- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 16 March 2023 09:52
- Hits: 2421
‘ธนา‘ แนะ อยาก ‘Work Life Balance’ ต้อง ‘ลงทุน’
“ธนา เธียรอัจฉริยะ” เผยมุมมอง ความสมดุลชีวิตและการทำงาน หากต้องการ Work life balance ต้องลงทุน “อยากมีชีวิตที่ออกแบบได้” ต้องสั่งสมประสบการณ์ มีทักษะที่ตลาดต้องการ มีเครือข่ายที่ดี เพราะโลกนี้คนปานกลางอาจไม่รอด ต้องมีความโดดเด่น เพื่อให้เป็น “ผู้ถูกเลือก”
ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการหลักสูตร สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ (ABC) มหาวิทยาลัยศรีปทุม, ศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจชีวิตและมีแนวคิดที่ตกตะกอน ผ่านประสบการณ์การตลาดในหลายอุตสาหกรรม เผยถึงเศรษฐศาสตร์แห่งการเลือกงาน หลักการลงทุนให้ชีวิต และแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสมดุลของชีวิตกับการทำงาน หรือ Work life balance ที่หลายคนคนพูดถึง โดยมองว่า Work life balance ใช้ได้กับคนที่มี “ทางเลือก” และการที่คนเราจะมีทางเลือก “ต้องลงทุน”
“Work life balance ใช้ได้กับคนที่มีทางเลือก เพราะคนที่ไม่มีทางเลือกจะไป Work life balance ก็อาจจะถูกไล่ออก Work life balance เกิดขึ้นได้หากทำงานสำเร็จ หัวหน้างานสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน เขาไม่ได้วัดเป็นชั่วโมง การทำงานตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ดังนั้น ในแง่ของการทำงานหากอยากมี Work life balance มีเวลาไปทำอย่างอื่น ต้องทำงานให้สำเร็จก่อน
คนที่เริ่มคิด Work life balance ตั้งแต่อายุน้อยๆ จะเสี่ยงกว่าคนที่ทำประสบความสำเร็จ โลกนี้มันโหดร้าย หากไม่ชอบทำงาน ไม่มี Passion อยากมีเวลาไปเที่ยว เห็นคนอื่นได้ใช้ชีวิต แต่อย่าลืมว่า ทุกอย่างต้องลงทุน ไม่ได้มาฟรีๆ ต้องมีเงินเก็บพอสมควร ถึงเวลานั้นเราจึงจะเริ่มเลือกได้ ขณะเดียวกัน หลายคนมองว่า Work life balance คือ การได้ทำในสิ่งที่ชอบด้วย Passion แต่ความจริงมีเพียงไม่กี่คนที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบจริงๆ เช่น บางคนอาจจะชอบดนตรี แต่ได้เป็นนักบัญชี ดังนั้น คนส่วนใหญ่ต้องมีคำว่า ฉันทะ คือ “ชอบในสิ่งที่ทำ” ทำอย่างไรจะสนุกกับงานได้ และสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มากทุกช่วงอายุ คือ ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหนก็ต้อง “พักผ่อนให้เพียงพอ” และ “ออกกำลังกาย” จะช่วยให้อารมณ์ดี อดทนกับงานหนักได้ดีขึ้น แล้วเราจะไม่มีคำถามกับเรื่องเหล่านี้ คนที่มีคำถามกับเรื่องพวกนี้ ก็เพราะเกลียดในสิ่งที่ทำอยู่และไม่มีทางเลือก นอกจากนี้ “ชีวิตที่ออกแบบได้” เป็นชีวิตที่หลายคนปรารถนา แต่แน่นอนว่าในช่วงที่ชีวิตยังออกแบบไม่ได้ ก็ต้องทำงานหนัก เพื่อดิ้นรนให้ชีวิตรอด มีปัจจัยสี่ และมีทางเลือก แต่การที่เราจะมีทางเลือกนั้น อาจต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น คือการทำตัวเองให้เป็น “ผู้ถูกเลือก”
ธนา กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ทำให้เราเป็นผู้ถูกเลือกได้ ต้องมีทักษะที่ตลาดต้องการ มีเครือข่ายที่ดี โลกนี้เป็นโลกที่คนปานกลางไม่ค่อยรอด แต่ต้องมีความโดดเด่นอะไรบางอย่าง ดังนั้น ในช่วง 5-10 ปี ต้องสะสมสิ่งเหล่านี้ แม้คนที่จบเศรษฐศาสตร์เหมือนกัน เริ่มงานเงินเดือนเท่ากัน แต่ผ่านไป 10 ปี ก็ยังมีทักษะที่ไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนผ่านประสบการณ์ไม่เหมือนกัน การที่จะมีคนสอน มีผู้ใหญ่เอ็นดู ได้ทำงานที่ดี มีประสบการณ์เยอะ ช่วงแรกๆ เงินอาจจะน้อย แต่ทำอย่างไรให้คนอุปถัมภ์ค้ำชูให้เราได้โปรเจกต์ดีๆ สอนงานเรา ซึ่งก็ต้องย้อนกลับมามองว่าเราเป็นคนนิสัยอย่างไร คนไม่ดีก็คงไม่มีใครอยากช่วย ดังนั้น หากจะเริ่มต้น 10 ปีให้ชนะคนอื่น ก็ต้องกลับมาที่ตัวเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ เราอาจเห็นหลายคนที่ยังคงทำงาน แม้จะมีทุกอย่างครบและสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้ “ธนา” มองว่า เกษียณไม่เกษียณอยู่ที่ความพร้อมของใจและเงิน เรามองว่าความสุข คืออะไรมากกว่า บางคนถามเศรษฐีที่มีเงินหมื่นล้านว่าทำไมเขาไม่รีไทร์ แต่เขาไม่ได้ต้องการหาเงินเพื่อมาใช้เงิน บางคนใช้เงินแบบสมถะไม่ฟุ่มเฟือย ถามว่าทำไมต้องทำงาน เพราะมันคือ “ความสุข” เป็น Passion บางคนอาจจะชอบอ่านหนังสือ ชอบทำงาน ชอบความสำเร็จ เขาจึงมีความสุขที่จะตื่นมาทุกเช้า และได้ทำงาน เห็นความสำเร็จ ซึ่งมันทำให้เขามีชีวิตที่ตื่นเช้ามาแล้วตื่นเต้น
“ส่วนตัวแล้วตอนนี้รู้สึกมีความสุขของชีวิต เคยคุยกับพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) ว่าตอนนี้มีเป้าหมายอะไรในชีวิตอีกหรือไม่ เขาตอบมาคำหนึ่งว่า เป้าหมายในชีวิตตอนนี้คือ การลดเป้าหมาย มันคือ ดีมานด์ ซัพพลายทางเศรษฐศาสตร์ ความพอใจของเรา คือ เราตั้งเป้าหมายสูงและไขว้คว้าไปเรื่อยๆ ขณะที่ ฝั่งพุทธศาสนา ให้ลดเป้าหมายลงมาเพื่อให้ถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น Happiness มันอยู่ตรงกลางระหว่างที่เราบรรลุเป้าหมาย พออายุเยอะ เห็นอะไรมาเยอะ เราจะรู้ว่าการดึงเป้าหมายให้ต่ำลงมาเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า และมีความสุขง่ายขึ้น”
ในหลักของเศรษฐศาสตร์เรามักจะคิดว่าทรัพยากรมีจำกัด เราต้องใช้เวลาจำกัด วิธีการคิด ทุกอย่างจำกัด ทำให้ต้องแสวงหาสิ่งที่ผลตอนแทนเยอะถึงจะคุ้มกับสิ่งที่เราทุ่มเท แต่อยากจะลองให้ไอเดียเรื่องผลตอบแทนที่อาจจะไม่ใช่เงินอย่างเดียว คือ Currency ในชีวิต มองว่ามี 3 อย่าง คือ “เงิน” แน่นอนว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่บางช่วงอาจจะสำคัญมาก ถัดมา “ประสบการณ์” ที่ช่วยเราได้เยอะในระยะยาว พอมีประสบการณ์เราจะรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ตัวตนเด่นขึ้น ฉลาด ทำอะไรได้มากขึ้น และสุดท้าย “การสะสมคำขอบคุณ” การสร้างเครือข่าย และการรู้จักเป็นผู้ให้ (Giver) ทำให้เรามีเพื่อนฝูง และอยู่ในกลุ่มคน Giver เพราะเราเป็น Giver ก่อน เป็นการสะสมคำขอบคุณ และทำให้เรามีความสุข หรือ เรียกว่า การปลูกต้นไม้” ธนา กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถติดตามรับฟังความรู้และมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันผ่านรายการ Econ Connect ให้เศรษฐศาสตร์ เชื่อมโลก เชื่อมเรา ไปกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถรับชม EP02 ฉบับเต็ม: ธนา เธียรอัจฉริยะ เศรษฐศาสตร์แห่งการเลืออกงานและหลักการลงทุนให้ชีวิต เพิ่มเติมได้ทาง YouTube Channel: Economics Chulalongkorn หรือรับฟังทาง Podcast: Econ Connect
Spotify: https://open.spotify.com/episode/410krcBi6G7XmW7RHdNjue
Podbean: https://econconnect.podbean.com/e/ep02ธนา-เธียรอัจฉริ/
A3628