WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TDRIสมเกยรต ตงกจวานชยTDRI เห็นต่างตั้งกองทุนดิจิทัลหวั่นเกิดช่องโหว่คอร์รัปชัน-เอื้อพวกพ้อง

    ไทยโพสต์ *ทีดีอาร์ไอชี้กองทุนดิจิทัลเสมือนให้เช็คเปล่ารัฐบาล หวั่นเปิดช่องการเมืองเอื้อพวกพ้อง-ไม่โปร่งใส คาดรายได้ตั้งต้นปีแรกสะพัดในกองทุนกว่าหมื่นล้าน

     นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ... ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น เปิดช่องในการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบและสร้างบรรทัดฐานที่ผิด ซึ่งการใช้จ่ายเงินของกองทุนมีขอบเขตกว้างมาก มีการสนับสนุนหน่วยงานรัฐและเอกชนในการพัฒนา โดยเงินให้เปล่าหรือให้กู้ยืมตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลกำหนดขึ้น

     ทั้งนี้ การพิจารณาว่าจะใช้เงินกองทุนกับโครงการใดนั้น จะทำโดยคณะกรรมการกองทุน ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน และมีกรรมการอื่นๆ จากฝ่ายการเมืองหรือผู้ที่ฝ่ายการเมืองแต่งตั้ง โดยไม่มีการตรวจสอบจากรัฐสภา เพราะเป็นการใช้เงินโดยไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณตามปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา 3 ส่วน คือ 1.เปิดช่องให้มีการใช้จ่าย เงินอย่างไม่โปร่งใส จากดุลพินิจของรัฐบาล โดยไม่มีการตรวจสอบโดยฝ่ายค้านและเปิดช่องให้รัฐบาลต่อๆ ไป ซึ่งอาจมีเจตนาไม่ชอบ แสวงหาประโยชน์หรือเอื้อพวกพ้องได้

     2.การใช้เงินกองทุนน่าจะ ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีกลไกใด นอกจากคณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ตรวจสอบ เพื่อตัดโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ซึ่งประเทศอาจจำเป็นต้องใช้เงินในด้านอื่นที่เร่งด่วนมากกว่า อาทิ ใช้หนี้สาธารณะเพื่อลดภาระดอกเบี้ย และ 3.ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องตั้งกองทุนขึ้นมา เพราะหากรัฐบาลต้องการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง ก็สามารถตั้งโครงการที่เหมาะสม และจัดสรรงบประมาณตามกระบวนการได้อยู่แล้ว

    อย่างไรก็ตาม ตามร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล กองทุนจะมีรายได้สำคัญมาจาก 3 แหล่งคือ 1.อัตรา 25% ของรายได้จากการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะ โดยรายได้ในส่วนนี้ในแต่ละปีจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่ามีการประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหญ่ในปีนั้นหรือไม่ 2.จาก 25% ของรายได้ของสำนักงาน กสทช. ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมเลขหมายที่เก็บจากผู้ประกอบการโทรคมนาคม โทรทัศน์และวิทยุ คาดว่า รายได้ของกองทุนในส่วนนี้มีประมาณ 1.8 พันล้านบาทต่อปี และ 3.การโอนเงินมาจากกอง ทุนสนับสนุนบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ซึ่ง กสทช.บริหารอยู่ โดยคาดว่า รายได้ส่วนนี้น่าจะสูงประ มาณ 4.4 พันล้านบาทต่อปี

    "กองทุนน่าจะมีรายได้ประจำไม่ต่ำกว่า 6.2 พันล้านบาทต่อปี  รายได้จะสูงขึ้นอีกมหาศาลในปีที่มีการประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหญ่ เช่น ในปีนี้จะมีการประมูลคลื่น 4จี ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เข้ากองทุนอีกไม่ต่ำกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท หากร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลมีผลบังคับใช้ ในปีแรก กองทุนน่าจะมีเงินตั้งต้นถึง 1.7 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 6 พันล้านบาทต่อปี การตั้งกองทุนจึงเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ไม่มีประสิทธิภาพ และเปิดช่องให้มีการใช้จ่ายเงินอย่างไม่โปร่งใส โดยไม่มีการตรวจสอบที่รัดกุม เสมือนเป็นการให้เช็คเปล่าแก่รัฐบาล" ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!