- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 26 March 2024 17:59
- Hits: 10457
‘ศุภมาส’ ย้ำ อว. ต้องผลิตกำลังคนในสาขาที่จำเป็นตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม มอบหมาย สอวช. เดินหน้าพัฒนาหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ผลิตกำลังคนรูปแบบใหม่ ปลดล็อกข้อจำกัดการอุดมศึกษาในปัจจุบัน
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร สวทช. (โยธี) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม และมีประเด็นสำคัญในการเสวนา ได้แก่ ความก้าวหน้าการดำเนินงานของการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox)
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของ กระทรวง อว. ที่ต้องการผลิตกำลังคนในสาขาที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยไม่ถูกจำกัดด้วยเกณฑ์มาตรฐานการอุดมศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้สามารถผลิตกำลังคนได้อย่างมีคุณภาพ ในปริมาณที่เพียงพอ ตรงตามความต้องการ ภายในเวลาที่รวดเร็ว จึงฝาก สอวช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงระบบการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง และภาพรวมของมาตรการและโปรแกรมสนับสนุน ได้มีการดำเนินโครงการแพลตฟอร์ม STEMPlus บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ สนับสนุนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่ตอบความต้องการของตลาดแรงงานแห่งอนาคต รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ผ่านมาตรการ Thailand Plus Package เพื่อส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูงด้าน STEM โดยสามารถนำค่าจ้างพนักงานไปยกเว้นภาษีได้ 150% ซึ่งที่ผ่านมามีการรับรองแล้วการจ้างงานไปแล้ว 5,724 ตำแหน่ง จาก 112 บริษัท ส่วนการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูงด้าน STEM บริษัทที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก อว. สามารถนำค่าใช้จ่ายไปขอยกเว้นภาษีได้ 250% โดยมีหลักสูตรที่ผ่านการรับรองแล้ว 828 หลักสูตร จาก 95 หน่วยฝึกอบรม พัฒนาทักษะบุคลากรไปแล้วจำนวน 81,599 ราย
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความต้องการบุคลากรทักษะสูงใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Thailand Talent Landscape) ระหว่างปี พ.ศ.2563-2567 พบว่ามีความต้องการบุคลากรดังนี้คือ ด้านดิจิทัล 30,743 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการบินและการขนส่ง 29,289 ตำแหน่ง ศูนย์กลางทางการแพทย์ 17,732 ตำแหน่ง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 15,432 ตำแหน่ง การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง 14,907 ตำแหน่ง อาหารแห่งอนาคต 12,458 ตำแหน่ง การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา จำนวน 12,254 ตำแหน่ง ยานยนต์แห่งอนาคต 12,231 ตำแหน่ง หุ่นยนต์อุตสาหกรรม 10,020 ตำแหน่ง และด้านพลังงานชีวภาพและชีวเคมี 9,836 ตำแหน่ง
สำหรับโครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ (GenNX Model) มีการเปิดรับผู้สนใจเข้ามาพัฒนาทักษะใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรผลิตนักพัฒนาซอฟต์แวร์ (Junior Software Developer) และหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ (Senior Care Professional) ซึ่ง ดร.กิติพงค์ ย้ำว่า ผู้ที่เข้ารับการพัฒนาทักษะจากโครงการ เมื่อจบหลักสูตรไปแล้วสามารถหางานได้ทันทีในสัดส่วนกว่า 85% ส่วนโครงการ Job Guarantee Thailand ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบวิธีการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง โดยมีเป้าหมายหลักคือการผลิตแรงงานที่มีทักษะสูงตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของประเทศ
“ส่วนของหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ที่เป็นการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน ปีที่ผ่านมา มีหลักสูตรที่ผ่านการอนุมัติ 11 ข้อเสนอ โดยมีเป้าหมายผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง 19,695 คน ภายใน 10 ปี มี 7 ข้อเสนอที่เริ่มเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนในปีการศึกษา 2566 ซึ่งมีนักศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์แล้ว 530 คน อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรม Campus Tour 4 ภูมิภาค และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการแซนด์บ็อกซ์การผลิตกำลังคนด้าน “Semiconductor and Advanced Electronics” ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และภาคเอกชน เป็นหลักสูตรที่จะช่วยตอบความต้องการกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมด้วย” ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นว่าการพัฒนาหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาเป็นโครงการที่ดีมาก ต้องมีการขยายผลและประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในไทย ให้เห็นว่าเราจะมีบุคลากรรองรับการเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศได้ ซึ่งในอนาคตยังสามารถขยายขอบเขตการผลิตบุคลากรให้กว้างขึ้น และเชื่อมโยงกับการทำข้อมูลผลสำรวจความต้องการทักษะสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการบูรณาการการจัดทำหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ในอนาคตได้อีกด้วย
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้รายงานความก้าวหน้าของ วิทยสถานเพื่อการพัฒนาพื้นที่ หรือ ธัชภูมิ ว่า เป็นการจัดตั้งสถาบันความรู้เพื่อการจัดการทุนทางวัฒนธรรม การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยการนำองค์ความรู้วิจัยและนวัตกรรมสนับสนุนการวิจัยเชิงขยายผลโมเดลการจัดการทุนทางวัฒนธรรมไปสู่เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏจำนวน 23 แห่ง นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมจากทั่วประเทศที่มาจากเครือข่ายวิจัยที่ทำงานการจัดการทุนวัฒนธรรม เพื่อยกระดับคุณค่าและมูลค่า ให้คนต่างชาติและคนไทยทั่วไปได้รับรู้และเป็นจุดเชื่อมต่อให้เกิดความสนใจที่จะไปเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายของไทยในพื้นที่ต่างๆ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนโดยใช้กลไก คน-ของ-ตลาด นำองค์ความรู้มาจัดทำแพลตฟอร์มนโยบาย โมเดลช่วยเหลือและแก้ปัญหาครัวเรือนยากจนที่สามารถยกระดับรายได้หรือแก้ไขปัญหาของชุมชนชนบทและชุมชนเมือง ด้านอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ และการเข้าถึง เทคโนโลยีได้
3902