WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ตลาดซอฟต์แวร์และบริการไทยโตโลดแบรนด์ไทยใช้กลยุทธ์ Digital Marketing

                บ้านเมือง : ทีมข่าวเศรษฐกิจ/รายงาน

    ปี 2557 การผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในประเทศมีมูลค่าประมาณ 49,560 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 8.6 โดยเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปประมาณ 11,698 ล้านบาท และบริการซอฟต์แวร์ประมาณ 37,862 ล้านบาท ส่วนการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้น คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 12.3 ด้านศศินทร์ฯ แนะถึงเวลาศึกษาอิทธิพลของสื่อในมือผู้บริโภค ถึงเวลาแบรนด์ไทยใช้กลยุทธ์ Digital Marketing

   สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซิป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยผลการสำรวจมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของประเทศไทยประจำปี 2556 และประมาณการปี 2557 พบว่า ในปี 2556 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งมีผลต่อการสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมคือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีการปรับปรุงการจัดหมวดหมู่กิจกรรมของอุตสาหกรรมในประเทศไทย (TSIC) จาก TSIC2001 เป็น TSIC2009 ซึ่งมีการแบ่งหมวดหมู่ของธุรกิจซอฟต์แวร์ละเอียดมากขึ้น

มูลค่าซอฟต์แวร์ไทย 4.5 หมื่น ล.

  ทำให้พบจำนวนประชากรที่เกี่ยวข้องในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 985 บริษัท เป็น 1,705 บริษัท คณะผู้สำรวจได้ปรับผลการสำรวจในปี 2555 ย้อนหลังให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้ผลการสำรวจในปีนี้สามารถเปรียบเทียบกับปี 2555 ได้

   การสำรวจพบว่า ตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ของไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการผลิตเฉพาะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 45,652 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตจากปี 2555 ร้อยละ 9.9 โดยจำแนกเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 10,661 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.9 และมูลค่าการผลิตบริการซอฟต์แวร์ 34,991 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 11.2 โดยภาคการเงินยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์สูงที่สุด

   ในส่วนของตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้นพบว่าปี 2556 ที่ผ่านมามีมูลค่าการผลิตสูงถึง 5,730 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 34.4 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก เนื่องจากได้รับประโยชน์จากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลชุดก่อน โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 มีการส่งมอบรถยนต์จำนวนมากประกอบกับอุตสาหกรรมรถยนต์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ส่งออกสร้างรายได้เข้าไทย

   ในด้านการส่งออกนั้น ประเทศไทยมีการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวรวมกันทั้งสิ้นมูลค่า 5,700 ล้านบาทในปี 2556 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกบริการซอฟต์แวร์ร้อยละ 53.9 การส่งออกซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวร้อยละ 41.2 และที่เหลือเป็นการส่งออกซอฟต์แวร์สำเร็จรูปร้อยละ 4.9

   การสำรวจยังพบว่า ตลาดราชการมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ไม่รวมซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว และ 2 ใน 3 เป็นตลาดของภาคเอกชน ทั้งนี้ ยังคาดว่า มูลค่าตลาดของหน่วยงานราชการในปี 2557 จะชะลอตัวลงมาก

   สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้สถานที่ราชการหลายแห่งถูกปิดในต้นปี หลังจากนั้น ยังมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการหรือ ผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและหน่วยราชการ ทำให้การตรวจรับงานและการจัดซื้อซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ตามโครงการใหม่ๆ ต้องล่าช้าออกไป

  ในส่วนของตลาดภาคเอกชนนั้นคาดการณ์ว่า องค์กรต่างๆ ยังจะไม่ลงทุนด้านซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มากนักเนื่องจาก คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตโดยรวมในปี 2557 ในอัตราประมาณร้อยละ 1.5

  ซึ่งจะทำให้การผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ในประเทศมีมูลค่าประมาณ 49,560 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 8.6 โดยเป็นมูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์สำเร็จรูปประมาณ 11,698 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 9.7) และบริการซอฟต์แวร์ประมาณ 37,862 ล้านบาท (เติบโตร้อยละ 8.2) ส่วนการผลิตซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวนั้น คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 12.3

    มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ รวมทั้งซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวของไทยจะเติบโตต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงบ้างในปีนี้ และจะสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอนาคต หากสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในทุกด้าน ซึ่งจะเชื่อโยงไปถึงเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เข้ามา รองรับในอุตสาหกรรมของสินค้าและบริการทุกประเภท สื่อดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกขณะ ผู้บริโภคก็นิยมใช้สื่อดิจิตอลด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการก็ต้องปรับกลยุทธ์ในการบริหารให้สอดคล้องไปด้วย

สื่อดิจิตอล นิยมสูง

            ในเรื่องนี้ ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) ที่ระบุว่า เมื่อสื่อดิจิตอลเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่มากขึ้น จะเห็นได้จากกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งถึงเวลาเข้านอน ผู้บริโภคพึ่งพาสื่อดังกล่าวจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทั้งเรื่องการสื่อสารและตอบสนองพฤติกรรมการบริโภค ทำให้สินค้าและบริการต่างๆ หันมาใช้สื่อดิจิตอลในการสร้างแบรนด์และสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค เพราะเป็นสื่อที่ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน และมีศักยภาพในการกระตุ้นให้เกิดความสนใจช่วยให้เกิดการตัดสินใจซื้อ สิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคตคือกลยุทธ์ Digital Marketing มีแนวโน้มการแข่งขันค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีจะหันมาใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น

            ดังนั้น ธุรกิจที่ต้องการใช้ประโยชน์จากสื่อดังกล่าวต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบการให้บริการและเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นสิ่งสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนเมือง หรือแม้กระทั่งคนในต่างจังหวัดไปแล้ว การใช้กลยุทธ์ Digital Marketing จึงต้องเลือกใช้สื่อที่เหมาะกับการสร้างแบรนด์รวมทั้งการขายสินค้าและบริการต่างๆ

ช่องทางตลาดโดนใจ

  "ปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ โดยเฉพาะไลน์พบว่าคนไทยใช้กว่า

   30 ล้านคน หากแบรนด์ใดสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นโดนใจกลุ่มเป้าหมาย จะมีโอกาสเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของลูกค้า นอกจากนี้ Social Media ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่มีส่วนช่วยสนับสนุนเกิดการสร้างมูลค่าให้สินค้าและบริการ" ดร.กฤษติกา กล่าว

   โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลต่างๆ สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ความสะดวก รวดเร็วของสื่อดิจิตอลทำให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้าได้รวดเร็ว นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างฐานลูกค้าใหม่ แม้ว่ากลุ่มคนที่ติดตามกิจกรรมของแบรนด์ผ่านสื่อดิจิตอลยังไม่ซื้อหรือเป็นลูกค้า แต่ในอนาคตคนกลุ่มนี้คือเป้าหมายสำคัญการสร้างยอดขาย

   ดร.กฤษติกา ยังกล่าวต่อว่า นักการตลาดจะต้องสร้างความบันเทิงและกิจกรรมที่น่าติดตามอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแจกของรางวัล กิจกรรมชิงโชค รวมทั้งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ที่สำคัญควรมีโปรโมชั่นพิเศษเป็นตัวดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามาพูดคุยกับแบรนด์ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อมีการสื่อสารในลักษณะต่างๆ เกิดขึ้นระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค นักการตลาดสามารถเก็บข้อมูล ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น รู้ว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือต้องการซื้อสินค้าและบริการแบบไหน ฯลฯ

สติ๊กเกอร์ดูดลูกค้า

   อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแบรนด์ต่างๆ ได้ใช้กลยุทธ์การตลาดในรูปแบบสติ๊กเกอร์ดึงดูดลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ และผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นทำสติกเกอร์เพื่อบุกตลาดจะต้องเน้นเรื่องการดีไซน์ให้สวยงาม สะดุดตา มีความหมายโดนใจนำมาใช้แสดงอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ การเปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาดาวน์โหลดได้ฟรีทำให้เกิดการติดตามเกิดการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับลูกค้า ผู้ประกอบการที่ใช้กลยุทธ์ Digital Marketing ต้องทราบว่าสื่อ Social Media เป็นดาบ 2 คม เมื่อใช้ประโยชน์จากสื่อในเชิงบวกได้ ในขณะเดียวกันอาจมีผลสะท้อนกลับในเชิงลบได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นสื่อที่ผู้คนจำนวนมากเข้าถึงได้อย่างเสรี หากมีการร้องเรียนจะทำให้กลุ่มคนจำนวนมากคิดว่าแบรนด์มีจุดอ่อน

   โดยเฉพาะ Facebook ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าเป็นช่องทางที่ลูกค้าใช้ร้องเรียนสูงถึง 90% ดังนั้น ทุกขั้นตอนการผลิตจะต้องเน้นเรื่องคุณภาพ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการร้องเรียนหากเกิดปัญหากับลูกค้า ผู้ประกอบการจะต้องแก้ไขและตอบคำถามให้ลูกค้าเข้าใจภายในเวลารวดเร็ว เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ และผู้บริโภคคนอื่นๆ เห็นถึงความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้า นับเป็นส่วนหนึ่งของการบริการหลังการขาย ต้องไม่

  ลืมว่าหากทำให้ลูกค้าคนเดียวไม่พอใจจะทำให้ลูกค้าจำนวนมากรับรู้ในเรื่องนั้นๆ ด้วย

   นอกจากนี้การใช้กลยุทธ์ Digital Marketing เป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะใช้สื่อทำกิจกรรมใดต้องสอดคล้องกับช่องทางเดิมๆ ที่ลูกค้าเคยทำ แล้วสื่อสารให้ทราบว่าช่องทางใหม่นั้นสะดวกสบายกว่าเดิม เช่น ก่อนหน้านี้ประชาชนต้องเดินทางไปฝากและถอนเงินที่ธนาคาร การพัฒนานวัตกรรมความสะดวกสบายต่างๆ ของธนาคารจึงต้องเน้นเรื่องความสะดวกสบายในการฝากถอนและโอนเงินโดยไม่ต้องไปถึงธนาคาร

ต้องมี "แอพพลิเคชั่น" ตัวช่วย

  ดังนั้น "แอพพลิเคชั่น" มีความจำเป็นกับการตลาดยุคดิจิตอล ต้องตอบสนองพฤติกรรมการทำธุรกรรมของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการซื้อ-ขายสินค้าและบริการ หรือแม้แต่ธุรกิจกรรมการเงิน ควรสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ถึงความปลอดภัย มิเช่นนั้นจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือและไม่ไว้วางใจที่จะใช้บริการ ไม่เฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินเท่านั้น แต่ธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องการขายสินค้าหรือการสร้างแบรนด์ผ่าน Social Media รวมทั้งการเพิ่มความสะดวกสบายบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน จะต้องให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเข้าถึงความง่าย สะดวกสบาย ทันสมัย และปลอดภัย

  นอกจากนี้ ผู้ประกอบการและนักการตลาดควรมีความพร้อม เรื่องการพัฒนาระบบและเทคโนโลยี บุคลากรที่มีศักยภาพในการทำงานให้ทันต่อความต้องการของลูกค้ายุคดิจิตอลทุกอย่างมีความรวดเร็ว ลูกค้าจาก Social Media มีหลากหลายกลุ่ม จึงมีโอกาสเกิดปัญหาได้ง่ายกว่าการทำงานกับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แบรนด์ใดสามารถครองใจลูกค้าได้อย่างยาวนาน ผ่านกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง คนเหล่านี้จะเป็นสาวกของแบรนด์ในระยะยาว แต่สิ่งหนึ่งที่นักการตลาดต้องเข้าใจตรงกัน ลูกค้ามักจะเบื่อในสิ่งที่จำเจ ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น และมีโอกาสรับรู้สิ่งใหม่ๆ จากคู่แข่ง

  การเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าจะตอบโจทย์การทำงานสื่อ Social Media ทำให้นักการตลาดเรียนรู้ผู้บริโภคได้ไม่ยาก โดยเฉพาะเรียนรู้ว่าลูกค้าชอบอะไร ซึ่งมีความสำคัญกับกลยุทธ์ Digital Marketing เชื่อว่าในเร็วๆ นี้ แบรนด์ส่วนใหญ่ทั้งของคนไทยและเพื่อนบ้าน จะหันมาใช้กลยุทธ์ Digital Marketing อย่างแพร่หลายมากขึ้น ผู้ประกอบการและนักการตลาดจะต้องใช้กลยุทธ์ในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ศึกษาการใช้สื่อโฆษณาดิจิตอล พิจารณาถึงผลลัพธ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง การกดไลค์ของลูกค้าอาจไม่ได้สร้างยอดขาย

   ดังนั้น เมื่อมีการกดไลค์จะเปลี่ยนจากสถิติดังกล่าวมาเป็นยอดขายได้อย่างไร ต้องมีการประเมินประสิทธิภาพของสื่อแต่ละประเภท เช่น หากเฟซบุ๊คและไลน์ไม่สร้างยอดขาย แต่การส่ง SMS มียอดสั่งซื้อเข้ามามากกว่า ผู้ประกอบการต้องประเมินผล เลือกสื่อที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า สื่อ Social Media มีอิทธิพลแตกต่างกัน บางสื่อมีบทบาททำให้ลูกค้ารู้จัก ทำให้ทราบว่าลูกค้าต้องการอะไร บางสื่อสร้างกระแสให้กับตลาด บางสื่อสร้างยอดขาย ผู้ประกอบการควรทำการตลาดให้ชัดเจนว่าต้องการอะไรจากสื่อดังกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!