- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 20 September 2024 16:04
- Hits: 7414
คนรุ่นใหม่คือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน ตัวแทนเยาวชนไทยพร้อมสู่เวทีระดับโลก One Young World 2024 ซีพีสนับสนุนต่อเนื่องปีที่ 9
ในขณะที่โลกเผชิญกับความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสภาวะภูมิอากาศที่แปรปรวน เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก หรือความไม่เท่าเทียมด้านสุขภาพ ซีพีไม่เพียงแต่สนับสนุนการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ในองค์กร แต่ยังมุ่งมั่นที่จะให้เยาวชนไทยเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ระดับโลก โดยในปีนี้ ซีพีส่งตัวแทน 20 คนเข้าร่วมเวที One Young World 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 - 21 กันยายน 2567 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ภายใต้แนวคิด “จุดประกายผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อโลกอัจฉริยะที่ยั่งยืน” ร่วมกับเยาวชนกว่า 190 ประเทศ
บทบาทของเยาวชนไทยในเวทีโลกไม่ได้จำกัดอยู่ที่การเป็นผู้สังเกตการณ์ แต่เป็นการร่วมกำหนดทิศทางอนาคต ไม่เพียงแต่เพื่อตัวเองและองค์กร แต่เพื่อคนรุ่นถัดไปในประเทศไทย โดยตัวแทนเหล่านี้จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับ 5 ประเด็นเร่งด่วนของโลก ได้แก่ เสียงของคนพื้นเมือง วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ ความเท่าเทียมทางสุขภาพ และสันติภาพของโลก ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่เพียงแค่จะสร้างความร่วมมือระดับโลก แต่ยังนำความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาสังคมไทยอีกด้วย
เวที One Young World จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ในการร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาให้กับโลกและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทย มาฟังมุมมองจาก 5 ตัวแทน คือนายนิธิพัศ นันทวโรกาส บจก.เครือเจริญโภคภัณฑ์ นางสาวณิชชา โตดำรงค์กุญช์ บจก. เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส นางสาวชุตินันท์ แก่นสาร บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า นายเจษฎาภรณ์ ครองสินภิญโญ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น นางสาววราลี พินิจกิจไพศาล บมจ.ซีพี ออลล์ ใน 5 ประเด็นที่ One Young World กำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของโลก
แน็ท - นิธิพัศ นันทวโรกาส:
เสียงของชนพื้นเมือง:คือเรื่องสิทธิมนุษยชน
ประเด็นนี้เป็นหัวข้อที่มีความแตกต่างจากทุกปี มาจากการที่ประเทศแคนาดาที่แม้จะเป็นประเทศที่งดงามในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์แห่งการล่าอาณานิคมและการกดขี่ชนพื้นเมืองและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขา ปัจจุบันแคนาดากำลังเผชิญกับการแก้ไขสิ่งเหล่านี้ ชนพื้นเมืองในประเทศแคนาดาที่เรียกว่า “First Nations” ยังคงเรียกร้องการชดเชยที่ถูกต้องตามความเสียหายที่พวกเขาและบรรพบุรุษได้รับจากรัฐบาลแคนาดา
“ประเด็นนี้มีความหมายกับผม เนื่องจากส่วนตัวทำงานในด้านความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน ปัญหาหลายด้านที่พบเจอ เช่น การไร้สัญชาติ ผู้ลี้ภัย ชนพื้นเมือง สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน เป็นต้น เมื่อเราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราไม่สามารถลืมชุมชนพื้นเมืองจำนวนมากที่อาศัยอยู่ใกล้ทะเลและพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่นั้น หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและปริมาณปลาลดลง พวกเขาจะไม่มีอาหารกินและไม่มีที่อยู่อาศัย เมื่อเราพูดถึงสันติภาพ ความขัดแย้งที่นำไปสู่การข่มเหงชนกลุ่มน้อย เช่น โรฮิงญา ก็ควรเป็นสิ่งที่เรานึกถึง เพราะพวกเขาไม่เพียงแต่เป็นผู้ลี้ภัย แต่ยังไร้สัญชาติและไม่สามารถอ้างสิทธิใดๆ หรือมีบ้านเกิดของตนได้ ผมอยากจะเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการที่จะสร้างเสียงหรือพื้นที่แก่ชนพื้นเมืองมากขึ้น และหวังจะสร้างการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนชนพื้นเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและสร้างโลกที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนมากขึ้น”
น้ำ - ณิชชา โตดำรงค์กุญช์:
AI ในการเกษตร: โอกาสและความท้าทายด้านแรงงาน
“สาเหตุที่ตนเองหันมาให้ความสนใจ AI เกิดขึ้นหลังจากได้มาทำงานที่เวียดนาม และมีโอกาสได้สัมผัสกับการใช้ AI ในการทำเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Agriculture) ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการใช้แรงงานในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นเทรนด์การเกษตรยุคใหม่ที่กำลังจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งในโรงงานที่เวียดนามยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทำให้มองเห็นโอกาสที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาและต่อยอดได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดความกังวลเกี่ยวกับแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันว่าจะทำอย่างไรให้เขาปรับตัวให้ทัน และไม่ตกงานหลังจากนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ คำถามที่ว่า AI จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเราควรนำ AI เข้ามาใช้เร็วขนาดนี้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่หลายๆ คนยังถกเถียงกันอยู่ ยิ่งในปีที่ผ่านมามีการปลดพนักงานจำนวนมากเพราะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงจาก AI ที่เข้ามาทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว ทำให้ AI กลายเป็นเรื่องที่ควรเร่งศึกษาและเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตค่ะ”
ทุกคนควรมีความตระหนักรู้เรื่อง AI มากขึ้นเพราะปัจจุบัน AI อยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น และยังมีความน่ากลัวในมุมของการใช้งานในทางที่ผิด รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของ AI governance ที่ยังไม่มีขอบเขตการทำงานที่ชัดเจน ไม่มีชุดคำสั่งเข้ามาช่วยว่าสิ่งไหนที่ควรทำหรือไม่ควรทำ จึงคิดว่าควรต้องมีการร่างกฎหมายให้ AI อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเหมาะสม รวมไปถึง data privacy หรือว่าผลงานพวกศิลปะที่ถูกสร้างโดยมนุษย์ ที่ควรจะขออนุญาตจากผู้ที่สร้างผลงานนั้นก่อน ซึ่งการเป็นตัวแทนไปร่วมเวทีในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของตนเองที่ได้พบเจอกับเพื่อนๆ ที่มีความคิดเห็นหรือสนใจในแง่มุมเดียวกัน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยน รวมไปถึงการได้รับความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้กลับมาช่วยพัฒนาทั้งตัวบริษัทหรือแม้แต่ในทางการเกษตรหรือทางการแพทย์ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในสังคม
มด - ชุตินันท์ แก่นสาร:
สุขภาพเท่าเทียม: เพิ่มโอกาสการรักษาให้ผู้หญิงชนบท
“เคยได้มีโอกาสไปค่ายอาสาที่บริเวณที่มีชนเผ่าลีซูอาศัยอยู่ ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน เลี้ยงลูก และได้รับการศึกษาน้อย ในขณะที่สามีออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงในชนบทนั้นจึงมีการมีโอกาสในเข้าถึงสาธารณสุขหรือการรักษาอาการเจ็บป่วยได้น้อย ทั้งอยู่พื้นที่ไกล ไม่มีการศึกษาที่ดี ไม่มีอาชีพ ไม่ได้รับสิทธิประกันสังคม หรือการรักษาขั้นพื้นฐานของรัฐบาล จึงอยากให้ผู้หญิงเหล่านั้นได้มีโอกาสได้รับการเข้าถึงการรักษายามเจ็บป่วยอย่างเท่าเทียม และเกิดแรงบันดาลใจอยากให้ผู้หญิงได้รับความรู้หรือการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลการเจ็บป่วยหรือการดูแลสุขภาพตัวเอง สร้างเครือข่ายกับโรงพยาบาลในการติดต่อยามฉุกเฉิน และดูแลตัวเองโดยมีอินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยและได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที”
เธอมองว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ทางเครือซีพีให้การสนับสนุนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสไปร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการพบเจอกับผู้นำรุ่นใหม่จากทั่วโลก ซึ่งส่วนตัวสนใจในประเด็นเรื่องของ Health Equality หรือ ความเท่าเทียมด้านสุขภาพ มองว่าปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมมากขึ้น ทั้งเรื่องเพศและสุขภาพ จึงรู้สึกว่าอยากให้มีโครงการเพื่อช่วยส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง อย่างเช่นโครงการ one woman one village เพื่อสนับสนุนให้ผู้หญิงในชุมชนขึ้นเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมในการผลักดันและดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ผ่านการเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล สาธารณะสุขในพื้นที่ ถือเป็นการสร้างความเท่าเทียมอีกด้านหนึ่ง การได้ไปร่วมเวที One Young World ช่วยจุดประกายความคิดของตนเองให้พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยต่อไป
เจษ - เจษฎาภรณ์ ครองสินภิญโญ:
สันติภาพ: ใช้ความเข้าใจแก้ไขความขัดแย้ง
“มีความรู้สึกว่า สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยความขัดแย้งและเห็นต่าง จึงนำไปสู่สงครามและความรุนแรงในสังคม อยากที่จะร่วมโปรโมท Empathy และ Humanism ให้ทุกคนได้เข้าใจและหาทางออกของทุกปัญหาด้วยสันติวิถี การมีข้อขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดีและทำให้สังคมเราเติบโตขึ้น ตราบเท่าที่ทางออกไม่ใช่ความรุนแรง”
เรื่องสันติภาพสำหรับคนไทยอาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว เพราะประเทศไทยไม่ได้มีสงครามกับต่างประเทศ แต่หลายคนอาจจะลืมไปบ้างว่าเราอาจจะมีเป็นสงครามภายใน อย่างเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม เวทีนี้ถือว่าช่วยจุดประกายความคิดและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น พร้อมทั้งได้รับฟังมุมมองจากคนรุ่นใหม่ที่เคยประสบกับสงครามหรือความไม่สงบ เพื่อมุ่งร่วมแก้ไขปัญหาและสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศและโลกของเรา
เปรียว - วราลี พินิจกิจไพศาล:
วิกฤตน้ำ: บริหารทรัพยากรน้ำเพื่อลดผลกระทบ
ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าโลกของเราร้อนขึ้น และยังคงร้อนขึ้นเรื่อยๆ น้ำเป็นทรัพยากรที่ทุกคนจำเป็นต้องใช้ ก็เลยอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของน้ำ ถ้ามีโอกาส อยากจะสร้าง reality ขึ้นมา ให้คนได้ลองใช้ชีวิตในสถานที่ที่มีทรัพยากรน้ำจำกัด และดูว่าเราจะบริหารจัดการน้ำอย่างไร
“เพราะน้ำเป็นทรัพยากรพื้นฐานในการใช้ชีวิต และในปัจจุบันยังมีผู้คนอีกหลายล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยได้ ในฐานะที่จบวิศวเคมีมาและเคยทำโปรเจกต์จบ เกี่ยวกับการดีไซน์กระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้น้ำ เลยเข้าใจดีว่าน้ำมีบทบาทสำคัญกับอุตสาหกรรม และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงต้นทุนการผลิตด้วย ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถปล่อยสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตไปในน้ำได้ หากไม่จัดการบำบัดอย่างถูกต้อง ซึ่งหากเราเริ่มพยายามจัดการน้ำตั้งแต่วันนี้ ลดปริมาณการใช้น้ำใหม่ หมุนเวียนการใช้น้ำอย่างถูกต้อง เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เราจะยังมีน้ำใช้และยังสามารถส่งต่อทรัพยากรนี้ไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปได้”
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแง่มุมที่เหล่าเยาวชนตัวแทนของไทยเล็งเห็นถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เวทีระดับโลกอย่าง One Young World รวมตัวกันเพื่อแสวงหาความร่วมมือและร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาซึ่งถือเป็นวาระเร่งด่วน ทุกความคิดเห็นและการแสดงออกของคนรุ่นใหม่จะเป็นตัวแปรสำคัญที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้โลกใบนี้ต่อไป
9516