WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 03 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8771 ข่าวสดรายวัน


'บิ๊กตู่'ประกาศเอง เลิกโมโห ขอสื่ออย่ากวนอีก '
บิ๊กโชย'แจงวุ่น ปัดปรักปรำนศ. เพื่อไทยบี้คสช. ฟ้องชวน-มาร์ค กมธ.ชงรื้อก.ตร.

ฟังเพลง - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในชุดเสื้อสีเหลืองสดใส ยืนฟังคณะนักร้องนักแสดงละคร ร้องเพลงสร้างสรรค์ค่านิยมความเป็นไทย 12 ประการ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.

'บิ๊กตู่'ประกาศเลิกโมโห จะพูดจาเพราะๆ กำชับครม. ระมัดระวังความเห็น อย่าให้สังคมได้รับผลกระทบ 'บิ๊กโชย'โต้วุ่นจ้าง 5 หมื่น ปัดปรักปรำ อ้างแค่การข่าว ยังไม่ได้บอกว่าเชื่อน.ศ.รับจ้างชู 3 นิ้ว นักวิชาการหนุนนิรโทษ'ลายจุด'ชี้อย่างน้อยก็ควรได้ประกัน อนุกมธ.ร่างรธน.ชงลดจำนวนส.ส. รื้อโครงสร้างบริหารตร. เลิกระบบก.ตร. เพื่อไทยจี้คสช.เอาผิด คดีปรส.-ประกันข้าว

'บิ๊กตู่'ปลื้มเพลงค่านิยม 12 ข้อ
      เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 โดยพล.อ.ประยุทธ์ และครม.ส่วนใหญ่ สวมชุดผ้าไหมทรงพระราชทานสีเหลือง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม พรรษา 5 ธันวาคม 2557 ที่ก่อนหน้านี้มีการเชิญชวนให้ประชาชนใส่เสื้อสีดังกล่าว
      ก่อนการประชุมครม. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม นำศิลปินนักร้องจากค่ายแกรมมี่ ที่ขับร้องบทเพลงค่านิยม 12 ประการ และศิลปินนักแสดงจากละครสร้างสรรค์ค่านิยมความเป็นไทย 12 ประการ ร่วมกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การส่งเสริมค่านิยม 12 ประการ ตามนโยบายของคสช. อาทิ นายนภัทร อินใจเอื้อ น.ส.วิชญาณี เปียกลิ่น โดยมอบซีดีเพลงและวิดีโอค่านิยม 12 ประการกับนายกฯ และครม. โดยพล.อ. ประยุทธ์ขอให้ศิลปินนักร้องร่วมร้องเพลง'ค่านิยม 12 ประการ'ให้ฟังก่อนปรบมือให้ พร้อมกล่าวว่า ฟังแล้วชื่นใจ
     ขณะที่นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโน โลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นำคณะเข้ามอบแผ่นดีวีดีการ์ตูนแอมิเนชั่นบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง'พระมหาชนก' ให้แก่นายกฯและครม. ซึ่งจัดทำเป็นภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2557 และมีการเผยแพร่ในหลายช่องทาง ได้แก่ การฉายในโรงภาพยนตร์ การออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์และการแจกแผ่นดีวีดี

ขอให้ทุกคนเป็นคนดี-สามัคคี 
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังประชุมครม.ว่า เนื่องในเดือนมหามงคล ขอให้ทุกคนเป็นคนดี มีความรักสามัคคี มองประเทศชาติเป็นหลัก ดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง สร้างอนาคตให้ลูกหลานอยู่อย่างมีความสุข คนไทยทุกคนต้องคิดเช่นนี้ ซึ่งตนก็คิดอยู่ตลอดว่าจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นบ้าง ถ้าเรามองแต่ตัวเองก็คงไม่รอด ทำอะไรไม่ได้ ยิ่งเป็นข้าราชการเป็นรัฐบาล ต้องคิดอย่างที่ตนคิด ทำอย่างไรที่จะตอบคำถามได้ทุกอย่าง ให้ทุกคนสบายใจ มีความสุขและเกิดผลงานออกมาแม้จะไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 
        "ไม่ว่าผมจะสั่งให้ตายก็ตาม แม้คงไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะต้องโปร่งใส มีผลดีต่อประชาชนมากที่สุด สิ่งสำคัญที่ฝากถึงคนไทยทุกคนว่าอย่าไปคิด และเนื่องในวาระพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 87 พรรษา ตั้งใจจะทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ผมก็ตั้งใจว่าต่อไปนี้จะเลิกเป็นคน ขี้โมโห จะเป็นคนพูดจาเพราะๆ ไม่พูดจาเสียหาย ไม่ไพเราะ ผมกำลังคิดและกำลังทำอยู่ ขณะเดียวกันน้องๆ เองก็จะไม่กวนโมโหอีกต่อไป"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ชี้นิรโทษ เป็นเรื่องของสนช.
     พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีวิจารณ์เรื่องนิรโทษกรรมว่า เป็นเรื่องของสนช.ที่พูดมา ส่วนการสร้างความปรองดองเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าทุกคนอยากปรองดอง ไม่ต้องเอาเหตุผลอะไรมา มันก็ปรองดองด้วยกันได้ อย่าปรองดองด้วยสาเหตุตรงนี้ตรงนั้น ถ้าจะนิรโทษกรรมก็ว่ามา ทางกฎหมายก็ไปทำกันมา ตนไม่มีข้อคิดหรือข้อเสนอ เป็นการคิดกันเอง เขาอาจคิดว่าการปรองดองต้องนิรโทษกรรม เป็นเรื่องของเขาคิดไปและตนไม่ได้เป็นคนตัดสินใจ เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมาย
      เมื่อถามว่า แต่เหตุการณ์การเมืองหลายครั้งมีข้อเสนอว่าควรมีการนิรโทษกรรมเพื่อแก้ปัญหา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อะไรคือการเมือง อะไรคือคดีทางอาญาก็ว่ากันมา การกระทำผิดทางอาญาหมายความว่าทำให้เกิดความเสียหาย มีคนบาดเจ็บล้มตาย ถ้าเรื่องการเมืองก็เป็นเรื่องการประท้วงต่างๆ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวโยง ต้องหาข้อมูลกันมาโดยให้กระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการ
      ผู้สื่อข่าวถามว่า กลัวว่าจะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มี ไม่ขัดแย้ง

สัปดาห์หน้าสรุปของขวัญปีใหม่
      พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการเตรียมแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือน ในวันที่ 25 ธ.ค.ว่า เตรียมงานไว้แล้ว วันไหนก็วันนั้น ทุกวันนี้ก็พูดและแถลงข่าวทุกวันอยู่แล้ว ในการแถลงผลงาน ตนต้องพูดอยู่แล้ว จากนั้นมอบให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พูดบ้าง ที่ผ่านมาตนพูดมาตลอด ในเดือนธ.ค.ค่อนข้างยุ่ง มีประชุมระดับประเทศอีก 3-4 ครั้ง และยังต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วย แต่จะพิจารณาหาเวลาลงพื้นที่ต่างจังหวัดอีกครั้ง
     เมื่อถามถึงของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลจะให้ประชาชน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะสรุปอีกครั้งในการประชุมครม.สัปดาห์หน้า ซึ่งมีให้อยู่หลายอย่าง เช่น การลดราคาสินค้าหลายรายการทั่วประเทศ เพื่อลดค่าครองชีพในช่วงปีใหม่ และการงดเว้นค่าผ่านทางในวันที่ 26 ธ.ค.2557 ถึง 4 ม.ค.2558 ทั้งนี้วันหยุดยาว 5 วันเทศกาลปีใหม่ ถือว่าเยอะพอสมควรแล้ว ไม่อยากให้ประชาชนลางานกันเยอะ เราต้องการให้ประชาชนไปพักผ่อนกับครอบครัวช่วงปีใหม่ และอยากให้ระวังเรื่องอุบัติเหตุ ขับรถห้ามดื่มสุรา นึกถึงครอบครัวบ้าง เราไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย

ลั่น'ยงยุทธ'ยังไม่ออก
     พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการตรวจสอบทุจริตโครงการจ่ายเงินชาวนา ไร่ละ 1,000 บาทว่า ขณะนี้ยังไม่พบการทุจริต ซึ่งมีหลายหน่วยงานตรวจสอบอยู่ ทั้งช่วงก่อน ระหว่างและหลังการดำเนินการ ถ้าเจอก็จัดการ ซึ่งการดำเนินการจ่ายเงินชาวนาต้องทำต่อไม่ให้ล่าช้า เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อการช่วยเหลือชาวนา
     เมื่อถามถึงข่าวร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ จะลาออกจากโฆษกรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า โฆษกรัฐบาลยังเป็นคนเดิม ร.อ.นพ.ยงยุทธ ยังอยู่ ไม่มีการลาออก และทุกวันนี้ตนก็เป็นหัวหน้าทีมแถลงข่าวอยู่แล้ว
      ด้านร.อ.นพ.ยงยุทธ ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ ถึงกระแสข่าวเตรียมลาออกจากตำแหน่งว่า ที่ผ่านมายอมรับมีบ่นออกไปบ้างว่าเหนื่อย เนื่องจากงานมีมาก สุขภาพไม่ค่อยดี พักผ่อนน้อย แต่นายกฯ ให้กำลังใจในการทำหน้าที่ ส่วนจะให้ทำหน้าที่นี้ต่อไปหรือไม่ ขอให้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ตัดสินใจ ส่วนที่ไม่เข้าร่วมการประชุมครม.วันนี้ได้ยื่นใบลากิจกับนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการครม. โดยมีภารกิจเป็นพิธีกรในพิธีสวนสนาม ที่ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้มีสาเหตุอื่น

บิ๊กตู่ นัดสื่อ-ทำความเข้าใจ
      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลประชุมครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์แจ้งต่อที่ประชุมว่า วันที่ 3 ธ.ค. เวลา 16.00 น. ได้เชิญผู้บริหารสื่อระดับบรรณาธิการต่างๆ 15-16 คน พูดคุยร่วมกัน ที่อาคารรับรองเกษะโกมล เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ โดยเชื่อว่าสื่อมีความสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ หากสื่อมวลชนเข้าใจการทำงานของรัฐบาลและสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น จะช่วยปฏิรูปบ้านเมืองเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย แต่หากระดับผู้บริหารไม่เข้าใจหรือสื่อความหมายไม่ตรงกัน การทำงานทุกอย่างก็จะลำบาก ทั้งนี้นายกฯ มั่นใจว่าสิ่งที่จะเล่าให้ฟังนั้นคือความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาบ้านเมือง และหวังว่าผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์จะช่วยประคับประคองบ้านเมืองต่อไปได้
       พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบและกำชับรัฐมนตรีให้ช่วยกันทำงาน เรื่องใดที่อยู่นอกเหนือภารกิจของรัฐบาล ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระมัดระวังการแสดงความคิดเห็น อย่าให้สังคมได้รับผลกระทบจากการแสดงความคิดเห็น ส่วนการเคลื่อนไหวต่อต้านคสช.และรัฐบาลนั้น รัฐบาลจะไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร แต่ตั้งใจจะทำเรื่องที่ดี เพื่อการปฏิรูปและลดความขัดแย้งในอดีต จึงขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เห็นชอบกับสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการ ขอให้สนับสนุนและเป็นกำลังใจให้รัฐบาล สำหรับการประชุมร่วมระหว่างครม.และคสช. ครั้งที่ 3 ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. จะเริ่มประชุมคสช.ก่อน จากนั้นจะนำผลสรุปไปหารือกับครม.อีกครั้ง 

ให้ประกันเสี่ยโปรยใบปลิว
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีจับกุม นายสิทธิทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา อายุ 54 ปี ผู้จ้างวาน และนายวชิร ทองสุข อายุ 44 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่ขี่รถจยย.โปรยใบปลิวต่อต้านรัฐบาลและคสช. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงเช้ามืดของวันที่ 23 พ.ย. และถูกนำตัวไปควบคุมไว้ตามอำนาจกฎอัยการศึก ที่กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ป.1รอ.) ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.นั้น เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ทหารจาก ป.1 รอ. แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมารับตัวนายสิทธิทัศน์ และนายวชิรมาดำเนินคดีและแจ้งข้อหาที่สน.สำราญราษฎร์ จากการสอบสวนทั้งคู่ให้การรับสารภาพ จากนั้นทั้งคู่ใช้หลักทรัพย์คนละ 2 แสนบาทประกันตัว โดยพนักงานสอบสวนอนุญาตให้ประกันตัว


มือใบปลิว - พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. แถลงจับกุมนายวชิร ทองสุข และนายสิทธิ์ทัศน์ เหล่าวานิชธนาภา ผู้ต้องหาขับรถเบนซ์และรถจักรยานยนต์โปรยใบปลิว บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา

บิ๊กโชยแจงวุ่น-ไม่แฉน.ศ.รับเงิน

      พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ.1) ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีระบุนักศึกษาที่ชู 3 นิ้วต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ ที่จ.ขอนแก่น ได้ค่าจ้าง 5 หมื่นจากนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อชิงพื้นที่สื่อ ทำให้กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือกลุ่มดาวดิน ที่แสดงสัญลักษณ์ ชู 3 นิ้ว ทำหนังสือยืนยันว่าถูกปรักปรำ ถึงนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านสิทธิการเมืองและสิทธิพลเมือง และเรียกร้องให้ตรวจสอบ ว่า ตนหารือและให้ข้อมูลกับนพ.นิรันดร์แล้วว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นรายงานด้านการข่าว เบื้องต้น 
      พล.ท.กัมปนาท กล่าวอีกว่า ไม่ได้แฉว่านักศึกษากลุ่มดังกล่าวถูกนักการเมืองท้องถิ่นว่าจ้างมา เป็นเพียงการรายงานข้อมูลด้านการข่าวให้รับทราบเท่านั้น ต้องฟังข้อมูลจากด้านอื่นสนับสนุนและต้องประมวลผลด้วย ซึ่งนพ.นิรันดร์บอกว่าเด็กกลุ่มนั้นปฏิเสธไม่ได้รับเงินว่าจ้าง เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดง ออกด้านความคิดของแต่ละคน เราไม่อยากให้เกิดการทะเลาะกัน แต่ห้ามปรามเท่านั้น

อ้างการข่าว-ไม่ได้ปรักปรำเด็ก
      เมื่อถามว่า ห่วงประเด็นนี้จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวนำไปสู่เหตุรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 หรือไม่ พล.ท. กัมปนาทกล่าวว่า พยายามพูดคุยสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ตนรับฟังจากทุกฝ่ายและไม่ได้ปรักปรำเด็กกลุ่มดังกล่าวว่ารับเงินว่าจ้าง แต่เป็นเพียงการรายงานด้านการข่าวเท่านั้น 
      พล.ท.กัมปนาท กล่าวด้วยว่า ตนยังไม่ได้บอกว่าเชื่อหรือไม่เชื่อ เราเคารพอุดมการณ์ของทุกกลุ่มและทุกฝ่าย เพื่อรักษาบรรยากาศการปรองดองให้บ้านเมือง ส่วนการทำความเข้าใจ แต่ละกองทัพภาคมีทีมงานลงพื้นที่ไปพูดคุยเรียบร้อยแล้ว เราพยายามพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ และการยุติความขัดแย้งต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ความคิดเห็นต่างต้องอาศัยการพูดคุยเป็นหลัก ดังนั้นขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่าทำให้เราทะเลาะกับใครเลย

อดีตสส.ขอนแก่นโต้'มทภ.1'
     ที่จ.ขอนแก่น นายธนิก มาสีพิทักษ์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีต แกนนำเสื้อแดงในจ.ขอนแก่น กล่าวถึงกรณีมทภ.1 ระบุนักการเมืองท้องถิ่นว่าจ้างน.ศ. ชู 3 นิ้วว่า นักศึกษาแสดงออกด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตามความคิดและอุดมการณ์ การทำกิจกรรมครั้งนี้เพื่อแสดงออกว่าพวกเขาไม่ต้องการรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ซึ่งกลุ่มดาวดินเป็นกลุ่มที่ศึกษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องแก๊สโพแทชในจ.อุดรธานี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีความสัมพันธ์กับนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มอดีตเสื้อแดง 
       "ทหารผู้ใหญ่ได้ข่าวมาแบบไหนอย่างไรผมไม่ทราบ และไม่เชื่อว่ามีการรับว่าจ้าง เพราะนักศึกษากลุ่มนี้จะไม่เอาความคิด อุดมการณ์และความเชื่อศรัทธาความเป็นประชาธิปไตยของเขาไปแลกเงินเพียงแค่ 5 หมื่นบาท พวกเขาคงไม่รับเงินจำนวนนี้มาปฏิบัติกิจกรรมที่เสี่ยงต่ออนาคตและชีวิตของเขา ผมในฐานะอดีตส.ส. และอดีตแกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่ขอนแก่น ขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เพราะพวกเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พวกเราวางตัวนิ่งเฉยจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ช่วงนี้พวกผมสงบนิ่งไม่ดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง"นายธนิกกล่าว

วิษณุชี้จุดเสีย-ลต.แบบเยอรมัน
       วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดของอนุกมธ.จัดทำกรอบรัฐธรรมูญคณะต่างๆ ที่ออกมาในช่วงนี้ว่า ขณะนี้อยู่ในชั้นอนุกมธ.คิด บางเรื่องอาจไปรับฟังมา บางเรื่องฟังดูเป็นมติของอนุกมธ.ที่จะเสนอต่อ กมธ.ยกร่างฯ ดังนั้นอยู่ที่ กมธ.ยกร่างฯว่าจะเอาด้วยหรือไม่ หากเป็นมติของ กมธ.ยกร่างฯ แล้ว รัฐบาลจึงจะแสดงปฏิกิริยาออกไปได้ว่าไหวหรือไม่ ส่วนที่มีการเสนอให้นำโมเดลระบบเลือกตั้งเยอรมันมาใช้นั้น อาจจะดีก็ได้ แต่ไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพียงแต่ระบบเลือกตั้งของเยอรมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทุกคะแนนจะมีความหมาย ต้องเอามาคิดหมด จุดแข็งจะทำให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสมีที่นั่ง แต่จุดอ่อนคือมันยุ่ง คนที่ได้คะแนนที่ 1 อาจไม่ได้เป็นส.ส. คนที่ได้อันดับ 2 อาจได้เป็น ส.ส. ซึ่งคนไทยไม่ชิน และทำให้เกิดพรรคเล็ก มากขึ้น 
      "หากเราคิดว่าทนความยุ่งยากตรงนี้ได้ คนเขาไม่ถือกัน ระบบเยอรมันก็น่าสนใจ และถ้าตัดสินใจว่าจะเอาอย่างนี้แน่ ยังมีเวลาตั้ง 1 ปีที่จะสร้างความเข้าใจกัน โดยเวลาที่มีอาจจะทดลองเริ่มตรงไหน 1-2 แห่งให้คนเห็นก่อนก็ได้"นายวิษณุกล่าว

เผ'นิรโทษ'ยังอยู่ในชั้นอนุกมธ.
     นายวิษณุ กล่าวถึงข้อเสนอให้นิรโทษกรรมเพื่อสร้างความปรองดอง ว่า ที่จริง สนช.ดำเนินการเองได้เพราะเสนอกฎหมายได้อยู่แล้ว แต่วันนี้เป็นเรื่องอนุกมธ.ชุดหนึ่งเสนอ ซึ่งรัฐบาลยังไม่เคยคิดและพิจารณาเรื่องนี้มาก่อน นายกฯ พูดแล้วหาก สนช.คิด สนช.ก็ทำไป แต่บังเอิญอนุกมธ.ที่พูดไม่ใช่ สนช. แต่เป็นนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งมาจากอนุกมธ.ของ สปช. เอาไว้ค่อยพูดกันตอนเสนอผ่านถึง กมธ.ยกร่างฯ ให้เป็นรูปธรรมก่อน ยังฟังไม่ได้ศัพท์เลยว่าเป็นข้อเสนอการปฏิรูปหรือข้อเสนอรัฐธรรมนูญ 
      เมื่อถามว่า เรื่องนิรโทษกรรมควรจับใส่ในรัฐธรรมนูญหรือแยกเป็นกฎหมายต่างหาก นายวิษณุกล่าวว่า บอกไม่ถูก ต้องถามคนที่เสนอ แต่ควรคิดให้สุดกระบวนการว่าจะนิรโทษกรรมใคร จะทำเรื่องนี้เมื่อไร ใส่ไว้ไหนและจะอ้างเหตุอะไรสำหรับนิรโทษกรรม ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เตือนให้ระวัง อย่าใช้ตัวนี้มาทำให้เรื่องดีๆ ต้องเสียไป ถ้าผู้เสนอ เสนอให้เป็นระบบ อาจจะฟังขึ้นก็ได้ แต่บังเอิญนายเอนกยังไม่มีเวลาพูดให้เป็นระบบ เหมือนการโยนหินก้อนหนึ่งมาถามทาง ช่วยเขวี้ยงมาหลายๆ ก้อน จะได้เข้าใจ 

เอนกไม่กังวลถูกท้วงติง
      นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธาน คณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 10 การสร้างความปรองดอง กล่าวถึงการเสนอให้นิรโทษกรรมเพื่อความปรองดองว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับ กมธ.ชุดใด และเรื่องนี้ไม่มีอะไร ซึ่งข้อท้วงติงของฝ่ายต่างๆ ก็รับฟังไว้ก่อน ตอนนี้เราไม่ได้ทำงานเพื่อออกกฎหมาย ซึ่ง ผู้ที่ควรริเริ่มเรื่องดังกล่าวอาจเป็น กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพราะอาจเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นกรอบกว้างๆ จากนั้นค่อยออกกฎหมายลูกมารองรับ ทั้งนี้หลังจากเสนอเรื่องนิรโทษกรรมออกไปก็มีผลตอบรับที่ดี ไม่มีปัญหา และไม่กังวล เราทำเรื่อง ที่ดี การท้วงติงเป็นอารมณ์ของคนในสังคมเท่านั้น
      นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปช. กล่าวว่า ต้องดูว่าหากออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วจะเกิดปัญหาอีกหรือไม่ ต้องคุยรายละเอียดถึงข้อหาและคดีที่จะนิรโทษกรรมด้วย ส่วนตัวคิดว่ายังมีช่องทางอื่นอีกคือการหยุดคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองไว้ก่อน และให้ผู้ที่ถูกดำเนินคดีใช้ชีวิตตามปกติ คล้ายการรอลงอาญา แต่ต้องไม่ใช่คดีหมิ่นสถาบัน การทุจริต ซึ่งหลังจากหยุดคดีแล้ว บุคคลเหล่านี้ห้ามไปชุมนุมทางการเมือง ห้ามสร้างความแตกแยก หากกระทำผิดซ้ำก็ให้ดำเนินคดีตามความผิด เรื่องนี้จะเสนอต่ออนุกมธ.จัดทำกรอบรัฐธรรมนูญคณะ 10 เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกจากการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

นักวิชาการหนุนนิรโทษฯ
       นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และแกนนำกลุ่ม มกราฯหมื่นปลดปล่อย ที่เคยเคลื่อนไหวให้มีการนิรโทษกรรมนักการเมือง กล่าวถึงแนวทางนิรโทษกรรมระหว่างปี 2548-2557 ของนายเอนก ว่า เห็นด้วย อยากเสนอให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่มีความผิดเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์การเมือง จนถึงคดีหมิ่นตามมาตรา 112 ก่อน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง เนื่องจากผู้ต้องหาที่โดนคดีนี้คือชาวบ้านธรรมดาที่ตกเป็นเหยื่อการเมืองเพราะถูกกลั่นแกล้ง ที่สำคัญสังคมไทยก็รักและเทิดทูนสถาบัน ที่ผ่านมาต้องถือว่าชาวบ้านเหล่านี้ติดคุกมามากเกินพอแล้ว อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีนี้เกี่ยวพันกันกับสถานการณ์การเมืองเช่นกัน 
      นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การ นิรโทษฯ สามารถทำได้เลย เริ่มจากนิรโทษฯ ประชาชน ที่ต้องคดีชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่รวมระดับแกนนำที่มีส่วนตัดสินใจดำเนินการต่างๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำให้ความจริงปรากฏก่อนแล้วพูดคุยหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร มิเช่นนั้น การนิรโทษฯ อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมได้อีก ส่วนเจ้าภาพนั้น ควรเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะมีความชอบธรรรมในฐานะเป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่สถานการณ์ขณะนี้เรามี สนช. ที่มาจากการแต่งตั้ง ทำให้ความชอบธรรมหายไป ส่วนตัวจึงมองว่าการนิรโทษฯ น่าจะเกิดขึ้นได้ยากในระหว่างนี้ 

ลายจุดชี้อย่างน้อยควรได้ประกัน
      ด้านนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง หรือบ.ก.ลายจุด กล่าวว่า เห็นด้วยทั้งเนื้อหาและกรอบเวลา หากสปช.จะดำเนินการนิรโทษกรรม เหมือน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่พรรคเพื่อไทย เสนอก่อนแปรญัตติเป็นแบบสุดซอย ไม่รวมคดีที่ก่อให้ผู้อื่นเสียชีวิตซึ่งจะต้องรับผิดชอบ โดยอยากให้เริ่มจากนิรโทษฯ นักโทษการเมือง ทั้งที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงปี 2553 ที่มีการเผาศาลากลาง ซึ่งจำเลยหลายคนถูกกล่าวหาทั้งที่เหตุการณ์ตอนนั้นมันชุลมุนวุ่นวายมาก และอยากให้ครอบคลุมคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ด้วย เพราะต้องยอมรับว่าคดีนี้เกิดจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรืออย่างน้อยควรได้รับสิทธิประกันตัวตามพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล ส่วนเจ้าภาพนั้นเป็นใครก็ได้ ไม่ว่าสนช. ซึ่งออกเป็นพ.ร.บ.ได้ทันที หรือให้สปช.ไปบรรจุไว้ในเนื้อหานิรโทษกรรม หรือที่ง่ายสุดคือ คสช. ประกาศเป็นคำสั่งคสช.ออกมา 
     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดการเลือกนายกฯ และครม.โดยตรงว่า เท่ากับเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งแยกอำนาจ ให้ประชาชนเลือกทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แปลความหมายว่า 2 ฝ่ายนี้ไปถอดถอนซึ่งกันและกันไม่ได้ สภาจะไม่ไว้วางใจรัฐบาลไม่ได้ รัฐบาลก็ยุบสภาไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมาจากประชาชน ทั้งนี้ ตนอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่ออกมายั่งยืน ถ้าไม่ทำประชามติรัฐธรรมนูญ ตนฟันธงว่าจะไม่ยั่งยืน

อนุกมธ.ให้คง 4 ศาลเอาไว้
      ที่รัฐสภา นายบรรเจิด สิงคะเนติ ประธานคณะอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 7 ว่าด้วยภาค 3 นิติธรรม ศาล และกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนของหมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า มีการนำเสนอ 2 กรอบหลักการใหญ่ คือ 1.เรื่องศาล มีรายละเอียดคือคง 4 ศาลเช่นเดิม คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร ส่วนที่นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อนุกมธ. เสนอให้เพิ่มกระบวนการอุทธรณ์ในศาลที่พิจารณาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ถือเป็นข้อเสนอหนึ่ง แต่การอุทธรณ์นั้น รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบุอยู่แล้วในเรื่องการทบทวน คือหากมีข้อมูลใหม่หรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถทบทวนได้ แต่ต้องพิจารณาในรายละเอียดดังกล่าวอีกครั้ง 
      นายบรรเจิด กล่าวว่า 2.กระบวนการยุติธรรม ได้เสนอเรื่องสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และหลักประกันของคนในกระบวนการยุติธรรม ความเที่ยงธรรม รวมถึงระบบทางอาญาเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการ นอกจากนั้นในคดีสำคัญ ต้องให้อัยการสอบสวนร่วมกับตำรวจ ตั้งแต่ต้นทางและจะกำหนดให้รัฐช่วยเหลือทางกฎหมายกับประชาชน อาทิ การให้ความรู้ ให้คำแนะนำ การไกล่เกลี่ย

ยังยึดเลือกนายกฯผ่านสภา
        ด้านนายสุจิต บุญบงการ ประธานคณะ อนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 ว่าด้วยภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมืองที่ดี, หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ, หมวด 3 รัฐสภา และหมวด 4 คณะรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะอนุกมธ.มีข้อสรุปที่จะเสนอกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคือ ที่มาของนายกฯและครม. ให้ใช้รูปแบบเหมือนรัฐธรรมนูญ ปี 2550 คือให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกนายกฯ เนื่องจากผ่านมาระบบการเลือกนายกฯ ในรูปแบบสภาดังกล่าวไม่ได้มีปัญหา แต่ที่เกิดปัญหาเพราะผู้มีอำนาจทางการเมืองใช้อำนาจทางบริหารที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นหากยึดรูปแบบเดิมและแก้ไขข้อบกพร่องก็จะแก้ปัญหาได้มากกว่า ทั้งนี้ยอมรับว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อสรุปจากเสียงข้างมากของอนุกมธ. ส่วนข้อเสนอข้างน้อย คือเสนอให้เลือกครม.โดยตรง ยังคงสงวนสิทธิ์ไว้และนำเข้าสู่กมธ.ยกร่างฯ ชุดใหญ่เช่นกัน
       นายสุจิต กล่าวว่า นอกจากนี้มีประเด็นที่พิจารณาต่อ คือการให้เลือกครม. ผ่านการเลือกตั้งตรงของประชาชนนั้น จะเพิ่มความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหารมากเกินไป จนเป็นปัญหาต่อการบริหารงานในอนาคตได้ ส่วนที่มาของส.ส.นั้นจะให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ ทั้งนี้อาจปรับลดจำนวน ส.ส.ลง แต่ต้องไม่เพิ่มมากกว่านี้ ขณะที่ที่มาของส.ว. ยังคง 2 ระบบ คือมาจากการเลือกตั้ง และสรรหาตามวิชาชีพ ส่วนหน้าที่ถอดถอนของส.ว.นั้น อนุกมธ.ยังให้คงไว้เช่นเดิม ซึ่งรูปแบบทั้งหมดนั้นเป็นเพียงข้อเสนอต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น อาจเปลี่ยน แปลงได้

ชงเลิก'ก.ตร.'ตั้งสภาตร.
     นายวันชัย สอนศิริ โฆษก กมธ. ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบข้อเสนอกรอบแนวทางการร่างรัฐธรรม นูญต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวกับตำรวจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม มีข้อสรุปว่ารูปแบบและวิธีบริหารจัดการต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งโครงสร้างการบริหารจัดการแบบปัจจุบันต้องไม่มีอีกต่อไป เพื่อให้องค์กรตำรวจมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการแต่งตั้ง โยกย้ายอย่างเป็นธรรม ปลอดจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง ให้มีองค์กรใหม่ทำหน้าที่แทน
      นายวันชัย กล่าวอีกว่า เบื้องต้นตั้งเป็นตุ๊กตาว่าเป็นสภากิจการตำรวจแห่งชาติ และให้มีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวกับความมั่นคง และหัวหน้าส่วนราชการกระบวนการยุติธรรม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านการคัดเลือกจากส.ส.และส.ว. ทำหน้าที่กรรมการสภากิจการตำรวจแห่งชาติ แทนก.ตร.หรือตร.ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ให้แต่ละท้องถิ่นแต่งตั้งกันเอง
        นายวันชัย กล่าวว่า กมธ.ต้องการให้กระจายอำนาจการบริหารราชการ โครงสร้างต่างๆ ทั้งหมดจะถูกปรับใหม่ ในลักษณะตำรวจส่วนกลางบริหารตำรวจส่วนกลาง ตำรวจส่วนภูมิภาคบริหารตำรวจส่วนภูมิภาค และมีตำรวจส่วนท้องถิ่น จากเดิมรวมศูนย์ไว้ที่ตร. ทั้งนี้คณะกรรมการกิจการตำรวจระดับภาคอาจประกอบด้วย หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคง หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ และตัวแทนภาคส่วนของประชาชน เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนบริหารจัดการ กำหนดนโยบายการปฏิบัติหน้าที่ การแต่งตั้ง โยกย้าย การถอดถอนตำรวจ ประชาชนจะมีส่วนอย่างสำคัญในการแต่งตั้ง โยกย้าย รวมทั้งการพิจารณาให้คุณให้โทษกับตำรวจ
       นายวันชัย กล่าวต่อว่า จะจัดโครงสร้างองค์กรตำรวจ และปรับเปลี่ยนหน่วยงานให้เหมาะสม โดยตัดโอนอำนาจหน้าที่ของตำรวจในการป้องกันปราบปราม สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีในความผิดตามกฎหมาย ให้เป็นของหน่วยงาน หรือส่วนราชการอื่นตามความเหมาะสม ตามที่กฎหมายบัญญัติ เช่น ตำรวจป่าไม้ ให้ไปอยู่กับกรมป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ไปอยู่การรถไฟแห่งประเทศไทย และตำรวจท่องเที่ยว ให้ไปอยู่กับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ข้อเสนอทั้งหมดไม่ได้ลดทอนอำนาจตำรวจ เพราะอำนาจตำรวจยังคงอยู่ ทั้งหมดเป็นเพียงตุ๊กตาเบื้องต้น ซึ่งจะประชุมในวันที่ 15 - 17 ธ.ค. เพื่อนำเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ส่วนรายละเอียดจะมอบให้อนุกมธ.พิจารณาต่อไป 

กมธ.เผยตารางร่างรธน.
       นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้เริ่มพิจารณากรอบแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น ตามที่คณะอนุกมธ.ทั้ง 10 คณะนำเสนอแล้ว โดยจะพิจารณาถึงวันที่ 14 ธ.ค.นี้ และวันที่ 15-17 ธ.ค. จะเข้ารับฟังความคิดเห็นของสปช.ซึ่งส่งข้อเสนอแนะกลับมาภายในวันที่ 19 ธ.ค. จากนั้นวันที่ 20-26 ธ.ค. กมธ.ยกร่างฯ จะประชุมกำหนดทิศทางเพื่อเริ่มต้นยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งได้แต่งตั้งคณะอนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตามความเห็นของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นประธาน และอนุกมธ.ส่วนใหญ่ประกอบด้วยตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยอนุกมธ.ชุดนี้จะยกร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นควบคู่กับกมธ.ยกร่างฯ ชุดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2557-5 ม.ค.2558 เพื่อส่งต่อให้คณะอนุกมธ.ทั้ง 10 คณะพิจารณาถึงวันที่ 10 ม.ค. ก่อนส่งให้กมธ. ยกร่างฯ พิจารณาในวันที่ 12 ม.ค. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เสร็จภายในวันที่ 3 เม.ย. 2558 ก่อนส่งให้ที่ประชุมสปช.พิจารณาในวันที่ 17 เม.ย. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด 
       นายคำนูณ กล่าวว่า นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เห็นชอบให้คณะอนุกมธ.ด้านศาล องค์กรอิสระและการคลัง ในกมธ.ยกร่างฯ ไปหารือกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เพื่อออกมาตรการและความชัดเจนกรณีความคิดที่แตกต่างกันในการส่งฟ้องบางคดีระหว่างป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด และการแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งอนุกมธ.เห็นว่าควรตั้งศาลขึ้นมาใหม่ เป็นศาลคดีวินัยการคลังและงบประมาณ ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ เป็นต้น โดยจะแถลงสรุปความชัดเจนในกรณีดังกล่าวไม่เกินสัปดาห์หน้า

เพื่อไทยจี้คสช.เอาผิดคดีปรส.
       นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรอง นายกฯ และรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ฟ้องร้องนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ ในคดีปรส. และฟ้องร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ในคดีประกันราคาข้าว เรียกค่าเสียหายคืน เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจน เหมือนที่นายแก้วสรร อติโพธิ แกนนำกลุ่มไทยสปริง เรียกร้องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จากโครงการจำนำข้าว
      "วันนี้ ความขัดแย้งยังดำรงอยู่เพราะพวกที่มีจิตใจคับแคบ เห็นความผิดฝ่ายอื่นเท่าภูเขา แต่ของตัวเองเท่าเส้นผม จิตใจผู้หญิงยังกว้างกว่า นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอแนวทางปฏิรูปด้วยการนิรโทษกรรม ก็มีพวกใจแคบออกมาท้วงติงเหนี่ยวรั้ง แบบนี้บ้านเมืองจะแก้ไขอย่างไร เอาแต่ตอดเล็กตอดน้อย จุกจิกน่ารำคาญ นายเอนกเคยเป็นนักการเมืองและอยากแก้ปัญหาการเมือง ไม่โง่ไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่นอน และอยากฝากให้พล.อ.ประยุทธ์ เรียกพวกสปช. และสนช. ที่มีปากไว้สักแต่พูดไปปรามเสียบ้าง เพราะสร้างความแตกแยกให้สังคม ดีไม่ดีอาจทำให้โรดแม็ปสะดุด"นายสุรพงษ์กล่าว

ครม.ตั้ง 3 รองเลขาฯศอ.บต.
     เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 2 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบให้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำจังหวัดเชียงราย ตามที่รัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศสเสนอ และอนุมัติแต่งตั้ง นายกี แอแดลแบร์เฌ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำจังหวัดเชียงราย ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
     พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ครม.เห็นชอบรับโอนและแต่งตั้งรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตามที่ศอ.บต.เสนอ 3 คน ดังนี้ 1.นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองผู้ว่าฯ ปัตตานี เป็นรองเลขาธิการศอ.บต. 2.นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ รองผู้ว่าฯ นราธิวาส เป็นรองเลขาธิการศอ.บต.และ 3.นางกิตติมา นวลทวี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการศอ.บต. ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 
      นอกจากนั้น อนุมัติแต่งตั้ง นายไพโรจน์ อาจรักษา ที่ปรึกษาด้านข้อมูลข่าวสารของราชการ เป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครม.อนุมัติแต่งตั้งตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ 2 ราย ดังนี้ 1.พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 2.พ.ท.เอนก ยมจินดา ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
    กระทรวงอุตสาหกรรม อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการ 3 ราย ดังนี้ 1.นางศิริรัตน์ จิตต์เสรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นรองปลัดกระทรวง 2.นายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง 3.นางรัชดา อิสระเสนารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

รบ.นำร่องแจกที่ดิน 5 หมื่นไร่
       เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการจัดสรรที่ดินทำกิน คณะอนุกรรมการจัดสรรคนลง และคณะอนุกรรมการจัดหาอาชีพ พร้อมกันนี้ได้ขออนุมัติโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการระดับปฏิบัติการพื้นที่เพิ่มเติม โดยให้ผู้ว่าฯ เป็นประธานระดับจังหวัด และมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นกรรมการ
      พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้รายงานถึงลักษณะที่ดินทำกินที่จะนำมาจัดสรรให้กับราษฎร แบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ 1.พื้นที่ที่ดินที่ว่างเปล่า ไม่มีราษฎรอาศัยอยู่ ซึ่งมีประมาณ 5,000 ไร่ 2.พื้นที่มีราษฎรเข้าไปทำกินอย่างไม่ถูกกฎหมาย และไม่มีเอกสารสิทธิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ส.ป.ก. พื้นที่กรมป่าไม้ และของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4.5 ล้านไร่ และ 3.พื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ์อีก 14 ล้านไร่
      พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวว่า โดยจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรในรูปแบบสหกรณ์ 10,000 ราย ที่ดินประมาณ 53,000 ไร่เศษ ใน 4 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย เชียงใหม่ มุกดาหาร ชุมพรและนครพนม ให้เสร็จภายใน 3 เดือน ระหว่างเดือน ธ.ค.2557 - ก.พ.2558 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ยกแรกให้กับราษฎร และส่วนที่เหลือจะเร่งจัดสรรต่อไป เนื่องจากมีราษฎรขาดที่ดินทำกินมากถึง 1.6 ล้านคน ทั้งนี้นายกฯ ระบุให้เร่งดำเนินการในส่วนแรกก่อนเพื่อจะได้รับทราบปัญหาและอุปสรรค จะได้แก้ไขต่อไป ยืนยันว่าการจัดสรรที่ดินครั้งนี้ จะไม่เอื้อประโยชน์ด้านการเมืองอย่างแน่นอน และการประชุมวันที่ 4 ธ.ค. คณะกรรมการจะสรุปตัวเลขการเข้ายึดพื้นที่ของผู้บุกรุกพื้นที่ป่าและอุทยานอีกครั้งว่ามีจำนวนเท่าไร

'บิ๊กตู่'ทุ่มแสนล.จัดการน้ำเร่งด่วน
      เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.ว่า พูดคุยถึงแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะเร่งด่วน คาดว่าจะใช้เงิน 1 แสนกว่าล้าน แต่การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบต้องใช้เงินหลายแสนล้านบาท เพราะทำทั้งระบบทั่วประเทศ รวม 25 ลุ่มน้ำ ไม่ได้ทำเป็นโมดูลอย่างที่ผ่านมา และต้องดูว่าการทำให้ประเทศมีน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภคจะทำอย่างไร เพราะเรามีพื้นที่ชลประทานไม่เกิน 7 ล้านไร่ แต่มีการทำการเกษตรกว่า 15 ล้านไร่ น้ำจึงไม่เพียงพอ จึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ขาดแคลนน้ำ โดยพิจารณาถึงพื้นที่กักเก็บน้ำ บางพื้นที่ผ่านการประชาพิจารณ์ แต่บางพื้นที่ยังไม่ผ่าน ดังนั้นพื้นที่ใดที่ทำได้ก็ต้องวางแผนไว้แค่นั้นก่อน รวมถึงต้องพิจารณาว่าหนองน้ำธรรมชาติเป็นอย่างไร มีอะไรขวางทางหรือไม่ รวมทั้งน้ำต้นทุนสำหรับการทำน้ำประปา ให้ประชาชนทุกหมู่บ้านมีน้ำบริโภค มีประปาหมู่บ้าน เช่น ปีนี้น้ำน้อย ก็เป็นห่วงประปาภูมิภาคว่าจะใช้น้ำที่ไหน หากชาวนาทำนาปรังก็จะไม่มีน้ำประปา น้ำก็ไม่มาถึงกรุงเทพฯ
       นายกฯ กล่าวว่า ต้องวางแผนทั้งระบบ และเม็ดเงินที่จะใช้ในแผนยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่เบื้องต้นมองว่าเรื่องเร่งด่วนจำเป็นต้องใช้งบ 1 แสนกว่าล้านบาท และในปีงบประมาณ 2558 วางไว้แล้ว 5 หมื่นกว่าล้านบาท ขาดอีก 6 หมื่นกว่าล้าน หากอนุมัติตามแผนดังกล่าว กระทรวงการคลังต้องไปหาว่าจะนำงบประมาณส่วนใดมาใช้ เมื่อถามถึงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน 9 โมดูล ของรัฐบาลที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เลิกพูดแล้ว

ครม.เพิ่มอำนาจศาลทหารจังหวัด
      เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนัก นายกฯ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 สาระสำคัญ คือกำหนดให้คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร กำหนดให้ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมาย เว้นแต่คดีที่จำเลยมียศทหารชั้นสัญญาบัตร
     นอกจากนี้ กำหนดให้ศาลทหารสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารกลาง และคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้นโดยตรงไปยังศาลทหารสูงสุด และกำหนดให้การพิพากษาคดีของศาลทหารสอดคล้องกับมาตรา 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นอกจากนี้ในกรณีหญิงมีครรภ์ต้องคำพิพากษาประหารชีวิต กำหนดให้รอการประหารชีวิตเอาไว้ก่อนจนกว่าจะพ้นกำหนด 3 ปีนับแต่คลอดบุตร จากนั้นให้ลดโทษเหลือเพียงจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าศาลทหารจะพิจารณาคดีมีมาตรฐานเดียวกับศาลอื่นๆ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!