- Details
- Category: ไอที-เทคโนฯ
- Published: Thursday, 29 June 2023 19:36
- Hits: 2911
เจาะลึกทำความเข้าใจกับ ChatGPT และ AI
ในเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ChatGPT” กำลังเป็นหัวข้อมาแรงที่ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นประเด็นถกเถียงถึงข้อดีและความเสี่ยงของการที่ AI จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทำงานร่วมกับเครื่องจักร (machines) และการสื่อสารระหว่างกันของพวกเราอีกด้วย โดยเมื่อเร็วๆนี้ AMCHAM Education committee และ Digital Economy committee ได้มีการจัดอภิปรายขึ้น ซึ่งรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ทั้ง 4 ท่าน ที่จะร่วมเจาะลึกถึงเทคโนโลยีนี้และไขข้อสงสัยเกี่ยวกับความหมายโดยนัยและความเกี่ยวข้องของ AI ที่มีต่อภาคส่วนธุรกิจและการศึกษา โดยคุณ Lyn Kok, DE committee co-chair ได้เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการสร้างเครื่องจักรที่มีความสามารถในการโต้ตอบบทสนทนา สร้างสรรค์บทความใหม่ และตัดสินใจทำบางอย่างแทนเราได้ ว่าเราจะสามารถหาจุดตรงกลางระหว่างของประโยชน์และความเสี่ยงของการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างไร
ผู้บรรยาย: ดร.พิณนรี ธีร์มกร - สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; คุณรณพงศ์ คำนวณทิพย์ - บริษัท มายด์ เอไอ เซาท์อีสเอเซีย จำกัด; Anne Cheng - บริษัท Supercharge Lab จำกัด และ คุณเชาวลิต รัตนกรไกรศรี - บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย)
ผู้ดำเนินรายการ: Dean Outerson - สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะกรรมการร่วมการศึกษาของหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย
https://www.amchamthailand.com/2023/05/11/joint-education-digital-economy-committees-demystifying-chatgpt-and-ai/
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คืออะไร ?
ดร.พิณนรี ธีร์มกร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “AI คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อให้มีความคล้ายคลึงกับความสามารถและพฤติกรรมของมนุษย์ ถึงแม้ว่า AI จะถูกคิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 แต่กลับเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในปี ค.ศ. 2022 เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์สามารถกักเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปัจจุบัน AI นั้นมีความสามารถในการเรียนรู้ วิเคราะห์ และคาดการณ์ ความสนใจของมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่ง อย่างที่เห็นได้ชัดบนแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิเช่น Netflix, Meta (Facebook) และ Instagram เป็นต้น นอกจากนั้น AI ยังเป็นเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างที่เรารู้จักกันในชื่อ “ChatGPT””
รู้จักกับคอนเซ็ปต์หลักของ AI
ดร.พิณนรี กล่าวเสริมว่า machine learning, deep learning และ data science คือ 3 คอนเซ็ปต์หลักของ AI สำหรับ “machine learning” นั้นถือเป็น AI ประเภทหนึ่ง ที่ระบบสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากข้อมูลตัวอย่างที่ได้รับก่อนหน้าโดยไม่จำเป็นใช้โปรแกรมในการป้อนคำสั่งทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม การจัดเตรียมข้อมูลยังจำเป็นต้องใช้ feature engineering ในการช่วยป้อนรายละเอียดเชิงลึกและเพื่อให้แน่ใจว่าชุดข้อมูลสามารถเข้ากันได้กับอัลกอริธึม machine learning อย่างมีประสิทธิภาพ และ machine learning ประเภทหนึ่ง คือ “deep learning” ที่มีการเลียนแบบระบบประสาทของมนุษย์ผ่านเครือข่ายประสาท (neural network) ที่เชื่อมกันอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเราสามารถป้อนข้อมูลดิบ (raw data) เข้าสู่ระบบได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ feature engineering เข้ามาช่วย อีกทั้งคำตอบที่ได้รับยังมีความถูกต้องกว่า machine learning ธรรมดาอีกด้วย อันดับสุดท้าย “data science” เป็นการดึงเอาข้อมูลความรู้และความเข้าใจมาประยุกต์ใช้กับเทคนิคสถิติพื้นฐาน machine learning หรือ deep learning เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่เจาะลึกของdata science
เจาะลึกทำความเข้าใจกับ ChatGPT
ChatGPT หนึ่งในปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้แทรกซึมเข้าสู่ทุกวงการธุรกิจ อาทิเช่น การคมนาคม การค้า การแพทย์ และ การคลัง เป็นต้น ในขณะนี้นั้นคือ โมเดลภาษาปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย OpenAI ผ่านการป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาลจากโลกอินเตอร์เน็ตเข้าไป ซึ่ง ChatGPT เปรียบเสมือนกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถพูดคุยผ่านตัวอักษร (chatbot) และให้คำตอบตามที่เราต้องการได้ภายในเวลาอันสั้นไม่กี่นาที อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นโดย ChatGPT อยู่เสมอ เนื่องจากอาจเกิดการเข้าใจผิดและอคติของคำตอบที่เกิดจากการป้อนข้อมูลในตอนต้นได้
ถึงแม้ว่า AI และ ChatGPT จะถูกพัฒนาประสิทธิภาพและแทรกซึมเข้าสู่ภาคธุรกิจและการศึกษาในทิศทางที่ดี แต่ความก้าวหน้าด้านทางด้านเทคโนโลยีนี้นั้นกลับส่งผลให้ผู้คนบางส่วนรู้สึกกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านการจ้างงานและระบบการศึกษา ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นจะต้องมีการทำความเข้าใจ เจาะลึก และถกกันให้มากขึ้นถึงมุมมองของความแตกต่างเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกนำไปใช้อย่างถูกวิธี
“คน” จะถูกแทนที่การทำงานด้วย AI จริงหรือ?
การแทนที่การทำงานของคน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และทักษะเพิ่มเติมที่จำเป็นต้องมีเพื่อความอยู่รอดในยุคสมัยใหม่ของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ล้วนเป็นความกังวลหลักของผู้คนจำนวนมากในช่วงเวลาที่ AI ได้แทรกซึมเข้าสู่ภาคธุรกิจและการศึกษาอย่างต่อเนื่อง คุณ Anne Cheng ประธานบริษัท Supercharge Lab จำกัด ได้กล่าวว่า การผสมผสาน AI เข้ากับการทำงานของคนจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวก ไม่เพียงแต่ช่วยเพียงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงาน แต่ยังส่งเสริมความมั่นใจและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย นอกจากนั้น AI ยังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเราทั้งในวันนี้และอนาคต ที่จะช่วยเสริมเพิ่มความน่าสนใจในการทำงานและช่วยลดขั้นตอนการทำงานได้ ในขณะที่ คุณเชาวลิต รัตนกรไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า AI จะเข้ามาเป็นเพียงผู้ช่วย (co-pilot) ให้กับคน ซึ่งคนยังเป็นส่วนสำคัญหลักในการป้อนคำสั่งหรือความรู้แก่ AI เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการ ดังนั้น องค์กรควรให้ความสำคัญในการเลือกใช้เทคโนโลยีหรือ AI เพื่อการพัฒนาบริการ ต่อยอดด้านธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน มากกว่าการแทนที่การทำงานของ AI นอกจากนี้ คุณรณพงศ์ คำนวณทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์ เอไอ เซาท์อีสเอเซีย จำกัด ได้เสริมว่า อาชีพใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ “Prompt engineers” ผู้เชี่ยวชาญที่มาพร้อมความรู้และทักษะในการป้อนคำสั่งให้ AI เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
ทักษะสำคัญที่ทุกคนควรมีคืออะไร?
ดร.พิณนรี กล่าวว่า การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) เป็นสิ่งที่ท้าทายและจำเป็นต้องฝึกฝนเพื่อให้สามารถอยู่รอดในยุคของ AI นี้ได้ ถึงแม้ว่า AI จะสามารถสร้างสรรค์บทความต่างๆได้คล้ายคลึงกับมนุษย์แต่ก็ยังสามารถเกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ ดังนั้น ผู้อ่านจึงจำเป็นต้องมีทักษะการคิดวิเคราะห์นี้เพื่อใช้พิจารณาว่าสิ่งที่กำลังอ่านนั้นเชื่อถือได้หรือไม่
ChatGPT ควรถูกแบนในสถาบันการศึกษาหรือไม่?
ดร.พิณนรี กล่าวว่า นักเรียนควรจะมีช่วงเวลาช่วงหนึ่งที่ไม่มีการนำ AI เข้ามาใช้ประกอบการเรียนรู้ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่างๆ และเมื่อถึงเวลาพวกเขาจะสามารถประยุกต์ใช้ AI เพื่อช่วยพัฒนาทักษะและตรวจสอบความถูกต้องของการใช้งานได้เองในภายหลัง นอกจากนี้ คุณ Cheng กล่าวเสริมว่า ChatGPT เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยนักเรียนในการหาคำตอบเชิงลึกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ผู้สอนไม่สามารถตอบได้ และหากมองลึกลงไปในด้านจริยธรรมนั้น คุณเชาวลิต ได้แนะนำว่า ChatGPT นั้นได้ถูกพัฒนาจนถึงปี ค.ศ. 2021 เท่านั้น นั่นหมายความว่า ยังมีข้อมูลอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้อัพเดต และหน้าที่สำคัญของ ChatGPT ไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อแทนที่อินเตอร์เนตแต่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นโมเดลภาษา ดังนั้น เราจึงยังไม่ควรเชื่อทุกการตัดสินใจของข้อมูลที่ได้รับมา
สุดท้ายนี้ การอภิปรายเกี่ยวกับ AI และ ChatGPT ในครั้งนี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการหาจุดกึ่งกลางระหว่างข้อดีและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่า AI จะยังคงถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สังคมจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับแรงกระทบนี้ และเพิ่มพูนทักษะต่างๆที่สำคัญ อีกทั้งเสริมสร้างนโยบายต่างๆเพื่อต่อยอดศักยภาพและลดความเสี่ยงด้านต่างๆ ให้น้อยลง
บทความนี้ได้ถูกเรียบเรียงภายใต้ความร่วมมือระหว่าง AMCHAM Education และ Digital Economy Committees โดยมีสมาชิก ดังนี้ Laurie Colyer-Charusorn – โรงเรียนนานาชาติบางกอก เพรพ, Jonathan Lembright – สถาบันการศึกษานานาชาติ (IIE), Robert Tyler - โรงเรียนนานาชาติ ISB, James Dalziel - โรงเรียนนานาชาตินิสท์ (NIST), Jason Shipman - บริษัท ทาทา คอนซัลแทนซี เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด, Lyn Kok - บริษัท มูลา-เอกซ์ โฮลดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด, Peter Fischbach of บริษัท จัดหางาน ไอเอสเอ็ม เทคโนโลยี จำกัด และคุณวลีพร สายะสิต บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด
A6979