WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8770 ข่าวสดรายวัน


ได้ 5 หมื่น บิ๊กโชยแฉนศ.ชู 3 นิ้ว 
ดาวดินโวยลั่น อย่าปรักปรำ! 'ยงยุทธ'จ่อลา โฆษกรัฐบาล พท.บี้คดีปรส.

       น.ศ.กลุ่มดาวดิน โวย'บิ๊กโชย'ปรักปรำรับจ้างชูนิ้วยื่นร้องกสม. หลัง"พล.ท.กัมปนาท" อ้าง การข่าว ระบุน.ศ.ขอนแก่นรับจ้าง 5 หมื่น จากนักการเมืองท้องถิ่น หวังชิงพื้นที่ข่าว จาก บิ๊กตู่ ด้านกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชนร่อนแถลงการณ์ จี้เลิกอัยการศึก "นายกฯตู่" นำคณะเยือนมาเลย์อย่างเป็นทางการ ก็เจอประท้วง บิ๊กตู่ยันไม่โกรธ อยากให้เข้าใจรัฐบาลทำงานหนัก เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ 

บิ๊กตู่นำคณะเยือนมาเลย์

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำคณะเดินทางเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการ อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ. อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก 

สำหรับกำหนดการ นายกฯและคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงกัวลา ลัมเปอร์ เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าไทย 1 ช.ม.) จากนั้นเวลา 10.40 น. มีพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ที่ลานหน้าทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย ก่อนหารือกลุ่มเล็กกับดาโต๊ะ ซรี นาจิบ ราซัก นายกฯมาเลเซีย ที่ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี และเวลา 11.45 น. มีการหารือเต็มคณะ ที่ห้อง เพอร์ดานา มีตติ้ง รูม ชั้น 3

เป็นลำดับ5ในอาเซียน

จากนั้นเวลา 13.00 น. นายกฯมาเลเซีย เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นายกฯและคณะ ที่ เสรี เพอร์ดานา บ้านรับรองนายกรัฐมนตรี ก่อนที่เวลา 15.00 น. พบหารือ กับทีมไทยแลนด์ ผู้แทนภาคธุรกิจ และชุมชนชาวไทยในมาเลเซีย ที่โรงแรม แมริออท ปุตราจายา และเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ในเวลา 17.30 น.และถึงประเทศไทย เวลา 18.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเยือนมาเลเซีย ครั้งนี้ เป็นการเยือนประเทศอาเซียนลำดับที่ 5 หลังเดินทางเยือนพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เพื่อแนะนำตัวตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำอาเซียน พร้อมติดตามความก้าวหน้าและการกระชับความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับมาเลเซียในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาความเชื่อมโยง การพัฒนาพื้นที่ชายแดน รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค

เจรจาร่วมตั้งเมืองยาง

เวลา 11.45 น. ที่ห้องเพอร์ดานา มีตติ้ง รูม ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาลมาเลเซีย พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะ หารือทวิภาคีเต็มคณะกับ ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัก นายกฯมาเลเซีย โดยย้ำถึงการกระชับความสัมพันธ์กับมาเลเซียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเชื่อมโยงพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 6 ระหว่างนายกฯไทยและมาเลเซีย ในช่วง ครึ่งแรกของปี 2558 ไทยยังเสนอให้มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 13 และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (JDS) ครั้งที่ 4 ด้วย

ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจ ทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องในการตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนล้านบาทในปี 2556 ให้ได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2558 ซึ่งไทยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พิจารณาปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้เอื้อ ต่อการลงทุนของต่างประเทศด้วย รวมทั้งร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ส่วนโครงการ Rubber City ระหว่าง จ.สงขลา กับรัฐเคดะห์ ซึ่งทั้งไทยและมาเลเซียร่วมกันผลักดัน ไทยศึกษาการจัดตั้ง Rubber City บริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ที่บ้านฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อส่งเสริมอุตสาห กรรมแปรรูป เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ยางและส่งเสริมการจ้างงาน

ไม่โกรธมีคนประท้วงที่มาเลย์

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวระหว่างพบปะหารือกับทีมไทยแลนด์ ผู้แทนภาคธุรกิจและชุมชนชาวไทยในมาเลเซียว่า รัฐบาลทำงานเดินหน้าแก้ปัญหาของประเทศในทุกมิติ ทำให้ประเทศไม่ติดกับดักหรือหยุดชะงัก เพื่อให้พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งตลอดเวลา ที่บริหารงานได้ทำให้ประเทศดีขึ้น บ้านเมืองสงบ มีเสถียรภาพและเดินหน้าสร้างความปรองดอง แม้ในการมาเยือนมาเลเซียได้รับรายงานจากรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศว่ามีผู้มาชุมนุมประท้วงต่อต้านตนประมาณ 20 คน ซึ่งตนไม่ได้โกรธแค้น และไม่เคยปฏิเสธความเป็นประชาธิปไตย แต่ขอให้เข้าใจรัฐบาลที่ต้องเข้ามาทำงานในช่วงปฏิรูปและแก้ปัญหาของบ้านเมือง จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันด้วย เพราะมีแต่ช่วงนี้เท่านั้น ที่จะดูแลคนได้อย่างเสมอภาค คือการให้ประโยชน์ทั้งเสียงส่วนใหญ่และเสียงส่วนน้อย ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ให้ประโยชน์แต่คนส่วนใหญ่ 

นายกฯ กล่าวว่า จึงขอให้ทุกคนมองประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและเข้าใจรัฐบาลด้วย ยืนยันว่าการเข้ามาบริหารประเทศครั้งนี้ ทหารไม่ได้ต้องการมาสืบอำนาจ แต่เมื่อมีความขัดแย้งและเกิดปัญหาจึงจำเป็นต้องมาดูแล ที่ผ่านมาตนใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์เท่านั้น ไม่ได้ใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง และไม่ได้มองว่าใครเป็นศัตรู อยากให้ทุกคนเข้าใจรัฐบาลที่ทำงานกันอย่างหนัก แก้ปัญหาในทุกเรื่อง 

โดนม็อบจี้เลิกอัยการศึก

"การเป็นประชาธิปไตยของไทยต้องเป็นเหมือนประเทศอื่นๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แล้วสร้างให้ประชาชนมาขัดแย้งกันเอง ที่ผ่านมาผมเหนื่อย พวกพี่ๆ น้องๆ ผมที่เข้ามาทำงาน ก็เหนื่อย ทั้งที่ควรจะได้พักกันแล้ว มาทำงานมีแต่คนด่า ซึ่งการรัฐประหารในปี 2549 กับ 2557 ก็แตกต่างกันเพราะขณะนั้นมีเพียง ไม่กี่สี แตกต่างจากครั้งนี้ที่มีความแตกแยกจำนวนมาก จึงทำให้การแก้ปัญหายาก ขึ้นด้วย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่พล.อ. ประยุทธ์มาเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่ามีสมาชิกกลุ่มเอ็นจีโอในมาเลเซีย พร้อมด้วยส.ส.และสมาชิกพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย รวมตัวชุมนุมกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยชูป้ายต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็น นายกฯที่มาจากรัฐประหาร และยังอ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม เนื้อหาเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซียไม่ยอมรับการบริหารของรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลและคสช.ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในไทยทันที นอกจากนั้นขอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด รวมถึงนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องโทษคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และให้รัฐบาลมาเลเซียใช้สถานะความเป็นประธานอาเซียนประเทศต่อไป กดดันให้ไทยเร่งกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว และ จัดเลือกตั้งในไทยเพื่อให้คนไทยได้ตัดสิน เลือกอนาคตของประเทศตามกระบวนการประชาธิปไตย จากนั้นกลุ่มคนดังกล่าวได้ยื่นแถลงการณ์ให้กับตัวแทนของสถานเอกอัคร ราชทูตไทย

บิ๊กตู่ลั่นทำดี-เมินประท้วง

เวลา 19.00 น. ที่บน.6 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ พูดเรื่องการนิรโทษกรรม โดยนายกฯย้อนถามว่านิรโทษกรรมใคร แล้วใครเป็นผู้เสนอก็ไปว่ากันมา เรื่องนี้ตนไม่รู้ ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ วันนี้เอาประเทศชาติเดินหน้าไปก่อน เรื่องกฎหมายไปว่ากันมา คนทำผิดกฎหมายก็ว่ามา วันนี้มีหรือเปล่า กระบวนการยุติธรรมยังมีหรือเปล่า ศาล อัยการ ตำรวจ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญยังมีครบหรือไม่ก็ปล่อยให้เขาทำงานกัน ตนจะเดินหน้าประเทศ แต่ก็ยังมีการรบกันจะเป็นจะตายอยู่นี่ เรื่องปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาที่มีอยู่มันควรเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องแก้กฎหมายให้ทันสมัยหรือไม่ ความจริงควรทำจากทุกรัฐบาลแล้วทำไมวันนี้ต้องเหลือมาให้ตนทำ

เมื่อถามว่าการเดินทางไปทั้งในและต่างประเทศมีคนต่อต้าน เป็นอุปสรรคการทำงานหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่เป็นอุปสรรค จะเป็นได้อย่างไร เขาอยากประท้วงก็ประท้วงไป แต่อยากถามว่าตนทำเสียหรือทำดี ถ้าทำดีคนอยากให้ตนทำก็ช่วยดูแลหน่อย แต่ถ้าคิดว่าทำถูกแล้วก็ว่าตนไปเรื่อยๆ วันหน้าก็ลำบากกันเองก็แล้วกัน 

ถามกลัวไหม"อัยการศึก"

เมื่อถามว่ากรณีพล.ท.กัมปนาทระบุนักศึกษาดาวดินที่ออกมาเคลื่อนไหวรับเงินจากนักการเมืองท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังสอบอยู่รึเปล่า ตนไม่รู้ การพูดก็ต้องดูว่ามีหลักฐานอะไรหรือเปล่า ต้องไปว่ากันมา เมื่อถามว่าแสดงว่ามีการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองอยู่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สื่อก็รู้จะมาถามตนทำไม กลุ่มการเมืองไหนไม่รู้เรื่องเลยหรือ 

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่ากฎอัยการศึกที่มีอยู่ทำอะไรไม่ได้เลย นายกฯ กล่าวว่า "จะให้ทำอะไร คงต้องไปถามคนโน้น ผมถามว่า กลัวไหม ไปถามสิว่ากลัวไหม ถ้าไม่กลัวเดี๋ยวก็จะได้รู้ว่าไม่กลัว" 

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการประท้วงขณะลงพื้นที่ ว่า ไม่กลัว ตนเป็นผู้รักษากฎหมาย กลัวคนทำผิดกฎหมายไม่ได้ ถามหน่อยแล้วจะเข้าข้างใคร สื่อจะเขียนให้ใคร ถ้าจะตักเตือนให้คนสงบ เตือนให้คนให้กำลังใจรัฐบาลทำงาน สื่อเองก็ควรชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังทำงาน ดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำ ดูปัญหาราคาข้าว ยางพารา การเดินหน้าค้าขาย การส่งออก ปีใหม่ชาวบ้านไม่มีเงินใช้ก็หาของราคาถูกมาจำหน่าย รัฐบาลขับเคลื่อนทุกอัน อยากถามนักกับคนที่มาประท้วง การเมือง การเลือกตั้งจะเลือกใครไปคิดกันเอาเอง

เมื่อถามว่าถ้าวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางไปต่างประเทศ จะพิจารณาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เขาก็กรองกันขึ้นมาเอง แล้วตัดบทเดินออกนอกห้องแถลงข่าวทันที 

คสช.ตั้งผอ.ปรองดองคนใหม่

รายงานข่าวจากคสช. แจ้งว่า หลังจากพล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ อดีตผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ ได้รับการแต่งตั้ง เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และทำหน้าที่ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส) ทางคสช.จึงแต่งตั้ง พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองเสนาธิการทหารบก (สายงานยุทธการ) ทำหน้าที่ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) คนใหม่แทนพล.ท.กัมปนาท โดยวันที่ 4 ธ.ค.นี้ จะแถลง"คิกออฟ โครงการคนไทยหัวใจเดียวกัน" ที่กองทัพบก เพื่อเปิดเวทีในระดับฐานรากของชุมชน และสถาบันอุดมศึกษา ทั่วประเทศ 4,000 กว่าเวที ตามโครงการที่รัฐบาลมอบให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเปิดช่องทางการแสดงความคิดเห็น เพื่อนำสู่ความปรองดอง

"ยงยุทธ"จ่อลาโฆษกครม.

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ มีแนวคิดจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คาดว่ามีสาเหตุจากความอึดอัดในการทำงาน และปัญหาการประสานงานภายในทีมโฆษกรัฐบาล ซึ่งระยะหลังร.อ.นพ.ยงยุทธ เปรยปัญหาเรื่องการทำงานกับคนใกล้ชิดบ่อยครั้ง 

รายงานข่าวแจ้งว่า ร.อ.นพ.ยงยุทธเตรียมยื่นใบลาออกจากโฆษกรัฐบาล ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ หลังเสร็จจากภารกิจในช่วงงานเฉลิมพระเกียรติฯที่ได้รับมอบหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการเสนอข่าวบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งระบุเป็นของร.อ.นพ.ยงยุทธ เข้าร่วมประมูลและได้รับงานจากภาครัฐรวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทในช่วงก่อนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาบริหารประเทศ จนมีผู้สื่อข่าวสอบถามพล.อ.ประยุทธ์ถึงกรณีดังกล่าวและเป็นที่มาของการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะไม่ให้มีทุจริตเกิดขึ้นในรัฐบาลอย่างเด็ดขาด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร.อ.นพ.ยงยุทธมีความอึดอัดใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ในรัฐบาลชุดนี้ด้วย

บิ๊กป๊อกชี้เลือกตั้งให้ฟังนายกฯ

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุอาจเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2559 ว่า อย่างที่ทราบว่ารัฐธรรมนูญน่าจะเสร็จในปี 2558 จากนั้นจะออกพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอีก 2-3 เดือนจึงจะเลือกตั้งได้ กรอบเวลาที่นายวิษณุระบุ จึงน่าจะมีความเป็นไปได้ตามที่ประมาณการไว้ เพราะนายวิษณุเชี่ยวชาญการทำกฎหมายและขั้นตอนต่างๆ มากกว่าตน

เมื่อถามว่าหากรัฐธรรมนูญต้องทำ ประชาพิจารณ์หรือรับฟังความเห็นประชาชน กระทรวงมหาดไทยจะดูแลหรือมีหน้าที่หรือไม่อย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องปรึกษาหารือกันก่อน ฟังความเห็นของ นายกฯ ซึ่งรับผิดชอบภาพรวมทั้งหมดก่อนจึงจะมีข้อสรุปได้ 

ปธ.ปปช.รับควรให้อัยการส่งฟ้อง

ที่หอประชุมกองทัพบก นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี อนุกรรมา ธิการยกร่าง คณะที่ 8 ว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ เสนอให้ป.ป.ช.มีอำนาจส่งฟ้องคดีโดยตรงต่อศาล ไม่ต้องผ่านอัยการ จะทำให้การทำงานของ ป.ป.ช.รวดเร็วขึ้นว่า ตนยังไม่เห็นข้อเสนอดังกล่าว แต่ความจริงการส่งฟ้องโดยผ่านอัยการถือเป็นการดี เพราะอัยการสูงสุดเป็นอัยการของประเทศ จะได้ช่วยกลั่นกรองเรื่องต่างๆ ก่อน 

"กฎหมายระบุชัดเจนว่าต้องฟ้องผ่านอัยการ แต่บางเรื่องการฟ้องอาจมีความเห็น ไม่สอดคล้องกัน กฎหมายเปิดให้ป.ป.ช. ฟ้องได้เอง ซึ่งเป็นบางกรณีที่มีความจำเป็นก็ฟ้องเองได้โดยตรง ตรงนี้จะต้องปรับปรุงกฎหมายต่อไป เชื่อว่าเป็นเฉพาะกรณีมากกว่า คิดว่าตามหลักจริงๆ ควรผ่านอัยการ เพราะอัยการจะได้ช่วยกลั่นกรองต่างๆ เพื่อความรอบคอบ แต่การปรับปรุงกฎหมายก็ต้องดูสาระสำคัญในกฎหมายด้วย" นายปานเทพกล่าว

กมธ.ชงใส่ปฏิรูปพรรคในรธน.

ที่รัฐสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ โฆษก กมธ.ปฏิรูปการเมือง ของสปช. แถลงผลประชุมว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะเบื้องต้นให้บรรจุประเด็นปฏิรูปพรรคการเมืองไว้ ในร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้ 1.พัฒนาสถาบันพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง โดยสมาชิกต้องมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ การส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคในพื้นที่นั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนแทรกแซง 2.พรรคมีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ

3.การยุบพรรคทำได้เฉพาะกรณีที่พรรคทำผิดร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติ 4.ควรให้การสนับสนุนพรรค ทั้งเรื่องทุนและการดำเนินงานอย่างอื่น 5.องค์กรตรวจสอบจริยธรรมพรรค และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ 6.นักการเมืองต้องเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งใน ข้อนี้มีกมธ.ขอสงวนความเห็นว่า นักการเมืองจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีองค์กรควบคุมพรรค ส่วนนักการเมือง ท้องถิ่นต้องเป็นสมาชิกพรรคด้วยหรือไม่นั้น ที่ประชุมเห็นว่าต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีก

เอนกชี้"นิรโทษ"ต้องทำให้ได้

นายประสารกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าประเด็นที่ควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญคือ 1.บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการศึกษา เรียนรู้ทางการเมืองตามสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง กำหนดให้มีองค์กรรับผิดชอบ และกระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน 2.รัฐต้องส่งเสริมให้มีกระบวนการและกลไกสร้างปรองดอง เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกราชของชาติ ทั้งในยามปกติ และกรณีเกิดความขัดแย้ง โดยมีพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการปรองดอง และห้ามไม่ให้พรรค กลุ่มการเมือง สร้างความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน และ 3.บุคคลย่อมมีสิทธิ และหน้าที่มีส่วนร่วมการใช้อำนาจรัฐ และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะและของรัฐ โดยส่งเสริมให้ตั้งสภาพลเมืองเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว โดยรัฐต้องจัดให้มีระบบและกลไกส่งเสริมการ มีส่วนร่วม

วันเดียวกัน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 กล่าวว่า เรื่องการนิรโทษกรรมต้องทำให้ได้ เพื่อให้เกิดความปรองดองกัน ตอนนี้เสนอเรื่องดังกล่าว ให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และวันที่ 2 ธ.ค.จะเริ่มพูดคุยกับกมธ.ชุดต่างๆ ทั้งนี้ต้องให้คนกลางดำเนินการเรื่องนิรโทษกรรม เพราะหากรัฐบาลดำเนินการอาจทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจและไม่ควรพูดคุยกันมาก เพราะ จะวนไปมาอาจทำไม่สำเร็จได้ เรื่องดังกล่าวอยู่ที่จิตใจ หากจิตใจดีการทำนิรโทษกรรม ก็จะสำเร็จได้

ปชป.ติงคิดให้รอบคอบ

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสนช. กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะนิรโทษกรรม แต่ต้องนำคนจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องมาร่วมพูดคุย ในหลักการก่อนว่าจะนิรโทษกรรมให้ ใครบ้าง เมื่อยอมรับกันแล้วก็เขียนกฎหมายให้ชัดเจนจะนิรโทษคดีประเภทใดบ้าง ช่วงเวลาไหน แต่ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนแค่กรอบ อาจเกิดการตีความอีก และอย่าเหมารวมว่าการนิรโทษกรรมจะทำให้เกิดการปรองดองได้

ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส. กล่าวว่า กปปส.ไม่เคยร้องขอให้นิรโทษกรรม การนิรโทษกรรมต้องแยกออกจากปรองดอง เพราะบางครั้งการนิรโทษกรรมจะนำไปสู่ความแตกแยกได้ และควรนำผลศึกษาของคณะกรรมการชุดต่างๆ มาพิจารณาและถามคนที่ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งหลักการนิรโทษกรรมต้องแม่น อย่าทำลักษณะสุดซอย

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า ข้อเสนอครั้งนี้ถือเป็นของเล่นใหม่ของสปช.และสนช. ที่คิดว่าจะนำสู่การปรองดองได้ คนไทยเป็นโรคลืมง่ายเพราะเรื่องนี้สถาบันพระปกเกล้าเคยศึกษาแล้ว ซึ่งการนิรโทษกรรมต้องทำตามกระบวนการคือ 1.ค้นหาศึกษาความจริงก่อน 2.เปิดเผยความจริง 3.จัดการความจริง และ 4.นิรโทษกรรม แต่ตอนนี้กลับเอาขั้นตอนสุดท้ายขึ้นมาปฏิบัติก่อน โดยไม่สืบสวนหาความจริง


ปลูกต้นไม้ - นางนราพร จันทร์โอชา ภริยา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พร้อมคณะคู่สมรสครม. ร่วมปลูกต้นไม้ถวายเป็นพระราชกุศลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก กทม. เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.

มาร์คห่วงดัน"นิรโทษฯ"

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์ถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีข้อเสนอให้เลือกครม. และนายกฯ โดยตรงว่า ถ้าเลือกผู้บริหารโดยตรง แต่ไม่มีรูปธรรมว่ากลไกการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยสภาหรือฝ่ายอื่นๆ จะเข้มแข็งขึ้นอย่างไร ก็อันตราย เนื่องจาก ผู้ได้รับเลือกจะอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง ทำให้ตรวจสอบยากยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสนอให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมัน มีข้อดี 2 ประการ คือ 1.พูดถึงคะแนนเสียง ของประชาชนว่า ทำอย่างไรให้ทุกคะแนน มีความหมาย และ 2.ต้องการให้สัดส่วน ในสภา มากกว่าใช้คะแนนเสียงที่เลือกตัวส.ส. แต่รายละเอียดจะซับซ้อนพอสมควร เห็นว่าทุกคนต้องเริ่มต้นจากการบอกข้อเสนอแต่ละข้อก่อนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อดูว่าสอดคล้องกับเรื่องอื่นหรือไม่

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงข้อเสนอนิรโทษกรรมว่า ปัญหาว่าจะช่วยนิรโทษกรรม ผู้ชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองนั้นต้องดูจังหวะเวลา และสถานการณ์ที่มีความนิ่ง ถ้าสถานการณ์ไม่นิ่งจะเกิดคำถาม เช่น นิรโทษย้อนหลังกี่ปี หรือคนที่ฝ่าฝืนกฎอัยการศึกและมาแสดงออกทางการเมือง ในเวลานี้ แต่ไม่ได้กระทบชีวิตทรัพย์สินของ คนอื่นจะได้รับการนิรโทษหรือไม่ ถ้าบอกว่าได้ แล้วคสช.รับได้หรือไม่ เพราะจะทำให้การควบคุมสถานการณ์ตอนนี้ เป็นปัญหาอีก แต่ถ้าไม่ให้เป็นเงื่อนไข 2 มาตรฐาน อีกว่าทำไมแสดงออกหรือชุมนุมทางการเมือง ได้ ยกเว้นตามที่คสช.ห้าม ฉะนั้นคิดว่าวันนี้บ้านเมืองมีปัญหาเยอะมาก ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาส่วนรวมให้ได้ หากหยิบยกเรื่องปลีกย่อยแล้วนำไปสู่ความขัดแย้ง สุดท้ายเรื่องใหญ่ๆ ก็ไม่ได้ทำ

"จุฬาฯ"แถลงต้านรัฐประหาร

วันเดียวกันนี้ กลุ่มประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ออกแถลงการณ์ ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ที่ชื่อว่า Chulalongkorn Community for the People (CCP) เนื่องในโอกาสครบ 6 เดือนการรัฐประหาร โดยระบุว่า ที่ผ่านมาหลังกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองจากประชาชน ปรากฏชัดว่ามีการใช้อำนาจกฎอัยการศึกละเมิดสิทธิประชาชน เริ่มตั้งแต่ด้านพื้นฐานที่สุดอย่างการแสดงความคิดเห็น มีการประกาศเรียกประชาชนที่คิดต่างจากตนมากกว่า 500 คน และมีผู้ถูกจับกุมเกิน 200 คน

นอกจากนี้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาถูกคุกคามอย่างหนัก เสรีภาพทางวิชาการถูกปิดกั้นด้วยการสั่งยกเลิกงานเสวนาวิชาการจำนวนมาก ออกคำสั่งให้ส่งเอกสารขออนุญาตก่อนจัดการเสวนา นักวิชาการไม่สามารถแสดงความ คิดเห็นแม้ในวงเสวนาวิชาการ รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปสอดแนมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาและงานเสวนาวิชาการต่างๆ ทั่วประเทศ 

จี้เลิกใช้กฎอัยการศึก

กลุ่มประชาคมจุฬาฯ ในฐานะกลุ่มนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่รักประชาธิปไตย จึงประกาศแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหาร และมีข้อเรียกร้อง ขอให้คสช. ยุติการใช้กฎอัยการศึก หยุดการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ขอให้คสช. คืนอำนาจอธิปไตยสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง เพื่อให้ได้รัฐบาลของประชา ชนเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศอย่างถูกต้องตามหลักการสากล ที่สำคัญที่สุด คือเพื่อความเท่าเทียมกันของคนทุกเสียง อันเป็นหัวใจในการบริหารประเทศแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง พร้อมทั้งเรียกร้องสโมสรและองค์การนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศปกป้องเสรีภาพ ในการแสดงออกทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา ไม่ยอมรับและไม่สนับสนุนอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตย

คสช.อ้างใช้อัยการศึกเท่าที่จำเป็น

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และทีมโฆษก คสช. ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชนออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลและคสช.ยุติการประกาศใช้กฎอัยการศึกว่า ต้องทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกันมากขึ้น แต่ละประเด็นอาจมีมุมมองไม่ตรงกันโดยเฉพาะช่วงเวลาพิเศษแบบนี้ แต่ตนมั่นใจการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ส่งผลบวกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องอาชญากรรมต่างๆ ที่ลดลงไปมาก เมื่อมีเจ้าหน้าที่มาดูแลความเรียบร้อยมากขึ้น ทั้งนี้การแสดงออกใดๆ ของคนในสังคมพยายามประคับประคองให้ออกมาในเชิงสร้างสรรค์ สามารถจัดระเบียบและเกิดความเรียบร้อยสังคมได้ดีขึ้น การดำเนินชีวิตประจำวันปกติของคนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่พบว่าได้รับผลกระทบใดๆ แต่คสช.พยายามหาข้อมูล เพิ่มเติมให้มากขึ้น

"ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายบ้านเมืองปกติก่อนเป็นลำดับแรกเสมอ ไม่ใช่จะอ้างอิงกฎอัยการศึกเสมออย่างที่บางคนเข้าใจ ยืนยันว่าใช้เพียงบางส่วนตามความจำเป็น ไม่อยากให้ไม่เห็นด้วยในเชิงความรู้สึกหรือในเชิงกระแสตามกัน อยากให้มองโดยใช้หลักเหตุผลปัจจัยองค์ประกอบในทุกๆ มิติด้วย" พ.อ.วินธัยกล่าว

บิ๊กโชยอ้างจ้างนศ.ชู 3 นิ้ว

ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกลุ่มประชาคมจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ให้ยุติกฎอัยการศึกว่า เป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ คสช.พูดคุยกับอธิการบดีและคณบดีของมหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว เพื่อทำความเข้าใจกับนิสิตกลุ่มดังกล่าวว่ารัฐบาลและคสช.ไม่ได้ดำเนินการแบบเผด็จการ แต่ขณะนี้บ้านเมืองไม่อยู่ในภาวะปกติ เราจึงพยายามพูดคุยกับผู้ที่คิดเห็นแตกต่าง มอง ในแง่บวกว่าทุกคนหวังดีต่อประเทศ อย่างไรก็ตามต้องยังไม่มีเรื่องการเมือง มีแต่เรื่องความถูกต้องเป็นหลักมากกว่าความถูกใจ บ้านเมืองจะได้ไม่บิดเบี้ยว 

พล.ท.กัมปนาทกล่าวถึงการตรวจสอบกลุ่มนักศึกษา ม.ขอนแก่น 5 คน ที่ชูนิ้วแสดงสัญลักษณ์ระหว่างการลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น ของนายกฯ ว่า คสช.พูดคุยกับอธิการบดีและคณบดีแล้ว นักศึกษาบางกลุ่มมีกลุ่มการเมืองเกี่ยวข้อง ในทางการข่าวที่ตนได้รับนั้นพบว่านักศึกษาดังกล่าวถูกว่าจ้างจากนักการเมืองในพื้นที่ 5 หมื่นบาท เพื่อต้องการแย่งชิงพื้นที่สื่อของนายกฯ โดยหนึ่งในนักศึกษามีบิดาเป็นทนายความ สำหรับข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น ยืนยันว่ากฎอัยการศึกยังจำเป็นต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่เบื้องต้นจะใช้กฎหมายปกติโดยให้ตำรวจเป็นผู้ทำงานหลัก ส่วนงานเร่งด่วนจะให้เจ้าหน้าที่ทหารดำเนินการเท่านั้น ยืนยันว่ากฎอัยการศึกไม่ได้เป็นอันตรายต่อคนดี และเราดำเนินการด้วยความถูกต้อง

ยังไม่เห็นหนังสือ"ปู"ขอไปตปท.

พล.ท.กัมปนาท ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำหนังสือถึงคสช. ขออนุญาตเดินทางไป ต่างประเทศช่วงปีใหม่ว่า ยังไม่เห็นหนังสือ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎกติกาบ้านเมือง ซึ่งไม่มีอะไรมาก การพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการจะพิจารณา 

พล.ท.กัมปนาทยังกล่าวถึงข้อกังวลว่า การไปต่างประเทศของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเป็นการเดินทางไปแล้วไม่กลับ เพราะ เป็นช่วงที่สนช.ดำเนินกระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่งนายกฯว่า ตนไม่เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่เดินทางกลับ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎกติกาและมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเดินหน้าประเทศไทย หาก ใช้สองมาตรฐาน ปัญหาก็จะกลับมาเหมือนเดิมอีก

น.ศ.โวย"บิ๊กโชย"ปรักปรำจ้างชูนิ้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) ได้ส่งหนังสือถึงนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยระบุว่า กรณีพล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผบ.กกล.รส. ให้สัมภาษณ์ปรักปรำกล่าวหานักศึกษากลุ่มดาวดินที่ชู 3 นิ้ว เพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อของนายกฯโดยได้รับการว่าจ้างมา 50,000 บาทจากนักการเมืองในพื้นที่นั้น ไม่ได้เป็นไปตามเนื้อหาข่าวดังกล่าว จึงอยากให้ กสม.ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

ด้านนพ.นิรันดร์กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว โดยวันที่ 3 ธ.ค. เวลา 11.00 น. จะเชิญนักศึกษากลุ่มดาวดินมาชี้แจงกรณีดังกล่าว ส่วนข้อมูลที่ว่ามีการจ้างวานนั้น อาจมีคนต้องการสร้างสถานการณ์ให้เกิดการเข้าใจผิดกันเพราะนักศึกษากลุ่มดาวดินได้รับรางวัลจากกสม.ที่รวมกลุ่มกันช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและนักศึกษากลุ่มนี้ก็เข้าใจปัญหาของประชาชนอย่างดี การที่ออกมาให้ข่าวลักษณะนี้อาจทำให้สังคมเกิดความเกลียดชังกัน เชื่อว่าเงินเพียงแค่นี้ไม่สามารถซื้ออุดมการณ์ของนักศึกษากลุ่มดาวดินนี้ได้

เพื่อไทยทวงคดี"ปรส."

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คดี ปรส.หมดอายุความไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งที่สังคมมีความสงสัยในเรื่องนี้มากเพราะมีเรื่องผิดปกติ ตั้งแต่การออกกฎหมายของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น เพื่อให้กองทุนรวมไม่ต้องเสียภาษีเงินได้จากการซื้อและขายทรัพย์สินนี้ การให้กองทุนรวมย้อนกลับมาเซ็นสัญญาแทนผู้ประมูลชนะ เพื่อไม่ต้องเสียภาษี การไม่ยอมให้เปิดเผยผู้ได้รับประโยชน์จากกองทุนรวมนี้ การให้บริษัทลูกของบริษัทที่ปรึกษาที่เป็นผู้จัดกองทรัพย์สินเข้าร่วมประมูล ซึ่งมีหลักฐานทำผิดอย่างชัดเจน ที่ป.ป.ช. สามารถตรวจสอบได้ แต่กลับไม่ดำเนินการ ซึ่งไม่ต่างกับคดีบริจาคเงินของพรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้านบาท ที่มีความผิดปกติชัดเจน แต่กกต.ขณะนั้นปล่อยให้หมดอายุความ ไม่สามารถดำเนินคดีได้แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ผิด 

"เท่ากับตอกย้ำการดำเนินการสองมาตรฐานที่เกิดขึ้นซ้ำซาก และเป็นสาเหตุของปัญหาแตกแยกของสังคม หากรัฐบาลและคสช. ที่มีอำนาจเต็มจะต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมอย่างจริงใจ ควรให้กฎหมายมาตรา 44 สั่งดำเนินการกับคดีนี้อย่างเท่าเทียม รวมถึงคดีเรื่องข้าวในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ด้วย ใครผิดอย่างไรก็ว่าตามหลักฐานไม่ว่าพรรคไหน ต้องมีมาตรฐานเดียวกันในทุกเรื่อง จะเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาความแตกแยกของประเทศนี้ได้" นายพิชัยกล่าว

กต.อนุมัติ"วิรัช"ถอนตัวกคพ.

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ห้องประชุม อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เป็นประธานประชุมก.ต. ครั้งที่ 28/2557 มีวาระพิจารณามติครม.ที่แต่งตั้งนายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกา เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) และแต่งตั้งนายอดุลย์ ขันทอง ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นที่ปรึกษาพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมได้ขอถอนวาระดังกล่าวเนื่องจากนายวิรัชและนายอดุลย์ ได้ขอถอนตัวจากการเสนอชื่อในตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมก.ต.พิจารณาแล้วมีมติอนุญาตให้ถอนวาระดังกล่าว

ส่วนวาระพิจารณาเรื่องที่นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ภาค 9 ซึ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหนังสือขอตัวนายธานี สิงหนาท ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ไปปฏิบัติงานผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. และนายสุริยัณห์ หงส์วิไล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา ไปปฏิบัติงานผู้ชำนาญการประจำตัวสนช.นั้น ปรากฏว่า นายมนตรีได้ขอถอดเรื่องการขอตัวผู้พิพากษาทั้งสองแล้ว ขณะเดียวกันผู้พิพากษาทั้งสองก็ขอถอนตัวจากตำแหน่งดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นสำนักงานศาลยุติธรรมจึงเสนอที่ประชุมก.ต.ขอถอนวาระดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติอนุญาต

ด้านนายวิรัชเผยว่า ตนและคณะตัดสินใจถอนตัวเพื่อแสดงสปิริต เมื่อเราต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาและดูแลกฎหมายต่างๆ เพื่อรักษาสถาบันของเรา แต่เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร หากวันหน้าเกิดความเสียหายขึ้นก็ต้องมีคนรับผิดชอบ

โปรดเกล้าฯ"บิ๊กป๊อก"นายกองใหญ่ 

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. กระทรวงมหาดไทยจัดให้มีพิธีรับสัญญาบัตรยศกองอาสารักษาดินแดน และเครื่องหมาย "รักษาดินแดนยิ่งชีพ" ซึ่งพิธีดังกล่าวจัดขึ้นเนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็น "นายกองใหญ่" กองอาสารักษาดินแดน ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดนกระทรวงมหาดไทย อัญเชิญพระปรมาภิไธย ภปร ประดิษฐานบนเครื่องหมาย "รักษาดินแดนยิ่งชีพ" เพื่อมอบให้แก่ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน และ ผู้ประกอบคุณประโยชน์ต่อกิจการกองอาสารักษาดินแดน เป็นเครื่องเตือนใจให้ตระหนักถึงภารกิจหน้าที่ในการรักษาดินแดนไว้ยิ่งกว่าชีวิต ซึ่งปีนี้กระทรวงมหาดไทย โดยกองอาสารักษาดินแดน จัดพิธีรับสัญญาบัตรยศกองอาสารักษาดินแดน และเครื่องหมายรักษาดินแดนยิ่งชีพ ขึ้นที่ห้องรับรองกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้เข้ารับเครื่องหมายรักษาดินแดนยิ่งชีพ 9 ราย

"เมียบิ๊กตู่"นำคู่สมรสครม.ทำบุญ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 ธ.ค. ที่ธรรมสถานเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก นางนราพร จันทร์โอชา ภริยาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำคณะคู่สมรสของคณะรัฐมนตรีทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์น้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธ.ค. 2557

ในโอกาสนี้ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้บริเวณหน้าอาคารธรรมสถานฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ก่อนเข้าสักการะพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานภายในอาคารธรรมสถานฯ และจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้นเดินชมนิทรรศการที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์และสิ่งประดิษฐ์จากข้าวของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในหลักสูตรข้าวเพื่อชีวิต โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 4

ต่อมาเวลา 10.15 น. พระภิกษุสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นนางนราพรพร้อมคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรีร่วมถวายปัจจัยไทยธรรมและภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ ก่อนรับประทานอาหารร่วมกัน ภายในงานยังมีนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ที่จะบวชสามเณรรากแก้วศาสนทายาท 9 คน และเนกขัมจารี 9 คน ในวันที่ 5 ธ.ค. ถึงวันที่ 23 ธ.ค. เป็นเวลา 19 วัน ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เข้าร่วมพิธีด้วย 

โดยนางนราพรกล่าวว่า กิจกรรมการบวชสามเณรรากแก้วศาสนทายาทและเนกขัมจารีในวันที่ 5 ธ.ค. ถือว่าสอดคล้องกับงานในวันนี้ที่เราจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธ.ค. 2557 รู้สึกดีใจและประทับใจที่เด็กๆ มีศรัทธาแรงกล้าและจะเข้าบวชถึง 19 วัน ตนขออนุโมทนาบุญด้วย นับเป็นบุญกุศลอันสูงส่ง ซึ่งในการบวชจะทำให้เด็กๆ มีความสำรวมและเป็นระเบียบเรียบร้อยจากการเข้าปฏิบัติธรรม เด็กๆ เหล่านี้ถือเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ของไทยที่จะสืบทอดและจรรโลงพระพุทธศาสนาสืบต่อไป

สาวเครียด-ชักขณะร้อง"รบ."ช่วย

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 1 ธ.ค. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เพื่อขอรับการคุ้มครองจากการถูกคุกคามโดยขู่ทางโทรศัพท์ ถูกกลั่นแกล้งและได้รับการปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม สืบเนื่องจากการแจ้งเบาะแสข้อมูลที่ส่อทุจริตในอดีตและผลประโยชน์ทับซ้อนในสวรส. ทีมสนับสนุนวิชาการของรมว.และรมช.สาธารณสุข กรรมการอีกหลายชุด รวมทั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้ทรงวุฒิ 7 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากครม. โดยนพ.สมเกียรติ ขอให้นายกฯ พิจารณาสั่งการให้ได้รับการคุ้มครองในฐานะพยาน ตามมาตรา 103/5 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบการการทุจริต พ.ศ.2542 เพื่อให้ทำหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวต่อไปโดยไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงาน ระหว่างนั้น เกิดเหตุระทึกขึ้นภายในศูนย์บริการประชาชนฯ เมื่อหญิงชาวจังหวัดสกลนคร ทราบชื่อ นางเสาวภาพ ทองธิราช ยื่นเรื่องร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม กรีดร้องเสียงดังว่า "ความเป็นยุติธรรมไม่มีในโลก นายกฯช่วยด้วย" ก่อนร้องไห้จนมีอาการตัวเกร็งและเป็นลม ทำให้ตำรวจหญิงที่ดูแลความเรียบร้อยในบริเวณดังกล่าวกรูเข้ามาเพื่อช่วยจับตัวให้คลายจากอาการเกร็งตัว ก่อนที่เจ้าหน้าที่ประจำรถฉุกเฉินจะเข้าปฐมพยาบาลบีบนวดและให้ดมยาดมจนอาการดีขึ้น 

ญาติระบุว่านางเสาวภาพ เครียดจากถูกโกงที่ดินซึ่งเป็นของมารดา ปลูกบ้านพักอาศัยนานกว่า 37 ปี โดยที่ดังกล่าวแบ่งซื้อมาในปี 2521 ต่อมาหลานของเจ้าของที่ดินที่แบ่งซื้อให้ ขอยื่นรังวัดที่ดินโดยกรมที่ดินออกโฉนดให้กับหลานของนางสด ในปี 2555 จึงฟ้องร้องดำเนินคดี ในชั้นศาล ปรากฏว่านางเสาวภาพแพ้คดีและศาลได้พิพากษาให้รื้อถอนบ้านออกจากที่ดินภายใน 30 วัน ส่งผลให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน จึงมาร้องขอให้ดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!