WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8769 ข่าวสดรายวัน


สปช.หนุนนิรโทษ 
เฉพาะผู้ชุมนุม กมธ.ชงสูตรสส. ยึดแบบเยอรมัน  

ใบปลิว - ที่บริเวณหน้าอาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยบูรพา มีการโปรยใบปลิวเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก นำเอาบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ความว่า'ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา'มาเผยแพร่ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.

      ทีมที่ปรึกษานายกฯ ติง สื่อนอกนำเสนอข่าวชู 3 นิ้ว ประกอบแฟ้มภาพเก่า บิด เบือนสถานการณ์ในไทย ส่งอธิบดีกระทรวงต่างประเทศทำความเข้าใจ สปช.-พรรคเพื่อไทยหนุนนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ร่วมชุมนุม ไม่รวมแกนนำ-คนสั่งการ เชื่อรัฐบาลก็เห็นด้วยเพื่อสร้างปรองดอง 'ดิเรก'ยันไม่มีสัญญาณเลื่อนเลือกตั้ง 'นครินทร์ เมฆไตรรัตน์'เสนอสูตรเลือกส.ส.แบบเยอรมัน ใช้คะแนนบัญชีรายชื่อเป็นหลัก ยื่นกมธ.ยกร่างฯ 12-13 ธ.ค.นี้'บวรศักดิ์'ย้ำร่างรธน.เสร็จทันตามโรดแม็ป ชี้ถ้าไม่เสร็จก็ตายยกชุด สนช.เดินสายรับฟังความเห็น นำร่องภาคอีสาน 27-29 ธ.ค.นี้ ไม่ห่วงพื้นที่ที่มีความเห็นต่าง ใบปลิวต้านคสช.ว่อนอีกที่ม.บูรพา โพลเผยประชาชนขอของขวัญรัฐบาล-คสช.ให้บ้านเมืองสงบสุข มีเลือกตั้งโดยเร็ว


'ดิเรก'ยันไร้สัญญาณเลื่อนเลือกตั้ง
      วันที่ 30 พ.ย. นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี คาดการณ์การเลือกตั้งน่าจะอยู่ในช่วงเดือนก.พ. 2559 หรือจะยาวไปถึงกลางปีว่า รัฐบาลน่าจะยังยึดถือกรอบเวลาเดิมเป็นสำคัญ เพราะขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ส่งมาว่าจะขยายเวลาการดำเนินงานตามโรดแม็ประยะที่ 2 ออกไป มีแต่คณะทำงานการปฏิรูปของ สปช.ทั้ง 18 คณะ ที่เร่งศึกษาเตรียมเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปด้านการเมืองที่ตนทำหน้าที่อยู่นั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ หลังจากประชุมถกเถียงกันมาหลายนัด ส่วนตัวมองว่าหากระยะเวลาการดำเนินงานตามโรดแม็ประยะที่ 2 ต้องเลื่อนออกไปบ้างก็ไม่น่ามีปัญหา

เชื่อรบ.เอาด้วยนิรโทษเพื่อปรองดอง
     นายดิเรก กล่าวถึงแนวทางการนิรโทษกรรม เพื่อสร้างความปรองดองที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานอนุ กมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ของ กมธ.ยกร่างฯ เสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2548-2557 ว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง ยืนยันว่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง ซึ่งกระบวนการที่จะนำสู่การนิรโทษได้ต้องนำคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายมาคุยกันจนตกผลึก ได้แนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ส่วนจะนิรโทษกรรมสุดซอยหรือครึ่งซอยนั้น ขึ้นอยู่ที่การพูดคุยของทุกฝ่ายว่าจะเห็นอย่างไร ส่วนตัวมองว่าควรนิรโทษกรรมเรื่องที่จำเป็นตามลำดับ เริ่มจากนักโทษการเมืองที่เป็นประชาชนธรรมดา ซึ่งติดคุกมาหลายปีแล้วเพียงเพราะไปร่วมชุมนุม เป็นต้น 
     "รัฐบาลชุดนี้สนับสนุนแนวทางการสร้างปรองดองสมานฉันท์เป็นหลักอยู่แล้ว การนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองเป็นเรื่องจำเป็น ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งต้องหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ต้องถอยหลังคนละก้าว และมองที่ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก"นายดิเรกกล่าว 

รมต.อ้างขอดูเนื้อหาก่อน
     นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า นายเอนกคงเสนอความคิดเห็นของตัวเองออกมา มองว่าประเด็นการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยังไม่เห็นรายละเอียดของข้อเสนอ จึงไม่ขอแสดงความเห็น อีกทั้งขณะนี้อยู่ในช่วงปฏิรูป หลายฝ่ายต่างวิจารณ์ประเด็นต่างๆ รวมถึงแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอจำนวนมากไปยังสปช. ซึ่ง สปช.ต้องรับฟังแล้วตกผลึกความคิดเห็นก่อนส่งให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและสังคมพิจารณาต่อไป

พท.ค้านลากยาวเลือกตั้งปี 59
      นายวรชัย เหมะ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปว่า การเลือกตั้งควรเป็นไปตามโรดแม็ปที่รัฐบาลบอกไว้กับประชาชน ซึ่งตามโรดแม็ปในระยะ 3 การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปี 2558 หรืออาจบวกลบได้ แต่ไม่ควรลากยาวถึงกลางปี 2559 เพราะปัญหาที่รัฐบาลและพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องแบกรับจะมีมากขึ้น ที่ผ่านมาตนคุยกับพรรคพวกซึ่งเป็นอดีตส.ส.ของพรรค เห็นตรงกันว่าควรจัดเลือกตั้งตามที่ระบุไว้ให้เกิดขึ้นให้ได้
        นายวรชัย กล่าวว่า เท่าที่สังเกตอาการและการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ ช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างหนักและเหนื่อย เห็นได้จากที่พูดว่ารัฐธรรมนูญเสร็จวันนี้ก็เลือกตั้งวันนี้ หรืออีก 3 เดือนเสร็จก็เลือกตั้งเมื่อนั้น คงมาจากการถูกรุมเร้าและความคาดหวังของ ฝ่ายต่างๆ ทั้งกลุ่มคนภายในกันเอง กลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหว รวมถึงต่างประเทศที่ต้องการให้เดินตามโรดแม็ป ขณะที่บางคนบางกลุ่มซึ่งอยู่เบื้องหลังพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งสปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางคนอาจยึดติดกับอำนาจจากรัฐประหาร จึงออกมาโยนหินถามทางวัดกระแสสังคมหากจะลากยาวการทำงานออกไป จนไม่มองแรงเสียดทานที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับหน้าภาคส่วนต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจและต่างประเทศ

เตือน'ตู่'อย่ายื้อ-หวั่นขัดแย้งระอุ
     นายวรชัยกล่าวว่า ตนมองว่าพล.อ. ประยุทธ์ควรยืนยันให้หนักแน่นในเรื่องการเลือกตั้ง อย่าปล่อยให้นำรัฐธรรมนูญมาเป็นเงื่อนไขลากยาวการเลือกตั้งออกไป เพราะอาจทำให้ขัดแย้งเกิดขึ้นอีก และยังส่งผลให้การบริหารงานของรัฐบาลนี้ยากยิ่งขึ้นไปอีก และชื่อเสียงจะถูกทำลาย จึงควรจัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก เมื่อถึงเวลานั้นพล.อ.ประยุทธ์หรือใครก็ตามจะมาลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่ออยู่ในอำนาจบริหารงานต่อไปโดยที่มีประชาชนเลือกก็อาจจะได้รับการยอมรับก็เป็นได้

แนะสนช.เร่งออกพรบ.นิรโทษ
     นายวรชัย กล่าวกรณีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า เชื่อว่านายเอนกมีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด สิ่งที่นายเอนกเสนอนั้นน่าจะเป็นเพราะเห็นสถานการณ์ว่าใครเป็นผู้ถูกกระทำ ใครเป็นฝ่ายกระทำ จึงหาทางลดความขัดแย้ง ซึ่งตนเห็นด้วยและขอเสนอให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น ไม่นับรวมแกนนำและผู้สั่งการแต่ละฝ่าย ตามที่เคยเสนอไปก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร เนื่องจากประชาชนบางคนไม่ได้กระทำการอย่างที่กล่าวหา โดยเฉพาะคดีก่อการร้าย จนต้องติดคุกโดยไม่ได้รับความยุติธรรม
      "บางคนมาชุมนุมเพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้เทคนิคทางการเมืองเพื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล และมีคำสั่งปราบปรามเมื่อประชาชนไม่เห็นด้วยจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และติดคุกอีกนับพันราย หากจะปรองดองลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ที่รัฐบาลใช้เป็นเหตุอ้างอิงยึดอำนาจ ก็ควรนิรโทษกรรมให้คนเหล่านี้โดยเร็ว และปล่อยพวกเขาออกมาเพราะการติดคุกเพียงวันเดียวโดยไม่ได้ทำนั้นไม่ยุติธรรมและยังทำให้ชีวิตเขาและครอบครัวได้รับความลำบาก เพราะส่วนใหญ่เป็นกำลังหลักของครอบครัว"นายวรชัยกล่าว
    นายวรชัย กล่าวว่า ตนเสนอให้ สนช.และ สปช.ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้แทนราษฎร พิจารณาออกเป็นร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้กับประชาชนทุกสีเสื้อ ไม่ว่าเหลืองหรือแดง และ สนช.เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายเอง เพราะคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน โดยไม่ต้องรอเวลาให้รัฐธรรมนูญเสร็จ เพราะการปล่อยให้คนได้รับอิสรภาพเป็นเรื่องสำคัญที่น่าจะเร่งดำเนินการทันที 

สปช.ชี้ควรให้เฉพาะคดีร่วมชุมนุม
     นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ในฐานะกมธ.ปฏิรูปด้านการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการนิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองว่า การเสนอให้นิรโทษกรรมเป็นความเห็นส่วนตัวของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังไม่ใช่มติของคณะอนุกมธ. ซึ่งคณะอนุกมธ.จะสรุปข้อเสนอทั้งหมดในวันที่ 1-3 ธ.ค. จากนั้นจะส่งข้อเสนอให้กมธ.ปฏิรูปด้านการเมืองที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานนำไปพิจารณาต่อไป เพื่อส่งเรื่องให้ที่ประชุมสปช.พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย เท่าที่กมธ.ปฏิรูปการเมืองคุยกันเบื้องต้นเห็นว่าการนิรโทษกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความปรองดอง สมาน ฉันท์ที่จำเป็นต้องเขียนไว้ แต่จะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรงหรือออกเป็นกฎหมายเฉพาะคงต้องพิจารณากันอีกครั้ง หากต้องเสนอเป็นกฎหมายเฉพาะก็จะส่งไปให้สนช.พิจารณา
      นายวันชัย กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะนิรโทษกรรมเฉพาะคดีเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวกับการร่วมชุมนุมทางการเมืองเพราะไม่มีเจตนา ยกเว้นคดีอุกฉกรรจ์ที่เกี่ยวกับการฆ่า ทำลาย หรือเผาทรัพย์สิน รวมถึงคดีทุจริต การหมิ่นสถาบัน จะนำมานิรโทษกรรมไม่ได้ ต้องแยกออกมาต่างหาก

'บวรศักดิ์'ยังกั๊กเรื่องนิรโทษ
    ที่โรงแรมตรัง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นฉบับแรกที่มีหมวด 4 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและการสร้างความปรองดอง ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ส่วนที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอให้นิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดองนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนายเอนกรับผิดชอบพิจารณาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในหมวด 4 อยู่ แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงความเห็นในชั้นอนุกมธ. ซึ่งตนยังให้ความเห็นอะไรไม่ได้ ต้องรับฟังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะเห็นอย่างไร โดยอนุกมธ.พิจารณาจัดทำรัฐธรรม นูญทั้ง 10 คณะ มีนัดส่งการบ้านต่อกมธ. ยกร่างฯ ในวันที่ 1 ธ.ค. ส่วนสปช.จะส่งการบ้านในวันที่ 15-17 ธ.ค. ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ จะตรวจการบ้านทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 18-26 ธ.ค. ทำให้ปลายเดือนธ.ค.จะ พอทราบได้ว่าแนวทางและหน้าตาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร 

ลั่นร่างรธน.เสร็จทันกรอบโรดแม็ป
      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้น กมธ. ยกร่างฯ จะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ได้ต่อเมื่อเข้าสู่กระบวนการยกร่างรายมาตราที่จะเริ่มวันที่ 5 ม.ค. 2558 แต่ต้องพิจารณาอีกว่าจะให้เข้าฟังในรายมาตราใดได้บ้าง เหมือนอย่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่จะไม่เปิดให้เข้าฟังได้เลยตลอดระยะเวลาการร่าง 4 เดือนครึ่ง และไม่มีแม้แต่บันทึกการประชุม 
      "ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญยืนยันจะเป็นไปตามโรดแม็ปแน่นอนเพราะหากไม่ทันก็ตายตกไปตามกัน ไม่มีใครอยากเอาชื่อเสียงมาทิ้งไว้ที่นี่อยู่แล้ว และยืนยันอีกครั้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีพิมพ์เขียวเอาไว้ก่อน เนื่องจากยังมีกระบวนการที่ให้ สปช. สนช. คสช. และ ครม. เสนอแก้ไขอีก" นายบวรศักดิ์กล่าว 
      เมื่อถามถึงข้อเสนอให้เลือกตั้งคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีโดยตรง นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีมาตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แล้ว ซึ่งประเทศอิสราเอลเคยใช้แนวทางนี้แต่สุดท้ายก็ยกเลิกไป การเสนอรูปแบบการเลือกตั้งใดจำเป็นต้องเสนอให้สอดคล้องต่อสภาพทางสังคมของไทย 

เปิดเวที'เหนือ-อีสาน-ใต้'ฟังความเห็น
       นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ ในฐานะประธานคณะอนุกมธ.มีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กล่าวว่าอนุกมธ.จะจัดเวทีรับฟังความเห็นตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือนมี.ค. 2558 โดยเวทีในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ภาคอีสาน ได้แก่ อุดรธานี ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี สงขลา ภาคกลาง ได้แก่ สุพรรณบุรี ชลบุรี และกรุงเทพฯ ดังนั้น เชื่อว่าก่อนเดือนเม.ย. 2558 รัฐธรรมนูญจะเป็นรูปเป็นร่างและกฎหมายลูกจะต้องมีการรับฟังความเห็นจากประ ชาชนจนถึงปลายปีหน้าด้วย ข้อมูลเหล่านี้ สปช.สามารถใช้แปรญัตติเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญได้ด้วย
       นางถวิลวดีกล่าวต่อว่า เราจะสอบถามประชาชนก่อนและหลังเข้าร่วม เพื่อสำรวจความเห็นและทัศนคติ โดยรูปแบบตัวอย่างคำถามนั้นประชาชนต้องตอบได้ เช่น ผู้นำที่ดีควรเป็นอย่างไร มองอนาคตและอดีตว่าเป็นบทเรียนอย่างไรบ้าง ซึ่งผลที่ได้คือการมีคุณภาพของรัฐธรรมนูญ 

อนุกมธ.ชงเลือกส.ส.แบบเยอรมัน
      ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการประชุมคณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 ของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี นายสุจิต บุญบงการ เป็นประธานในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเสนอรูปแบบจัดการเลือกตั้ง การนับผลคะแนนเลือกตั้งส.ส.ทั้งระบบบัญชีรายชื่อ ระบบเขต ในรูปแบบใหม่โดยยกโมเดลจากต่างประเทศทั้งระบบการจัดการเลือกตั้งแบบออสเตรเลียและแบบเยอรมันมาหารือ ซึ่งที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทางฝั่งเยอรมันที่นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะอนุกมธ.เป็นผู้เสนอ เพราะวิธีเลือกตั้งแบบเยอรมัน จะทำให้ทุกคะแนนที่ลงนั้นมีค่า ไม่ถูกตัดทิ้ง จำนวน ผู้แทนของแต่ละพรรคสอดคล้องต่อเสียงประชาชน พรรคขนาดกลางและเล็กมี โอกาสได้ส.ส.มากขึ้นเพราะจะคิดจากคะแนนของระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก เช่น ประเทศไทยมีส.ส. 500 คน พรรค ข. ได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 10 ของทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนส.ส.ที่ควรจะมี 50 คน แต่ชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพียง 30 เขต ผลคือ พรรค ข.จะมีส.ส. 50 คน มาจากแบบแบ่งเขต 30 คน และจะได้ส.ส.จากบัญชีรายชื่ออีก 20 คน รวมเป็น 50 คน โดยระบบนี้จะคำนึงถึงผู้ที่ลงคะแนนเสียงในภาพรวมเป็นหลักเพื่อมาคำนวณหาสัดส่วนส.ส.ที่ควรจะเป็น 
      นายนครินทร์ ชี้แจงว่า ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมันจะแตกต่างจากระบบการเลือกตั้งของไทย ต่างจากในรัฐธรรมนูญ ปี "40 และ "50 ที่เป็นระบบแบบแถมให้ โดยพรรคชนะเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเท่าไรก็ให้ไปรวมกับสัดส่วนที่ได้จากบัญชีรายชื่อทั้งหมด แต่ระบบนี้จะคิดจำนวนผู้แทนฯ จากระบบบัญชีรายชื่อเป็นหลัก ที่สำคัญจะช่วยแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงจากการเลือกตั้งได้ 
      ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกมธ.เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางแบบเยอรมัน และเตรียมจัดทำเอกสารนำเสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 12-13 ธ.ค.นี้และมั่นใจว่ากมธ.ยกร่างฯ จะตอบรับแนวทางที่อนุกมธ.เสนอ


ปลอบ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กุมมือปลอบคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่สูญเสียนายสมพล เกยุราพันธุ์ ระหว่างพิธีรดน้ำศพ ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เมื่อวันที่ 30 พ.ย. มีนักการเมืองและผู้ที่เคารพนับถือไปร่วมอาลัยจำนวนมาก

พท.ยันเลือกตั้งตามรธน.ปี 40 ดีสุด
     นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระบบการปกครองและรูปแบบรัฐสภาไทยกับเยอรมันต่างกัน เรามักไม่ดูภาพรวมทั้งหมด เอาระบบโน้นมาจับแพะชนแกะสุดท้ายเลยมั่ว ส่วนตัวเห็นว่าย้อนกลับไปใช้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 40 เหมาะสมที่สุดแล้ว ประชาชนก็ไม่สับสน โดยหลักควรยึดระบบหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียง หรือวันแมนวันโหวต แบบนี้ทุกคะแนนเสียงก็มีค่าเท่ากันเหมือนกัน หากจะปรับก็ควรปรับลดจำนวนส.ส. บัญชีรายชื่อให้ลดลงมาเหลือ 100 คนเหมือนเดิม ไม่อยากให้คิดว่าส.ส.บัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือกมาเป็นเหมือนของแถม 
      นพ.เชิดชัย กล่าวว่า ตนเพิ่งกลับจากจีน ซึ่งเขาพัฒนาไปมาก พยายามทำให้สังคมชนบทเหมือนกับสังคมเมือง ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ของเรายังมัวมาดูเรื่องเลือกตั้งจะเอาแบบไหนอยู่เลย ทางที่ดีควรเร่งจัดการเลือกตั้ง ยึดรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นหลักน่าจะดีที่สุด หากจะเปลี่ยนการเลือกตั้ง นับคะแนน อาจถูกมองว่าต้องการจะสกัดพรรคเพื่อไทยหรือไม่ 

สนช.ดีเดย์ลงพื้นที่อีสาน 27-29 ธค.นี้
       ที่โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จ.เพชรบุรี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ในฐานะได้รับมอบหมายจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นตัวแทนวางกรอบแนวทางเพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลงพื้นที่สร้างความปรองดองและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วทุกพื้นที่ของสนช.ว่า หลักๆ จะใช้เครือข่ายสถาบันการศึกษา และเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ให้ทำหน้าที่ประสานระหว่างคนในพื้นที่กับสนช.ให้ได้พบปะพูดคุยกัน นอกจากนั้นจะประสานองค์กรภาคเอกชน และชุมชนด้วย ซึ่งในสัปดาห์หน้าตนจะเรียกประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้แนวทางที่ชัดเจนของกระบวนการลงพื้นที่
      นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นตั้งใจว่าในวันที่ไม่มีประชุม สนช.ของทุกสัปดาห์ จะมีโครงการให้ สนช.ออกไปพบประชาชน โดยจะไปทั่วทุกภาค และมีกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุมทุกวิชาชีพ โดยวันที่ 27-29 ธ.ค. จะลงพื้นที่ภาคอีสาน เช่น จ.มุกดาหาร และบึงกาฬ ซึ่งถือเป็นการลงพื้นที่อย่างเป็นทางการครั้งแรก อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่พบประชาชนของ สนช.จะใช้งบประมาณของวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการ สนช. เป็นงบประมาณปกติ ไม่ได้ขอเพิ่มแต่อย่างใด

ลั่นไม่ห่วงเจอกลุ่มเห็นต่าง
     นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ต่างๆ นอกจาก สนช.จะรับฟังความเห็นจากประชาชนแล้ว ยังลงไปสร้างความเข้าใจว่าสถานการณ์ของประเทศขณะนี้เป็นอย่างไร และชี้แจงถึงการทำหน้าที่ของ สนช.ที่เรื่องหลักคือการสร้างความปรองดองและพัฒนาประเทศ ซึ่งตนเห็นว่าขณะนี้ไม่ใช่เวลาจะมาต่อต้านกัน แต่ควรช่วยกันไปสู่เป้าหมายของโรดแม็ประยะที่ 3 คือการเลือกตั้ง 
     เมื่อถามว่า ในพื้นที่ที่มีความเห็นต่างค่อนข้างสูง จะพูดคุยกับแกนนำในพื้นที่ให้สื่อสารกับคนในพื้นที่ได้อย่างไร นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ตรงนี้ไม่น่าเป็นห่วง ตนเคยเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เคยเป็นข้าราชการและเคยเป็นส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง เราพอจะทำความเข้าใจได้ว่าเราไปดี ไปบอกว่าสถาน การณ์เดินมาถึงจุดไหนของโรดแม็ประยะที่ 2 แล้ว 

'ยงยุทธ'ลั่นต้องฟังเสียงนศ.เห็นต่าง
       นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากนักศึกษาทั่วประเทศว่า การรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาเป็นเรื่องที่ดี เพราะมองนักศึกษามีความคิดเห็นที่หลากหลาย บางความคิดเห็นอาจยังไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นไปได้ทีเดียว แต่ต้องรับฟังไว้ ซึ่งหลายเรื่องนำมาใช้ประ โยชน์ต่อไปได้ ส่วนการคัดเลือกนักศึกษาเข้ามาร่วมเวทีดังกล่าว ถือเป็นสิทธิของ กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณา
       นายยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาสถาบันต่างๆ ถือเป็นจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับนักศึกษาทั้งหมดในประเทศไทย แต่เราต้องรับฟังไว้ ขณะนี้เท่าที่ทราบการเคลื่อนไหวยังไม่น่าวิตก เป็นห่วงเพียงว่าอย่าสร้างความไม่สงบให้เกิดขึ้น

ทีมกุนซือนายกฯติงสื่อนอก
     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการประชุมทีมที่ปรึกษานายกฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในการประชุมแต่ละครั้งกระทรวงต่างๆ จะส่งข้อมูลที่เป็นประเด็นข่าวเข้ามาโดยจะแจ้งว่าเรื่องต่างๆ กระทรวงมีแนวทางดำเนินการอย่างไร ซึ่งครั้งที่ผ่านมาทีมที่ปรึกษาฯ ให้ความสำคัญทุกเรื่องที่เป็นข่าว โดยเราจะต้องมีวิธีประชาสัมพันธ์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ในเชิงรุกจะเป็นงานของแต่ละกระทรวงที่ต้องขยายความทำความเข้าใจ ส่วนเชิงรับจะเป็นสิ่งที่สื่อมวลชนนำเสนอและกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล เช่น กรณีสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นนำเสนอข่าวการชู 3 นิ้วของนักศึกษา โดยนำไปประกอบกับสิ่งที่ซีเอ็นเอ็นเคยมาสัมภาษณ์เรื่องกฎหมายพิเศษ ซึ่งตนอธิบายความไปชัดเจน 4 ประเด็น 1.เราจำเป็นเนื่องจากสถานการณ์บ้านเรายังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาเขากับปัญหาบ้านเราต่างกัน การมีกฎหมายพิเศษทำให้เวลามีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่ดีทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไประงับยับยั้งเหตุได้ทัน แต่ถ้าใช้กฎหมายปกติบางทีอาจไม่ทันระงับยับยั้ง เพราะมีขั้นตอนเยอะ 

ชี้นำภาพเก่า-บิดเบือนสถานการณ์
       รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า 2.เราคำนึงถึงความสุข ความปลอดภัยต่อการแก้ปัญหาของคนในบ้านเราเป็นหลัก ถ้าคนในประเทศรู้สึกพึงพอใจ บ้านเมืองมีความสงบ ผลเหล่านี้จะสะท้อนไปยังต่างชาติ 3.ผลกระทบต่อการใช้กฎหมายพิเศษ ชีวิตประจำวันของคนไทย การท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เขาทำอะไรไม่ได้บ้างในระหว่างนี้ก็ไม่มี และ 4.หากจะมีก็เพียงคำว่ากฎอัยการศึกเท่านั้น 
       พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การที่ซีเอ็นเอ็นนำเสนอข่าวดังกล่าวโดยนำแฟ้มภาพเก่ามาประกอบ ทำให้คนรู้สึกว่าบ้านเมืองเรายังไม่ปกติ ยังมีความขัดแย้งอย่างมาก และไม่มีการเขียนไว้ว่าเป็นแฟ้มภาพในอดีต ดังนั้น เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจโดยอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศรับจะไปทำความเข้าใจกับซีเอ็นเอ็นแล้ว ซึ่งที่ประชุมทีมที่ปรึกษาฯ มีความห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าว แต่ยืนยันเรายังเคารพความเป็นสื่อทั้งต่างชาติและสื่อไทย แต่การนำเสนอข่าวต้องอยู่บนข้อเท็จจริง

ใบปลิวต้านคสช.ว่อนอีกที่ม.บูรพา
      เวลา 17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการโปรยใบปลิวต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมีคนนำใบปลิวไปโปรยบริเวณหน้าอาคารเรียนรวม (ตึก KB) มหาวิทยาลัยบูรพา มีเนื้อหาในใบปลิวว่า "ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา" พร้อมข้อความตามท้ายด้านล่างว่า "ยกเลิกกฎอัยการศึก!!!"

ขอบ้านเมืองสงบสุข-ของขวัญปีใหม่
      วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,417 คน ระหว่างวันที่ 24-29 พ.ย. กรณีรัฐบาลและคสช.ให้นโยบายกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ เร่งทำงานเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ และคืนความสุขให้กับประชาชน พบว่า ของขวัญด้าน การเมือง ที่ประชาชนอยากได้มากที่สุดคือ ร้อยละ 85.56 ระบุบ้านเมืองสงบสุข ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่มีการชุมนุมเคลื่อนไหว ร้อยละ 75.79 มีนักการเมืองที่ดี มีคุณภาพ ทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน ร้อยละ 74.09 มีความเป็นประชาธิปไตย ประชาชนได้มีส่วนร่วม มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ร้อยละ 65.34 ปฏิรูปการเมือง ทำงานอย่างโปร่งใส ขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น 
      ของขวัญด้านเศรษฐกิจ ที่ประชาชนอยากได้มากที่สุด ร้อยละ 86.97 การควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพง ราคาพืชผลทางการเกษตรสูงขึ้น ร้อยละ 81.74 เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น มีเสถียรภาพ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ร้อยละ 79.12 มีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น สวัสดิการดี รายได้เพียงพอกับรายจ่าย ไม่เป็นหนี้ ร้อยละ 75.27 ราคาพลังงานลดลง คนไทยได้ใช้น้ำมันและแก๊สราคาถูก 7
       ของขวัญด้านสังคม ที่ประชาชนอยากได้มากที่สุด ร้อยละ 73.07 สังคมเป็นระเบียบ ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมาย อาชญากรรมและยาเสพติดลดลง ร้อยละ 70.96 คนไทยรักใคร่สามัคคีปรองดอง มีน้ำใจช่วยเหลือแบ่งปัน ร้อยละ 60.89 ครอบครัวอบอุ่น มีเวลาให้แก่กัน อยู่กันพร้อมหน้า ร้อยละ 59.72 มีการเดินทางที่สะดวก ระบบขนส่งมวลชนทันสมัย ครอบคลุมทุกพื้นที่ 

โพลหนุนเพิ่มอำนาจป.ป.ช.
       นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจเรื่อง "ข้อเสนอแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช." ระหว่างวันที่ 26 -27 พ.ย. จากประชาชนทั่วประเทศ 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอแก้ไขกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยร้อยละ 69.28 เห็นด้วยกับการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกศาลตัดสินชี้ขาดให้พ้นจากตำแหน่งห้ามกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต เพราะจะได้ไม่เกิดการกระทำผิดอีก และถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่มีคุณภาพ ตั้งใจทำงานเข้ามาแทน ร้อยละ 26.08 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะควรให้เวลา สิทธิและโอกาสปรับปรุงตนเอง
     ส่วนร้อยละ 90.40 เห็นด้วยให้ผู้บริหารท้องถิ่น ต้องเปิดบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสถึงที่มาของทรัพย์สิน มีเพียงร้อยละ 8.32 ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะถือเป็นข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคลที่จะเปิดเผยหรือไม่ก็ได้ 
       ร้อยละ 58.64 เห็นด้วยกับการให้อำนาจ ป.ป.ช.สามารถจับและคุมขังผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการจับผู้กระทำผิดมารับโทษเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายเดียว อาจจัดการได้ไม่ดีพอหรือเกิดการติดสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ ร้อยละ 32.96 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะ ป.ป.ช.ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจถึงขั้นดังกล่าว เป็นหน้าที่ซ้ำซ้อน ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ และตามขั้นตอน 

'ปู'ร่วมไว้อาลัย'พ่อหญิงหน่อย'
     เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 30 พ.ย. ที่ศาลาทักษิณาประดิษฐ์ วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร บางเขน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีน้ำหลวงอาบศพนายสมพล เกยุราพันธุ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บิดาคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเสียชีวิตด้วยอาการเส้นเลือดในสมอง ในวัย 77 ปี
      จากนั้นเวลา 19.30 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ เป็นประธานในพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างโศกเศร้า โดยมีบุคคลสำคัญในแวดวงการเมือง ทั้งอดีตรัฐมนตรี แกนนำและอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ส.ก. ส.ข.และประชาชน ร่วมแสดงความอาลัยอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต อดีตรมช.คมนาคม นายเสนาะ เทียนทอง น.ต.ศิธา ทิวารี สมาชิกพรรคเพื่อไทย นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.เป็นต้น

จี้กมธ.ดันสิทธิสตรีในรธน.ใหม่
       วันที่ 30 พ.ย. ที่ห้องศรีตรัง โรงแรมตรัง สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ โครงการส่งเสริมสิทธิผู้หญิงในรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศและศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาค จัดเวทีเสวนา'ความเสมอภาคหญิงชายในรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ'โดยมีนายมีชัย วีระไวทยะ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ นางจุรี วิจิตรวาทการ นางทิชา ณ นคร น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และนางทิพาวดี เมฆสวรรค์ นายกสมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย ร่วมเสวนา 
      นางทิพาวดี กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องเร่งด่วนคือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งควรกำหนดเรื่องควมเสมอภาคของสิทธิสตรีไม่น้อยกว่าที่เคยมีในรัฐธรรมนูญเดิม และต้องกำหนดสัดส่วนหญิง ชายให้เท่าเทียมกัน เช่น ส.ส. ส.ว. และการเลือกตั้งทุกระดับ ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ธ.ค. คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรวบรวมประเด็นจาก สปช.เพื่อเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
       นางสารี กล่าวว่า บรรยากาศการจัดทำรัฐธรรมนูญมีส่วนสำคัญ เราจะทำอย่างไรให้กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยนั้นร่วมแสดงความเห็น ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถปฏิรูปประเทศได้เลย นอกจากนี้ผู้หญิงทั้ง 5 คนใน กมธ.ยกร่างฯจะต้องทำให้สาระเรื่องสิทธิสตรี เพศสภาพ ถูกเขียนไว้อย่างชัดเจน รวมถึงเรื่องกฎหมายที่จะใส่ไว้ในการปฏิรูป เป็นภาคหนึ่งที่จะนำไปใส่ในสาระของรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมาย 1 ใน 20 ฉบับที่ต้องผ่านให้ได้ 
      ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวก่อนรับข้อเสนอการปฏิรูปเพื่อความเสมอภาคหญิงชายในรัฐธรรมนูญว่า สตรีควรมีบทบาททุกด้านอย่างเท่าเทียม การร่างรัฐธรรมนูญไม่ยาก แต่กลุ่มสตรีต้องช่วยเราสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะจะมีกลุ่มที่เสียผลประโยชน์จากการเมือง และได้ผลประโยชน์จากประชาชนที่ชอบประชานิยม พวกเขาจะไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และบอกว่ารัฐธรรมนูญเกิดจากต้นไม้เป็นพิษ ผลไม้เป็นพิษ จึงจำเป็นที่ต้องคิดถึงกระบวนการค้ำจุนและสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้ได้ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและจำเป็นต้องทำประชามติ ขอให้กลุ่มสตรีช่วยในเรื่องนี้ด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!