WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8577 ข่าวสดรายวัน

ประยุทธ์ปฏิวัติ ตั้งคสช.รวบ 25 แกนนำ งดใช้รธน.-สว.กับองค์กรอิสระอยู่ครบ นิวัฒน์ธำรงนำครม.รายงานตัว'ร.1 รอ.' ประกาศเคอร์ฟิวทั่วปท.-ปิดเรียน 3 วัน

ตู่-เทือก - นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำคณะแกนนำ นปช.และ กปปส. เข้าร่วมหารือแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกับฝ่ายต่างๆ ที่สโมสร ทบ. ต่อมาได้ถูกทหารควบคุมตัวไว้ทั้งหมด เมื่อ 22 พ.ค.

       'นิวัฒน์ธำรง'นำครม.ที่คสช.เรียกรายงานตัวพบคณะปฏิวัติวันนี้ เผยนาที'ประยุทธ์'ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังเวทีเจรจา 7 ฝ่ายวันที่สองเถียงกันเครียด ผบ.ทบ.ส่งรถทหารปิดประตูทางเข้า-ออกสโมสรทบ. จากนั้นก็แยกแกนนำเสื้อแดง-กปปส.ออกไปคุยส่วนตัว พร้อมสอบถาม'ชัยเกษม'ว่าจะลาออกหรือไม่ เมื่อรมว.ยุติธรรมยืนยัน 'นาทีนี้ไม่ลาออก'ทำให้'บิ๊กตู่'จึงประกาศทันทีว่า 'ถ้าอย่างนั้นผมยึดอำนาจการปกครอง'ก่อนจะควบคุมแกนนำเสื้อแดงจับปิดตาขึ้นรถตู้ออกไป ขณะที่แกนนำกปปส.ขึ้นรถอีกคันควบคุมตัวออกไปเช่นกัน ออกประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ให้วุฒิสภา-องค์กรอิสระยังอยู่ ตั้ง'บิ๊กโด่ง'เป็นเลขาธิการคสช.


นิวัฒน์ฯ มอบชัยเกษมถกกอ.รส.
      เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 พ.ค.นาย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ทำงานหลักและใช้เรียกประชุมบริหารราชการแผ่นดินเป็นวันที่สอง หลังย้ายสถานที่ทำงานจากสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมีการรักษาความปลอดภัย จากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอาคารตามปกติ 
      เวลา 13.50 น.นายนิวัฒน์ธำรงให้สัมภาษณ์ถึงแคนดิเดตรายชื่อนายกฯ คนกลางที่มีการเผยแพร่ทางสื่อ โดยนายนิวัฒน์ธำรงหัวเราะพร้อมกล่าวว่า ยังตอบอะไรไม่ได้
     เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่มีชื่อพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะ ผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ผอ.รส.) เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนกลางด้วย นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า "ผมว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิเป็นนายกฯ ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ต้องมาจากการเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ การที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ควรรับตำแหน่ง เพียงแต่แสดงความเห็นว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิเป็น นายกฯ ได้ตามครรลองของกฎหมาย"
      รายงานข่าวจากคนใกล้ชิดนายนิวัฒน์ธำรงเปิดเผยว่า นายนิวัฒน์ธำรงยังคงมอบให้นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นตัวแทนรัฐบาล นำทีมรัฐมนตรีเข้าหารือกับ ผอ.รส. โดยมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีจากเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมาเนื่องจากติดภารกิจ และเพิ่มเติมให้ครบ 5 คน ประกอบด้วย นายชัยเกษม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม นายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ปฏิบัติหน้าที่ รมช.ศึกษาธิการ และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ปฏิบัติหน้าที่รมช.คลัง

ตัวแทน 7 ฝ่ายร่วมถกวันที่สอง
      ที่กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ภายในสโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี รังสิต ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในช่วงเช้าเป็นไปอย่างคึกคัก มีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศมาติดตามความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการประชุมหารือระหว่างพล.อ. ประยุทธ์ ผบ.เหล่าทัพ และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะที่ปรึกษากอ.รส. ร่วมกับผู้แทนของรัฐบาล วุฒิสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ กปปส. และนปช. ในเวลา 14.00 น. ที่สโมสรทหารบก หลังจากให้การบ้าน 5 ข้อแก่ทุกฝ่ายกลับไปพิจารณา 
      ในช่วงเช้าพล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) และกอ.รส. ภายใน ร.1 รอ. เพื่อติดตามสถานการณ์และรับทราบรายงานการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการตรวจจับอาวุธสงครามต่างๆ ในขณะนี้
     เมื่อเวลา 14.00 น. ตัวแทนจาก 7 ฝ่ายทยอยเดินทางมายังอาคารสโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อหารือร่วมกันเป็นวันที่ 2 ซึ่งกอ.รส. นำโดยพล.อ. ประยุทธ์ พร้อมด้วยที่ปรึกษา กอ.รส. ประกอบด้วย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และพล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. ในฐานะตัวแทนผบ.สส.

พท.ใช้คนเดิม-ปชป.เปลี่ยนตัว
     ขณะที่ตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.ยุติธรรม นายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม นายเสริมศักดิ์ พงษ์ พานิช ปฏิบัติหน้าที่ รมช.ศึกษาธิการ และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ปฏิบัติหน้าที่ รมช.คลัง
      ตัวแทนวุฒิสภา ประกอบด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา และนายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ตัวแทนกกต. ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายประวิช รัตนเพียร นายบุญส่ง น้อยโสภณ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. และนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาฯ กกต.
      ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วยพล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นาย ชูศักดิ์ ศิรินิล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ นายศิริโชค โสภา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ 

เทือก นำทีมกปปส.-ตู่ใช้ทีมเดิม
    ตัวแทน กปปส. ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข และตัวแทน นปช. ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา โตจิราการ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง 
    ทั้งนี้ ฝ่ายรัฐบาลได้เปลี่ยนตัวบุคคล โดยนายชัชชาติกับนายทนุศักดิ์เข้าประชุมแทนนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ปฏิบัติหน้าที่ รมว.พลังงาน ซึ่งติดภารกิจ ส่วนพรรคประชา ธิปัตย์มีนายศิริโชคเข้ามาแทนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขณะที่ฝ่าย กกต.เพิ่มนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. เข้าหารือเพิ่ม ทั้งนี้ กอ.รส.ยังไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าพื้นที่ภายในอาคารสโมสรทหารบกซึ่งใช้เป็นสถานที่หารือ โดยให้สังเกตการณ์อยู่ภายนอกอาคาร

ห้ามผู้เข้าร่วมประชุมนำมือถือเข้า
      เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทน 7 กลุ่มเข้าหารือรอบที่ 2 ในเวลา 14.00 น.นั้น ทุกฝ่ายทยอยเดินทางมาถึงสโมสรทหารบก ก่อนถึงเวลานัดหารือนั้น ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้เชิญทุกคนเข้าสู่ห้องรับรองเพื่อพักผ่อนอิริยาบถก่อนเชิญเข้าห้องประชุมใหญ่พร้อมกัน 
      รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศภายในห้องรับรองนั้นเป็นไปด้วยดี ทุกคนทักทายอย่างเป็นกันเอง อาทิ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ปฏิบัติหน้าที่ รมช.ศึกษาธิการ เดินเข้าไปยกมือไหว้สวัสดีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เดินทักทายกับหลายๆ คน ก่อนเข้ามาหยุดยืนคุยกับนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. อยู่นาน 10 นาที ก่อนจะถูกเชิญให้เข้าห้องประชุมใหญ่พร้อมกัน โดยเจ้าหน้าที่ขอร้องทุกคนห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้อง คาดว่าสาเหตุมาจากไม่ต้องการให้เผยแพร่ภาพทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเหมือนวันแรก ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนถ่ายภาพตัวเองขณะอยู่ในห้องประชุมไปลงเฟซบุ๊กส่วนตัว
     สำหรับ การจัดโต๊ะนั่งในห้องประชุมนั้นเป็นโต๊ะยาวสี่เหลี่ยมผืนผ้า และให้นั่งกันคนละด้าน ได้แก่ เพื่อไทยกับ นปช., กปปส.กับประชาธิปัตย์, รัฐบาลกับวุฒิสภา, ผบ.ทบ.กับ ผบ.เหล่าทัพและผบ.ตร. นั่งด้านที่เป็นหัวโต๊ะ ฐานะประธานที่ประชุม

ถกเถียงกันตึงเครียด-บิ๊กตู่สั่งพัก
       เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนการประชุมตอนหนึ่งว่า สิ่งหนึ่งที่ตนเป็นห่วง คือเราไม่สามารถปล่อยให้มีปัญหากันต่อไป หรือมีความขัดแย้งต่อไปโดยไม่มีทางออกได้ ซึ่งต้องเริ่มที่ตัวของตนเองก่อน พร้อมทำทุกอย่างให้เกิดความสันติสุขโดยเร็ว การประกาศกฎอัยการศึกนั้นตนคิดว่าหลายคนมีข้อขัดแย้ง แต่ตนทำอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความสงบสุข และไม่ต้องมากังวลแทนตนเพราะไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไรตนรับผิดชอบทุกประการเพราะตนเกิดในแผ่นดินนี้ เป็นหนี้แผ่นดินนี้ จำเป็นต้องมีส่วนร่วมตรงนี้และใช้อำนาจความมั่นคงเป็นหลัก แต่มีความเกี่ยวพันกันในหลายมิติ หากก้าวล่วงไปบ้างหรือใช้อำนาจอะไรไปบ้างต้องขออภัย ตนให้เกียรติทุก คนเสมอ

เข้าคุมตัว - ภาพเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ทหารกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่สโมสรทหารบก ก่อนนำกำลังเข้าควบคุมตัวแกนนำ 2 ม็อบ ตัวแทนรัฐบาลและพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ก่อนประกาศยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.

      รายงานข่าวจากห้องประชุมสโมสรทหารบกเผยว่า ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ระหว่างการหารือในห้องประชุมบรรยากาศเริ่มตึงเครียด มีการถกเถียงเนื่องจากเห็นแตกต่างกันมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเวลา 16.00 น. พล.อ.ประยุทธ์จึงสั่งพักการประชุม ให้แต่ละกลุ่มแยกตัวออกไปพูดคุยกันเอง 

ล็อกตัวแกนรบ.-เสื้อแดง-นกหวีด
      จากนั้น เวลา 16.35. น. พล.อ.ประยุทธ์ออกจากห้องประชุมและขึ้นรถขบวนออกจากสโมสร ตามด้วยขบวนของ ผบ.เหล่าทัพและผบ.ตร. เดินทางออกจากสโมสรไปยัง ร.1 รอ. ทันที คล้อยหลัง 10 นาทีสั่งการให้ทหารประมาณ 200 นาย นำรถยูนิม็อกเข้าขวางถนนเข้าออกสโมสรในทันที สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 200 คนที่เฝ้ารอทำข่าวการประชุมอยู่ และบรรยากาศเริ่มวุ่นวายมากขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธครบมือเดินเรียงแถวเข้าประจำจุดบริเวณหน้าสโมสร กันไม่ให้รถหรือบุคคลใดเดินผ่าน กันผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศให้อยู่ในเฉพาะที่ที่กำหนดและห้ามถ่ายภาพเด็ดขาด บอกเพียงว่าให้ฟังการแถลงข่าวของผบ.ทบ. ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ 
      รายงานข่าวแจ้งว่า บรรยากาศในอาคารสโมสรหลัง ผบ.เหล่าทัพเดินทางออกไปแล้ว เจ้าหน้าที่ทหารแยกตัวแทนองค์กรต่างๆ โดยให้ กกต.กับส.ว. ลงมานั่งรวมที่ห้องประชุมด้านล่างของสโมสร เพื่อรอการปล่อยตัว ส่วนแกนนำฝ่ายรัฐบาล ยังถูกกักตัวอยู่ภายในห้องประชุมด้านในของสโมสรที่ชั้น 2 ส่วนนาย สุเทพ แกนนำกปปส. รวมถึงนายเอกนัฏและลูกสาวของนายสุเทพ และแกนนำนปช.ถูกนำตัวขึ้นรถตู้ออกไป รายงานข่าวแจ้งว่าเจ้าหน้าที่นำตัวไปอยู่ในเซฟเฮาส์ภายในกองบัญชาการสำรอง กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ หรือ ร.1 รอ. 

แถลงยึดอำนาจ-มีผล 16.30 น.
       เมื่อเวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พร้อมด้วยพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และพล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. ในฐานะตัวแทนผบ.สส. แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยพล.อ.ประยุทธ์อ่านประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 1 ใจความว่า ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม
     เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย 
    คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจ ในการปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป

ให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามปกติ
     ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนอยู่ในความสงบ ดำเนินวิถีชีวิตและประกอบอาชีพต่อไปตามปกติ และให้ข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการดังที่เคยปฏิบัติ
    สำหรับ ข้าราชการทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ส่วนราชการต่างๆ ที่มีอาวุธ เพื่อใช้ในราชการของหน่วย ห้ามเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธโดยเด็ดขาด เว้นแต่ได้รับคำสั่งจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่เพียงผู้เดียว
    สำหรับ คณะทูตานุทูต สถานกงสุล องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งชาวต่างประเทศที่พำนักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะได้ให้ความคุ้มครอง และขอยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ยังเป็นไปตามปกติตามที่รัฐบาลชุดเดิมได้ดำเนินการไว้ 
     คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้องเทิดทูนดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง

เผยเบื้องหลังก่อนบิ๊กตู่ยึดอำนาจ
     แหล่งข่าวจากที่ประชุม 7 ฝ่าย กล่าวถึงบรรยากาศก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ประกาศยึดอำนาจว่า ผู้เข้าร่วมประชุมชุดเดิมที่เดินทางไปต่างรู้สึกได้ถึงความแตกต่างของบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยที่กองทัพจัดกำลังทหารเข้ามาดูแลภายในตัวอาคารสโมสรกองทัพบกจำนวนมาก โดยแต่ละคนพกอาวุธประจำกาย ขณะเดียวกันเสนาธิการทหารได้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง นอกจากนี้ ก่อนการหารือยังได้ขอเก็บเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดของผู้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากการหารือเมื่อวันที่ 21 พ.ค. มีภาพภายในห้องประชุมออกไปเผยแพร่ ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากให้มีภาพในลักษณะดังกล่าวหลุดออกไปอีก และกันผู้ติดตามให้ไปรอผู้ร่วมประชุมอีกชั้นหนึ่ง 
      เมื่อการประชุมเริ่มขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ได้เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายเสนอแนวทางตามที่ให้การบ้านไปก่อนหน้านี้ โดยแต่ละฝ่ายยังคงนำเสนอแนวทางในมุมของตัวเอง ซึ่งเห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศแล้ว เมื่อแต่ละฝ่ายไม่มีจุดร่วมที่ตรงกัน พล.อ.ประยุทธ์ได้ขอพักการประชุมและเชิญแกนนำฝ่าย นปช. และกปปส. ไปหารือร่วมกันอีกห้องหนึ่งประมาณ 45 นาที 
      เมื่อกลับมาที่วงหารือแล้วยังได้เชิญเฉพาะนายจตุพรและนายสุเทพไปพูดคุยกันส่วนตัวประมาณ 1 นาที ก่อนกลับมาที่วงหารือ

บีบรบ.ไม่ออก-ประกาศยึดอำนาจ
      จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์สอบถามนายชัยเกษมในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลว่าตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออกทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษมระบุว่า 'นาทีนี้ไม่ลาออก'พล.อ.ประยุทธ์จึงบอกว่า'ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง'จากนั้นได้เชิญตัวแทนส.ว.และกกต.ออกจากที่ประชุม โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ แต่ขอให้อยู่ในพื้นที่สโมสรทหารบก เพื่อรอเคลียร์บุคคลไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่ก่อน ส่วนตัวแทนจากฝ่ายอื่นๆ ถูกควบคุมตัวไปยังสถานที่หนึ่ง
      เวลา 17.30 น. นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวกับผู้สื่อข่าวผ่านทางโทรศัพท์ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถออกจากพื้นที่สโมสรได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารกำลังเคลียร์คนออกจากพื้นที่ แต่ไม่ได้ควบคุมตัว กกต. หรือส.ว. และเท่าที่เห็นบรรยากาศยังไม่มีเหตุรุนแรง ส่วนกกต.จะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้นต้องรอดูประกาศคำสั่งของ คสช.ก่อน หากมีการฉีกรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อน

เผยนาทีทหารบุกยึด-ปิดล้อม
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการประชุมระหว่าง 7 ฝ่ายกับกอ.รส.ผ่านไปเพียง 2 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์สั่งให้หยุดพักการประชุมทันที เนื่องจากการพูดคุยกันในที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างกว้าง เนื่องจากแต่ละฝ่ายไม่ยอมความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้นั่งรถประจำตำแหน่งออกจากสโมสรทหารบกไปยัง ร.1 รอ. จากนั้นมีรถประจำตำแหน่งของ ผบ.เหล่าทัพตามขบวนกันออกไป 
      กระทั่งเวลา 16.40 น. ผู้สื่อข่าวที่ยืนรอทำข่าวการหารือตัวแทนกลุ่ม 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกประเทศ ต้องตกตะลึง เมื่อทหารนำรถจีเอ็มซี 3 คันมาปิดที่ถนนเข้าออกสโมสรทหารบก และอีก 2 คันปิดที่ทางแยกไปยังอาคารกำลังเอก ที่ใช้ทำงานของสื่อมวลชน จากนั้นก็มีทหารพร้อมอาวุธครบมือมายืนกันผู้สื่อข่าวและช่างภาพให้ออกห่างจากจุดดังกล่าวและให้ไปรวมตัวอยู่ที่อาคารกำลังเอก และให้รอฟังแถลงการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ แต่ปรากฏผู้สื่อข่าวยังต้องการปฏิบัติหน้าที่บริเวณดังกล่าว ทำให้ทหารต้องเรียกกำลังมาเพิ่มเติมและให้อยู่ห่างจากถนน 

แห่กลับ - หลังคสช.ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-05.00 น. ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอสประกาศหยุดให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00 น. ทำให้มีประชาชนแห่กลับบ้าน แน่นสถานีศาลาแดง เมื่อค่ำวันที่ 22 พ.ค.

      จากนั้นเพียง 10 นาที กำลังทหารจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์และ ร.1 รอ.ได้นำกำลังทหารพร้อมรถบรรทุก เข้าปิดบริเวณทางเข้า-ออกสโมสรทหารบก โดยใช้รถบรรทุก 4 คันและรถฮัมวี่อีก 4 คัน จากนั้นกำลังทหารชุดนอกเครื่องแบบของกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ได้นำรถตู้จำนวน 4 คัน ขึ้นมาด้านหน้าล็อบบี้สโมสรทหารบก และเข้าล็อกตัวแกนนำแต่ละคนขึ้นรถโดยมีทหารของ ร.21 รอ. นั่งประกบแกนนำแต่ละคน ก่อนนำตัวแกนนำทั้งหมดที่มาหารือในวันนี้ไปควบคุมตัวภายในบ้านพักรับรอง ร.1 รอ. 
      ต่อมาเวลา 16.45 น. มีรถตู้สีขาว 5 คันปิดแผ่นป้ายทะเบียน ได้ทยอยออกมาจากลานจอดรถด้านใต้สโมสรทหารบก ผ่านด้านหน้าอาคารและผ่านหน้าผู้สื่อข่าวไป แต่ระหว่างที่ผ่านผู้สื่อข่าวขบวนรถตู้ต้องหยุดชะงักเนื่องจากรถติด ขณะที่ผู้สื่อข่าวและช่างภาพได้เข้าไปล้อมรถตู้บางคันเอาไว้ เพื่อดูว่าใครอยู่ภายใน ทำให้เห็นว่ารถตู้ทุกคันมีทหารนั่งอยู่ด้วย และพบว่ารถตู้คันแรกมีแกนนำ นปช.นั่งอยู่ภายในและสังเกตเห็นได้ว่ามีการนำผ้าสีดำมาปิดตา พร้อมมีทหารนั่งควบคุมตัวภายในรถด้วย คันถัดไปเป็นรถที่มีนายสุเทพ และนายเอกนัฏ นายสาทิตย์ แต่ไม่มีนำผ้าสีดำมาปิดตาแกนนำ กปปส. มีเพียงทหารพร้อมอาวุธครบมือนั่งควบคุมตัว

อ้างพบปืน 4 กระบอกในรถจตุพร
      ทั้งนี้ ระหว่างที่ขบวนรถตู้นายสุเทพหยุดชะงักนั้น ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นนายสุเทพนั่งอยู่ภายในรถอย่างชัดเจน จึงกรูกันเข้าไปตะโกนสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำให้ทหารรีบใช้ตัวบังนายสุเทพเอาไว้ เพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพได้ โดยนายสุเทพโบกมือกับผู้สื่อข่าวเท่านั้น ขณะเดียวกันบริเวณดังกล่าวมีทหารจากพล.ม.2 รอ.เข้ามาควบคุมพื้นที่และกักบริเวณผู้สื่อข่าวพร้อมอาวุธครบมือ และใช้มาตรการควบคุมสูงสุด 
      สำหรับ ผู้เข้าร่วมการหารือจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล วุฒิสภา และ กกต.นั้น ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าถูกควบคุมตัวออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ ก่อนมีการจับกุมแกนนำ ทางเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในสโมสรทหารบก พบรถป้ายแดงฟอร์จูนเนอร์ หมายเลขทะเบียน น 2536 ซึ่งเป็นรถของนายจตุพร ภายในรถพบอาวุธปืนขนาด 9 ม.ม. จำนวน 3 กระบอก และอาวุธปืนขนาด .22 อีก 1 กระบอก พร้อมวิทยุสื่อสารอีก 1 เครื่อง มีดพกสั้น 1 เล่ม และเป้ต้องสงสัยอีก 4 ใบ ทั้งนี้ รถคันดังกล่าวได้ติดเครื่องทิ้งไว้ แต่ไม่มีคนอยู่ภายในรถ
    นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สังเกตพบว่ารถคันดังกล่าวเป็นรถเก่า แต่มาสวมทะเบียนป้ายแดง ทำให้เจ้าหน้าที่สงสัยและเข้าไปตรวจสอบ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวคนขับรถกระบะโตโยต้า สีดำ ป้ายแดง หมายเลขทะเบียน ก 2679 ซึ่งเป็นรถของผู้ติดตามนายณัฐวุฒิ และควบคุมคนขับรถของนายจตุพร เพื่อนำมา สอบสวน

รักษาการนายกฯชิ่ง-พท.ปิดพรรค
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหว ของนายนิวัฒน์ธำรง หลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเสร็จในเวลา 14.00 น. ได้กลับ ขึ้นไปที่ห้องทำงานที่กระทรวงพาณิชย์ 
       จากนั้น เวลา 16.00 น. นายนิวัฒน์ธำรงเดินทางออกจากกระทรวง เพื่อไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย ซึ่งรอตัวแทนรัฐบาลที่เข้า หารือกับพล.อ.ประยุทธ์ แต่เมื่อทราบข่าวปฏิวัติรัฐประหาร นายนิวัฒน์ธำรงพร้อมทีมรักษาความปลอดภัยได้ออกจากพรรคอย่างรวดเร็ว โดยไม่ทราบว่าไปเก็บตัวที่ใด ท่ามกลางกระแสข่าวการขอควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ทหาร คสช.
       ส่วนบรรยากาศกระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ เจ้าหน้าที่กระทรวงที่ยังไม่ได้เดินทางกลับบ้าน ต่างจับกลุ่มวิจารณ์ บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา 
      ที่พรรคเพื่อไทย ระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ และผู้นำเหล่าทัพในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจการปกครอง แกนนำและผู้บริหารพรรคที่รอประชุมคณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย ได้ทยอยเดินทางออกจากพรรคทันที ขณะที่กรรมการกิจการพรรคบางส่วนได้ยกเลิกภารกิจ บรรยากาศทั่วไปเจ้าหน้าที่พรรคได้รับคำสั่งให้เก็บเอกสารสำคัญ และดูแลความปลอดภัยที่ทำการพรรคเพื่อไทยอย่างเข้มงวด

คงอัยการศึก-ประกาศเคอร์ฟิว
      เวลา 18.20 น. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก อ่านแถลงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 2 เรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตามที่ ครส.ได้ยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 เวลา 16.30 น. เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและนำความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายโดยเร็ว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.57 เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป ทั้งนี้ จนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง
       ต่อมา พ.อ.วินธัยอ่านประกาศ คสช. ฉบับที่ 3/2557 เรื่องห้ามออกนอกเคหสถาน ว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้ยึดอำนาจการปกครองตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 เวลา 16.30 น. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 แห่งพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 จึงกำหนดมาตรการดังนี้
      1.ห้ามมิให้บุคคลใดทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหสถานภายในเวลา 22.00-05.00 น. ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
      2.ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยน แปลง

ฉีกรธน.ชั่วคราว-ปลดรมต.
      จากนั้น คสช.ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 เรื่องการถ่ายทอดออกอากาศสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และสถานีวิทยุชุมชน ให้งดถ่ายทอดรายการปกติของสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่องทั้งของรัฐและเอกชน ให้ถ่ายทอดสถานีโทรทัศน์กองทัพบก
      เมื่อเวลา 19.10 น. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก อ่านแถลงการณ์ คสช. ฉบับที่ 5 เรื่องการสิ้นสุดลงชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ระบุว่า ตามที่ คสช.ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ตามฉบับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 เวลา 16.30 น. เพื่อให้การบริหารราชการภายในราชอาณาจักรเป็นไปโดยเรียบร้อย โดยปฏิบัติดังนี้ 1.ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว เว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ 2.ครม.รักษาการ สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ 3.วุฒิสภายังคงปฏิบัติหน้าที่ตามจำนวนวุฒิสภาที่มีอยู่ ณ วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 4.ศาลทั้งหลายยังมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมาย 5.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ตั้งคณะทำงานคสช.-บิ๊กโด่งเลขาฯ 
      เมื่อเวลา 19.10 น. พ.อ.วินธัย คสช. ฉบับที่ 6 เรื่องแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน คสช. เพื่อให้การบริหารประเทศและการแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึง แต่งตั้งให้คณะบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ใน คสช. ดังนี้ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. 2.พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมา ประกร ผบ.ทส. เป็นรองหัวหน้า คสช. 3.พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. เป็นรอง คสช. 4.พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. เป็นรอง คสช. 5.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เป็นรอง คสช. 6.พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รอง ผบ.ทบ. เป็นเลขาธิการ คสช. 

คสช.เรียกครม.ที่เหลือรายงานตัว
     เมื่อเวลา 19.25 น. พ.อ.วินธัย อ่านคำสั่ง คสช. ว่าให้บุคคลดังต่อไปนี้มารายงานตัว ณ กองบัญชาการรักษาความสงบ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ภายในวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประกอบด้วยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา, นายจาตุรนต์ ฉายแสง, นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี, นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ, นายยุคล ลิ้มแหลมทอง, นายเบญจา หลุยเจริญ, นายสมศักดิ์ ภูรีศรีศักย์, นางปวีณา หงษ์สกุล, พลเอกพฤณฑ์ สุวรรณทัต, นายพ้อง ชีวานันท์, นายยรรยง พวงราช, นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์, นายสนธยา คุณปลื้ม, นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์, นายสรวงศ์ เทียนทอง และ นายประเสริฐ บุญชัยสุข
      เวลา 19.45 น. พ.อ.วินธัยแถลงว่า ขณะนี้ศูนย์ประสานงานและชี้แจงข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ได้จัดรถโดยสารขนาดใหญ่ไปรับผู้ชุมนุมในพื้นที่ชุมนุมถนนอักษะ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และถนนราชดำเนิน มีเจ้าหน้าที่จากกองทัพภาคที่ 1 คอยอำนวยความสะดวกและประสานทหารในพื้นที่ให้รอรับผู้ชุมนุมที่ตำบลปลายทาง ขอให้ผู้ชุมนุมเตรียมตัวกลับภูมิลำเนา โดยที่ถนนอักษะจัดรถ จำนวน 30 คัน ถนนราชดำเนิน จำนวน 20 คัน และศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ จำนวน 20 คัน

'สุรชัย'อ้างบทเรียนนักการเมือง
       เมื่อเวลา 18.45 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวภายหลังคสช.ทำรัฐประหารว่า ขณะนี้ได้แจ้งให้ ส.ว.รับทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และยกเลิกการประชุม ส.ว.ในวันที่ 23 พ.ค.ไปก่อน เพื่อรอประเมินสถานการณ์ ทั้งนี้ น่าเสียดายที่วุฒิสภาพยายามทำงานทุ่มเทมาตลอด 2 สัปดาห์แต่ติดปัญหาตรงที่ไม่มีใครยอมใคร จนต้องมาลงเอยกันแบบนี้ แต่เชื่อ ว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้คนเหล่านั้นคงเปลี่ยนใจ
      "เรื่องนี้เป็นบทเรียน โดยเฉพาะนักการเมืองว่าการเอาชนะคะคานกันจะนำไปสู่จุดดับของประเทศ และจะวนเวียนอยู่เช่นนี้ จึงหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องต่อจากนี้จะตระหนักและนำไปเป็นบทเรียนต่อไป" นายสุรชัยกล่าว
      นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนตัวหวังว่าการดำเนินการครั้งนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปและแก้ปัญหาของประเทศในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจังและมาเริ่มต้นกันใหม่ ไม่ทำเหมือนกับที่ผ่านมา โดยเฉพาะการวางโครงสร้างองค์กรต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ เพราะทุกคนมีบทเรียนกันมาแล้ว และหวังว่าหลังจากนี้จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศร่วมกันเพื่อให้ทัดเทียมเพื่อนบ้านเพราะปีหน้าจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
       เมื่อเวลา 19.50 น. พ.อ.วินธัย อ่านประกาศ คสช. ฉบับที่ 7 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ระบุว่า เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 จึงห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่ชุมนุมทางเมืองในปัจจุบันให้เดินทางกลับภูมิลำเนาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นิวัฒน์ฯนัดพาครม.รายงานตัว

     รายงานข่าวเปิดเผยว่า นายนิวัฒน์ธำรงได้ประสานไปยังคณะ คสช.ว่าในเวลา 09.00 น.วันที่ 23 พ.ค.จะพาคณะรัฐมนตรีที่ คสช.ประกาศให้ไปรายงานตัวไปพบกับคณะรัฐประหาร โดยขอเลื่อนจากวันที่ 22 พ.ค. เนื่องจากต้องใช้เวลาประสานงานกับ ครม.ที่เหลือทั้งหมดก่อน 
  เมื่อเวลา 20.15 น. นายวอลเตอร์ เอ็ม. บราวโนห์เลอร์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวว่านายนิวัฒน์ธำรงจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในสถานทูตสหรัฐว่า ไม่เป็นความจริง เป็นแค่ข่าวลือเท่านั้น 
    วันเดียวกัน นายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ประกาศยึดอำนาจว่า นี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องแสดงจุดยืนและอุดมการณ์ว่าคิดเห็นอย่างไรต่อการรัฐประหารครั้งนี้ เพื่อให้สังคมหมดความเคลือบแคลงสงสัยว่าพรรคประชาธิปัตย์อิงแอบอยู่กับเผด็จการทหาร ถ้าเป็นตนสมัยที่ยังนำพรรคอยู่จะออกมาแถลงการณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยทันที เพราะนี่คืออุดมการณ์ของพรรคที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน

เปิดชื่อ 25 แกนนำที่โดนล็อก
       สำหรับรายชื่อแกนนำกลุ่มต่างๆ จำนวน 25 คนที่ถูก คสช. ควบคุมตัวเอาไว้ (รอการตรวจสอบโดยละเอียดต่อไป) มีดังนี้ ฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง
       พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์
      ตัวแทนนปช. ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายก่อแก้ว พิกุลทอง
      พรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ นายศิริโชค โสภา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์
      ตัวแทนกปปส. ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข

สั่งปิดร.ร.ทั่วประเทศรวม 3 วัน
      เมื่อเวลา 20.57 น. พ.อ.วินธัย อ่านประกาศ คสช. ฉบับที่ 8 เรื่องข้อยกเว้นการออกนอกเคหสถาน ระบุว่า การที่ประกาศห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ จึงให้ยกเว้นบุคคลดังต่อไปนี้ 1.ผู้ที่จะเดินทางเข้า-ออกประเทศ 2.เจ้าหน้าที่หรือพนักงานที่ต้องทำงานหรือในสถานที่ประกอบการที่ต้องทำงานเป็นห้วงเวลาหรือเป็นผลัด เช่น โรงงานอุตสาหกรรม 3.การเดินทางขนส่งสินค้า กิจการห้องเย็น หรือการนำเข้าสินค้าที่เสียหายง่าย 4.ผู้มีธุรกิจจำเป็น เช่น ผู้ป่วยที่ต้องไปโรงพยาบาล 5.ผู้มีกิจธุระจำเป็นอื่นให้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารในเขตพื้นที่นั้นๆ
      ต่อมาเวลา 21.01 น. พ.อ.วินธัย อ่านประกาศ คสช. ฉบับที่ 9 เรื่องให้สถานศึกษาหยุดทำการ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว อาศัยความตามมาตรา 6 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 จึงให้สถานศึกษาทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชน หยุดทำการตั้งแต่วันที่ 23-25 พ.ค.2557

เหลิม-ยุคล-หมอประดิษฐ์ พบคสช.
      เมื่อเวลา 21.15 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีต รมว.แรงงาน ได้เดินทางถึง ร.1 รอ.เพื่อเข้ารายงานตัวต่อ คสช. หลังจากช่วงค่ำมีเจ้าหน้าที่ทหารไปเชิญร.ต.อ.เฉลิมถึงที่บ้านพักริมคลองย่านบางแค เพื่อให้เข้ารายงานตัว หลังจากเซ็นชื่อรับทราบแล้วร.ต.อ.เฉลิมก็เดินทางกลับทันที
      เวลา 21.30 น. นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวฯ นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ได้เดินทางเข้ารายงานตัวตามที่ คสช.มีประกาศเรียกเข้ารายงานตัวที่ ร.1 รอ.แล้ว
      รายงานข่าวแจ้งว่า นพ.ประดิษฐ สิน ธวณรงค์ จะเดินทางเข้ารายงานตัวภายในคืนวันเดียวกันนี้ ขณะที่นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม จากพรรคชาติพัฒนา กำลังเดินทางจาก จ.นครราชสีมา เพื่อมารายงานตัวคืนนี้เช่นกัน สำหรับรัฐมนตรีที่เข้าไปรายงานตัวแล้วนั้นยังคงถูกกักตัวไว้ภายใน ร.1 รอ. โดยเจ้าหน้าที่ทหารระบุว่าได้จัดเตรียมที่นอนไว้ให้แล้ว พร้อมกับยึดโทรศัพท์มือถือไว้ด้วย

วงถกล่ม-จับแกนนำทันที บิ๊กตู่ปฎิวัติ โดนหมด 5 ฝ่ายเว้นกกต.วุฒิ สว.ยังอยู่-พักใช้รธน.ไว้ก่อน ไม่แตะทั้งศาล-องค์กรอิสระ นิวัฒน์-รมต.รายงานตัววันนี้ เคอร์ฟิวทั่วปท.-โรงเรียนหยุด

 


ฟ้าแลบ -พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.พร้อมผู้บัญชาการเหล่าทัพ แถลงการณ์ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านสถานีโทรทัศน์ทุกช่องว่าทหารได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้เรียบร้อย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม


คุมแกนนำ - ทหารเคลียร์พื้นที่เพื่อให้ขบวนรถตู้ที่มีการคุมตัวแกนนำรัฐบาล แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ นปช.และ กปปส.ผ่านไปกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ ที่สโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 


ขอคืนพื้นที่ -พ.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ รองผู้บัญชาการพล 1 รักษาพระองค์ ร่วมกับ พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจรจาตัวแทนกลุ่ม กปปส. ขอคืนพื้นที่ผิวการจราจร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 

      'ประยุทธ์'ยึดอำนาจรัฐบาล ให้ รธน.สิ้นสุดชั่วคราว ไม่ยุบองค์กรอิสระ-ศาล ประกาศเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีห้า เรียก 18 รมต.รายงานตัว เหตุที่ประชุม 7 ฝ่ายไร้ทางออก รบ.ไม่ลาออก ล็อก 2 แกนนำม็อบขึ้นรถตู้คุมในค่ายทหาร

บิ๊กตู่"ประกาศควบคุมอำนาจ

      เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 1 /2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ 

      ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศหลายๆ พื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผล กระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียว กับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทั่วทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป 

ยันพร้อมรับผิดชอบทุกอย่าง

ทั้งนี้ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศยึดอำนาจกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ได้นัดหมายตัวแทน 7 ฝ่าย ประกอบด้วยรัฐบาล วุฒิสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เข้าร่วมหารือที่สโมสรทหารบก เป็นวันที่ 2 เพื่อหาทางออกให้ประเทศ

ทั้งนี้การหารือเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 14.00 น. โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนการประชุมตอนหนึ่งว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นห่วงคือไม่สามารถปล่อยให้มีปัญหากันต่อไป หรือมีความขัดแย้งต่อไปโดยที่ไม่มีทางออกได้ ซึ่งต้องเริ่มที่ตัวของตนเองก่อน คือพร้อมทำทุกอย่างให้เกิดความสันติสุขโดยเร็ว ทุกคนให้เกียรติกองทัพ และการประกาศกฎอัยการศึกนั้น คิดว่าหลายคนมีข้อขัดแย้ง แต่เรียนว่าได้ทำอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะให้เกิดความสงบสุข และไม่ต้องมากังวลแทน เพราะไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไร จะรับผิดชอบทุกประการ 

"ผมเป็นคนที่เกิดในแผ่นดินนี้ เป็นหนี้แผ่นดินนี้ ก็จำเป็นจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ และพยายามใช้อำนาจความมั่นคงเป็นหลัก แต่มีความเกี่ยวพันกันในหลายมิติ หากก้าวล่วงอะไรไปบ้างหรือใช้อำนาจอะไรไปบ้างต้องขออภัย อย่างไรก็ตาม ผมให้เกียรติทุกท่านเสมอ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

"ยีเอ็มซี"ปิดถนนเข้า-ออก

เวลา 16.30 น. พล.อ.ประยุทธ์เดินออกจากสโมสรทหารบก นั่งรถประจำตำแหน่งเป็นคันแรกไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) จากนั้นมีรถประจำตำแหน่งของ ผบ.เหล่าทัพ ได้แก่ ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. ตามขบวนกันออกไป 

เวลา 16.40 น. ผู้สื่อข่าวที่ยืนรอทำข่าวการหารือตัวแทน 7 ฝ่ายต่างตกตะลึง เมื่อทหารนำรถจีเอ็มซี 3 คันมาปิดที่บริเวณถนนเข้า-ออกสโมสรทหารบก และอีก 2 คันปิดที่ทางแยกไปยังอาคารกำลังเอก ที่ใช้ทำงานของสื่อมวลชน จากนั้นมีทหารพร้อมอาวุธครบมือมายืนกันผู้สื่อข่าวและช่างภาพให้ออกห่างจากจุดดังกล่าว โดยให้ไปรวมตัวอยู่ที่อาคารกำลังเอก เพื่อรอฟังแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ 

จากนั้นมีรถตู้สีขาว 5 คัน โดยปิดแผ่นป้ายทะเบียนทยอยวิ่งออกมาจากลานจอดรถด้านใต้สโมสรทหารบก ผ่านด้านหน้าอาคารและผ่านหน้าผู้สื่อข่าวไป แต่ระหว่างที่ผ่านผู้สื่อข่าว ขบวนรถตู้ต้องหยุดชะงักเนื่องจากรถติด ผู้สื่อข่าวและช่างภาพจึงเข้าไปล้อมรถตู้บางคันเอาไว้ เพื่อดูว่าใครอยู่ภายใน ทำให้เห็นว่ารถตู้ทุกคันมีทหารนั่งอยู่ด้วย 

คุมตัวแกนนำ2ม็อบขึ้นรถตู้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในรถตู้คันแรก มีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พร้อมแกนนำ นปช. นั่งอยู่ภายใน และสังเกตเห็นว่ามีการนำผ้าสีดำมาปิดตา โดยมีทหารนั่งควบคุมตัวภายในรถ คันที่ 2 มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส. แต่ไม่มีผ้าสีดำมาปิดตา มีเพียงทหารพร้อมอาวุธครบมือนั่งควบคุมตัว ทั้งนี้ นายสุเทพได้โบกมือให้ผู้สื่อข่าว ทำให้ผู้สื่อข่าวกรูเข้าไปตะโกนสอบถามเหตุการณ์ ทำให้ทหารรีบใช้ตัวบังนายสุเทพ ไม่ให้ผู้สื่อข่าวถ่ายภาพได้ ขณะเดียวกันมีทหารจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) เข้ามาควบคุมพื้นที่และกักบริเวณผู้สื่อข่าว 

สำหรับผู้เข้าร่วมการหารือจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล วุฒิสภา และ กกต.ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าถูกควบคุมตัวออกไปหรือไม่ และไม่สามารถโทรศัพท์ติดต่อบุคคลที่เข้าร่วมหารือได้ กระทั่งเวลา 17.30 น. ทหารได้ประกาศให้ผู้สื่อข่าวออกจากพื้นที่สโมสรทหารบกทั้งหมด 

ตัวแทนรับรู้บรรยากาศผิดปกติ

        รายงานข่าวจากตัวแทน 7 ฝ่ายที่เข้าร่วมหารือ เปิดเผยว่า ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น ตัวแทนหลายคนต่างรู้สึกถึงความผิดปกติ เนื่องจากทางกองทัพได้จัดกำลังทหารเข้ามาดูแลภายในตัวอาคารสโมสรทหารบกจำนวนมาก แต่ละคนพกอาวุธประจำกาย ขณะเดียวกันบรรดาเสนาธิการทหารได้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ขณะที่วันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทหารจะไม่มีการพกพาอาวุธ และแต่ละเหล่าทัพจะมีเพียงผู้นำหรือตัวแทนเหล่าทัพบางคนเท่านั้น นอกจากนี้ก่อนการหารือยังได้มีการขอเก็บเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดของผู้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากการหารือเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีภาพภายในห้องประชุมออกไปเผยแพร่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากให้มีภาพในลักษณะดังกล่าวหลุดออกไปอีก และได้กันผู้ติดตามให้ไปรอผู้ร่วมประชุมอีกชั้นหนึ่ง 

 

ผบ.ทบ.ขอ'ชัยเกษม'ยึดอำนาจ

      รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อการประชุมเริ่มขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ได้เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางตามที่ได้ให้การบ้านไปก่อนหน้านี้ โดยแต่ละฝ่ายยังคงนำเสนอแนวทางในมุมของตัวเอง ไม่มีจุดร่วมที่ตรงกัน พล.อ.ประยุทธ์จึงขอพักการประชุม และเชิญแกนนำฝ่าย นปช. และ กปปส. ไปหารือร่วมกันอีกห้องหนึ่งประมาณ 45 นาที เมื่อกลับมาที่ประชุม ยังได้เชิญนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ไปพูดคุยกันส่วนตัวประมาณ 1 นาที ก่อนที่จะกลับมาที่วงหารืออีกครั้ง

      ข่าวแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถามนายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ว่าตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษมระบุว่า นาทีนี้ไม่ลาออก พล.อ.ประยุทธ์จึงบอกว่า "ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง" จากนั้นได้เชิญตัวแทน ส.ว.และ กกต. ออกจากที่ประชุม โดยไม่มีการควบคุมตัว แต่ขอให้ยังอยู่ในพื้นที่สโมสรทหารบก เพื่อรอเคลียร์บุคคลไม่เกี่ยวข้องให้ออกจากพื้นที่ก่อน ส่วนแกนนำ นปช.และ กปปส. ถูกควบคุมตัวไปที่ ร.1 รอ. 

 

เปิดรายชื่อตัวแทนหารือ 7 ฝ่าย

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทน 7 ฝ่ายที่เข้าร่วมหารือ ประกอบด้วย ตัวแทนรัฐบาล นายชัยเกษม นิติสิริ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวราเทพ รัตนากร ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง ตัวแทนวุฒิสภา ประกอบด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา นายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ตัวแทน กกต.ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายประวิช รัตนเพียร นายบุญส่ง น้อยโสภณ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ และนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ 

       ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายจุติ ไกรฤกษ์ นายศิริโชค โสภา นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ 

 

'ชัชชาติ'ประชุมแทน'พงษ์ศักดิ์'

      ตัวแทน กปปส. ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข และตัวแทน นปช. ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง 

      สำหรับฝ่ายที่มีการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่เข้าหารือจากวันที่ 21 พฤษภาคม ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล โดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่ได้เข้าหารือ โดยมีนายชัชชาติ และนายทนุศักดิ์เข้าหารือแทน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไม่ได้เข้าหารือ โดยมีนายศิริโชค โสภา เข้าหารือแทน ขณะที่ฝ่าย กกต.มีนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ เข้าหารือเพิ่ม 

 

กกต.-วุฒิสภารอดไม่โดนล็อก

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในห้องรับรองก่อนหารือเป็นไปด้วยดี ทุกคนเมื่อพบกันได้ทักทายอย่างเป็นกันเอง อาทิ นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เข้าไปยกมือไหว้ทักทายนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา และจับมือทักทายกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหน้า ปชป. ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เดินทักทายกับหลายๆ คนก่อนที่จะเข้ามาหยุดยืนคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯกปปส. อยู่นานประมาณ 10 นาที ก่อนที่ทุกคนจะถูกเชิญให้เข้าห้องประชุมใหญ่พร้อมกัน 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวผู้แทนรัฐบาล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ นปช. และ กปปส. ไปยัง ร.1 รอ.เท่านั้น ขณะที่ผู้แทนวุฒิสภาและ กกต. ได้ถูกควบคุมอยู่ในอาคารสโมสรทหารบก จากนั้น เวลา 18.30 น. ทางเจ้าหน้าที่ได้เริ่มทยอยเคลียร์พื้นที่ภายในสโมสรทหารบก และได้ให้ตัวแทนของ กกต.และ ส.ว.เดินทางออกจากสโมสรทหารบก 

 

ค้นรถ'ตู่'เจอปืน4กระบอก

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 17.30 น. ทหารที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณสโมสรทหารบก ได้เข้าค้นรถยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ ทะเบียนป้ายแดง น-2536 ของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ปรากฏว่าพบอาวุธปืนขนาด 9 มม. 3 กระบอก และอาวุธปืนขนาด .22 อีก 1 กระบอก พร้อมวิทยุสื่อสารอีก 1 เครื่อง มีดพกสั้น 1 เล่ม และเป้ต้องสงสัยอีก 4 ใบ

      ทั้งนี้ รถคันดังกล่าวได้ติดเครื่องทิ้งไว้แต่ไม่มีคนอยู่ภายในรถ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สังเกตพบว่ารถคันดังกล่าวเป็นรถเก่าแต่มาสวมทะเบียนป้ายแดง ทำให้เจ้าหน้าที่สงสัยและเข้าไปตรวจสอบ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวคนขับรถกระบะยี่ห้อโตโยต้าสีดำ ทะเบียนป้ายแดง ก-2679 ซึ่งเป็นรถของผู้ติดตามนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นำตัวไปสอบสวน

 

ประกาศเคอร์ฟิวสี่ทุ่มถึงตีห้า

      ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ได้อ่านประกาศ คสช. ฉบับที่ 2/2557 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป จากนั้นอ่านประกาศ คสช.ฉบับที่ 3/2557 เรื่องห้ามออกนอกเคหสถาน ห้ามมิให้บุคคลใด ทั่วราชอาณาจักร ออกนอกเคหสถานภายในเวลา 22.00 น. ถึง 

05.00 น. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมเป็นต้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ และระยะเวลาที่กำหนดไว้

      สำหรับ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 4/2557 ให้สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีโทรทัศน์กระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมทุกสถานี งดรายการประจำของสถานี โดยให้สถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ ถ่ายทอดรายการจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบก และฉบับที่ 5/2557 ให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว เว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์, คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่, วุฒิสภายังคงปฏิบัติหน้าที่ตามจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่, ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณา และพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป 

 

ตั้ง'อุดมเดช'เป็นเลขาฯคสช.

      ทั้งนี้ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 6/2557 แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้า คสช. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เป็นรองหัวหน้า คสช. พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร รอง ผบ.ทบ. เป็นเลขาธิการ คสช.

      ประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 ห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่ชุมนุมทางเมืองในปัจจุบันให้เดินทางกลับภูมิลำเนา

 

สถานศึกษาปิด 23-25 พ.ค.

      ประกาศ คสช. ฉบับที่ 8/2557 ยกเว้นห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน ตามประกาศฉบับที่ 3/2557 ประกอบด้วย 1.ผู้ที่จะเดินทางเข้า-ออกประเทศ 2.เจ้าหน้าที่หรือพนักงานที่ต้องปฏิบัติงาน หรือทำงานในสถานที่ประกอบการที่ต้องปฏิบัติงานในห้วงเวลาหรือเป็นผลัด อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ธุรกิจการบิน เป็นต้น 3.การเดินทางขนส่งสินค้าของกิจการห้องเย็น การนำเข้า-ส่งออกสินค้าที่มีอายุจำกัดและอาจเกิดการเสียหาย 4.ผู้ที่มีกิจธุระจำเป็น เช่น ผู้ป่วยที่จะต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับมนุษยธรรม 5.ผู้ที่มีกิจธุระจำเป็นอื่นๆ ให้ขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทหารในเขตพื้นที่นั้นๆ 

       ประกาศ คสช. ฉบับที่ 9/2557 ให้สถานศึกษาทุกแห่งทั้งของรัฐและเอกชน หยุดทำการตั้งแต่วันที่ 23-25 พฤษภาคมนี้

 

หัวหน้าคสช.คุมนายกฯ 

        เวลา 23.45 น. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก แถลงประกาศ คสช. ฉบับที่ 10/2557 เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช. ข้อความว่า โดยที่มีกฎหมายบางฉบับได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ในอันที่จะปฏิบัติตามกฎหมายไว้ และเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว หัวหน้า คสช.จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ ในระหว่างที่ยังไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้บรรดาอำนาจหน้าที่ที่่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่หัวหน้า คสช.มอบหมาย 

ยกเลิกฉบับ5-แก้ไขใหม่

        เวลา 23.47 น. พ.อ.วินธัยแถลงประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 เรื่อง การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อความว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยในการปกครองประเทศ จึงให้ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 5/2557 เรื่อง การสิ้นสุดชั่วคราวของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ข้อความตามประกาศฉบับนี้ 1.ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 2.คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง 3.วุฒิสภายังคงปฏิบัติหน้าที่ตามจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ ณ วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 4.ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิพากษาอรรถคดี ตามบทกฎหมายและประกาศ คสช. 5.องค์กรอิสระและองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป 

ห้ามสื่อออนไลน์ปลุกระดม

เวลา 23.50 น. พ.อ.วินธัยแถลงประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ ข้อความว่า เพื่อให้การเผยแพร่ข่าวสารไปสู่ประชาชนเป็นไปด้วยความถูกต้องปราศจากการบิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจและสถานการณ์ความขัดแย้งขยายตัว จนส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของเจ้าหน้าที่ในการนำความสงบสุขกลับคืนสู่สังคมโดยเร็ว จึงขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อสังคมออนไลน์ ระงับการให้บริการในการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ความไม่น่าเชื่อถือและไม่เคารพกฎหมาย ตลอดจนการต่อต้านการปฏิบัติงานของ คสช. ทั้งนี้ หากยังคงมีการดำเนินการอยู่ คสช. จะระงับการให้บริการโดยทันที รวมทั้่งเรียกตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

สั่ง 18 รัฐมนตรีรายงานตัว

       ต่อมา คสช.ได้คำสั่งฉบับที่ 1/2557 ให้ 18 รัฐมนตรีเข้ารายงานตัวที่กองบัญชาการรักษาความสงบแห่งชาติ (กองบังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์) ภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้แก่ 1.นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ 2.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ 3.นายจาตุรนต์ ฉายแสง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 4.นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ

     สิ่งแวดล้อม 5.นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 6.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 7.นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปฏิบัติหน้าที่รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 8.นางเบญจา หลุยเจริญ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 9.นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา 10.นางปวีณา หงสกุล ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

      11.พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 12.นายพ้อง ชีวานันท์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 13.นายยรรยง พวงราช ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 14.นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 15.นายสนธยา คุณปลื้ม ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 16.นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 17.นายสรวงศ์ เทียนทอง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 18.นายประเสริฐ บุญชัยสุข ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

      ทั้งนี้ มีรายงานว่า นายนิวัฒน์ธำรงจะเข้ารายงานตัวกับ คสช. ในเวลา 09.30 น. วันที่ 23 พฤษภาคม

 

มะกันปัดนิวัฒน์ ตั้งรบ.พลัดถิ่น

     นายวอลเตอร์ บราวน์โนห์เลอร์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี หลบเข้าไปอยู่ภายในสถานทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย และประกาศจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นว่าข่าวดังกล่าวไม่มีความจริงโดยสิ้นเชิง 

 

ปลัดยธ.แจงนายกฯคนกลาง

       เวลา 21.00 น. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า "ตามที่มีข่าวปรากฏว่า ผมเป็นผู้หนึ่งที่อาจถูกเสนอชื่อให้ทำหน้าที่ "นายกฯคนกลาง" และมีเพื่อนๆ สื่อมวลชนหลายท่านกรุณาให้ความสนใจสอบถามในเรื่องนี้นั้น เนื่องจากขณะนี้ผมเดินทางมาราชการต่างประเทศ ไม่สามารถพูดคุยกับเพื่อนๆ สื่อมวลชนได้ทั่วถึง ผมจึงขอเรียนในเบื้องต้นผ่านทาง facebook ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงกระแสข่าวลือ ไม่ได้มีการปรึกษาหารือ ทาบทาม หรือวางแผนในเรื่องนี้แต่อย่างใด

     "ผมเห็นว่าการให้ความสำคัญกับการได้มาซึ่งนายกฯคนกลาง ที่เก่ง ดี และเหมาะสม ในขณะนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งของประเทศไทยได้ตรงจุด เพราะปัญหามีความซับซ้อนกว่านั้นมาก" นายกิตติพงษ์ระบุ

 

หนุน'ประยุทธ์'แก้วิกฤต

       นายกิตติพงษ์ ระบุอีกว่า "ประเด็นสำคัญที่สมควรมีการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นประเด็นที่ผมและเพื่อนสมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ได้ย้ำมาโดยตลอดคือ เราต้องหยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้ามาช่วยดูแลบ้านเมืองในช่วงวิกฤตนี้ เพื่อลดการเผชิญหน้าและความรุนแรงไม่ให้ลุกลามบานปลาย และยังได้เสริมสร้างบรรยากาศในการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง สอดคล้องกับความพยายามของท่านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา ที่ได้พยายามดำเนินการในห้วงเวลาที่ผ่านมาอีกด้วย

     "เราเห็นว่า หนทางที่เป็นทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืนคือ การที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายยอมลดข้อเรียกร้องของตนเอง ถอยคนละก้าวโดยเอาผลประโยชน์ของประเทศโดยรวมเป็นที่ตั้ง และประเด็น "การปฏิรูปประเทศ" น่าจะเป็นประเด็นร่วมที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ที่นอกจากจะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ต้นเหตุแล้ว ยังสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืนด้วย" นายกิตติพงษ์ระบุ

 

ดันปฏิรูปก่อนจัดเลือกตั้ง

      นายกิตติพงษ์ระบุอีกว่า "ผมและสมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปได้แสดงความเห็นต่อสาธารณชนเสมอมาว่า ทางออกของปัญหาวิกฤตความขัดแย้งต้องอยู่บนวิถีประชาธิปไตย และสามารถทำได้โดยการสร้างหลักประกัน ให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งอันเป็นกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้น จะนำไปสู่รัฐบาลเพื่อการปฏิรูป อันเป็นรัฐบาลที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งตามกติกาใหม่ที่ปรับปรุงแล้วร่วมกัน ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองของเราได้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

     "ผมและสมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปขอสนับสนุนการเจรจาเพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยของเราในทุกๆ เวที และพร้อมที่จะนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกฝ่ายถึงแนวทางที่เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปได้เสนอไว้" นายกิตติพงษ์ระบุ

 

'นิวัฒน์'เผยโทร.คุย'บิ๊กตู่'

       ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวฝ่ายต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจว่า นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี กรณีที่ไม่เดินทางไปหารือเพื่อหาทางออกประเทศกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีภารกิจที่ต้องทำ โดยตัวแทนรัฐบาลทั้ง 5 คน มีอำนาจตัดสินใจแทนรัฐบาลได้ตามที่ได้รับมอบหมายในระดับหนึ่ง เพราะบางเรื่องไม่สามารถตอบทันทีได้ต้องนำเข่าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวจะมีโอกาสพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรงหรือไม่ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ และกำลังประสานกันอยู่ หาเวลาที่ว่างทั้ง 2 ฝ่าย ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยุ่งในเรื่องการหาทางออกให้กับประเทศอยู่ ยังไม่มีเวลา ดังนั้นรอให้มีเวลาทั้ง 2 ฝ่ายคงได้คุยกัน

 

'จตุพร'ย้ำให้ทำประชามติ

      นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ให้สัมภาษณ์ที่ถนนอักษะ ถึงข้อเสนอที่จะเข้าหารือกับ กอ.รส.ว่าจุดยืนของฝ่าย นปช. ยังคงยืนยันให้ทำประชามติก่อนการเลือกตั้ง เพราะการทำประชามติไม่ได้แปลว่า นปช.จะชนะเสมอไป อย่างในครั้งที่แล้วที่มีการทำประชามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ฝ่าย นปช.เป็นฝ่ายแพ้ และครั้งนี้ ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับข้อเสนอของ กปปส. ฝ่าย นปช.ก็พร้อมน้อมรับ

      นายจตุพร ยังยืนยันว่า ไม่ได้มีการหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่อย่างใด ส่วนบรรยากาศการพูดคุยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางที่ดี เชื่อว่าผลของการประชุมจะสามารถลดความขัดแย้งลงได้และทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไป 

 

'สุเทพ'ประชุมแกนนำม็อบ

       ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ประชุมแกนนำ ตัวแทน กปปส.จังหวัดต่างๆ และเครือข่าย ที่บริเวณวัดราชนัดดา ใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อขอมติที่ประชุมนำข้อสรุปไปเสนอในที่ประชุม 7 ฝ่ายที่สโมสรทหารบก ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายสุเทพ 4 ข้อ ประกอบด้วย ขณะนี้ประเทศไม่มีนายกรัฐมนตรี ไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาบริหารราชการ จำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลแก้ไขปัญหาประเทศ โดยไม่ต้องมาเถียงว่า จะมาโดยรัฐธรรมนูญมาตราใด แต่มาให้ได้ก็แล้วกัน 

      2.นายกรัฐมนตรีจะต้องแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีนักการเมืองจากพรรคการเมืองใดและนอมินีเลย ต้องเลือกคนดี มีความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริต 3.ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรับงานปฏิรูปจากมวลมหาประชาชนไปทำ เมื่อปฏิรูปเสร็จสิ้นจึงค่อยเลือกตั้ง 4.ให้กลุ่ม นปช. มาร่วมมือกับมวลมหาประชาชน เพื่อประเทศชาติ ทุกฝ่ายควรร่วมมือกัน อย่ายึดติดกับพรรคการเมือง

 

นัดประชุมใหญ่ 3 วันต่อเนื่อง

       นายสุเทพกล่าวว่า วันที่ 23-25 พฤษภาคมนี้ เวลา 17.00-21.00 น. จะชุมนุมใหญ่ติดต่อกัน 3 วัน จากเดิมที่นัดชุมนุมใหญ่ที่ถนนราชดำเนินและถนนสุขุมวิท เปลี่ยนเป็นชุมนุมที่ถนนราชดำเนินตลอดสาย และจะตั้งเวทีใหญ่ 3 เวที คือ ด้านหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และที่สนามหลวง ส่วนวันที่ 26 พฤษภาคม เวลา 19.00 น. จะยังเหมือนเดิม คือจะรวมตัวกันที่สนามหลวง เพื่อประกาศอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ให้เตรียมเทียนไขมาคนละเล่ม จุดเทียนกันให้สว่างไสว

 

คสช.เรียก'ยิ่งลักษณ์-สมชาย-เจ๊แดง-เฉลิม'พร้อมแกนนำพท. รวม 23 คน มารายงานตัว 10 โมงเช้า

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่2/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มและแก้ไขวันเวลาและสถานที่รายงานตัว

เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจึงให้บุคคลมารายงานตัว ณหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 23พฤษภาคม พุทธศักราช2557 เวลา 10:00น. ตามรายชื่อดังต่อไปนี้

1.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

2.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

3.นายวราเทพ รัตนากร

4.นายนพดล ปัทมะ

5.นายโภคิน พลกุล

6.นายพิชัย นริพทะพันธุ์

7.นายภูมิธรรม เวชยชัย

8.นายสาโรช หงส์ชูเวช

9.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์

10.พลโทมนัส เปาริก

11.พลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร

12.พลตำรวจโทชัจจ์ กุลดิลก

13.นายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช

14.นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์

15.นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ

16.นายวรพงษ์ ตันติเวชยานนท์

17.นายยงยุทธ ติยะไพรัช

18.ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง

19.พลตำรวจเอกภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา

20.นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์

21.นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์

22.นายธงทอง จันทรางศุข

23.พลตำรวจตรีธวัช บุญเฟื่อง

 

สำหรับบุคคลที่มีรายชื่อตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2557 ลงวันที่ 22พฤษภาคม 2557

และยังไม่มารายงานตัว ให้เปลี่ยนไปรายงานตัวตามวันเวลาและสถานที่ที่ปรากฎตามคำสั่งนี้

สั่ง ณ วันที่ 22พฤษภาคม 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

________________________

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในคำสั่ง "คสช." ฉบับที่1/2557 มีคำสั่งเรียก 18 รัฐมนตรีมารายงานตัว อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายจาตุรนต์ ฉายแสง 

 

พรึ่บ ! คสช.เรียก 114 คน ทั้ง′แกนนำแดง กปปส.ตท.10 ครม.ปู-พัลลภ ปิ่นมณี′ รายงานตัวเพิ่ม(คลิกดูรายชื่อ)

 เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มี คำสั่งจากคณะรักษาความสงบ (คสช.)  เรื่อง ให้บุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่ม  อีก 114 คน ที่หอประชุมกองทัพบก  เทเวศร์ ในเวลา 10.00 น. วันเดียวกันนี้ ซึ่งรายชื่อดังกล่าว ประกอบไปด้วยอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทุกชุด อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ นายวัฒนา เมืองสุข นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ น.อ.ศิธา ทิวารี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายประชา ประสพดี นายสันติ พร้อมพัฒน์

นอกจากนี้ยังมีรายชื่อแกนนำผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่าย โดยในส่วนของ กปปส. อาทิ  นายสุริยะใส กตะศิลา น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร นายจุมพล จุลใส นายถาวร เสนเนียม นายนิติธร ล้ำเหลือ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข พล.ร.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ

ขณะที่แกนนำ นปช. อาทิ นายขวัญไชย ไพรพนา นพ.เหวง โตจิราการ นายพายัพ ปั้นเกตุ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ นายวรชัย เหมะ เป็นต้น

รวมถึงยังมีรายชื่อนายทหาร ที่ส่วนใหญ่เป็นรุ่น ตท.10 หลายท่าน เช่น พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต  พล.อ.พฤกษ์ สุวรรณทัต พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี

และยังรวมถึงนายทหารและนายตำรวจชื่อดัง อาทิ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี พล.ต.อ.สร้าง บุนนาค ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา พลเรือเอก เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ เป็นต้น

 

คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2557

เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม

        เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมารายงานตัวเพิ่มเติม ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในวันที่ 23 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 ตามรายชื่อดังต่อไปนี้

1. พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี

2. พลเอกทวนทอง อินทรทัต 

3. พลเอกไตรรงค์ อินทรทัต

4. พลเรือเอกเกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์

5. พลอากาศเอกสุเมธ โพธิ์มณี

6. พลตำรวจเอกสล้าง บุนนาค

7. พลตำรวจเอกบุญฤทธิ์ รัตนะพร 

8. พลโทมะ โพธิ์งาม

9. พลโทอัครชัย จันทรโตษะ

10. พลตรีศรชัย มนตริวัต

11. พลตำรวจตรีสุชาติ กาญจนวิเศษ

12. ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า

13. พลอเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา

14. พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต

15. พลเอกพฤกษ์ สุวรรณทัต

16. นายวัฒนา เมืองสุข

17. นาวาอากาศเอกศิธา ธิวารี

18. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

19. นายสันติ พร้อมพัฒน์

20. นายแพทย์สุรพงศ์ สืบวงศืลี 

21. นายทรงศักดิ์ เปรมสุข

22. พันเอกอภิวันท์ วิริยะชัย

23. นายประชา ประสพดี

24. นายสมหวัง อัสราศี

25. นายพันธุ์เลิศ ใบหยก

26. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์

27. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์

28. นายชูชาติ หาญสวัสดิ์

29. นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง

30. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย

31. นายนิสิต สินธุไพร

32. นายชินวัฒน์ หาบุญพาด

33. นายวิภูแถลง พัฒนภูไท

34.นายอดิศร เพียงเกษ

35.นายวิสา คัญทัพ

36.นายสำเริง ประจำเรือ

37.พันตำรวจโทไวพจน์ อาภรณ์รัตน์

38.นางไพรจิตร อักษรณรงค์

39. นายพายัพ ปั้นเกตุ

40. นางดารุณี กฤตบุญญาลัย

41. นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์

42. นายอำพน กิติอำพน

43. พันตำรวจตรีเสงี่ยม สำราญรัตน์

44. นายวันชนะ เกิดดี

45.นายอารีย์ ไกรนรา

46. นายสุนัย จุลพงศธร

47. นายวิชาญ มีนชัยนันท์

48. นายไชยา สะสมทรัพย์

19. นายสุชาติ ลายน้ำเงิน

50. นายการุณ โหสกุล

51. นางฐิติมา ฉายแสง

52.นายประแสง มงคงศิริ

53. นายวิชิต ปลั่งศรีสกุล 

54.นายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ

55.นายขวัญชัย ไพรพนา

56.นางประทีป อึ้งทรงธรรม

57.นายวุฒิพงษ์ กชธรรม

58.นายวรชัย เหมะ

59.นายดาบแดง ชลบุรี

60.นายสมบัติ บุญงามอนงค์

61.นางสาวจิตภัสร์ กฤดากร

62. นายจุมพล จุลใส

63.นางทยา ทีปสุวรรณ

64.นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์

65.นายถาวร เสนเนียม

66.นายสุริยะใส กตะศิลา

67.นายนิติธร ล้ำเเหลือ

68.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข

69. พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ

70.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

71.นายเสรี วงษ์มณฑา

72.นายสมบัติ ธำรงะัญวงศ์

73.นางสาวอัญชะลี ไพรีรักษ์

74.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์

75.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง

76.นายสุวิทย์ คนสมบูรณ์

77.นางกฤษณา สีหลักษณ์

78.นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์

79. นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล

80.นายธีระ วงศ์สมุทร

81.นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ

82.นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์

83. นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข

84.นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ

85.นายภูมิ สาระผล

86. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสตร์

87.นายชูชาติ หาญสวัสดิ์

88.นาย ฐานิสร์ เทียนทอง     

89.นาย เผดิมชัย สะสมทรัพย์

90.นาย สุกุมล คุณปลื้ม

91.นายปลอดประสพ สุรัสวดี

92.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล

93.นาย บุญรื่น ศรีธเรศ

94.นาย สุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล

95.นาย วิทยา บุรณศิริ

96.นาย ต่อพงษ์ ไชยสาส์น

97.นาย วรรณรัตน์ ชาญนุกุล

98.นางนลินี ทวีสิน

99.นาย ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย

100.นาย อารักษ์ ชลธาร์นนท์

101.นาย สุชาติ ธาดาธำรงเวช

102.นาย ศักดา คงเพชร

103.หม่อมราชวงศ์ พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์

104.นาย ประชา ประสพดี

105.นาย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร

106.นาย เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช

107.นาย ประเสริฐ จันทรรวงทอง

108.นาย ประเสริฐ บุญชุยสุข

109.นาย ศันสนีย์ นาคพงศ์

110.นาย ประดิษฐ์ สินธวณรงค์

111.นาย ชลน่าน ศรีแก้ว

112.นาย ชัยเกษม นิติสิริ

113.นาย ก่อแก้ว พิกุลทอง

114.นายแพทย์ เหวง โตจิราการ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!