- Details
- Category: แรงงาน
- Published: Sunday, 02 April 2023 17:57
- Hits: 2034
แรงงาน-ศึกษาฯ เชื่อมบิ๊กดาต้าข้ามกระทรวง หนุนนักเรียน นักศึกษา มีงานทำ รองรับความต้องการของตลาด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการแถลงผลงานการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงแรงงาน ในงาน ‘ศึกษาธิการ – แรงงาน ร่วมใจ สู่ไทยมีงานทำ’
โดยมี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแถลงด้วย นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวต้อนรับ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารสถานศึกษา สถานประกอบการ นักเรียน นักศึกษาหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดปทุมธานี ร่วมให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ตำบลบางพูด อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายสำคัญในส่งเสริมการมีงานทำและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ
เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการในการส่งเสริมการมีงานทำพัฒนาศักยภาพนักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สถานประกอบการมีความต้องการแรงงานเพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือในระดับทวิภาคีระหว่างกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และสถานประกอบกิจการในครั้งนี้ จึงเป็นการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้กับภาคธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างตรงจุด
ในวันนี้ จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ทั้งสองกระทรวงได้มาร่วมแถลงผลการดำเนินงานจากความร่วมมือในการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านระบบ Big Data ที่มีข้อมูล นักเรียน นักศึกษา ตำแหน่งงานว่าง ความต้องการแรงงานของสถานประกอบการ การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้ทั้งสองกระทรวงสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนนำไปวิเคราะห์ความต้องการแรงงานในอนาคต
ปัจจุบันได้นำร่องไปแล้วในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร สามารถเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียน นักศึกษา แล้วจำนวน 658,455 คน ในส่วนของกรมการจัดหางาน ได้ใช้ฐานข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้บริการจัดหางานผ่านแพลตฟอร์ม “THAI มีงานทำ” เป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน และเพิ่มช่องทางให้นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการทำงานช่วง (Part Time) หรือจบการศึกษาแล้ว ได้ลงทะเบียนเพื่อจับคู่ตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของตนเอง
ขณะที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อเชื่อมโยงมาตรฐานฝีมือแรงงานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ up skill นักเรียน นักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานใน 12 กลุ่มเทคโนโลยี กว่า 2,500 หลักสูตร เกิดประโยชน์กับนักเรียน นักศึกษากว่า 593,329 คน จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสถานศึกษาครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 264 แห่ง
มีนักเรียน นักศึกษาเข้ารับการทดสอบมากกว่า 250,000 คน ยกเว้นค่าธรรมเนียมการขอรับรองเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ จำนวน 12,000 บาท ให้กับสถานศึกษาภาครัฐในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ส่งเสริมและพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เชื่อมโยงการแข่งขันทักษะกับการแข่งขัน World Skills เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา มีสมรรถนะสูงตามมาตรฐานสากล
“ผลจากการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลร่วมกันของทั้งสองกระทรวงในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการพลิกโฉมการบูรณาการทรัพยากรไปสู่การพัฒนาศักยภาพ นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีสมรรถนะสูง เพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป” รมว.แรงงาน กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาหลักสูตร บุคลากรและครูผู้สอน ที่เหมาะสมในแต่ละบริบทของพื้นที่ ส่งเสริมการจัดอาชีวศึกษาด้านระบบทวิภาคและขยายผลไปยังสถานประกอบการ จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน
และศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถในสถานศึกษาให้ครบทุกจังหวัด รวมทั้งสนับสนุนในการวางแผนการผลิตกำลังคนที่ต้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในภาคเอกชน ผ่านระบบฐานข้อมูล Big Data เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษามีงานทำ มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป