WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'สาธารณสุข'ชงลดเหลื่อมล้ำ กมธ.แรงงานดันเพิ่มสิทธิคุ้มครอง

      แนวหน้า : ที่อาคารรัฐสภา การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ครั้งที่ 10/2557 เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง สรุปความเห็นหรือข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประจำสภา 18 คณะ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่ 2 โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานในที่ประชุม

     จากนั้น พ.ญ.พรพรรณ บุญยรัตพันธุ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการสาธารณสุข ได้ชี้แจงข้อสรุปของ กมธ. ต่อที่ประชุม สปช.ว่า มีข้อเสนอ 8 หลัก แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ การปฏิรูประบบสาธารณสุข ข้อเสนอผลกระทบของผู้เข้ารับบริการ หน้าที่พลเมือง และรัฐต้องเร่งพัฒนาระบบสุขภาพส่งสริมสนับสนุนพัฒนาให้องค์กรปกครองท้องถิ่นและภาคเอกชน มีส่วนร่วมการบริหารจัดการครบถ้วนทุกระดับ มีหน้าที่ป้องกันโรคและภัยคุกคาม คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ทั้งนี้ การลงทุนพัฒนาสุขภาพเป็นเรื่องคุ้มค่าและความจำเป็นของชาติ แต่ปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำ ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนไทย จึงต้องลดความเหลื่อมล้ำ ให้สร้างระบบสาธารณสุขกระจายให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่รัฐต้องจัดสรรระบบบริการที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ

    พ.ญ.พรพรรณ กล่าวต่อว่า รัฐต้องพัฒนาและเสริมสร้างระบบสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อนำสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีสุขภาพยั่งยืน ผลักดันพัฒนาแพทย์แผนไทยควบคู่กับแผนปัจจุบันให้เป็นที่ยอมรับ และส่งเสริมสนับสนุนองค์กรปกครองท้องถิ่น เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดบริการสาธารณสุขให้ครบถ้วน และรัฐต้องดูแลผู้เข้ารับการบริการสาธารณสุข กรณีเกิดความเสียหาย สูญเสีย และต้องเยียวยา ส่วนหน้าที่พลเมืองต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า บุคคลมีหน้าที่ต้องดูแลสุขภาพ รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพให้ข้อมูลที่ถูกต้องทันสมัยกับประชาชน คุ้มครองสุขภาพที่ยั่งยืน และรัฐมีหน้าที่กำหนดนโยบายพัฒนาประเทศทุกด้านไม่ให้เกิดผลกระทบ เน้นกลไกกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทุกระดับ ถ้าทำได้จะขจัดความเหลื่อมล้ำ กระจายอำนาจ ประชาชน เกิดการคุ้มครองสุขภาพและสุขภาวะ

     หลังจากนั้น นายจรัส สุทธิกลบุตร สปช.พะเยา กล่าวว่า แม้ไทยจะมีชื่อเสียงเป็นฮับของการรักษาพยาบาลไปทั่วโลก แต่ก็ยังเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้ารับการรักษาของคนไทยเจ็บไข้ได้ป่วย และสำหรับคนที่ยังไม่เป็นผู้ป่วย แต่ได้รับสารพิษจากการประกอบอาชีพ เช่น ภาคชนบท หรือ อุตสาหกรรม ก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบการรักษาอย่างทั่วถึง รัฐต้องให้หลักประกันการเข้าถึง แม้ปัจจุบันจะมีระบบประกันสุขภาพ ที่ดีกว่าหลายชาติแต่ก็ควรมีประสิทธิภาพที่ดีกว่านี้ โดยกระจายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงมากกว่าที่เป็นอยู่ ให้สมกับที่ทั่วโลกยกให้ไทยเป็นหนึ่งในการดูแลสุขภาพระดับโลก

    ส่วน พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ สปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย ตั้งมา 12 ปี ช่องว่างแพทย์แผนปัจจุบันห่างไปทุกที วิธีการ ทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนได้จดสิทธิบัตรอย่างเป็นรูปธรรมไม่มีอุปสรรค โดยเฉพาะเรื่องตำหรับยา สมุนไพรไทยถูกต่างชาตินำไปจดสิทธิบัตร เช่น กราวเครือ ถูกเกาหลีแย่งไปจดลิขสิทธิ์ ปัญหาที่องค์ความรู้แพทย์แผนไทยไม่พัฒนา เพราะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมความเชื่อและได้รับการสนับสนุนน้อยมาก ต่างจากจีนหรืออินเดียให้การสนับสนุนเต็มที่ ทั้งนี้ จากตัวเลขทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2553 มีการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน 1 แสนกว่าล้านบาท นำเข้ายาแผนไทย 300 กว่าล้าน มีการส่งออกสมุนไพร 83 ล้าน และส่งออกแรงงานนวดแผนไทยไปต่างประเทศ ถ้าเราพัฒนาแพทย์แผนไทยอย่างจริงจัง ก็จะช่วยระบบเศรษฐกิจของชาติได้อย่างมาก อยากถามว่าเมื่อไหร่เราจะพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อเป็นการรักษาสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ ภูมิปัญญาไทย

     ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวชี้แจงว่า กมธ.ปฏิรูปการสาธารณสุข สรุปประเด็นสำคัญตรงกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ว่าต้นตอวิกฤติของปัญหาคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนในสังคม จึงจำเป็นต้องลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม ซึ่งทั้งหมดหนี้ กมธ.จะนำไปพิจารณาบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้ง 4 ประเด็นที่เสนอมา

   หลังจากนั้นคณะกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน โดย พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานคณะกรรมาธิการ ได้กล่าวในที่ประชุมฯ ว่า ทาง กมธ. ได้มีข้อเสนอในการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ เสนอให้แรงงานให้มีสิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้ทำงาน หรือต้องทำงานโดยไม่มีทางเลือก คือการละเว้นไม่เกณฑ์แรงงาน หรือบังคับทำงานโดยไม่สมัครใจ โดยภาครัฐและเอกชน แรงงานมีสิทธิที่จะเข้าถึงงานที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าภายใต้กระบวนการพัฒนาทักษะฝีมือในทุกสาขาอาชีพและการเข้าถึงตลาดแรงงาน มีระบบประกันสังคมที่ครอบคลุม คุ้มครองแรงงานที่ขาดรายได้และส่งเสริมการออมในผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งการกำหนดนโยบายหรือมาตรการใดๆ ด้านแรงงาน รัฐจะต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ

   ในประเด็นดังกล่าว ผู้อภิปรายเสนอให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งธนาคารแรงงาน ที่มีองค์ประกอบและความร่วมมือจาก 4 ภาคส่วน ได้แก่ รัฐ สถาบันการเงิน ประชาชน และภาคธุรกิจ เอกชน และอุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่วางแผน พัฒนา สร้างหลักประกัน เพิ่มศักยภาพที่เหมาะสมกับแรงงาน ให้องค์ความรู้ด้านสิทธิ และกฎหมายแรงงานเพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทย นอกจากนั้นขอให้มีข้อกำหนดการออกใบรับรองแรงงานที่มีฝีมือของไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 ที่พบว่าจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!