- Details
- Category: อาชีวะ
- Published: Wednesday, 30 October 2024 11:38
- Hits: 1287
‘อาชีวะ’ จับมือ ‘บิ๊กซี’ สานต่อทวิภาคี ฝึกอาชีพ สร้างรายได้
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หรือ สอศ. กระทรวงศึกษาธิการ โดยนายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) โดยคุณปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร รองประธานกรรมการบริหารคนที่ 2 ร่วมลงนามความร่วมมือเพื่อส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยมีนายธนภัทร แสงจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ ว่าที่พันตรีวัชรพล ลักษณลม้าย ผู้อำนวยการศูนย์อาชีวศึกษาทวิภาคี และผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารบิ๊กซีเฮ้าส์ สำนักงานใหญ่
นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูงให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือกับสถานประกอบการภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและพัฒนา สนับสนุนแหล่งเรียนรู้ และแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ด้วยศักยภาพและมาตรฐานในการบริหารจัดการองค์กร ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัยของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยยกระดับการจัดการอาชีวศึกษาโดยเฉพาะการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี อาชีวะ จับมือกับ บิ๊กซี ในวันนี้ เป็นการจับมือสานต่อความร่วมมือทวิภาคีที่มีมานาน ช่วยเพิ่มโอกาสให้กับน้องๆ เยาวชนอาชีวศึกษาทุกระดับให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน ที่สำคัญมีรายได้ระหว่างเรียน มีอาชีพ จบแล้วมีงานทำ และเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
นายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร รองประธานกรรมการบริหารคนที่ 2 บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “พิธีลงนาม ระหว่าง บิ๊กซี กับ สอศ. ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาในการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้มีโอกาส ฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของทางบริษัททั้งในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรีเทคโนโลยีบัณฑิต (ทล.บ.) ภายใต้การดูแลของครูฝึกในสถานประกอบการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในอนาคต บิ๊กซีได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายระหว่างที่นักศึกษาเข้าฝึกอาชีพ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่าเดินทาง, ค่าที่พัก, ส่วนลดในการซื้อสินค้าราคาพนักงาน, เครื่องแบบพนักงานฟรี, ประกันชีวิตและอุบัติเหตุกลุ่ม, และมอบทุนการศึกษาให้ผู้เรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอาชีวศึกษาและคุณภาพชีวิตของเยาวชนและครอบครัว จัดให้มีครูฝึกในสถานประกอบการ ตลอดดจนวัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน และสถานที่ในการฝึกอาชีพที่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ให้การดูแลด้านการจัดการศึกษา พร้อมทั้งร่วมกำหนดวิธีการนิเทศ ติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขปัญหา อุปสรรค ในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีร่วมกัน และเมื่อจบการศึกษาทางบริษัทยินดีรับนักศึกษาเข้าร่วมงานทันทีหลังจากเรียนจบแล้วเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต”
“ความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ในสาขาวิชาค้าปลีก การตลาด และสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการศึกษาอาชีวศึกษาไทย และส่งผลให้นักศึกษามีสมรรถนะอาชีพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการและมีอาชีพที่มั่นคง” นายปฐพงศ์ กล่าวสรุป
10725