- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Wednesday, 18 January 2023 17:43
- Hits: 1874
สมาคม-ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการ ขอบคุณรัฐบาล เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานตรงจุด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนั้น ซึ่งในเรื่องนี้ ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้ความสำคัญและสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศรองรับนักท่องเที่ยวภายหลังโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้ให้หน่วยงานในสังกัดทุกจังหวัดลงพื้นที่สอบถามความต้องการแรงงานจากผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวและบริการ
ขณะเดียวกัน ผมได้มอบหมายให้ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน หารือร่วมกับสมาคม ชมรม ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและบริการจากหลายแห่ง เพื่อหารือรับทราบความต้องการแรงงานรวมทั้งบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการท่องเที่ยวบริการร่วมกัน
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่กระทรวงแรงงานได้ให้สำนักงานแรงงานทุกจังหวัดลงพื้นที่สอบถามความต้องการแรงงานจากผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวและบริการ ขณะนี้มีรายงานจากสำนักงานแรงงานจังหวัด 60 จังหวัด ผลปรากฏว่า มีสถานประกอบกิจการประเภทโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร ร้านค้า จำนวน 32,359 แห่ง ลูกจ้าง 297,824 คน สถานประกอบกิจการที่มีความต้องการแรงงาน จำนวน 1,817 แห่ง ลูกจ้าง 9,763 คน
สถานประกอบกิจการต้องการแรงงานคิดเป็นร้อยละ 5.61 และมีความต้องการแรงงานร้อยละ 3.28 ส่วนจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
1) ภูเก็ต จำนวน 3,648 คน
2) เชียงใหม่ จำนวน 858 คน
3) ชลบุรี จำนวน 594 คน
4) พังงา จำนวน 410 คน
5) สุราษฎร์ธานี จำนวน 349 คน
รวมจำนวนทั้งสิ้น 5,859 คน
ส่วนตำแหน่งงานที่สถานประกอบกิจการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1) พนักงานต้อนรับ (รีเซฟชัน ยกกระเป๋า ฯลฯ)
2) พนักงานเสิร์ฟ
3) พนักงานทำความสะอาด แม่บ้าน
4) เชฟ ผู้ช่วยเชฟ พ่อครัว แม่ครัว ผู้ช่วยงานในครัว
5) พนักงานเก็บเงิน พนักงานบัญชี
นายบุญชอบ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานนั้น ในส่วนของกรมการจัดหางาน ในระยะเร่งด่วนจะสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษา ได้ทำงานแบบพาร์ทไทม์ เพื่อให้มีทักษะ มีรายได้ระหว่างเรียน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม พร้อมกับช่วยให้สถานประกอบการมีแรงงานเพียงพอสามารถขับเคลื่อนกิจการต่อไปได้ และเมื่อได้ข้อมูลความต้องการที่แท้จริงจากผู้ประกอบการแล้วจะจัดการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบจากจังหวัดที่มีกำลังแรงงานไปสู่จังหวัดที่ขาดแคลน
เร่งประสานสถานศึกษาเอกชนปรับเวลาส่งนักเรียน นักศึกษา สาขาการท่องเที่ยวและโรงแรมเข้าฝึกอบรมในระบบทวิภาคี ในโรงแรมที่มีความต้องการแรงงานในช่วงไฮซีซัน ซึ่งปกติจะฝึกในช่วงโลซีซัน และเจรจาเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการแก่นักเรียน นักศึกษา ที่เหมาะสม เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวบริการเข้าฝึกงานในสถานที่จริง แบบ On The Job Training และในระยะยาวจะให้จัดหางานทุกจังหวัดนำโครงการ 3 ม. (มีงาน มีเงิน มีวุฒิการศึกษาเพิ่ม) มาประชาสัมพันธ์ให้นักเรียนระดับ ม.6 ปวช. ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับทราบและเข้าร่วม
โดยโครงการนี้ เป็นโครงการที่ได้บูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และความมั่นคงในชีวิตได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาที่ต้องการ เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น โดยได้รับบริการส่งเสริมสนับสนุนให้ทำงานในสถานประกอบการ ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมาย
ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะดำเนินการฝึกอบรม up skill ให้นักศึกษาชั้นปีสุดท้ายด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม ด้านภาษา และหลักสูตรตามที่ขาดแคลน รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับสถานประกอบกิจการ โดยใช้สิทธิประโยชน์จาก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 โดยให้สถานประกอบการรับสมัครคนทำงานแล้วส่งให้กรมฝึกอบรมต่อไป
ด้าน คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ในนามสมาคมฯ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ขอขอบคุณรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญและช่วยเร่งผลักดันให้การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในวันนี้ได้อย่างตรงจุด ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้บูรณาการทำงานด้วยกันมาโดยตลอด จากการหารือในวันนี้ทำให้เกิดความร่วมมือหลายๆ ด้าน
โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะต่างๆ ของแรงงานธุรกิจโรงแรมและภาคบริการ ซึ่งหลายอาชีพในภาคธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะทั้งในเรื่องภาษา ดิจิทัลเทคโนโลยี การตลาด การบริหารรายได้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่การหารือในครั้งนี้จะนำไปสู่การทำงานร่วมกัน ซึ่งแต่ละสมาคมก็ยินดีที่จะผนึกกำลังโดยใช้กลไกของรัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้บรรลุผลสำเร็จด้วยดี