WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

MERS copy


เพิ่มเสี่ยง'เมอร์ส' กัก 66 คน เร่งหาคนบุรีรัมย์ 
ที่นั่งติดกับ'ชาวโอมาน'มาเครื่องบินลำเดียวกัน 'สุวรรณภูมิ'สั่งคุมเข้ม เสริมตัวสแกนอุณหภูมิ หวั่นฉุดท่องเที่ยวทรุดอีก

     สธ.ผวาเมอร์สลาม สั่งกักผู้เสี่ยงติดเชื้อเพิ่มเป็น 66 ราย เผยมีทั้ง ผู้โดยสารเที่ยวบินเดียว กัน ทีมแพทย์ และญาติหนุ่มโอมานที่ติดเชื้อ พร้อมเร่งตามหาสาวบุรีรัมย์ที่นั่งติดกันมาในเที่ยวบิน ร.พ.บำรุงราษฎร์แถลงให้แพทย์และเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงพักงานพร้อมดูแลใกล้ชิด โผล่อีกรายที่เชียงใหม่ หนุ่มวัย 20 เพิ่งกลับจากเกาหลีใต้ แต่สธ.ระบุผลตรวจไม่ใช่เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ ขณะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิ่มเครื่องสแกน พร้อมจัดหลุมจอดเครื่องบินจากประเทศเสี่ยงโดยเฉพาะ การท่องเที่ยวหวั่นทรุด ชี้หากแก้ไขไม่ได้ใน 2 สัปดาห์กระทบแน่ บิ๊กตู่ขอประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก เผยสั่งให้เตรียมพร้อมก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถสั่งไวรัสไม่ให้ระบาดได้ 

 

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8970 ข่าวสดรายวัน

 

 

'บิ๊กตู่'ขออย่าตระหนกไวรัสเมอร์ส 

      เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 19 มิ.ย. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส ในชายวัย 75 ปี ชาวตะวันออกกลาง ซึ่งเดินทางมารักษาโรคหัวใจที่ประเทศไทย ว่า ตนสั่งให้ไปเตรียมการไปตั้งแต่ต้น เราเป็นผู้นำในการแก้ไข ป้องกันในเรื่องโรคระบาดร้ายแรงมาตลอด ทั้งโรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส คราวที่แล้วก็เรื่องอีโบลา เราก็ได้รับคำชมเชย ตนบอกโรงพยาบาล 69 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ดูเรื่องโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ต้องมาดูเรื่องโรคเมอร์สด้วย ดูว่าบุคลากร อุปกรณ์ เพียงพอหรือไม่ ที่กักกันโรคพอหรือไม่ ตรงนี้มันถึงจะเรียบร้อยและสามารถเช็กได้ เพราะเราสร้างการรับรู้มาโดยตลอด โรคอะไรป้องกันตัวอย่างไร เช็กที่ไหน วันนี้พอเขามา เขารู้ตัวเขาเองซึ่งโรงพยาบาลเอกชนมาเช็กโรคหัวใจ แต่ครั้งนี้เขารู้สึกแปลกใจ โรงพยาบาลจึงแจ้งไปที่สาธารณสุข แล้วก็พาไปโรงพยาบาล บําราศนราดูร ซึ่งเรื่องนี้เราควบคุมได้ เราต้องสอบต่อไป ว่าเขานั่งแท็กซี่มากี่คัน มีคนเกี่ยวข้องกี่คน แล้วตรวจสอบว่าขึ้นเครื่องบินมาจากไหน เครื่องบินลำนั้นมีใครบ้าง นี่คือสิ่งที่เราทำทั้งระบบอยู่แล้ว ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลให้ความห่วงใย แต่ยังไม่อยากให้ตื่นตระหนก และเราก็ให้ความสำคัญถ้าใครสงสัยว่าโรคนี้มีอาการอย่างไร ก็ไปสถานที่เหล่านี้ เขารับทุกที่ ช่วยกันระมัดระวังด้วย มันไม่ได้ติดกันง่ายๆ 

       เมื่อถามว่า มั่นใจว่าจะคุมได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มั่นใจหรือไม่มั่นใจ อยู่ที่ความร่วมมือ มาถามตนแบบนี้อีกแล้ว ตนสั่งได้ไหม ตนสั่งเชื้อโรคได้ไหม มันอยู่ที่ทุกคน ซึ่งคนไทยทุกคนจะต้องระมัดระวังตัวเองเมื่อรู้ หรือสงสัยก็ต้องมาหาหน่วยงานราชการ ตนสั่งเชื้อโรคไม่ได้

 

โอ่ไทยดูแลดีกว่าเกาหลีใต้ 

      นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.หารือแนวทางการป้องกันโรคดังกล่าวมากว่า 2 สัปดาห์ ตั้งแต่รู้ว่าโรคดังกล่าวได้แพร่เชื้อไปยังประเทศเกาหลีใต้ เราจึงเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ แต่ก็แปลกใจเหมือนกันเพราะนึกว่าโรคดังกล่าวจะแพร่เชื้อมาจากชาวเกาหลีใต้แต่ปรากฏว่าเป็นการแพร่เชื้อจากประเทศต้นตอคือแถบตะวันออก กลาง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเราพบผู้ติดเชื้อได้เร็วซึ่งยังมีเชื้อน้อย ซึ่งได้แยกตัวผู้ที่ติดเชื้อตั้งแต่ที่พบไปไว้ในห้องกักกันเชื้อทันที รวมถึงผู้ที่เดินทางมากับผู้ติดเชื้ออีก 3 คน 

      ทั้งนี้ ส่วนผู้ที่สัมผัส อาทิ ผู้โดยสารที่ เดินทางมากับผู้ติดเชื้อในเที่ยวบินเดียวกันโดยเฉพาะ 2 คนในแถวหน้าและหลังแถวที่นั่งบนเครื่องที่ติดกับผู้ติดเชื้อ คนในโรงแรมที่ผู้ติดเชื้อเข้าพัก รวมถึงผู้ขับรถแท็กซี่ที่ผู้ติดเชื้อโดยสารไปส่งในที่ต่างๆ จำเป็นต้องติดตามตัวให้พบโดยเร็วที่สุด 

"ไทยแตกต่างจากเกาหลีใต้ เพราะเกาหลีใต้ พลาดไปจริงๆ เนื่องจากคนไข้ต้องรอถึง 9 วัน กว่าจะตรวจเชื้อ อีกทั้งยัง ต้องเดินทางไปหลายโรงพยาบาลเพื่อตรวจ ซึ่งถือว่าอันตรายมาก แต่ของไทยเมื่อมาถึงก็สามารถตรวจได้ทันที" นายยงยุทธกล่าว 

 

เผยอาการเฒ่าโอมานยังทรงตัว

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.ริชาร์ด บราวน์ รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภมิตร ชุณหสุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธนะรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ แถลงความคืบหน้าการพบผู้ป่วยโรคเมอร์ส รายแรกในประเทศไทย 

ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า จากการติดตามอาการของผู้ป่วยชายชาวตะวันออกกลาง พบว่าอาการยังคงทรงตัว ดีขึ้นเล็กน้อย ความต้องการในการใช้ออกซิเจนต่ำลง ซึ่งแนวทางการรักษาจะรักษาแบบประคับประคอง ให้ยาต้านไวรัส ให้สารน้ำ ออกซิเจน และให้ยาตามอาการ ส่วนญาติที่ติดตามมาด้วยกันซึ่งอยู่ในห้องแยกผู้ป่วยพบว่า น้องชายเริ่มมีไข้ต่ำๆ ลูกชายเริ่มมีอาการไอ ซึ่งตามกระบวน การเฝ้าระวังผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดจะต้องแยกตัวออก และเก็บเชื้อส่งตรวจแล้ว จะทราบผลวันนี้ โดยญาติทั้ง 3 คน อยู่ในกระบวนการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้น ทำให้ไม่ได้มีประวัติการสัมผัสบุคคลอื่นมากนัก 

ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า มาตรการขณะนี้จะเร่งติดตามตัวผู้ที่อยู่ในข่ายสัมผัสกับผู้ป่วย ประกอบด้วย ผู้โดยสารที่เดินทางมาไฟลต์เดียวกัน 106 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกเรือ 12 คน ออกนอกประเทศไปแล้ว เป็นผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง 2 คน ที่เหลืออยู่ในประเทศไทย 88 คน ในกลุ่มนี้มีทั้งความเสี่ยงสูงและต่ำ ซึ่งจะเน้นผู้โดยสารสองแถวหน้าหลัง ถือเป็น กลุ่มเสี่ยงสูง มี 21 คน ในจำนวนนี้เดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้ว 2 คน เป็นญาติ 3 คน เหลือ 16 คน ที่ต้องติดตาม ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 1 คน มีภูมิลำเนาอยู่ที่บุรีรัมย์ โดยพบว่านั่งอยู่ในตำแหน่งติดกันกับผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตาม

 

สั่งเฝ้าระวังเข้มงวด 66 คน

      นพ.รัชตะ กล่าวว่า สรุปแล้วจะมีกลุ่มที่ต้องติดตามเพราะมีโอกาสสัมผัสโรค แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเสี่ยงน้อยที่ต้องติดตามอาการ แต่ไม่ต้องกักตัวมี 75 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารสายการบินเดียวกัน 67 คน คนขับแท็กซี่ 2 คน และพนักงานโรงแรม 6 คน และ 2. กลุ่มเสี่ยงสูงที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยต้องกักตัวและเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล มีทั้งหมด 66 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้โดยสารในสายการบินสองแถวหน้าและสองแถวหลังอีก 19 คน ซึ่งรวมญาติของผู้ป่วย 3 คนแล้ว และกลุ่มเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชน 47 คน 

    "สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงดังกล่าวได้มีการติดตามแล้ว ทั้งญาติทั้ง 3 คน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชน 47 คน ซึ่งดูอาการในโรงพยาบาลอย่างต่ำ 14 วัน ขณะที่ผู้โดยสาร 16 คนนั้น ได้รับรายชื่อและติดต่อเฝ้าดูอาการอยู่ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ มีคนไทยเพียง 1 คน เป็นผู้หญิง มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งขณะนี้ยังติดตามตัวอยู่ โดยจะเร่งการติดตามให้ได้ครบทั้งหมด" ศ.นพ.รัชตะ กล่าว

     ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าประเทศไทยนั้นมีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ชุมชนน้อยกว่าประเทศเกาหลี เพราะเราสามารถวินิจฉัยโรคได้รวดเร็ว สิ่งที่สำคัญคือ การคัดกรองและค้นหาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง จะมีการทำคู่มือ 3 ภาษา แจกเพื่อทำความเข้าใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เพื่อให้ทราบว่า หากมาจากพื้นที่เสี่ยงเมื่อมีอาการไข้ ไอ ท้องเสีย ควรทำตัวอย่างไร ต้องมาพบแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลเองก็มีมาตรการแยกผู้ป่วย และส่งเชื้อตรวจตามที่ได้วางแผนไว้แล้ว ทั้งนี้ จะประสานไปยังสายการบิน 37 แห่ง ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้แจกคู่มือและทำความเข้าใจกับ ผู้โดยสารด้วย 

 

ตามหาหญิงบุรีรัมย์ที่นั่งติดกัน

      นพ.ธนะรักษ์ กล่าวถึงการติดตามหญิงชาวบุรีรัมย์ ที่เดินทางมาบนเครื่องบินเดียวกับชายชาวตะวันออกกลางที่ป่วยรายแรก ว่า ทราบชื่อแล้ว อยู่ระหว่างการติดตามตัวเนื่องจากที่อยู่ที่ลงไว้อาจไม่ตรงกับที่อยู่ที่แท้จริง เมื่อพบตัวแล้วจะต้องมีการกักตัวเพื่อสังเกตอาการในโรงพยาบาลต่อไป แต่เมื่อดูจากข้อมูลสถิติย้อนหลังเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดต่อก็พบว่า ความเสี่ยงของ ผู้โดยสารบนเครื่องบินเดียวกันแม้ว่าจะมีความเสี่ยงแต่ก็ไม่สูงมาก 

ด้านพญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ประสานไปยังสถานทูตโอมาน ให้ส่งล่ามมาช่วยแปลภาษาให้ ซึ่งแม้ว่าครอบครัวนี้จะพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย แต่ก็อยากจะพูดภาษาของตัวเอง ดังนั้นตอนนี้สภาพจิตใจจึงถือว่าดีขึ้นมาก คลายความกังวลลงไปมาก เพราะรู้สึกได้รับการดูแลเอาใจใส่จากประเทศไทยและสถานทูตของตัวเอง ทั้งนี้สถาบันบำราศนราดูร เป็นต้นแบบของห้องแยกโรคความดันเป็นลบที่มีมาตรฐาน ซึ่งเชื้อโรคไม่สามารถหลุดรอดออกมาข้างนอกอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีการกันผู้ป่วยทั่วไปไม่ให้เข้าไปใกล้บริเวณห้องแยกโรคอยู่แล้ว ซึ่งสถาบันบำราศฯ ถือเป็นสถานที่ที่รับผู้ป่วยทั้งซาร์ส หวัดนก และเฝ้าระวังอีโบลาด้วย

     นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ สสจ.บุรีรัมย์ เบื้องต้นทราบเพียงว่าคนดังกล่าวมีภูมิลำเนาอยู่ที่อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งติดตามตัว เพื่อเฝ้าระวังและสอบสวนโรคตามขั้นตอน พร้อมกันนี้ยัง ได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่จังหวัด ทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงสาธารณสุขอำเภอ เตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังโรคเมอร์ส โดยให้เน้นการตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการตรวจรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ให้ซักประวัติอย่างละเอียด ว่ามีอาการไข้หวัด เจ็บคอ หรือมีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศหรือไม่ โดยเฉพาะ 10 ประเทศ ทางตะวันออกกลาง และเกาหลีใต้ ที่กำลังมีการระบาดของโรคดังกล่าวอยู่ในขณะนี้ 

 

สุวรรณภูมิเพิ่มเครื่องสแกน

     พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวว่า ตำรวจพร้อมเป็นหน่วยร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข คัดกรองนักท่องเที่ยวหรือบุคคลที่เดินทางเข้าประเทศ โดยกำชับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ช่วยสนับสนุนไม่ให้โรคเมอร์ส แพร่กระจายหรือระบาดในประเทศไทย เนื่องจากจะกระทบการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งหากมีการตรวจพบผู้ที่มีอาการไข้ หรือมาจากประเทศเสี่ยง และมีอาการของโรค อาจมีการกักตัว หรือส่งต่อให้แพทย์ ยืนยันรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมดูแลได้ ไม่ใช่เรื่องตื่นตระหนก แต่ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ อย่าไปในพื้นที่แพร่ระบาด

       นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 หรือเมอร์ส โดยเพิ่มการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกน อีก 1 จุด บริเวณอาคารเทียบเครื่องบินเอฟ ทำให้ปัจจุบันสุวรรณภูมิมีจุดคัดกรองผู้โดยสารแล้ว 4 จุด ได้แก่ บริเวณเคาน์เตอร์ด่านควบคุมโรคติดต่อ อาคารเทียบเครื่องบิน อี ก่อนทางเข้าจุดตรวจผู้โดยสารขาเข้า โซนตะวันออกและตะวันตก และบริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน เอฟรวมถึงจะมีการตั้งค่าเครื่องเทอร์โมสแกน ให้สามารถจับอุณหภูมิร่างกายได้ลดลงจากเดิม 37 องศา เป็น 36.5 องศา

นอกจากนี้ยังเตรียมจัดหาเครื่องเทอร์โมสแกน เพิ่มอีก 3 เครื่อง รวมเป็น 7 เครื่อง ไปติดตั้งให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่สนามบิน ขณะเดียวกันยังได้จัดหลุมจอดไว้รองรับเที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศสุ่มเสี่ยง 7 ประเทศ ประเทศแถบตะวันออกกลาง ได้แก่ ประเทศโอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน จอร์แดน และประเทศแถบเอเชีย คือ ประเทศเกาหลีใต้ ไว้ที่หลุมจอดประชิดอาคารอีและเอฟ เป็นการเฉพาะ

 

บำรุงราษฎร์ยันไม่มีปิดพื้นที่ 

      ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นพ.มนต์เดช สุขปราณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ กล่าวถึงกระแสข่าวมีผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สเพิ่มจนโรงพยาบาลย้ายผู้ป่วยออกจากชั้น 10 และปิดการให้บริการ ว่า เป็นการย้ายผู้ป่วยทั่วไปเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับโรคเมอร์ส และผู้ป่วยชาวตะวันออกกลางก็ไม่ได้ขึ้นไปที่ชั้น 10 แต่ ไปที่ห้องไอซียูทันที หลังจากที่เข้ามาโรงพยาบาล ยืนยันว่าไม่มีการปิดให้บริการชั้น 10 ทั้งนี้มีนายแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ที่ดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด 58 คน ซึ่งโรงพยาบาลอนุญาตให้หยุดงานชั่วคราวและเข้ารับการดูแล

       ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าวว่า ส่วนข้อถามที่ว่าจะมั่นใจอย่างไรว่าจะไม่มีผู้ป่วยโรคเมอร์สอยู่ในโรงพยาบาลอีกนั้น บอกไม่ได้ว่าจะมีกรณีใหม่หรือไม่ แต่ทางโรงพยาบาลเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากช่องทางที่ผู้ป่วยจะเข้ามานั้นหลากหลายมาก หากผู้ที่ติดต่อเข้ารับการรักษา มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงก็จะปฏิเสธ แต่กรณีผู้ป่วยที่วอล์กอินเข้ามาโรงพยาบาลไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ยืนยันว่ามีระบบคัดกรองผู้ป่วยทุกราย

       นพ.มนต์เดชระบุถึงกรณีรับผู้ป่วยชาวโอมานที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์สว่า ผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล นั่งแท็กซี่เข้ามาในโรงพยาบาลเมื่อเวลา 21.45 น. วันที่ 15 มิ.ย. และมีอาการเหนื่อยหอบไอ แต่ไม่มีไข้ เมื่อเอกซเรย์ปอดก็พบรอยรั่วจึงสันนิษฐานว่าจะเป็นปอดอักเสบและหัวใจวาย แต่ก็มีการเฝ้าระวังให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา คนไข้มีไข้ขึ้นสูงถึง 38 องศาเซลเซียส จึงมีการคุยกับญาติคนไข้ เพื่อนำคนไข้ไปอยู่ในห้องแยกโดยเฉพาะ จึงมั่นใจว่าไม่เกิดการสัมผัสไม่ว่าจะทั้งทางร่างกาย หรือหายใจกับผู้ป่วยทั่วไป 

 

ชี้ 2 สัปดาห์ไม่จบท่องเที่ยววุ่น 

       นายขจร วีระใจ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังปัญหาไวรัสเมอร์สอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นสั่งการให้นายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรียกให้บริษัททัวร์ที่นำชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทุกแห่ง ส่งใบรายการนำเที่ยวทั้งหมดมาให้ตรวจสอบ เพื่อให้กรมการท่องเที่ยวทราบข้อมูลพื้นฐานของกรุ๊ปทัวร์ต่างๆ ว่าเดินทางไปอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวใดบ้าง และเข้าพักที่โรงแรมใด ถือเป็นการเฝ้าระวังล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังแจ้งไปยังการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แล้วว่า ให้ติดตามผลกระทบด้านตลาดท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด และดูปฏิกิริยาจากประเทศต่างๆ ที่มีต่อข่าวสารการระบาดของไวรัสเมอร์สในไทยว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำมาวางมาตรการรับมือที่เหมาะสมในอนาคต

    นายเจริญ วังอนานนท์ นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า กังวลกับการพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สในไทยรายแรก เนื่องจากมีตัวอย่างผลกระทบด้านท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นกับเกาหลีใต้ให้เห็นมาแล้ว และเป็นห่วงว่าอาจเป็นปัจจัยกระทบกับ เป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวที่ตั้งไว้ 2.2 ล้านล้านบาทในปีนี้ โดยประเด็นสำคัญคือ ต้องดูพัฒนาการของเหตุการณ์แพร่ระบาดไว้รัสใน 2 สัปดาห์ต่อไปนี้ ว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง และหากจะไม่ให้กระทบต่อท่องเที่ยวเลย ก็ควรจะเร่งแก้ปัญหาให้หมดจากไทยไปในกรอบเวลา 2 สัปดาห์นี้

 

กรมควบคุมโรคสรุปผลตรวจ

      จากกรณีที่ระบุว่าชายชาวโอมาน วัย 75 ปี ที่ติดเชื้อเมอร์สจากอูฐ น.สพ.วิศิษฏ์ วิชาศิลป์ รองผอ.องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์ฯ คัดกรองโรคของสัตว์ในสวนสัตว์ตลอดเวลาอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้มีการระบาดของโรค เมอร์ส ที่มีอูฐเป็นแหล่งของโรค ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีอูฐในสวนสัตว์มีผลบวกต่อเชื้อดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางองค์การสวนสัตว์ฯ ไม่ได้มีการนำเข้าอูฐจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรค เนื่องจากอูฐในประเทศไทยขยายพันธุ์จนเพียงพอ 

      ขณะที่กรมควบคุมโรค สรุปข้อมูลการติดไวรัสเมอร์ส ว่า 1.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุขรับผู้ป่วยชายชาวตะวันออกกลาง อายุ 75 ปี รักษาที่ร.พ.บำราศนราดูร 2.ผู้ป่วยรายนี้เดินทางมาจากประเทศในตะวันออก กลาง เพื่อมารักษาโรคหัวใจที่ร.พ.เอกชนแห่งหนึ่ง และเมื่อ 15 มิ.ย. 58 เดินทางมาถึง ก็เข้ารับการรักษาที่ร.พ.เอกชนทันที 3.ร.พ. เอกชนแห่งนั้น มีการตื่นตัวเพราะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขล่วงหน้าแล้ว จึงแยกผู้ป่วยและญาติไม่ปะปนกับผู้อื่น โดยมีมาตรการป้องกันเข้มงวด รวมถึงส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตามแนวทางที่กำหนด ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก 

4.ผลการตรวจครั้งแรกยังไม่ยืนยัน จึงส่งต่อมารักษาที่ร.พ.บำราศฯ และเข้ารับการรักษาในห้องแยกโรค และตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้ง ผลวันที่ 18 มิ.ย.58 ได้ผลเป็นบวก ขณะนี้ผู้ป่วยยังรักษาที่ร.พ.บำราศฯ อาการทรงตัว 5.การสอบสวนโรค ติดตาม ผู้สัมผัสโรค 59 คน ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตาม รับตัวไว้สังเกตอาการในร.พ. หรือให้สังเกตอาการที่บ้าน และเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบอาการทุกวัน

 

เชียงใหม่เฝ้าระวังหนุ่มวัย 20 

      6.สำหรับประชาชนอย่าได้ตระหนก รายนี้เป็นผู้ป่วยเดินทางมาจากต่างประเทศ และประเทศไทยตรวจจับได้เร็ว และระมัดระวังด้วยอยู่แล้ว ดังตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ที่พบผู้ป่วยเร็วและควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้างได้ 7.ขอให้ประชาชนใช้มาตรการ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และสวมหน้ากากป้องกันโรค 

     8.ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวให้งดเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด และหากจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดขอให้อย่าคลุกคลีกับผู้ป่วย และถ้ากลับประเทศไทยภายใน 14 วัน หากมีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ให้ไปพบแพทย์ที่ร.พ.ทันที 9.หากมีข้อสงสัยข้อมูลเพิ่มเติม สอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

       ที่จ.เชียงใหม่ ดร.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สสจ.เชียงใหม่ เผยว่า พบผู้ป่วยต้องสงสัยป่วยด้วยเชื้อไวรัสเมอร์สรายล่าสุด เป็นชายอายุประมาณ 20 ปี พักอาศัยอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเพิ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ด้วยอาการไข้สูง ไอ หนาวสั่น เจ็บคอ มีเสมหะ และมีประวัติเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้ โรงพยาบาลจึงคัดแยกเพื่อรักษา และเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะทราบผลอย่างแน่ชัดในวันที่ 20 มิ.ย. โดยผู้ป่วยรายนี้นับเป็นผู้ต้องสงสัยรายที่ 4 ของจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ซึ่ง 3 รายที่พบในช่วงก่อนหน้านี้ ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการยืนยันว่าไม่ได้ป่วยด้วยเชื้อไวรัสเมอร์ส

 

สธ.ชี้ไวรัสคนละสายพันธุ์ 

ด้านนพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี พบผู้ป่วยต้องสงสัยว่าจะป่วยด้วยเชื้อไวรัสเมอร์ส อายุประมาณ 20 ปี พักอาศัยอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศเกาหลี มีอาการไข้สูง ไอ หนาวสั่น เจ็บคอ มีเสมหะ ว่า ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการในรายดังกล่าวได้ออกมาในช่วงบ่าย พบว่า เป็นเชื้อหวัดสายพันธุ์หนึ่ง ชื่อ ไรโนไวรัส ซึ่งการเก็บเชื้อในรายดังกล่าวเป็นเชื้อที่เก็บตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ซึ่งโอกาสที่จะพบเชื้อหลายสายพันธุ์ในคนเดียวกันนั้น ถือว่ามีต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดมีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรฐานอยู่แล้ว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!