WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 22:29 น. ข่าวสดออนไลน์


รายงานพิเศษ : สธ.ร้าวลึก-เด้งปลัดขัดแย้งไม่จบ...

      คําสั่งเด้ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะบอกว่าเหนือความคาดหมายคงไม่ได้

แม้ นพ.ณรงค์จะมีแบ๊กดีระดับบิ๊กในรัฐบาล หรือได้บารมีของนกหวีดทองคำที่ กปปส.มอบให้

    เป็นยันต์คุ้มภัยให้อยู่รอดปลอดภัย เมื่อยามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ากุมอำนาจและล้างใหญ่บิ๊กข้าราชการ

    แต่กระแสข่าวปลดนพ.ณรงค์ ก็เกิดขึ้นเป็นระยะนับแต่นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เข้ารับตำแหน่งรมว.สาธารณสุข (สธ.)

    และถ้าจะวัดพลังกันที่แบ๊กหนุน นพ.รัชตะมีคนใหญ่คนโตยืนตระหง่านอยู่เบื้องหลังเช่นกัน

     ฟาง เส้นสุดท้ายที่นำมาสู่คำสั่งย้ายเกิดจากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีหนังสือไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขอตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการ หรือบอร์ด สปสช. หลังมีผู้ร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส

     การร้องเรียนไม่เพียงพุ่งเป้าไปที่นพ.รัชตะ ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. หากเจตนาเหมารวมถึงกรรมการบอร์ดด้วย

    ให้หลังกระแสข่าวการตรวจสอบ สปสช. เพียงไม่กี่วัน นายกฯ ก็เซ็นคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์

     ความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เพิ่งเกิด หากความรู้สึกแบ่งแยกเป็น "หมอในเมือง" กับ "หมอชนบท" นั้นฝังรากลึกมานานนับสิบๆ ปี

ชัดเจน ขึ้นเมื่อครั้งมีการปรับโครงสร้างการบริหาร โดยการผลักดันของ "กลุ่มสามพราน" ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแพทย์ชนบท ที่มีแกนนำคนสำคัญคือ นพ.ประเวศ วะสี อันนำมาสู่การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ๆ

ปี 2535 จัดตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ขึ้นเป็นหน่วยงานแรก จากนั้นปี 2544 ตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ปี 2545 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และล่าสุดปี 2551 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) องค์กรเหล่านี้ถูกเรียกรวมว่า "ตระกูล ส."

ตระกูล ส. เป็นหน่วยงานอิสระ มีอำนาจบริหารจัดการสิทธิประโยชน์และงบประมาณได้อย่างเสรี ขณะที่อำนาจการกำกับดูแลของกระทรวงลดน้อยลง

ความ ไม่ลงรอยปรากฏชัดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำเนิดของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่มาของงบประมาณจำนวนมหาศาล โดยที่อำนาจบริหารจัดการอยู่ในมือของบอร์ด สปสช.


ขณะที่ ฝ่ายกระทรวงและประชาคมสาธารณสุข ประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และหมออนามัย ปฏิเสธต้นตอปัญหาไม่ใช่การกอบกู้ศักดิ์ศรี หรือเรียกคืนอำนาจอะไร

หากแต่มาจากการบริหารจัดการที่ส่งผล เสียต่อ โรงพยาบาล และกระทบถึงการบริการประชาชน อันเนื่องมาจากความเป็นอิสระที่มากเกินไปของเหล่าองค์กร ส. นี่ต่างหาก

การ บริหารของบอร์ด สปสช. มีเสียงท้วงติงจาก โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปตั้งแต่ยุคแรก ก่อตั้ง และกลายเป็นข่าวพาดหัวช่วงนพ.วัลลภ ไทยเหนือ เป็นปลัดฯ

ประชาคม สาธารณสุขเห็นว่าระบบเหมาจ่ายรายหัวที่นำไปรวมกับเงินเดือนบุคลากรทางการ แพทย์ทำให้เงินรายหัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และการแบ่งหมวดกองทุนย่อยๆ ทำให้การเบิกจ่ายมีปัญหาเงินค้างท่ออยู่ที่ สปสช.

ในสมัย ปลัดฯ นพ.ไพจิตร์ วราชิต มีการโจมตีว่าระบบเหมาจ่ายเป็นสาเหตุสำคัญทำให้โรงพยาบาลขาดทุน กรณีงบค้างท่อก็ปรากฏเป็นข่าวประปรายอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงยุคนพ.ณรงค์ ประกาศเดินหน้าปฏิรูประบบสุขภาพ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงเต็มสูบ

โดย ผนึกกับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ขณะนั้น ปรับค่าตอบแทนมาเป็นการจ่ายเงินตามผลปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี (Pay for Performance) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในวิชาชีพ

กลุ่มแพทย์ ชนบทไม่เห็นด้วยและกลายเป็นชนวนความร้าวฉานครั้งสำคัญ แต่ฝ่ายนพ.ณรงค์ ยังเดินหน้านโยบายหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความพยายามเข้าไปปรับแนวทางการบริหารจัดการใน สปสช.

เมื่อ สถานการณ์การเมืองรุนแรงในช่วงการชุมนุม ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ของกลุ่ม กปปส. มีการหยิบยกปัญหาด้านสาธารณสุขปราศรัยบนเวที โดยมีกลุ่มแพทย์ชนบทเป็นแนวร่วม

ก่อนจะถูกนพ.ณรงค์แย่งซีน ด้วยการประกาศอารยะขัดขืนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นบิ๊กข้าราชการคนแรกๆ ที่ออกตัวแรงชนรัฐบาล จนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำนกหวีดทองคำไปมอบให้ถึงกระทรวง กระแสขับไล่ปลัดสธ.จึงซาลงไปด้วย

กระทั่งคสช.จัดตั้งรัฐบาล มีการแต่งตั้งนพ.รัชตะ และนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมี หนึ่งในแกนนำกลุ่มสามพรานขึ้นนั่งแท่นรัฐมนตรี

บรรยากาศ กลับเข้าสู่ความตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อปรากฏรายชื่อทีมที่ปรึกษา ที่ระดมคนจากฝั่งแพทย์ชนบทและตระกูล ส. มาร่วมงาน ท่ามกลางเสียงค้านจากประชาคมสาธารณสุข

นพ.ณรงค์ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม เดินหน้า ผลักดันการใช้ระบบเขตบริการสุขภาพ และเสนอปรับกลไกการเงินการคลังระบบสุขภาพ

จนเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนักจากฝั่งของกลุ่มแพทย์ชนบท องค์กรตระกูล ส. เอ็นจีโอและ เครือข่ายภาคประชาชน

สองฝ่ายยืนหยัดอยู่ในมุมของตัวเอง นพ.ณรงค์มองว่าเขตสุขภาพทำให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรแก้ปัญหา โรงพยาบาลกว่า 100 แห่งขาดทุน

พร้อม เสนอให้ สปสช.ยุบรวมกองทุนโรคเฉพาะทางจาก 9 เป็น 4 เพื่อความคล่องตัวการเบิกจ่ายงบประมาณ และปรับการจ่ายตรงงบฯ ให้โรงพยาบาลมาสู่การกระจายเงินผ่านระบบเขตสุขภาพ

แต่ฝ่าย แพทย์ชนบทมองต่างว่าเป็นการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ กลับไปสู่การรวมศูนย์อำนาจเข้า ส่วนกลางเปิดช่องหาประโยชน์ ไม่ได้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง

และปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางดังกล่าวกระทบกระเทือนต่อสถานะของแพทย์ชนบทเต็มๆ

การ เข้ามาของทีมรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยแพทย์ที่มีแนวคิดสวนทางกับปลัดสธ.ทำให้ งานชะงัก ขณะเดียวกัน การประชุมบอร์ดสปสช.แต่ละครั้งที่มีปลัดสธ.ร่วมเป็นกรรมการก็เต็มไปด้วยการ ถกเถียงที่ไร้ข้อสรุป

เรื่องบานปลายออกไปอีกเมื่อ นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ แกนนำแพทย์ชนบทเสนอประเด็น 10 ทุรลักษณ์ ต่อคสช. โจมตีการบริหารงานของปลัด สธ. ว่ารับนโยบายการเมืองมาทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ และตระกูล ส. โดยดึงประชาชนเป็นตัวประกัน

ก่อนที่เครือข่ายองค์กรสุขภาพ จะเข้าร้องเรียน คสช. ให้ปลดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม หรือบอร์ด อภ. และผอ.อภ.อ้างมีพฤติกรรมเอื้อธุรกิจยาต่างชาติ และทำให้เกิดวิกฤตด้านยา

แต่เป้าหมายคือ นพ.ณรงค์ ในฐานะประธานบอร์ด ส่งผลให้บอร์ด อภ.ต้องลาออก 10 คน

    ตามมาด้วย การเปิดเผยรายงานการประชุมกระทรวงสาธารณสุข 31 พ.ค.ว่ามีแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลโครงการ 30 บาท และมีการเติม เชื้อไฟว่าผู้บริหาร สธ.กำลังวางยา คสช.

     นพ.ณรงค์ปฏิเสธทันควันไม่ใช่มติที่ประชุม ขณะที่อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแอ่นอกยอมรับว่าเป็นคนเสนอไอเดีย

    ความขัดแย้งดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสข่าวปลดปลัดสธ.ที่สะพัดทุกครั้งเมื่อมีการประชุมครม.

     กระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ต้องเรียกนพ.ณรงค์ และ นพ.รัชตะ เข้าหารือ สั่งให้ 2 ฝ่ายช่วยกันหาข้อยุติ

    แต่ เรื่องไม่ง่าย แถมร้าวหนักขึ้นอีกเมื่อมีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ล่าสุดคือ ป.ป.ท.

    กล่าวหาใช้เงินกองทุน 30 บาทไม่ถูกกฎหมาย นำเงินไปใช้ในโรงพยาบาลเอกชน ซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์แบบผูกขาดและได้ค่าตอบแทน ตกแต่งบัญชี และขึ้นเงินเดือนไม่เป็นไปตามมติครม.

    เป็นข้อกล่าวหาที่สะท้อนระดับความขัดแย้งที่ยากประสาน ก่อนนายกฯ จะเซ็นให้นพ.ณรงค์ มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ

    ประชาคม สาธารณสุขมีปฏิกิริยาตอบโต้คำสั่งนายกฯ ทันที พร้อมนัดชุมนุมและแต่งดำวันรุ่งขึ้น ประกาศจะใช้มาตรการคัดค้านอย่างสงบจนกว่านพ.ณรงค์จะได้กลับสธ.

     แม้จะย้ายปลัดสธ.แล้ว แต่ปัญหาและความขัดแย้งก็ยังไม่จบ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!