WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สธ.ชง ครม.แก้กฎหมายควบคุมยาสูบ ครอบคลุม บุหรี่ไฟฟ้า บารากุ คาดช่วยลดความสูญเสีย 1.56 หมื่นลบ./ปี

      นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่เข้า ครม.โดยปรับปรุงกฎหมายเดิม 2 ฉบับที่ใช้มา 22 ปี ให้ทันสมัยและทันกลยุทธ์การตลาดบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ด้วยการเพิ่มอายุผู้ซื้อจาก 18 ปีเป็น 20 ปี และปรับปรุงความหมายผลิตภัณฑ์ยาสูบครอบคลุมถึงบารากุ บารากุไฟฟ้าและบุหรี่ไร้ควัน พร้อมห้ามการส่งเสริมการขาย คาดช่วยลดค่ารักษาและความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากนักสูบหน้าใหม่ได้ปีละ 15,600 ล้านบาท

      โดยร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ได้ผนวกกฎหมายเดิม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งใช้มานาน 22 ปี ให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติเช่นภาคีสมาชิกอื่นๆ อีก 178 ประเทศ เพื่อให้มีความทันสมัยและตามทันกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ของบริษัทบุหรี่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทใหม่ที่กฎหมายปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากุ เป็นต้น

       "ภาครัฐไม่สามารถมีเครื่องมือที่จะควบคุมปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีนักสูบหน้าใหม่เข้าไปแทนที่คนที่เลิกบุหรี่ ส่วนใหญ่เป็นเด็กและแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้จำนวนนักสูบไม่ลดลงเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีคนไทยเลิกสูบบุหรี่ไปแล้วกว่า 5 ล้านคน แต่ก็มีเด็กใหม่ติดบุหรี่เข้ามาทดแทนในจำนวนใกล้เคียงกัน โดยดำเนินการปรับปรุงตามกระบวนการจัดทำกฎหมาย และผ่านการประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ภาคใน พ.ศ.2555 ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนเห็นด้วย" นพ.รัชตะ กล่าว

        ทั้งนี้ สาระสำคัญในกฎหมายฉบับใหม่ไม่มีประเด็นใดที่เป็นการกีดกันการค้า หรือขัดต่อกฎกติกาการค้าโลก(WTO) ส่วนประเด็นที่มีการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย การปรับปรุงความหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบให้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น บารากุ บารากุไฟฟ้า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ มีการให้ความหมายของการสื่อสารการตลาด ครอบคลุมถึงการส่งเสริมการขาย การแสดงที่จุดขาย(Point of Sale) การขายโดยใช้พริตตี้ การสร้างภาพลักษณ์ โฆษณาทางอินเตอร์เน็ต กำหนดอายุขั้นต่ำผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้นจากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี และห้ามขายบุหรี่แบบแบ่งซอง เพราะการสำรวจพบว่าเด็กอายุ 15-17 ปี ที่สูบบุหรี่ร้อยละ 70 ซื้อบุหรี่เป็นมวน

        โดยกฎหมายนี้บังคับใช้แล้วในลาว เมียนมาร์  สิงคโปร์ และบรูไน เพื่อจะทำให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่ได้ยากขึ้น นอกจากนี้ได้เพิ่มการห้ามขายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทางอินเทอร์เน็ต ห้ามแสดงราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายในลักษณะ จูงใจให้อยากสูบบุหรี่ เป็นต้น ห้ามขายในสถานที่ต่างๆ เช่น วัด สถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา สวนสาธารณะ เป็นต้น ห้ามโฆษณาและสื่อสารการตลาด เช่น ห้ามแสดงชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต การประกวดหรือการแข่งขัน เป็นต้น คาดว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้ จะช่วยลดจำนวนเยาวชนไทยที่จะติดบุหรี่ใหม่ปีละ 100,000 คน ให้มีจำนวนลดลงได้

        จากสถิติพบว่า เยาวชนไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิต ส่วน 3 คนที่เลิกได้ แต่จะเลิกหลังสูบ 20 ปี โดยบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อให้เกิดการเจ็บป่วยไม่ต่ำกว่า 25 โรค ทั้งคนสูบและผู้ที่สูดควัน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 ของคนไทย ในแต่ละปีมีผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 50,710 คน อายุสั้นกว่าคนทั่วไป 12 ปี และจะทนทุกข์ทรมานก่อนเสียชีวิต 2 ปี จากการวิจัยพบว่าหากป้องกันเด็กไทยไม่ให้เด็กติดบุหรี่ได้ 1 คน จะประหยัดค่ารักษาโรคและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้คนละ 156,000 บาท คำนวณง่ายๆ หากปล่อยให้เด็กสูบบุหรี่เพิ่มปีละ 1 แสนคน จะเกิดการสูญเสียมากถึง 15,600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การสูบบุหรี่ยังน่าเป็นห่วง โดยอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยอายุมากกว่า 15 ปีอยู่ที่ร้อยละ 40 และอัตราการสูบลดลงช้ามาก ที่น่าเป็นห่วงคืออัตราการสูบของเยาวชนกลับเพิ่มขึ้นในหลายปีหลัง

        "มั่นใจว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้จะเป็นการวางรากฐานการคุ้มครองสุขภาพของเยาวชนไทย เนื่องจากบุหรี่เป็นสิ่งเสพติด นอกจากมีพิษภัยร้ายแรงในตัวมันเอง ยังเป็นประตูนำไปสู่การเสพสิ่งเสพติด ทั้งยาเสพติด สุรา อบายมุข และการชิงสุกก่อนห่ามของวัยรุ่นอีกด้วย" นพ.รัชตะ กล่าว

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!