WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Mers Virus

 

3 ชาวโคราช-ลุ้น ผลเลือด ถูกกักตรวจเมอร์ส นั่งเครื่องลำเดียวชาวโอมาน สาวบุรีรัมย์โล่งอก-ไม่ติดเชื้อ สธ.เตือนประชาชนอย่าแตกตื่น

     โคราชกักอีก 3 คน เสี่ยงติดเชื้อเมอร์ส แต่แพทย์ยันอย่าเพิ่งตระหนก เพราะผลตรวจไม่พบเชื้อ แต่ต้องเฝ้าระวังเจอแล้วหญิงบุรีรัมย์วัย 38 ที่นั่งติดกับชาวโอมานติดเชื้อเมอร์สในเที่ยวบินเดียวกัน พร้อมส่งตรวจหาเชื้อ เบื้องต้นพบสุขภาพแข็งแรง แต่ยังอยู่ในระยะเฝ้าระวัง ด้านญาติขอสื่อเคารพความเป็นส่วนตัวด้วย ขณะที่ผลตรวจสอบญาติ 3 คนของชาวโอมานไม่พบว่าติดเชื้อเช่นกัน โดยลูกชายเป็นแค่หวัด ส่วนตัวผู้ป่วยอาการดีขึ้น หายใจเองได้แล้ว สธ.แจงอย่าหลงเชื่อข้อความในเน็ตให้ตุนยาแก้อักเสบแก้โรคเมอร์สได้ ยันไม่มียารักษาต้องดูแลตามอาการเท่านั้น รวมทั้งอย่าเพิ่งแตกตื่น เพราะทุกจังหวัดที่พบกลุ่มต้องสงสัยผลตรวจชัดแล้วว่าไม่ใช่

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8971 ข่าวสดรายวัน


ดีขึ้น - นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เข้าตรวจเยี่ยมการคัดแยกผู้ป่วยชาวโอมาน ที่ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส พบว่าอาการดีขึ้น ที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนหญิงสาวชาวบุรีรัมย์ที่นั่งติดกันบนเครื่องบิน ล่าสุดเจอแล้ว อยู่ในระหว่างกักตัวรอดูอาการ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.

ผลตรวจญาติโอมานไม่ติดเมอร์ส

       เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (เมอร์ส) ว่า อาการของ ผู้ป่วยโรคเมอร์สในไทยรายแรกดีขึ้นรับออกซิเจนน้อยลงเพราะหายใจได้เองดีขึ้น ผลการเอกซเรย์ปอดดีขึ้น รับประทานอาหาร อ่อนๆ ได้ ส่วนญาติอีก 3 คน ไม่มีอาการไข้ ไม่มีอาการไอ โดย 2 คนที่ยืนยันผลตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ ส่วนอีกรายที่ไม่สามารถยืนยันผลได้นั้นวันนี้รายดังกล่าวไม่มีอาการไข้ออกมาแล้ว ดังนั้นตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกก็จะไม่มีการตรวจเชื้อแล้วในวันนี้ แต่จะพิจารณา อีกครั้งใน 1-2 วัน ว่าจะต้องตรวจเชื้อซ้ำหรือไม่ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ในห้องแยกโรคจนครบ 14 วัน 

      นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ส่วนผู้ที่สัมผัส ผู้ป่วยรายนี้ทราบข้อมูลหมดแล้วมีจำนวน 175 คน บางส่วนได้เชิญตัวมาอยู่ที่สถานพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการ ขณะที่บางส่วนให้กักตัวเองอยู่กับบ้านภายใต้การดูแลของ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค 14 วัน ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง หรือเสี่ยงน้อยจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากมีการปรับลด ปรับเพิ่มระหว่างวัน ซึ่งบางคนจากที่เคยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงก็ปรับมาเป็นผู้มีความเสี่ยงน้อย กรณีของชาวบุรีรัมย์ที่เดินทางมาสายการบินเดียวกันและนั่งใกล้กับผู้ป่วยรายแรกนั้นสามารถติดตามตัวได้แล้วช่วงบ่ายวันที่ 19 มิ.ย. ซึ่งเจ้าตัวให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ตอนนี้อาการเป็นปกติ อยู่ในการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่เมื่อวานก็สามารถติดตามจนครบแล้วเช่นเดียวกัน

ยันยังไม่มีใครติดเชื้อเพิ่ม 

     นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เชิญร.พ.เอกชน 10 แห่ง ที่ชาวตะวันออก กลางนิยมมาใช้บริการมาหารือเกี่ยวกับระบบเฝ้าระวังและคัดกรองโรค ซึ่งทุกร.พ.มีระบบคัดกรองคนไข้ก่อนที่จะเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทย โดยมีบริษัทเอเยนซี่ในตะวันออกกลางประสานข้อมูลจากแพทย์ในประเทศนั้นๆ ก่อนอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามหากมีอาการของโรคมากตามกฎของสายการบินทั่วโลกไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่องอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาเองมักจะมีสุขภาพดี ถ้ามาเจ็บป่วยที่ประเทศไทย ทางร.พ.เอกชนก็มีการเตรียมความพร้อมในการคัดกรองและแยกผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงออกจาก ผู้ป่วยทั่วไปอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในวันที่ 22 มิ.ย.นี้ จะเชิญร.พ.เอกชนและคลินิกเอกชนประมาณ 100 แห่ง เข้ามาหารือเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค แต่ร.พ.ส่วนใหญ่ก็มีมาตรการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ และห้องแยกโรคอยู่แล้ว

       "กรณีที่มีข่าวลือในช่องทางต่างๆ ว่าพบผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยเมอร์สในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร.พ.สมุทรปราการ หรือ ชาวต่างชาติที่จังหวัดอุดรฯ หรือในจังหวัดอื่นๆ ขอยืนยันว่ายังไม่มีตรงนี้ ไม่อยากให้ประชาชนเชื่อข่าวลือจากโซเชียลมีเดีย ให้รับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ซึ่งหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และขอความกรุณาให้เคารพสิทธิของผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าระบบติดตามด้วย ไม่เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ ไม่ตามไปถ่ายภาพที่บ้านหรือภาพญาติ หรือ ผู้ป่วยเอง เพราะถือเป็นการทำผิดกฎหมาย" นพ.สุรเชษฐ์กล่าว และว่า ขณะสายการบินจากประเทศตะวันออกกลาง และประเทศเกาหลีใต้จะเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งผอ. ท่าอากาศยานจะเปิดช่องทางพิเศษสำหรับ ผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคให้เข้าสู่ระบบคัดกรองก่อนให้ผ่านตม. เข้ามาในประเทศ

แจงอย่าเชื่อข่าวตุนยาแก้อักเสบ

     นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลผ่านโซเชี่ยลมีเดียว่า "ให้ทุกคนซื้อยาอม็อกซี่ติดบ้านเอาไว้ ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อที่สามารถรักษาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน คนที่ป่วยไข้หวัดรุนแรงกินทันทีจะรักษาได้ แผงหนึ่งมี 20 เม็ด ต้องบอกร้านยาต้องเป็นอม็อกซี่ ของเมืองนอกเท่านั้นกล่องขาวแดง" ว่า อม็อกซิลิน (Amoxycillin) เป็นยาปฏิชีวนะรักษาเชื้อแบคทีเรีย ใช้ไม่ได้กับไวรัสใดๆ รวมทั้งเมอร์ส ขณะนี้การรักษาเมอร์สทำได้เพียงแค่การประคับประคองตามอาการเท่านั้น 

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงปัจจุบันกระทรวงมีระบบการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้และตะวันออกกลาง โดยได้ คัดกรองผู้ที่มีอาการไข้และส่งเชื้อตรวจจำนวน 38 ราย เป็นคนที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้ 23 ราย และตะวันออกกลาง 15 ราย ผลการตรวจทุกรายเป็นลบ ไม่ติดเชื้อเมอร์สแต่อย่างใด

ศิริราชก็ยันไม่มีผู้ติดเชื้อ

      นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ผ่าน โซเชียลมีเดียว่าพบผู้ป่วยต้องสงสัยเป็นโรคเมอร์ส ที่ร.พ.ศิริราช ว่าขอยืนยันว่ายังไม่มีผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยป่วยโรคเมอร์สที่ร.พ.ศิริราชแต่อย่างใด ส่วนภาพบุคลากรของร.พ.ศิริราชสวมชุดป้องกันโรคนั้น เป็นเพียงภาพเก่าของการซักซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ทั้งนี้ มาตรการควบคุมป้องกันการระบาดของเมอร์สยังอยู่ในระดับ 1 อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข หากกระทรวงรับไม่ไหวถึงยกมาตรการป้องกันระดับ 2 คือให้ร.พ.ในโรงเรียนแพทย์ร่วมกันรับสถานการณ์

นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.ร่วมกับกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข ติดตามเมอร์ส ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วหลังจากพิธีฮัจญ์ ซึ่งติดตามในคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนไทยที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์และชาวต่างชาติที่ประกอบพิธีฮัจญ์ที่เดินทางมาประเทศไทย กว่า 1,000 ราย ปรากฏว่าไม่พบผู้ติดเชื้อ ทั้งนี้สำนักการอนามัย มีระบบในการจัดการโรคเมอร์ส คือจัดทีมเฝ้าระวังโรค สอบสวนโรค 76 ทีม ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล รับแจ้งข่าวจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องทุกวัน และติดตามผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กทม. โดยเข้าพบผู้ที่สัมผัสโรคและให้คำแนะนำการเฝ้าระวังและให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะ และจัดระบบการสื่อสารกับผู้สัมผัสโรค โดยจะติดตามจนกว่าจะครบกำหนดการเฝ้าระวัง

   ส่วนการตั้งรับหากพบผู้ป่วยที่คาดว่าติดเชื้อเมอร์ส กทม.มีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อ ตั้งแต่อีโบลา ไข้หวัดนก ซาร์ส(SARS) มาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งจะใช้มาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคเมอร์สในลักษณะเดียวกันโดยกำหนดให้โรงพยาบาลในสังกัดเตรียมพร้อมบุคลากร ทรัพยากร เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ รวมทั้งห้องพักเพื่อรองรับผู้ป่วย โดยจะมีกระบวนการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีไข้สูง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ หรือมีประวัติเคยเดินไปประเทศที่มีการแผร่ระบาดของโรค ซึ่งหน่วยคัดกรองจะแยกผู้ป่วยอาการดังกล่าวออกจากผู้ป่วยรายอื่นเพื่อเฝ้าระวังติดตามอาการต่อไป อย่างไรก็ตามแม้ว่าเมอร์สจะเป็นโรคที่ติดต่อได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะติดต่อกันทุกราย จะติดเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยง กลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ ฉะนั้นอย่าวิตกกังวลหรือแตกตื่นจนเกินเหตุ แต่ก็ต้องเฝ้าระวัง อย่างน้อยที่สุดก็คือปฏิบัติตัวของเรา คือล้างมือบ่อยๆ ทานอาหารและน้ำที่สะอาด หรือถ้าไม่มั่นใจให้งดไปในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัดหนาแน่น

เจอแล้วหญิงบุรีรัมย์-ยันไม่มีไข้ 

      สำหรับ การติดตามหญิงสาวชาวจ.บุรีรัมย์ที่นั่งติดกับผู้ป่วยชาวโอมานบนเครื่องบิน ล่าสุดทราบตัวผู้โดยสารคนดังกล่าวแล้ว เป็นหญิงวัย 38 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาตรวจสุขภาพร่างกายพร้อมวัดไข้ แล้วรับตัวไปเพื่อสอบสวนโรคและกักตัวไว้ที่ห้องแยกโรคเพื่อเฝ้าสังเกตอาการตามขั้นตอน เป็นเวลา 14 วัน ทั้งนี้จากการตรวจสุขภาพและวัดไข้ เบื้องต้นไม่พบมีอาการไข้ผิดปกติแต่อย่างใด ขณะที่ครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านก็ยังใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้ตื่นตระหนกกับกรณี ดังกล่าวแต่อย่างใด

ขณะที่พี่ชายของหญิงคนดังกล่าวระบุว่า น้องสาวไปทำงานกับเพื่อนที่ประเทศโอมาน ขากลับทราบว่าเดินทางมาในไฟลต์บินเดียวกันและนั่งใกล้กับชายที่ตรวจพบติดเชื้อโรคเมอร์สรายแรก แต่หลังจากเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ ก็ยังไม่พบมีไข้หรืออาการ ผิดปกติ ขณะที่ครอบครัวก็ไม่ได้กังวลอะไรยังใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็อยากฝากถึงทาง ผู้เกี่ยวข้องว่า ไม่ควรที่จะนำกรณีดังกล่าวของน้องสาวมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน เนื่องจากตัวน้องสาวเพียงนั่งใกล้กับ ผู้ป่วยเท่านั้น ยังไม่ได้ยืนยันว่าติดเชื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับตัวน้องสาวและ ครอบครัวได้

อุบลฯตรวจเข้มด่านชายแดน

ที่จ.อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี ตรวจเข้มนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทย ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงการระบาดของไวรัสเมอร์ส โดยใช้เครื่องอินฟราเรดเทอโมสแกน ตรวจหา ผู้ต้องสงสัยที่มีอาการป่วยเป็นไข้ ซึ่งเดินทางผ่านแดนทางด่านชายแดนสากลไทย-ลาว ช่องเม็ก อ.สิรินธร โดยเพิ่มมาตรการ เข้มงวดยิ่งขึ้น หลังพบมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงมีอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสเมอร์สเป็นรายแรกของประเทศไทย

น.พ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 กล่าวว่า จ.อุบล ราชธานี ยังไม่พบผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว แต่มีการเข้มงวดตามจุดผ่านแดนและสนามบินนานาชาติที่มีนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น เกาหลีและตะวันออกกลาง เดินทางผ่านเข้ามาในจังหวัด เมื่อพบนัก ท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หรือคนไทยที่เดินทางกลับประเทศ ที่เดินทางผ่านแดนสากลไทย-ลาว ช่องเม็ก มีอาการป่วยเป็นไข้ จะกักตัวไว้ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอสิรินธร เพื่อตรวจหาเชื้อก่อนเป็นลำดับแรก

ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสนามบินนานาชาติ ถ้ามีอาการป่วยเป็นไข้ จะให้โรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์รับไปกักกันโรค หลังตรวจหาเชื้อไม่พบ จึงปล่อยตัวผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยไป

สำหรับนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง จะมีการบันทึกประวัติการเดินทางไว้ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่จะติดตามไปคอยดูแลสุขภาพตลอดช่วงเวลา 14 วัน ของระยะการเพาะเชื้อ หากพ้นกำหนด ไม่มีอาการป่วย ถือว่าบุคคลนั้นไม่อยู่ในข่ายที่จะมีเชื้อไว้รัสดังกล่าว 

ตราดส่งอสม.เอกซเรย์พื้นที่ 

นพ.ชรัตน์ วสุธาดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด เปิดเผยว่า สำนัก งานสาธารณสุขจังหวัดใช้การเฝ้าระวังโดยมี อสม. ที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ คอยดูแลป้องกัน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาจากโรคนี้ในพื้นที่จังหวัดตราด ทั้งนี้ในส่วนของการป้องกันกลุ่มโรคในระบบทางเดินหายใจ ขอให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทั้งการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ รักษาร่างกายให้อบอุ่น มีการออกกำลังกาย ในกรณีที่มีอาการป่วยที่มีไข้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

นายแพทย์สาธารณสุข จ.ตราด กล่าวว่า โรคดังกล่าวเป็นโรคที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ มีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 30 ทั้งนี้ได้มีการเฝ้าระวังบุคคลกลุ่มเสี่ยงในการเดินทางกลับมาจากพื้นที่แพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หรือพิธีอุมเราะห์ในประเทศตะวันออกกลาง เมื่อกลับมาแล้วกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะต้องถูกติดตามดูและเฝ้าระวังอยู่ในระยะ 21 วัน ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของโรค ถ้าพบอาการจะนำไปรักษาตัวอยู่ในห้องแยกซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งมีอยู่แล้ว โดยดำเนินการเหมือนครั้งที่เฝ้าระวังปัญหาโรคซาร์ส หรือกลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือช่วงที่เคยพบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นยังคงมีระบบการเฝ้าระวังกลุ่มบุคคลเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มชาวมุสลิมที่เดินทางกลับมาจากประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

โคราชกักตัว 3 ต้องสงสัย 

    ที่จ.นครราชสีมา นพ.วิชัย ขัติยวิทยากุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า พบชาว อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 3 คน เป็นผู้หญิง 2 คน และเด็กชายอายุ 6 ปี 1 คน ที่เดินทางมาในเครื่องบินลำดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดเป็นญาติกัน โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เด็กชายคนดังกล่าวป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ขณะที่มารดาและญาติของเด็กชายที่ร่วมเดินทางมากับเครื่องบินลำเดียวกันไม่พบว่ามีอาการป่วย และผลการตรวจไม่พบเชื้อไวรัสเมอร์ส อย่างไรก็ตามขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงกักตัวบุคคล ทั้ง 3 รายไว้รอดูอาการ และได้ส่งตัวอย่างเลือดของบุคคลทั้ง 3 รายไปตรวจที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะได้ผลยืนยันที่แน่ชัดใน วันที่ 21 มิ.ย. ดังนั้นขอให้ชาวจังหวัดนครราชสีมาอย่าตื่นตระหนก 

    ทั้งนี้ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เรียกประชุมสาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง ใน 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อวางมาตรการเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์สดังกล่าว โดยให้จัดเตรียมห้องปลอดเชื้อไว้โรงพยาบาลละ 2 ห้อง รวมทั้งจัดเตรียมแพทย์และพยาบาลไว้พร้อม ซึ่งจะมีขั้นตอนการคัดกรองผู้ป่วยต้องสงสัย เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสเมอร์ส หากพบผู้ติดเชื้อก็ให้แยกไปรักษาในห้องปลอดเชื้อทันที

 

 

โล่ง'สาวบุรีรัมย์'ยังปกติ ไร้'เมอร์ส' เผยไปทำงานที่'โอมาน'ให้รพ.เฝ้าตามอาการ กลุ่มเสี่ยงพุ่ง 175 ราย อจ.จุฬาเบรกโซเชียล มั่วให้กิน'อม็อกซีลิน'

 

เยี่ยมคนไข้ - นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางไปตรวจเยี่ยมอาการชายชาวโอมานวัย 75 ปี ที่ติดเชื้อเมอร์สและญาติอีก 3 ราย ที่ถูกเฝ้าระวังอาการ ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน

  มติชนออนไลน์ : 'รัชตะ'ยันผู้ติดเชื้อเมอร์สในไทยแค่รายเดียว ชี้โอกาสแพร่กระจายน้อย เจอสาวบุรีรัมย์แล้วปกติ-เฝ้าระวัง 175 รายเสี่ยง

 

@ ผู้ป่วยเมอร์สในไทยอาการดีขึ้น

     เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 20 มิถุนายน นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส ว่าอาการของผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกของไทยดีขึ้น รับออกซิเจนน้อยลงเพราะหายใจได้เองดีขึ้น ผลการเอกซเรย์ปอดดีขึ้น รับประทานอาหารอ่อนๆ ได้ ส่วนญาติอีก 3 คน อาการปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีอาการไอ โดย 2 คนที่ยืนยันผลตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นลบ ส่วนอีกรายที่ไม่สามารถยืนยันผลได้นั้น วันนี้ไม่มีอาการไข้แล้ว ดังนั้น ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกก็จะไม่มีการตรวจเชื้อแล้วในวันนี้ แต่จะพิจารณาอีกครั้งใน 1-2 วัน ว่าจะต้องตรวจเชื้อซ้ำหรือไม่ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ในห้องแยกโรคเพื่อเฝ้าระวังตามระยะฟักตัวของโรคจนครบ 14 วัน

 

@ เจอตัวชาวบุรีรัมย์แล้วปกติ

     นพ.สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยรายนี้ทราบข้อมูลแล้วว่ามีจำนวน 175 คน บางส่วนได้เชิญตัวมาอยู่ที่สถานพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการ ขณะที่บางส่วนให้กักตัวเองอยู่กับบ้านภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค ซึ่งจำนวนดังกล่าวไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงน้อยจำนวนเท่าไร เนื่องจากมีการปรับลด ปรับเพิ่มระหว่างวัน ซึ่งบางคนจากที่เคยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงก็ปรับมาเป็นผู้มีความเสี่ยงน้อย กรณีของชาวบุรีรัมย์ที่เดินทางมาสายการบินเดียวกันและนั่งใกล้กับผู้ป่วยรายแรกนั้นสามารถติดตามตัวได้แล้วตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 19 มิถุนายน ซึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และขณะนี้มีอาการเป็นปกติไม่พบอาการป่วย แต่ยังอยู่ในการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่นเดียวกับคนขับแท็กซี่ที่สามารถติดตามตัวได้ในวันเดียวกัน

 

@ สธ.เชิญรพ.-คลินิก 100 แห่งหารือ

        รักษาการปลัด สธ.กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้เชิญโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน 10 แห่ง ที่ชาวตะวันออกกลางนิยมมาใช้บริการ มาหารือถึงระบบเฝ้าระวังและคัดกรองโรค ซึ่งทุก รพ.มีระบบคัดกรองคนไข้ก่อนที่จะเดินทางเข้ามารักษาในไทย โดยมีบริษัทเอเยนซี่ในตะวันออกกลางประสานข้อมูลจากแพทย์ในประเทศนั้นๆ ก่อนอยู่แล้ว หากมีอาการของโรคตามกฎของสายการบินทั่วโลกไม่อนุญาตให้ขึ้นเครื่องอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาเองมักจะมีสุขภาพดี ถ้ามาเจ็บป่วยที่ประเทศไทยทาง รพ.เอกชนก็มีการเตรียมความพร้อมในการคัดกรองและแยกผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงออกจากผู้ป่วยทั่วไปอยู่แล้ว โดยวันที่ 22 มิถุนายนนี้ จะเชิญ รพ.เอกชน และคลินิกเอกชน ประมาณ 100 แห่ง เข้ามาหารือเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวัง และควบคุมโรค 

"ส่วนกรณีที่มีข่าวลือในโซเชียลมีเดียว่าพบผู้ป่วย หรือผู้ต้องสงสัยโรคเมอร์สในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รพ.สมุทรปราการ หรือชาวต่างชาติที่ จ.อุดรธานี หรือในจังหวัดอื่นๆ ขอยืนยันว่าขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยโรคเมอร์สเพียงรายเดียว ไม่อยากให้ประชาชนเชื่อข่าวลือจากโซเชียลมีเดีย ขอให้รับข้อมูลจาก สธ.โดยตรง ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422" นพ.สุรเชษฐ์กล่าว

 

@ 'ลูกชาย-น้อง'เป็นไข้ลดลงแล้ว 

นพ.สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ขอให้เคารพสิทธิของผู้ป่วยหรือผู้ที่เข้าระบบติดตาม จะไม่เปิดเผยชื่อ ที่อยู่ ไม่ตามไปถ่ายภาพที่บ้านหรือภาพญาติ หรือตัวผู้ป่วยเอง เพราะถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ส่วนสายการบินจากประเทศตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ที่จะเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และเชียงใหม่ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานจะเปิดช่องทางพิเศษสำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรคให้เข้าสู่ระบบคัดกรองก่อนให้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เข้ามา

ในประเทศ 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สำหรับผู้โดยสารกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวและเฝ้าระวังจำนวน 66 คนนั้น อยู่ระหว่างเฝ้าระวัง ไม่พบว่ามีใครป่วย ทุกคนมีอาการปกติไม่มีอาการบ่งบอกแต่อย่างใด 

ด้าน พญ.จริยา แสงสัจจา ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยชาวตะวันออกกลางมีอาการดีขึ้น อยู่ในห้องแยกโรค แต่รับปริมาณออกซิเจนน้อยลงจาก 5 ลิตรเหลือ 2 ลิตร และรับประทานอาหารได้เอง ส่วนบุตรชายและน้องชาย อาการไข้ ไอ ลดลง ส่วนภาวะความเครียดหรือวิตกกังวลก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากมีล่ามจากโอมานมาช่วยเรื่องการสื่อสาร นับเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ต้องตระหนักว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะสูงอายุและมีโรคประจำตัว

 

@ 'รัชตะ'ย้ำโอกาสแพร่กระจายน้อย 

เวลา 14.30 น. ที่สำนักบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร.และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. เดินทางไปตรวจเยี่ยมอาการชายชาวโอมานวัย 75 ปี ที่ติดเชื้อเมอร์สและญาติอีก 3 รายที่ถูกเฝ้าระวังอาการ โดย นพ.รัชตะกล่าวว่า จากการเยี่ยมอาการผู้ป่วย พบว่ามีอาการดีขึ้น รู้สึกตัวดี สามารถทักทายตนได้ การหายใจของผู้ป่วยดีขึ้นลดการพึ่งพาออกซิเจนลง แสดงให้เห็นว่ามีการตอบสนองต่อการรักษาไปในทิศทางที่ดี เป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ยืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยเมอร์สเพียงรายเดียว ขอความร่วมมือการนำเสนอข่าวสารในเรื่องนี้ให้รอการยืนยันจาก สธ.ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก หาก สธ.มีข้อมูลก็จะรีบแถลงข่าวให้ประชาชนทราบ อย่างไรก็ตามสถานการณ์โรคเมอร์สในปัจจุบันยังไม่มีลักษณะบ่งชี้ที่จะมีการแพร่กระจาย และโอกาสที่จะแพร่กระจายน้อยเพราะชายชาวโอมานที่เดินทางเข้ามาไทยขณะเดินทางไม่มีอาการป่วยจึงมองว่าโอกาสที่จะแพร่ไปยังกลุ่มคนอื่นๆ มีน้อย

"คนที่ไม่ได้เดินทางไปยังประเทศที่มีการติดเชื้อก็เป็นเรื่องยากที่จะติดเชื้อได้ นอกจากจะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ หากมีอาการไข้ ไอ หรือสงสัยว่าสัมผัสกับผู้ที่เดินทางไปยังประเทศที่ติดเชื้อมาก็ขอให้โทรมาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำหรือส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบ" รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าว 

 

@ รพ.ศิริราชแจงลือโซเชียลไร้ผู้ป่วย

นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงกรณีมีการเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียว่าพบผู้ป่วยต้องสงสัยป่วยเมอร์ส ที่ รพ.ศิริราช ว่า ขอยืนยันว่ายังไม่มีผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยป่วยเป็นโรคเมอร์ส ที่ รพ.ศิริราชแต่อย่างใด ส่วนภาพบุคลากรของ รพ.ศิริราชสวมชุดป้องกันโรคนั้นเป็นภาพเก่าของการซักซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น ทั้งนี้มาตรการควบคุมป้องกันการระบาดของเมอร์สยังอยู่ในระดับ 1 อยู่ในความดูแลของ สธ. หากรับไม่ไหวถึงยกมาตรการป้องกันระดับ 2 

@ โรงแรมไทยมั่นใจไทยรับมือเมอร์ส

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียว่า "ให้ทุกคนซื้อยาอม็อกซี่ ติดบ้านเอาไว้ ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อที่สามารถรักษาโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน คนที่ป่วยไข้หวัดรุนแรงกินทันทีจะรักษาได้ แผงหนึ่งมี 20 เม็ด ต้องบอกร้านยาต้องเป็นอม็อกซี่ของเมืองนอกเท่านั้นกล่องขาวแดง" ว่า อม็อกซีลิน (Amoxycillin) เป็นยาปฏิชีวนะรักษาเชื้อแบคทีเรีย ใช้ไม่ได้กับไวรัสใดๆ รวมทั้งเมอร์ส ขณะนี้การรักษาเมอร์สทำได้เพียงแค่การประคับประคองตามอาการเท่านั้น

นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ได้ส่งตัวแทนร่วมประชุมกับ สธ.เพื่อเตรียมตัวป้องกันและรับมือโรคเมอร์ส ระยะหนึ่งแล้ว และช่วง 10 วันที่ผ่านมา ได้ส่งคำแนะนำไปให้สมาชิกสมาคมตามที่ สธ.แนะนำให้ปฏิบัติวิธีสังเกตกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งแนวทางติดต่อศูนย์ปฏิบัติการที่ดูแลเรื่องนี้ เชื่อว่าครั้งนี้ไทยจะรับมือได้ดี เพราะมีตัวอย่างที่เกาหลีใต้ให้เห็นทำให้วางแผนป้องกันได้รัดกุมขึ้น

 

@ ก.คลังอัดงบประมาณช่วยเหลือ

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผลกระทบจากโรคเมอร์สต่อประเทศไทยยังไม่ถือว่ามากนัก เชื่อว่าสธ.จะสามารถดูแลและบริหารจัดการควบคุมโรคได้ อีกทั้งที่ผ่านมาไทยเคยผ่านทั้งเหตุการณ์โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (โรคซาร์ส) ไวรัสอีโบลา ครั้งนี้จึงเชื่อว่าไม่น่ากระทบต่อความเชื่อมั่นเท่าใดนัก ในส่วนกระทรวงการคลังเองแม้อาจไม่เกี่ยวข้องแต่ก็ได้เตรียมความพร้อม หากหน่วยงานใดๆ ต้องการงบสนับสนุนโดยเฉพาะ สธ.ก็สามารถขออนุมัติงบประมาณในส่วนของงบประมาณกลางโดยสามารถเสนอให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติ แต่ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการขออนุมัติงบประมาณหรือขอเพิ่มงบอุดหนุนในส่วนใด อย่างไรก็ดีหากมองผลกระทบเชิงเศรษฐกิจต่อไทยแล้วน่าจะเป็นผลพลอยได้เนื่องจากกระแสการยกเลิกการเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศเกาหลี ซึ่งอาจมีบางส่วนเปลี่ยนแผนและเดินทางท่องเที่ยวมาประเทศไทยแทน เช่น นักท่องเที่ยวชาวเกาหลี จีนและญี่ปุ่น ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้

 

@ ผลตรวจสาวราชบุรีไม่ติดเชื้อ

พญ.ปาจรีย์ อารีย์รบ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ราชบุรี ว่าในรายผู้ป่วยที่เข้าข่ายต้องสงสัยเป็นหญิง 1 ราย อายุประมาณ 30-35 ปี เป็นชาว อ.โพธาราม จ.ราชบุรีนั้น มีอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากกว่าปกติได้ไปรักษาตัวที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง จากการสอบประวัติเพิ่งเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ จึงจัดอยู่ในประเภทกลุ่มเสี่ยงและทาง รพ.เอกชนได้ส่งตัวมาที่ รพ.ศูนย์ราชบุรี เพื่อให้ทำการตรวจอย่างละเอียด โดยแพทย์ได้นำตัวเข้าห้องผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจหรือห้องปลอดเชื้อเพื่อดูแลเป็นพิเศษ และได้นำเลือดส่งไปตรวจยังศูนย์วิจัย รพ.รามาธิบดี พบรายงานว่าผลเป็นลบไม่ได้ติดเชื้อไวรัสเมอร์ส แต่ทางคณะแพทย์ก็ยังเฝ้าระวังคนไข้ พร้อมญาติใกล้ชิดจนกว่าคนไข้จะหายและกลับสู่ภาวะปกติ

 

@ สนามบินชร.ตรวจนักท่องเที่ยว

ที่ จ.เชียงราย นายอิทธิพล บุญอารีย์ ผอ.ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง กล่าวภายหลังประชุมเตรียมความพร้อมในแผนปฏิบัติการในการตรวจคัดกรอง ผู้โดยสารจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคเมอร์สว่า ทางท่าอากาศยานฯมีมาตรการในการเตรียมความพร้อมในการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งท่าอากาศยานฯมีเที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศจีนในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจพาสปอร์ตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาว่ามีประวัติการเดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง หรือเกาหลีใต้หรือไม่ หากพบจะต้องมีการตรวจคัดกรองอีกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด โดยได้เตรียมความพร้อมทั้งสถานที่ในการตรวจคัดกรอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

 

@ รพ.หาดใหญ่กรองผู้ป่วยเสี่ยง

ที่ จ.สงขลา นพ.กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผอ.โรงพยาบาล (รพ.) หาดใหญ่ กล่าวว่า ทาง รพ.มีความพร้อมรับมือโดยได้วางมาตรการในการคัดกรองคนไข้ทุกราย โดยเฉพาะที่เดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ จะทำการคัดกรองคนไข้กลุ่มเสี่ยง แบ่งเป็นระดับไม่มีอาการของโรค แต่มาจากกลุ่มเสี่ยงจะให้เก็บตัวที่บ้าน โรงพยาบาลจะส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปดูแลติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค หากไม่มีอาการก็จะปล่อยตามปกติแต่หากมีอาการภายหลังจะรีบรับตัวเข้า รพ.ทำการเก็บตัวไว้ในห้องที่จัดไว้โดยเฉพาะและจะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง

 

@ สสจ.ปัตตานีห่วงผู้แสวงบุญ 

นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นพ.สสจ.ปัตตานี กล่าวว่า ได้เรียกประชุม ผอ.รพ.ทุกแห่งเพื่อเตรียมความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์ และบุคลากร รวมถึงวางแผนงานการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเมอร์ส เนื่องจาก สธ.มีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะต้องเดินทางไปแสวงบุญ หรือไปประกอบพิธีฮัจย์รวมไปถึงกลุ่มที่ไปอุมเราะห์ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย หรือตะวันออกกลาง มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคเมอร์สกลับมายังประเทศไทย เฉพาะ จ.ปัตตานี คาดว่าจะมีพี่น้องชาวมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจย์มากกว่า 2,000 คน และยังมีผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะห์อีกจำนวนมากซึ่งไม่รู้จำนวนที่ชัดเจนเพราะอุมเราะห์ใครมีเงินซื้อทัวร์ไปได้ซึ่งผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์จะมีการอบรมตรวจร่างกายครั้งใหญ่ก่อนจะเดินทาง และเมื่อเดินทางกลับมาจะมีทีมสาธารณสุขคอยติดตามตรวจร่างกายอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ว่าใครมีอาการหรือรู้ตัวว่ามีอาการเจ้าหน้าที่ก็จะรีบนำตัวไปรักษาทันที 

ขณะที่นายแวยูโซ๊ะ สะมะอาลี ประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์กิจการฮัจย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่าสถิติผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ทั่วประเทศมี 10,400 คน แม้ว่าจะมีเกิดโรคเมอร์สในประเทศตะวันออกกลางนั้น ผู้แสวงบุญไม่ได้ตกใจ รวมทั้งไม่มีใครยกเลิกการเดินทาง เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่ไปอุมเราะห์และพึ่งกลับมาก็ไม่มีใครติดเชื้อ

 

@ เตือนชาวโคราชอย่าตื่นตระหนก

      นพ.วิชัย ขัตติยวิทยากุล นพ.สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า พบชาว อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา 3 คน เป็นผู้หญิง 2 คน และเด็กชายอายุ 6 ขวบ 1 คน ที่เดินทางมาในเครื่องบินลำดังกล่าว จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเด็กชายคนดังกล่าวป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ขณะที่มารดาและญาติของเด็กชายไม่พบว่ามีอาการป่วย และผลการตรวจไม่พบเชื้อไวรัสเมอร์ส อย่างไรก็ตามขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังคงกักตัวทั้ง 3 คน ไว้รอดูอาการ และได้ส่งตัวอย่างเลือดของบุคคลทั้ง 3 ราย ไปตรวจที่กรุงเทพฯ กำลังรอผลยืนยันที่แน่ชัด ดังนั้นขออย่าได้ตื่นตระหนก

       ที่ จ.บุรีรัมย์ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากพี่ชายของหญิงชาวไทยที่เดินทางกลับจากทำงานที่ประเทศโอมาน และเดินทางมาพร้อมกับชายชาวตะวันออกกลางที่เป็นผู้ป่วยเมอร์สรายแรกในประเทศไทย ว่าน้องสาวเดินทางกลับมาพักที่บ้านได้ 2-3 วันแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้เดินทางมาสอบสวนโรค สอบถามข้อมูล พร้อมตรวจร่างกายของน้องสาวแล้ว และได้นำตัวเดินทางไปสังเกตอาการต่อที่โรงพยาบาลอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จากการตรวจร่างกายเบื้องต้นแพทย์แจ้งว่ายังไม่มีอาการผิดปกติ ส่วนคนในหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ก็ไม่ได้หวาดวิตกและยังคงใช้ชีวิตตามปกติ

 

@ จ.สกลนครไม่ประมาทรับมือ

       นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) สกลนคร กล่าวว่า แม้ว่า จ.สกลนคร ไม่ใช่พื้นที่จังหวัดติดชายแดน แต่เพื่อความไม่ประมาท ได้ประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สกลนคร กำชับสถานบริการ โรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ให้ทำการคัดกรองผู้ป่วยอย่างละเอียดเพิ่มขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้ยังสั่งการให้เฝ้าระวังสนามบินพาณิชย์ จ.สกลนคร ที่มีเที่ยวบินพาณิชย์ 2 สายการบิน 5 เที่ยวบินต่อวัน รวมคนเข้าออกเกือบ 1,000 คน ให้มีการคัดกรองเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องในการเตรียมตัวรับมือ ทั้งนี้ ในส่วนของชาว จ.สกลนคร ที่ไปทำงานในแถบตะวันออกกลางนั้น จากข้อมูลพบว่ามีเพียงร้อยละ 5 ส่วนมากจะเดินทางไปทำงานนานครั้งจะกลับมาบ้านเกิดจึงไม่น่าวิตกกังวล

 

@ 'สิงคโปร์'จับตาไทยใกล้ชิด

       วันเดียวกัน หนังสือพิมพ์สเตรทส์ไทม์สของสิงคโปร์รายงานถึงการพบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกในประเทศไทยที่เป็นชาวตะวันออกกลาง และมีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อกว่า 88 รายว่า นายกัน คิม ยอง รัฐมนตรีสาธารณสุขสิงคโปร์ กล่าวถึงเรื่องนี้เมื่อวันก่อนว่า ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศไทยจะยังไม่ต้องผ่านการตรวจคัดกรองอาการป่วยโรคเมอร์สที่สนามบินชางงีซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติของสิงคโปร์ เพราะไทยเพิ่งจะพบผู้ป่วยโรคเมอร์สเพียงรายเดียวเท่านั้น และสถานการณ์ยังอยู่ในวงจำกัด อย่างไรก็ดีสิงคโปร์จะจับตาดูพัฒนาการโรคเมอร์สในไทยอย่างใกล้ชิด 

     สเตรทส์ไทม์ สระบุว่า แม้ชาวสิงคโปร์ยังไม่เลื่อนหรือยกเลิกแผนการเดินทางมาประเทศไทยออกไป แต่ก็มีการจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหวังว่าไทยจะไม่เดินซ้ำรอยสิ่งที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ที่เกิดการระบาดรุนแรงของโรคเมอร์ส จนทำให้ชาวสิงคโปร์นับหลายร้อยคนต้องตัดสินใจยกเลิกแผนการเดินทางไปเกาหลีใต้

 

@ เกาหลีใต้ไม่พบเสียชีวิตเพิ่ม

     นางเอลิเซีย เซียะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดของบริษัทไดนาสตี ทราเวล ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในสิงคโปร์ กล่าวว่า มีลูกค้าของทางบริษัทบางรายที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ ช่วงวันหยุดฉลองวันชาติสิงคโปร์ ที่มีความห่วงกังวลได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามถึงเรื่องนี้ และว่าพวกเขายังติดตามดูสถานการณ์ต่อไป โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเดินทางมาไทยช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 

     ด้านสถานการณ์โรคเมอร์สในประเทศเกาหลีใต้ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ระบุว่ายังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก หรือมีรายงานผู้ติดเชื้อโรคเมอร์สรายใหม่เกิดขึ้น โดยยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่ 24 ราย และผู้ติดเชื้อ 166 ราย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 16 วัน นับตั้งแต่พบการระบาดของโรคเมอร์สในเกาหลีใต้ ทำให้มีความหวังมากขึ้นว่าเกาหลีใต้สามารถควบคุมการระบาดได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!