดิจิตอล ปิดเว็บไซต์ไม่เหมาะสม 3,900 ยูอาร์แอล บูรณาการโครงข่ายสื่อสาร พร้อมเร่งปรับโครงสร้างหน่วยงาน เดินหน้าเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนกระทรวงไอซีที เป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ตามแผนแม่บทของประเทศไทย

       นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเข้ามารับหน้าที่ตั้งแต่ 12 กันยายน 2557-31 มีนาคม 2558นี้ กระทรวงไอซีทีได้เตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy : DE) ตามนโยบายรัฐบาล ด้วยการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 กลุ่ม

     ประกอบด้วยกลุ่มแรก คือ กลุ่มกฎหมายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ได้แก่ กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มกฎหมายด้านความมั่นคง ได้แก่ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นอกจากนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

      สำหรับ ภารกิจที่สำคัญของกระทรวงไอซีที ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Cyber Security) และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ กระทรวงไอซีทีได้ปิดกั้นเว็บไซต์ไม่เหมาะสมที่กระทำผิดกฎหมาย โดยดำเนินการทางกฎหมายเรื่องเว็บไซต์หมิ่นสถาบันและเว็บไซต์ลามกอนาจาร ประมาณ 3,900 ยูอาร์แอล และมีคำสั่งศาลอาญา ให้ระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ประมาณ 3,400 ยูอาร์แอล คิดเป็นร้อยละ 87.32

      ส่วนการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ โดยเฉพาะกรณีการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับส่วนราชการต่างๆ โดยยึดหลักยุทธศาสตร์ 4 ป. ได้แก่ ปราบปราม ป้องกัน ประชาสัมพันธ์ และประสานงาน ซึ่งได้ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดแล้ว 10 ราย รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำแนวนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศเสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ความเห็นชอบ ขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐและสถานศึกษาเสนอเรื่องให้คณะกรรมการฯ พิจารณา 184 หน่วยงาน และผ่านความเห็นชอบแล้ว 97 หน่วยงาน

       ด้านการบูรณาการโครงข่ายสื่อสาร National Broadband ของภาครัฐ กระทรวงไอซีทีได้บูรณาการ Core network (โครงข่าย Backbone Fiber Optic) ของทุกหน่วยงานภาครัฐที่มีการลงทุนไปแล้ว ให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายภาครัฐร่วมกันอย่างคุ้มค่า ลดความซ้ำซ้อน และการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้ Internet Protocol รุ่นที่ 6 (IPv6) เพื่อรองรับการใช้งานการเชื่อมต่ออุปกรณ์อินเตอร์เน็ตในอนาคต

        สำหรับ การแก้ไขปัญหาสัมปทาน กรณีข้อพิพาทสัมปทานรัฐวิสาหกิจของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT โดยเฉพาะเรื่องเสาโทรคมนาคม ซึ่งตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กำหนดให้ดำเนินการหาข้อยุติให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยทาง CAT ได้เจรจากับบริษัทเอกชนคู่สัญญาที่มีข้อพิพาทดังกล่าว ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ และเมื่อเจรจาเรียบร้อยแล้วจะเสนอเรื่องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาต่อไป

        ส่วนกรณีสัมปทานดาวเทียม คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินงานหลังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 โดยมีประเด็นในการดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.กรณีเงินค่าสินไหมทดแทนจากการที่ดาวเทียมไทยคม 3 เกิดความเสียหาย จำนวน 6,765,299 ดอลลาร์สหรัฐ มีข้อยุติตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดว่า กระทรวงไอซีทีและบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญา 2.กรณีอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยมิชอบ และ 3.กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมฯ ครั้งที่ 5 โดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40

       โดยกระทรวงไอซีทีได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ คณะกรรมการตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ และนำเสนอคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไป

      ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานตามกฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2558 ได้แก่ การจัดตั้งกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการปรับปรุงภารกิจและโครงสร้างจากกระทรวงไอซีที ซึ่งจะมีส่วนราชการใหม่ 1 ส่วน คือ สำนักงานคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐอีก 1แห่ง คือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อขับเคลื่อนและดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2558 ตลอดจนการนำเสนอนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในเดือนกันยายน 2558

      ส่วนการดำเนินงานในระยะยาว กระทรวงไอซีทีจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ประกอบด้วย การจัดตั้งคณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม จากการโอนสินทรัพย์ของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าของโครงข่ายเข้าสู่องค์กรกลาง การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) และแผนปฏิบัติการการบูรณาการศูนย์ข้อมูล นอกจากนี้จะจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทยในระยะยาว (Lifelong Learning)

       ด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิตอล ส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิตอล และส่งเสริมเนื้อหาดิจิตอล กำหนดมาตรการหลักที่เร่งดำเนินการ ได้แก่ ส่งเสริมธุรกิจ SMEs ให้มีศักยภาพในการใช้ระบบออนไลน์ทำธุรกิจ ส่งเสริมการพัฒนาระบบ e-supply chain เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยอาศัยมาตรฐานข้อมูลและระบบบริการด้วยดิจิตอล สนับสนุนให้เกิดธุรกิจเกิดใหม่ดิจิตอล (Digital Entrepreneurs) พัฒนาธุรกิจ/อุตสาหกรรมเนื้อหาดิจิตอล (Digital Contents) ด้านการร่วมลงทุน มาตรการด้านการจัดตั้งและปิดกิจการ มาตรการด้านการสนับสนุนด้านการเงิน มาตรการด้านคนเข้าเมือง มาตรการด้านจัดจ้างภาครัฐ และมาตรการด้านการจดลิขสิทธิ์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ

    "กระทรวงไอซีทีมุ่งมั่นที่จะดำเนินการด้านต่างๆ สู่การเป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอล อันจะเป็นกลไกสำคัญในกานปฏิรูปประเทศไทยสู่ยุคใหม่ ที่เศรษฐกิจมีความทันสมัยและสังคมที่สงบสุขอย่างยั่งยืน" นายพรชัย กล่าว

      นอกจากนี้ ทางกระทรวงไอซีทีจะเข้าหารือร่วมกันกับ กสทช. ในเรื่องของความเป็นไปได้ในการรีฟาร์มมิ่งคลื่นทั้งหมด แต่จะเป็นการทยอยรีฟาร์มมิ่ง หลัง คสช.เปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ระบบ 4G โดยเบื้องต้นจะเริ่มที่คลื่นความถี่ 1,800 MHz และ 2,600 MHz ก่อน เพื่อรองรับการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ขณะที่การหารือเป็นไปในทางเดียวกัน จะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากนั้นจะมีการหารือกับทางนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เพื่อหาแนวทางการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!