WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 04 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8772 ข่าวสดรายวัน


ชงเลือกตั้งนายกฯ 
สนช.เสียงแตก ศาลสั่ง 2 ปี 6 ด. คุกจ่าประสิทธิ์ 


พบปะสื่อ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. และครม.บางส่วน นัดพบปะพูดคุยกับผู้บริหารสื่อและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชั้นนำของไทย ที่สโมสรราชพฤกษ์ ถ.วิภาวดีฯ เมื่อเย็นวันที่ 3 ธ.ค.

     นักศึกษากลุ่มดาวดินพบกรรมการสิทธิฯ ปัดรับจ้าง ชู 3 นิ้วท้า'บิ๊กโชย'โชว์หลักฐาน 'หมอนิรันดร์' เตรียมนัด 2 ฝ่ายจับเข่าเคลียร์ 'บิ๊กโด่ง'ขออย่าให้เป็นเรื่องใหญ่ 'ยงยุทธ'ยันไม่ทิ้งเก้าอี้โฆษกรัฐบาล กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคงโทษประหาร 'สุจิต'ปัดชูโมเดลเลือกตั้งเยอรมัน 'สมคิด'ค้านข้อเสนอเลือกนายกฯ โดยตรง หนุนใช้ ม.44 ออกกฎหมายนิรโทษ คืนสุขช่วงปีใหม่ 'เทียนฉาย'ให้รอฟังเซอร์ไพรส์จากสปช. 'บิ๊กตู่' ถกผู้บริหารสื่อ ยันไม่ก้าวล่วง ศาลสั่งจำคุก 'จ่าประสิทธิ์' หมิ่นเบื้องสูง 2 ปี 6 เดือน ไม่รอ ลงอาญา

น.ศ.กลุ่มดาวดินพบกสม. 

      เวลา 11.00 น. วันที่ 3 ธ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ตัวแทนนักศึกษากลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม หรือกลุ่มดาวดิน ประกอบด้วย นายพายุ บุญโสภณ นายธีรยุทธ สิมหลวง นายจิรวิชญ์ ฉิมมานุกุล และนาย เจตน์สฤษฎิ์ นามโครต พร้อมด้วยน.ส.ศิริพร ฉายเพ็ชร เจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม มายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กรณีพล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผบ.กกล.รส. ให้สัมภาษณ์กล่าวหากลุ่มดาวดินได้รับการว่าจ้าง 50,000 บาทจากนักการเมืองในพื้นที่ เพื่อแย่งชิงพื้นที่สื่อของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. จึงอยากให้กสม.พิจารณากรณีดังกล่าว

      ตัวแทนนักศึกษากล่าวยืนยันว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริง ปกติกลุ่มดาวดินทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและเชื่อในหลักประชาธิปไตย กิจกรรมที่ผ่านมาคือลงพื้นที่ศึกษาการพัฒนาของรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชน การกล่าวหาเช่นนี้ทำให้กลุ่มดาวดินเสียหาย ถูกเพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมองในเชิงลบ แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้บีบคั้นซึ่งกลุ่มดาวดินยังมาเรียนได้ตามปกติ 

หลังชู 3 นิ้วถูกทหารติดตาม

      อนุกรรมการถามถึงวัตถุประสงค์ที่ออกมาเคลื่อนไหว นักศึกษากล่าวว่าเกิดจากจิต ใต้สำนึกไม่ยอมรับรัฐประหาร เพราะเห็นว่าวนเวียนซ้ำซาก นโยบายรัฐประหารไม่ได้แก้ปัญหา อีกทั้งการมีกฎอัยการศึกทำให้กลุ่มดาวดินไม่สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือสังคมได้ กลุ่มดาวดินไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง แต่เน้นเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภาครัฐมากกว่า เช่น ปัญหาขัดแย้งระหว่างบริษัททำเหมืองแร่ที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้านในพื้นที่ หลังมีกฎอัยการศึกชาวบ้านส่งหนังสือไปที่ทหารขอให้มาคุ้มครองความปลอดภัย แต่สิ่งที่ทหารทำคือห้ามผู้ที่มีความขัดแย้งแสดงความคิดเห็น เหมือนทหารมาห้ามการเคลื่อนไหว 

ตัวแทนนักศึกษากล่าวว่า หลังจากแสดงเชิงสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตามไปถึงบ้านพัก ถ่ายรูปบ้าน ติดตามการเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ไม่แสดงตนว่าเป็นใครมาจากไหนจึงรู้สึกว่าถูกคุกคาม รู้สึกหวาดระแวงในการใช้ชีวิต

ขอดูหลักฐาน-กล่าวหารับเงิน 

      ด้านน.ส.ศิริพรกล่าวว่า ข่าวที่ออกมาทำให้กลุ่มดาวดินเสียหาย กลุ่มตั้งมากว่า 10 ปี เคลื่อนไหวอิสระ เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีความคิดเสรี ไม่มีเบื้องหลัง ก่อนเหตุการณ์แสดงสัญลักษณ์ต้านรัฐประหารกลุ่มดาวดินเคยถูกเรียกไปรายงานตัว เนื่องจากเคยแสดงกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสิทธิชุมชน เจ้าหน้าที่ทหารมาขอร้องไม่ให้เคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่ทหารยังพยายามจะถามว่ากลุ่มดาวดินเชื่อมโยงกับขอนแก่นโมเดล เนื่องจากระบุว่าอดีตสมาชิกกลุ่มดาวดินที่จบการศึกษาไปแล้วมีความเกี่ยวข้องกับขอนแก่นโมเดล และยังถามอีกว่ากลุ่มไปรับเงินจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ เหมือนพยายามผลักดันนักศึกษาให้เข้าสู่กระบวนการที่จะจัดการ ยืนยันกลุ่มดาวดินไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือขอนแก่นโมเดล

      น.ส.ศิริพร กล่าวว่า การที่กลุ่มดาวดินมาร้องต่อกสม. เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมทราบและอยากให้กสม.ช่วยตรวจสอบว่าทหารไปเอาข้อมูลมาจากไหนว่ากลุ่มรับเงินมา เพราะตัวเลขเงินที่เป็นข่าวค่อนข้างระบุชัดเจนจนทางกลุ่มแปลกใจ จึงอยากให้แสดงหลักฐาน เพราะการเคลื่อนไหวช่วยสังคม ที่ผ่านมาจะลงขันระหว่างสมาชิกในกลุ่ม จะเปิดรับบริจาคต่อเมื่อมีการออกค่าย แต่จำนวนเงินไม่เคยได้ถึง 5 หมื่นบาท

      นพ.นิรันดร์ ระบุว่า กสม.จะตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมถามกลุ่มนักศึกษาว่าพร้อมพูดคุยกับพล.ท.กัมปนาทโดยตรงเลยหรือไม่ นักศึกษาแสดงท่าทีอยากคุยแต่ยังรู้สึกหวาดกลัวเพราะที่ผ่านมาถูกเจ้าหน้าที่คุกคามมาตลอด 

นิรันดร์ยันเอง-ไม่เกี่ยวการเมือง 

        นพ.นิรันดร์ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเป็นผู้ที่รู้จักกับนักศึกษากลุ่มดาวดินมากที่สุด เพราะมีการทำเอ็มโอยูระหว่างกสม.กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีหลักสูตร กฎหมายสิทธิมนุษยชนกับสังคม มีการเรียนการสอนเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนกับปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น ที่ดิน ป่าลุ่มน้ำ นักศึกษาจึงรวมกลุ่มใช้ชื่อว่า"ดาวดิน" เคลื่อนไหวด้านสังคมและสิทธิมนุษยชน ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง นักการเมือง หรือโครงสร้างอำนาจ และไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มดาวดินมีพื้นฐานการเมืองภาคประชาชน เรียนรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ การแสดงออก จึงอาจมีความคิดคัดค้านการเมืองเกิดขึ้นกับกลุ่มนี้ จึงมีการแสดงออกทางการเมือง แต่พื้นฐานไม่เกี่ยวกับการเมือง การแย่งชิงผลประโยชน์ของนักการเมือง และไม่ได้รับเงินนักการเมืองหรืออยู่ใต้อาณัติ ไม่เคยรับเงินใคร ยังใช้เงินพ่อแม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนได้รับการยืนยันจากคณบดีคณะนิติศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับนักศึกษากลุ่มนี้ตลอด

"ดาวดิน"คว้ารางวัลสิทธิมนุษยชน

      นพ.นิรันดร์กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนโทรศัพท์ประสานพล.ท.กัมปนาท ซึ่งได้ชี้แจงถึงการให้ข่าวดังกล่าวว่าไม่เคยพาดพิงกลุ่มใดหรือพูดถึงจำนวนเงิน จากนี้ตนอาจประสานพล.ท.กัมปนาทให้มาชี้แจงกับกสม.อีกครั้ง และเชิญนักศึกษากลุ่มดาวดินมาพบกับพล.ท.กัมปนาทโดยตรงน่าจะดี จะได้มีความชัดเจน เพราะอาจมีผลกระทบกับนักศึกษาได้ ซึ่งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าวมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ อาจกระทบถึงความปลอดภัย

      นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า วันที่ 12 ธ.ค สำนักงาน กสม.จะจัดงานสิทธิมนุษยชน ซึ่งกลุ่มดาวดินจะมารับรางวัลชนะเลิศด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมประเภทเด็กและเยาวชน ดังนั้น ตนอาจถือโอกาสเชิญหน่วยงานความมั่นคงมาพบกับนักศึกษาในวันดังกล่าวด้วย

"บิ๊กโด่ง"ติงชู 3 นิ้วใส่นายกฯ

      ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ.และเลขาธิการคสช. ให้สัมภาษณ์ ถึงแนวโน้มการยกเลิกกฎอัยการศึกช่วงปีใหม่ในพื้นที่ท่องเที่ยว ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถาน การณ์ ถ้ายังเห็นว่าจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษก็ต้องใช้ ยอมรับว่ามีแนวคิดแต่ต้องติดตามสถานการณ์ ถ้านิ่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่หากยังมีกระแสอยู่บ้างก็ยังจำเป็นอยู่

       เมื่อถามว่ากลุ่มคนที่ชู 3 นิ้วเป็นปัจจัย ที่ต้องคงกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจ คิดว่าคนส่วนใหญ่ เข้าใจ ส่วนที่แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (ผบ.กกล.รส.) เผยข้อมูลของกลุ่มเคลื่อนไหวนั้น เรื่องนี้อาจมีข้อมูลแต่ต้องตรวจสอบต่อไป การพูดก็ไม่ได้เจาะจง ข้อมูลอาจมีบ้างแต่กลุ่มคนเหล่านั้นเป็นเด็กนักศึกษา ตนก็มีลูกและมีความเข้าใจ ไม่ได้ปิดกั้น แต่อยากตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำกับผู้นำสูงสุดของประเทศสมควรหรือไม่ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะพล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ด้วยความตั้งใจดี เมื่อเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ต้องทำความเข้าใจ มีกระบวนการแก้ไขความไม่เหมาะสมนี้บ้าง ขอให้เข้าใจ

ขอร้องอย่าให้เป็นเรื่องใหญ่

      "ขอร้องว่าอย่าให้เป็นเรื่องใหญ่โต จากนี้มีอะไรขอให้ถามผม ไม่ต้องถามแม่ทัพภาคที่ 1 แล้ว ผมเป็นผู้บังคับบัญชาจะตอบให้เอง เราไม่ได้ตั้งใจละเมิดอะไรต่างๆ แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วเราต้องหาข้อมูลและพูดอะไรออกไปบ้าง ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนต่อไป ขอให้ทุกคนเข้าใจ อย่าทำเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนผู้มีผลกระทบจะชี้แจงอะไร ทบ.ยินดีรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าสิ่งไหนถูกต้องหรือไม่" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

       เมื่อถามว่ามีนักการเมืองขออนุญาต คสช. เดินทางออกนอกประเทศช่วงปีใหม่หรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ก็มี คสช.จะพิจารณาความเหมาะสม หากบุคคลเหล่านั้นปฏิบัติตัวดีอยู่ในกรอบก็เข้าใจ เมื่อถามว่ามีชื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ยังไม่เห็น แต่โดยทั่วไปก็ไม่มีปัญหา แต่ละคนที่ไปต่างประเทศก็ให้ความร่วมมือกับคสช. ซึ่งขอขอบคุณด้วย ถ้าดำเนินการเรียบร้อยดีเช่นนี้โรดแม็ปที่คสช.กำหนดไว้ก็จะสำเร็จ ซึ่งขอความร่วมมือทุกคนช่วยกัน

"ประยุทธ์"ชี้มีเลือกตั้งแต่อย่าเร่ง 

        เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินีฯ กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. กล่าวปาฐกถาแก่สมาชิกหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินมาตรการตามแผนโรดแม็ปที่วางไว้ ไม่ต้องกังวลเรื่องประชาธิปไตย ตนเข้ามาก็ใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์และรับรองว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ระหว่างนี้ต้องแก้ปัญหากันไป และเมื่อมีการเลือกตั้งทุกอย่างจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันขับเคลื่อน 


2 ปีครึ่ง - เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวจ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ แกนนำเสื้อแดงมาฟังคำพิพากษาในคดีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ

      นายกฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาอาจเจอปัญหาการชุมนุมประท้วงแต่ยืนยันว่าจะไม่ให้มีความ วุ่นวาย ไม่ให้มีประท้วงอย่างเด็ดขาด และไม่ต้องกังวลเรื่องการประกาศใช้กฎอัยการศึก เราใช้อย่างสร้างสรรค์ 6 เดือนที่ผ่านมาเราทำให้เห็นชัดเจน จะสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกคน เชื่อว่าปีหน้าจะมีการลงทุนเพิ่มเป็น 2 เท่า และระหว่างนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ก็เดินหน้าเรื่องกฎหมายต่างๆ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก็เดินหน้าปฏิรูป หากใครมีข้อเสนอแนะขอให้เสนอมาพร้อมรับฟังทุกเรื่อง 

       "วันนี้อย่าเร่งรัดมากพราะมันเป็นเรื่องภายในของเรา ไม่ว่าการเลือกตั้ง การปฏิรูป เราดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะการเลือกตั้งเดี๋ยวค่อยว่ากัน ผมตั้งใจว่าก่อนปีใหม่นี้จะทำแต่ความดีและจะยิ้มแย้มแจ่มใส ยิ้มให้มากขึ้น พยายามพูดให้เพราะ แต่ยอมรับว่าผมเจอปัญหาหนัก อีกทั้งเป็นทหารมา 38 ปี เพิ่งมาเป็นนายกฯเพียง 3 เดือน ก็อย่าว่ากันมาก เป็นทหารดูช้างม้าวัวควาย กับคน 2-3 แสนคน เป็นรัฐบาลต้องดูแลคน 60 กว่าล้าน เรื่องเยอะ ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนพอใจได้" นายกฯ กล่าว

วอนให้กำลังใจนายกฯ

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการเตรียมลงพื้นที่ต่างจังหวัดของนายกฯว่า การลงพื้นที่พบประชาชนเป็นเรื่องที่อยู่ในใจนายกฯ ซึ่งอยากลงพื้นที่ในทุกภูมิภาค จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยว ข้องจัดทำรายงานเสนอให้นายกฯ พิจารณาด้วยตัวเอง นายกฯไม่วิตกกังวลกรณีมีกลุ่มที่เห็นขัดแย้งกับรัฐบาลแล้วแสดงออกเชิญสัญลักษณ์ แต่อยากให้ทุกคนเข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้

       พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ คิดว่าไม่มีใครชอบการปฏิวัติ แต่หากย้อนเวลากลับไปก่อนวันที่ 22 พ.ค. ทหารไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ การแสดงความเห็นสามารถทำได้แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา จึงอยากให้เข้าใจว่าไม่มีวิธีการอื่น หากบอกว่าให้ทหารออกมายืนข้างประชาชนแล้วเอาปืนวางไว้ ถามว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะยอมหรือไม่ หรือหากให้ออกมาปราบปรามโดยใช้กฎหมาย ความรุนแรงก็จะเกิด ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาแบบรัฐศาสตร์ จึงต้องทำให้ 2 ฝ่ายที่มีมวลชนจำนวนมาก เกิดความรู้สึกวางใจว่าคนที่เข้ามาไม่เอนเอียงฝ่ายใด แต่ต้อง การมายุติศึก วิธีที่ดีที่สุดก็คือวิธีที่รัฐบาลทำ

       เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลส่งผลให้นายกฯ หมดกำลังใจแล้วหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ เป็นนักสู้ ใครที่ทำงานร่วมกับนายกฯจะรู้ดี ไม่ว่าจะสอบถามเรื่องอะไรจะมีคำตอบให้เสมอโดยที่คำตอบจะไม่ใช่แบบนักการเมือง แต่เป็นคำตอบที่ได้ศึกษาข้อมูลมาแล้ว จึงอยากให้กำลังใจมากกว่า

ปัด"ซินแสโจ้"รองโฆษก

      พล.ต.สรรเสริญ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวนายคมสัน พันธุ์วิชาติกุล หรือซินแสโจ้ อดีตส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ จะมาร่วมงานกับทีมโฆษกรัฐบาลว่า นายคมสันจะเข้ามาดูแลสื่อโซเชี่ยลมีเดีย ส่วนจะแต่งตั้งให้เป็นรองโฆษกอย่างเป็นทางการหรือไม่ ตนไม่ทราบเพราะไม่ได้อยู่ร่วมกระบวนการพิจารณาแต่งตั้ง เมื่อถามว่ารัฐบาลโดนโจมตีบ่อยจึงต้องเสริมทีมโฆษกด้านโซเชี่ยลมีเดียเข้ามาหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การโจมตีผ่านสื่อ โซเชี่ยลมีเดียไม่ถือเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่หากมีคนมาช่วยดูแลด้านนี้โดยตรงก็คงดีขึ้น แม้สื่อโซเชี่ยลฯจะไม่ใช่สื่อหลักแต่ส่งกระทบต่อสังคมวงกว้าง เจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อาจไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

      ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงการพิจารณาเพิ่มตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาลว่า มีการพูดคุยกันบ้างเพราะตอนนี้แถลงข่าวกันเพียงสองคน บางครั้งงานมาก แต่ตอนนี้ต้องดูกันไปก่อน ส่วนที่นายคมสัน มาช่วยในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.นั้น นายคมสันเป็นทีมงานที่มาดูเรื่องโซเชี่ยลให้ แต่ไม่ได้วางตัวเป็นรองโฆษก เพราะยังอยู่ในช่วงพิจารณา ซึ่งผู้ใหญ่จะเป็นผู้พิจารณา 

"ยงยุทธ"ยันไม่ออก-แค่เข้าใจผิด 

      ส่วนกระแสข่าวจะลาออกจากโฆษกรัฐบาล ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ตนยังคงทำงานเหมือนเดิม ทีมโฆษกทำงานกันเต็มที่ ประสานงานกันดี ช่วยเหลือกันไม่มีปัญหา ยังคงมุ่งมั่นทำงานทุ่มเทเต็มที่เหมือนเดิม และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมงานสำคัญโดยเฉพาะการแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 3 เดือน ซึ่งนายกฯให้แนวทางไว้แล้วจะเป็น ผู้แถลงหลัก มีรองนายกฯร่วมแถลงในส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งก่อนปีใหม่จะมีการประชุมนานาชาติ ที่นายกฯจะไปร่วมประชุมด้วย 

       เมื่อถามว่าหมายความว่าต้นปีหน้ายังทำหน้าที่โฆษกอยู่ใช่หรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม เมื่อถามถึงที่มาของข่าวดังกล่าวเพราะมีการไปบ่นกับคนใกล้ชิดหรือไม่ ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า คนที่เข้ามาทำงานตรงนี้ก็มีเหนื่อยบ้างแต่อาจเข้าใจกันไปผิด และไม่คิดว่ามีการขัดขากัน อีกทั้งนายกฯให้กำลังใจในการทำงานมาตลอด และตั้งแต่มีกระแสข่าวออกมาก็ยังไม่ได้คุยกับ นายกฯ เชื่อว่าข่าวดังกล่าวไม่เกี่ยวกับกรณี การรับงานของบริษัทเอกชนของตน และตอนนี้ ก็ไม่มีบริษัทดังกล่าวแล้ว ได้อธิบายต่อสื่อแล้ว

กมธ.ยกร่างคงโทษ"ประหาร"

      ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงหลังการประชุม กมธ.ยกร่าง ว่า ที่ประชุมพิจารณารายงานของคณะอนุกมธ.คณะที่ 2 ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน ในส่วนสิทธิพลเสรีภาพพลเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยอนุกมธ.เสียงส่วนใหญ่เสนอให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกคดี แต่กมธ.ยกร่างเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าต้องคงโทษ ประหารชีวิตไว้ เพราะมีคดีอุกฉกรรจ์หลายคดีที่ควรได้รับการลงโทษสาสมกับความผิดที่ทำ เช่น ค้ายาเสพติด ฆ่าข่มขืน และการเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ซึ่ง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฝากเป็นประเด็นให้นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่าง ในฐานะผู้รับผิดชอบ ด้านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ไปสอบถามประชาชน 2 ประเด็น 1.ควรให้คงโทษประหารชีวิตไว้หรือไม่ 2.สิทธิของบุคคลที่ไม่ได้เป็นคนไทย แต่พักอาศัยในไทยควรเป็นอย่างไร 

       พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า จากนั้นกมธ.ยกร่างพิจารณารายงานของคณะอนุกมธ. คณะที่ 7 เรื่องศาลและกระบวนการยุติธรรม โดยคณะอนุกมธ.มีความเห็นให้บรรจุคำว่าหลักนิติธรรม ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่นิยามหรือลงรายละเอียดเพื่อให้ศาลเป็นผู้ตีความ แต่ต้องผูกพันตามหลักนิติธรรม ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550

ศาลยังมี 4 ประเภทเหมือนเดิม 

        โฆษกกมธ.ยกร่าง กล่าวว่า ส่วนเรื่องศาลยังคงให้มีระบบตามเดิม ได้แก่ ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลทหาร ซึ่งในส่วนของศาลยุติธรรม กมธ.ยกร่างเห็นว่าควรให้คดีทั่วไปสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ แต่ถ้าจะสู้ต่อในชั้นศาลฎีกาต้องทำคำร้องเป็นกรณีพิเศษ เพื่อลดปริมาณคดีในศาลฎีกาที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะเดียวกันต้องมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 4 ศาล และตัวแทนระหว่างคู่ขัดแย้งเข้ามามีส่วนร่วม นอกจากนี้จะกำหนด ให้ผู้พิพากษามีอายุ 35 ปีขึ้นไป จากเดิม 25 ปี เพราะเห็นว่าถ้าผู้พิพากษาอายุเพียง 25 ปี วัยวุฒิจะไม่สมบูรณ์ 

      โฆษกกมธ.ยกร่างกล่าวว่า ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ เสนอให้แก้ไของค์ประกอบบางประการ เช่น สัดส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เปิดให้ผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมาย มหาชน เข้ามาทำหน้าที่ จากเดิมส่วนใหญ่มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครอง และการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ที่สำคัญ กมธ.ยกร่างเห็นว่าควรบรรจุเรื่องสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ว่าด้วยต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานในเรื่องหลักประกันและความช่วยเหลือในทางคดีอย่างเท่าเทียมกัน 

       โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอที่ออกมาจากอนุกมธ.ก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเยอรมัน การกำหนดที่มาของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุดที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกมธ.ยกร่าง ต้องนำมากลั่นกรองและพิจารณาว่าจะนำประเด็นใดไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ อีกครั้ง 

สังคมขานรับเลือกตั้งเยอรมัน

       นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่าง เผยถึงแนวทางการพิจารณาข้อเสนอวิธีการเลือกตั้งจากประเทศเยอรมันว่า กมธ.ยกร่างฯ จะหารือวันที่ 12-13 ธ.ค. นี้ ก่อนหาข้อสรุปในที่ประชุม สปช.วันที่ 15 ธ.ค.ต่อไป เชื่อว่าจะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เพราะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และยังมีข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปการเมืองที่เสนอให้รัฐสภาเป็นคนเลือกคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีก 

        นายสุจิต บุญบงการ ในฐานะประธานอนุกมธ.พิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 3 กล่าวถึงข่าวอนุกมธ.ตัดสินใจเสนอการเลือกตั้งแบบเยอรมันมาใช้ ว่า เป็นแค่เพียงหนึ่งตัวเลือกในข้อเสนอ ยอมรับว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่หลายประเทศใช้อยู่ ทั้งยังเสนอระบบการเลือกตั้งแบบประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เพราะเป็นชาติในเครือจักรภพที่มีสถาบันกษัตริย์เหมือนไทย ข่าวที่ออกไปเพราะมีอนุกมธ.บางคนพูดผ่านสื่อ พอมีสื่อมาถามเรื่องของระบบเยอรมันก็แค่อธิบาย ไม่ได้หมาย ความว่าเราจะเอาระบบนี้ เพราะต้องรอประชุม คณะอนุกมธ. เพื่อเสนอต่อกมธ.ยกร่างในวันที่ 12 ธ.ค. แต่เมื่อฟังกระแสตอบรับของภาคสังคม ประชาชนต่างก็เห็นชอบดี มีแต่นักการเมืองที่ไม่ชอบเพราะลดอำนาจทางการเมืองและลดพื้นที่ ลดจำนวนส.ส. ถือเป็นเรื่องปกติที่จะคัดค้าน


แจงกสม. - กลุ่มนักศึกษาดาวดิน ม.ขอนแก่น เข้าชี้แจงต่อกรรมการสิทธิมนุษยชน ยืนยันไม่เคยรับเงินจากนักการเมือง 50,000 บาท เป็นค่าจ้างชู 3 นิ้วตามที่ทหารออกมา กล่าวหา พร้อมท้าโชว์หลักฐาน เมื่อวันที่ 3 พ.ย.

กมธ.สนช.ชงเลือกนายกฯโดยตรง 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะ อนุกมธ.ด้านการเมือง ในกมธ.การเมืองของสนช. ที่มีนายศิระชัย โชติรัตน์ เป็นประธาน ศึกษาจัดทำกรอบข้อเสนอแนะต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 ข้อ 1.การกำหนดที่มาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ 2.การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการเมืองการปกครอง ประกอบกับข้อเสนอของกมธ.การเมืองที่มีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน เพื่อสรุปเป็นรายงานความเห็นเสนอแนะต่อกมธ.สามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญต่อไป 

        ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ การกำหนดให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพื่อแยกอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารออกจากกัน โดยนายกฯ ต้องเป็นหัวหน้าพรรคและอยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับแรก เพื่อรับผิดชอบการทำหน้าที่ทั้ง 2 ตำแหน่ง และรองรับต่อรัฐธรรมนูญในอนาคตที่จะกำหนดความรับผิดชอบหากดำเนินนโยบายไม่เป็นไปตามที่หาเสียงไว้และมีโทษทางแพ่งเพิ่มเติมด้วย แต่แนวทางนี้อาจเกิดข้อเสีย อาทิ การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีหากไม่ได้รับอนุมัติจะส่งผลต่อรัฐบาล ที่ประชุมจึงเห็นควรศึกษาข้อมูลประกอบข้อเสนอของ กมธ.การเมือง เพื่อให้เห็นข้อดีข้อเสีย แต่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อนุกมธ. ไม่เห็นด้วยต่อแนวทางดังกล่าวเพราะเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม ไทย โดยก่อนหน้านี้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่าง ก็แสดงความเห็นคัด ค้านแล้วเพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นนำสู่การเป็นสาธารณรัฐได้

"สมคิด"ดัน"นิรโทษ"ช่วงปีใหม่ 

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวยืนยันให้มีระบบรัฐสภาประกอบด้วย 2 สภา ส่วนการได้มาของ ส.ส.ให้มาจากแบบแบ่งเขต โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ซึ่งผู้สมัครจะสังกัดพรรคหรือเป็นผู้สมัครอิสระก็ได้ ส่วนการได้มาของ ส.ว.มีข้อเสนอ 3 รูปแบบ คือ 1.มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมทั้งหมด 2.การสรรหาทั้งหมด 3.การเลือกตั้งโดยอ้อมและการสรรหา อย่างละครึ่ง และลดอำนาจหน้าที่ถอดถอน ให้เป็นอำนาจร่วมของรัฐสภา นอกจากนี้ที่มาของครม. ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกฯ รัฐมนตรี รวมตัวกันเพื่อตั้งคณะบุคคลแล้ว จัดทำบัญชีรายชื่อซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของครม.

ที่ประชุมยังพิจารณาถึงความจำเป็นในการศึกษาการสร้างปรองดอง ที่ล่าสุดมีกระแสให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยนายสมคิดระบุในที่ประชุมว่า ถ้ารัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ออกกฎหมายเพื่อสร้างปรองดองในช่วงปีใหม่ได้ จะถือเป็นความสุขของคนทั้งประเทศ

ทปอ.ก็ชงเลือกตั้งนายกฯ

ขณะเดียวกัน นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีนิด้า รักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมสมาชิก ทปอ. ยื่นข้อเสนอแนะจากคณะทำงานการปฏิรูปด้านการเมือง ทปอ. ที่มี นายสมคิด เป็นประธาน ต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เพื่อประกอบการพิจารณาปฏิรูปประเทศต่อไป

ข้อเสนอของ ทปอ. 6 ด้าน 1.การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ให้แยกอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติออกจากกัน ให้มี การเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงจากประชาชนแบบเดียวกับผู้ว่าฯ กทม. หรือนายก อบจ. ให้ส.ส.มีที่มาจาก 2 ช่องทาง คือ เลือกตั้งระบบเขต ผู้สมัครไม่ต้องสังกัดพรรค และเลือกตั้งมาจากแต่ละสาขาอาชีพ และห้ามส.ส. ไปทำงานฝ่ายบริหาร ให้ทำงานด้านนิติบัญญัติ เท่านั้น และให้มีสภาพลเมืองไม่เกิน 900 คน มาจากประธานสภาเทศบาลเลือกกันเองอำเภอละ 1 คน เพื่อตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหารและสะท้อนปัญหา

สถาบันการศึกษาปลอดการเมือง 

2.ปฏิรูปการกระจายอำนาจ กำหนดให้สมาชิกท้องถิ่นมาจาก 2 ทาง คือ การเลือกตั้งและสรรหาจากบุคคลที่มีความรู้ในท้องถิ่น เพิ่มอำนาจสภาท้องถิ่นตรวจสอบถ่วงดุล อำนาจให้เป็นจริง 3.ปฏิรูปการศึกษา มีเป้าหมายผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ 4.ปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอให้เพิ่มค่าใช้จ่ายและพัฒนารวมของประเทศและเพิ่มสัดส่วนการลงทุนวิจัย

5.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้นำแนวคิดยุติธรรมทางเลือกมาช่วยเสริมให้เกิดกระบวนการยุติธรรมแบบมีส่วนร่วมของชุมชน สร้างกระบวนการยุติธรรมที่เอื้อต่อการเข้าถึงคนทุกกลุ่ม เกิดการคุ้มครองสิทธิที่ครอบคุลมทั้งต่อผู้เสียหาย ผู้ต้องหา จำเลยและผู้ต้องโทษ 6.ปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชั่น สถาบันการศึกษาต้องปลอดจากการเมือง อบจ.ต้องมีการกลั่นกรองคนที่มีคุณภาพเข้าสู่ตำแหน่ง ให้ประชาชนตรวจสอบและเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้อย่างเป็นจริง ส่วน ป.ป.ท. และหน่วยงานด้านนี้ควรเร่งรัดดำเนินคดีทุจริตให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว

นายเทียนฉายกล่าวว่า จะนำข้อมูลที่ได้นี้ไปสังเคราะห์ใช้ประโยชน์ในการปฏิรูปต่อไป ส่วนข้อเสนอจากกมธ.ชุดต่างๆ ในเวลานี้ เป็นเพียงแค่ข้อสรุปที่ได้จากในชั้นกมธ.เท่านั้น ต้องนำไปพิจารณาในที่ประชุม สปช.และอาจมีความเห็นเพิ่มเติมต่อไป โดยจะเริ่มประชุมวันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ และพิจารณาขัดเกลา วันสุดท้ายวันที่ 18 ธ.ค. เพื่อส่งให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 19 ธ.ค. และจะแถลงรายละเอียดครั้งใหญ่ในวันดังกล่าวด้วย

กมธ.ปฏิรูปการเมืองชูเลือกตั้งครม.

ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล จัดงานเสวนาเรื่อง "การปฏิรูปโครงสร้างการเมืองไทย รัฐบาลควรมาจากไหน" 

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมืองของสปช. กล่าวถึงข้อสรุปของ กมธ.ปฏิรูปการเมืองที่จะเสนอให้สปช.พิจารณา วันที่ 10 ธ.ค.ว่า ยังคงยึดโครงสร้างระบบรัฐสภาในส่วนบนคือ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านนิติ บัญญัติ บริหารและตุลาการ ขณะที่ฝ่ายนิติ บัญญัติ ยังคงใช้ระบบ 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน แบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 1 เขต มีส.ส.ไม่เกิน 3 คน จังหวัดใดมีประชากรมากจนมีส.ส.เกิน 3 คน ก็ให้แบ่งเป็นอีกเขตเลือกตั้งหนึ่ง ส่วน ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน จังหวัดละ 1 คน ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งมาจากการสรรหาของกลุ่มวิชาชีพ เช่น สภาทนายความ หรือกลุ่มแพทย์ และสรรหาจากกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มเกษตรกร

นายสมบัติกล่าวว่า ขณะที่ฝ่ายบริหาร เสนอให้เลือกตั้งครม.โดยตรง โดยให้พรรค การเมืองต้องเสนอชื่อนายกฯ และครม. ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้ง นอกจากนี้ยังเสนอตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นอีก 1 องค์กร ชื่อว่า "คณะกรรมการประเมินผล แห่งชาติ" ทำหน้าที่ประเมินการแต่งตั้งบุคคลตำแหน่งระดับอธิบดีขึ้นไป เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และการซื้อขายตำแหน่ง รวมถึงทำหน้าที่ประเมินความคุ้มค่าของโครงการขนาดใหญ่ และแจ้งให้สาธารณชน รับทราบ

นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้แนวทางการปฏิรูปการเมืองที่จะเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ยังอยู่ระหว่างการประชุมกันอย่างกว้างขวาง กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะมีข้อสรุปในการประชุม นัดสุดท้ายวันที่ 8 ธ.ค. นี้

เทียนฉายโวซีรีส์-ของขวัญสปช.

วันเดียวกัน นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีนิด้า ในฐานะรักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) พร้อมสมาชิก ทปอ. เข้ายื่นข้อเสนอแนะจากคณะทำงานการปฏิรูปด้านการเมือง ทปอ. ที่มี นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธาน ต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เพื่อประกอบการพิจารณาปฏิรูปประเทศต่อไป มีสาระสำคัญคือให้มีการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรงจากประชาชนแบบเดียวกับผู้ว่าฯ กทม. หรือนายก อบจ. ให้ส.ส.มีที่มาจาก 2 ช่องทาง คือเลือกตั้งระบบเขต ผู้สมัครไม่ต้องสังกัดพรรค และเลือกตั้งมาจากแต่ละสาขาอาชีพ และห้ามส.ส.ไปทำงานฝ่ายบริหาร ให้ทำงานด้านนิติบัญญัติเท่านั้น

นายเทียนฉายกล่าวว่า จะนำข้อมูลที่ได้นี้ไปสังเคราะห์ใช้ประโยชน์ในการปฏิรูปต่อไป ส่วนข้อเสนอจากกมธ.ชุดต่างๆ เวลานี้ เป็นเพียงแค่ข้อสรุปที่ได้จากในชั้นกมธ.เท่านั้น ต้องนำไปพิจารณาในที่ประชุม สปช.และอาจมีความเห็นเพิ่มเติมต่อไป โดยจะเริ่มประชุมวันที่ 15-17 ธ.ค. นี้ และพิจารณาขัดเกลาวันสุดท้ายวันที่ 18 ธ.ค. เพื่อส่งให้กมธ.ยกร่างวันที่ 19 ธ.ค. และจะแถลงรายละเอียดครั้งใหญ่ในวันดังกล่าวด้วย

นายเทียนฉายเผยว่า ขณะนี้สปช.กำลังเตรียมเรื่องของขวัญปีใหม่ที่จะมอบให้คนไทยช่วงเทศกาลแห่งความสุขปลายปี ภายหลังนายกฯ ในฐานะหัวหน้าคสช. มอบให้แม่น้ำ 5 สาย ทั้งคสช. ครม. สนช. สปช. และกมธ.ยกร่าง ช่วยกันคิดในการประชุมเมื่อ วันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ในส่วนของ สปช.กำลังสะสางเรื่องความคิดเห็นในประเด็นการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เสร็จทันภายในวันที่ 19 ธ.ค. ก่อน จากนั้นจะเปิดแถลงข่าวเป็นซีรีส์ แต่เปิดเผยรายละเอียดวันนี้ไม่ได้เดี๋ยวไม่เซอร์ไพรส์ ให้รอดูการแถลงข่าว ยืนยันคนไทยจะมีความสุขจากของขวัญของ สปช.แน่นอน

"พรเพชร"โยน"นิรโทษ"ให้รบ. 

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวถึงข้อเสนอออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า เรื่องนี้ต้องเริ่มจากรัฐบาล ไม่ใช่จากสนช. นอกจากสนช.ได้รับฟังความเห็นจนตกผลึกแล้ว ส่วนที่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุให้สนช.เป็นเจ้าภาพนั้น เข้าใจว่าถ้ากฎหมายเข้ามายังสนช. จะต้องพิจารณารายละเอียดให้เป็นไปตามหลักการ สนช.ไม่ได้ศึกษาประเด็นการนิรโทษ กรรมไว้ล่วงหน้า เพราะเป็นเรื่องหลักการที่ขึ้นอยู่กับแนวคิดในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หากออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วสร้างความขัดแย้ง สนช.ก็ไม่สนับสนุน

ชี้ต้องรวมแกนนำด้วย 

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นอดีตประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม หากรัฐบาล คสช.และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอยากสร้างบรรยากาศปรองดองบนพื้นฐานการให้อภัยและมีเมตตาต่อกัน จำเป็นต้องสนับสนุนให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำผิดในคดีการเมือง ส่วนจะออกในรูปแบบใด จะเริ่มนิรโทษตั้งแต่ปีไหนว่ากันไป โดยหลักหากจะออกกฎหมายนิรโทษให้กับผู้ทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่รวมผู้กระทำผิดในคดีอาญา เช่น คดีปิดสนามบิน คดีเผาศาลากลางจังหวัด ตนมองว่าปัญหาไม่มีทางจบ ต้องยอมรับว่าผู้ทำผิดคดีเหล่านี้เพราะมีแรงกระตุ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง หากอยากให้เรื่องจบสนช.รวมทั้งกมธ.ยกร่างต้องทำใจ อย่าไปจำแนกประเภทของผู้ที่ควรได้รับการนิรโทษ แต่ถ้าจะไม่นับรวมกับพวกที่กระทำผิดในคดีหมิ่น มาตรา 112 ก็แยกต่างหากได้

นายสามารถกล่าวว่า หากอยากให้เกิดการปรองดองกันจริงๆ อย่าใจแคบ และขอให้เลิกพูดเสียทีว่าจะไม่นิรโทษให้แกนนำเพราะปัญหา ก็ไม่จบอีก ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องทำใจยอมรับ มาเริ่มต้นกันใหม่ นอกจากการนิรโทษแล้วต้องดูแลและเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมในช่วงที่ผ่านมาด้วย ทั้งผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จนถึงผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายด้วย

อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง"ตู่"หมิ่นรสนา

เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีหมายดำ อ.3982/2553 ที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. และอดีตส.ส.เพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 กรณีวันที่ 29 ส.ค.2553 จำเลยให้สัมภาษณ์ทำนองมีความพยายามจะให้คดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมที่ท่าอากาศสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยาน ดอนเมือง ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยโจทก์เป็นตัวตั้งตัวตี ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

บิ๊กตู่ถกสื่อแจงปฏิรูป

เวลา 16.00 น. ที่สโมสรราชพฤกษ์ พล.อ. ประยุทธ์ พร้อม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมาชิก คสช. พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ ที่ปรึกษานายกฯ ได้เชิญผู้บริหารสื่อ 16 สำนัก หารือเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศและชี้แจงการบริหารบ้านเมือง โดยมีผู้บริหารสื่อ อาทิ นายฐากูร บุนปาน ตัวแทนเครือน.ส.พ.ข่าวสด-มติชน นายสุทธิชัย หยุ่น จากเดอะเนชั่น นาย สราวุธ วัชรพล จากไทยรัฐ นายประชา เหตระกูล จากเดลินิวส์ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อนุญาตให้สื่อมวลชนสังเกตการณ์และบันทึกภาพได้เฉพาะด้านหน้าอาคาร เวลา 16.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมคณะ มาถึงที่อาคารสโมสรราชพฤกษ์ ก่อนใช้ประตูด้านข้างอาคารเป็นทางเข้าเพื่อหลบผู้สื่อข่าวที่ดักรออยู่ด้านหน้า

เวลา 18.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ หลังหารือกับผู้บริหารสื่อนานกว่า 2 ชั่วโมง ว่า ตนอธิบายผู้บริหารสื่อว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนไหน รวมถึงการขับเคลื่อนกฎหมายและวันหน้าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร ผู้บริหารสื่อสงสัยว่าจะปฏิรูปได้ทั้งหมดหรือไม่เพราะเวลามีแค่ปีเดียว ตนอธิบายว่าเรื่องนี้ได้วางพื้นฐานไว้ วันหน้าใครเป็นรัฐบาลก็เดินตามแนวทางนี้ จะไม่มีปัญหา ถ้าวันนี้ยังตกลงกันไม่ได้ วันข้างหน้าก็ไม่สามารถเดินไปได้และปัญหาจะกลับมาเหมือนเดิม ตนเสนอว่าหากมีข้อสงสัยขอให้สอบถามมา วันนี้เชิญสื่อใหญ่มาพูดคุยกันก่อน ส่วนที่ยังไม่มาก็อาจเป็นรอบหน้าและตนจะไม่พูดเองแล้ว 

ยันไม่ก้าวล่วง

เมื่อถามว่าได้พูดคุยในประเด็นที่นายกฯ ยังติดใจการนำเสนอข่าวหนังสือพิมพ์หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้พูด ไม่ได้ว่าและไม่ได้ตำหนิ เพียงแต่บอกว่าต่างคนต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่อยากก้าวล่วงสื่อ และบอกว่าลูกน้องของทุกคนน่ารักเพียงแต่ตนโมโหบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ตนรู้ถึงความห่วงใยและทุกคนก็สงสัย บางครั้งการอธิบายสั้นๆ ก็ไม่เข้าใจ วันนี้ได้พูดทุกประเด็นทั้งเรื่องการเดินหน้าประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจว่าจะแก้อย่างไร แม้แต่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันที่ดี เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ล้มทุกเรื่อง 

นายกฯ กล่าวว่า คำถามส่วนใหญ่ที่ผู้บริหาร สื่อสอบถามจะเป็นเรื่องการปฏิรูปว่าจะไหวหรือ จึงเล่ารายละเอียดให้ฟัง ทุกคนเข้าใจและถามหลักการปฏิรูป 11 เรื่อง 18 ด้าน ถ้ามี 100 กว่าเรื่องจะเสร็จทันหรือไม่ ตนชี้แจงว่าอาจไม่เสร็จแต่ได้วางขั้นต้นไว้แล้ว เพราะมีเวลาเท่านี้

"ถ้าผมทำในส่วนที่ดีจะมาว่าผมไม่ดีไม่ได้ ผมคิดดีและตั้งใจทำดีทั้งหมด ถ้ายังไม่ดีและมีการโกงก็ต้องไล่ล่าตรวจสอบและตามจับ ถ้ามาบอกว่าทั้งหมดที่ทำไม่ดีผมว่ามันไม่ใช่ หรือจะดีทั้งหมดผมว่าไม่ใช่ แต่ความตั้งใจดี 100 เปอร์เซ็นต์ และเกิน 100 ด้วยซ้ำ เพราะผมตั้งใจดีทุกอย่าง" นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มต่างๆ ตนมอบให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปพูดคุย เช่น คสช.พูดคุยกับนักศึกษา ครู อาจารย์เปิดเวที 3,000 เวที ต้องการสร้างความเข้าใจเพื่อให้บรรยากาศปรองดอง รัฐบาลชุดนี้ได้วางราก ฐานไว้ หากคิดว่าเข้ามาแล้วจะทำอีกแบบหรือทำแบบเดิมก็ช่วยไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยเป็นแบบนั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบรัฐธรรมนูญ ว่าจะเลือกตั้งอย่างไร ถ้าทุกคนยอมรับกติกา รัฐบาลชุดหน้าก็จะอยู่ด้วยกันแบบรักและสามัคคี 

บรรยากาศพูดคุยดี 

เมื่อถามว่านายกฯสบายใจขึ้นหรือไม่ที่มีการ พูดคุยกับสื่อ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่เคยไม่สบายใจและรู้จักทุกคน แต่วันนี้ได้มาเห็นตัวตนของตนอีกครั้ง ก่อนหน้านี้ตนไม่ได้อยู่ในอำนาจ แต่วันนี้มีอำนาจก็ยังไม่เคยคุยกับเขา ได้มาคุย เขาจะได้เห็นว่าตนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่จริงจังและจริงใจมากขึ้น แบกรับภาระรับผิดชอบมากขึ้น ขอให้สบายใจ ว่าไม่ได้ทำด้วยความคิดทหาร แต่ทหารช่วยเพียงขับเคลื่อนให้เร็วขึ้นเพราะเวลาจำกัด ตนรวบรวมสติปัญญาแก้ปัญหาทุกส่วน ทั้งนี้ไม่ได้มีการพูดถึงประกาศคสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือครั้งนี้ นายกฯ ไม่ได้ร้องขออะไรสื่อ คุยกันในลักษณะวงกลม ให้ผู้บริหารถามคำถามได้ และนายกฯเป็น ผู้ตอบและเล่าขั้นตอนการทำงานของคสช. และรัฐบาล นายกฯยืนยันว่าเคารพการทำงานของสื่อที่มีความสำคัญ การพูดคุยครั้งนี้ไม่มีการ คาดโทษ แต่เป็นการทำความเข้าใจ บรรยากาศในห้องประชุมเป็นไปด้วยดี นายกฯไม่มีโมโห หลังหารือเสร็จนายกฯมอบพระพุทธเมตตาเสนานาถ ที่จัดสร้างขึ้นในปี"56 สมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นผบ.ทบ. ให้เป็นของที่ระลึก

จำคุก"จ่าประสิทธิ์"ไม่รอลงอาญา

วันที่ 3 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.2360/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อายุ 49 ปี อดีตส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย จำเลยความผิดฐาน ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีวันที่ 7 พ.ค. 2557 ปราศรัยบนเวทีที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ สาขาลาดพร้าว พาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่กลับคำให้การโดยรับสารภาพในชั้นศาล

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง มีความผิดตามป.อาญา มาตรา 112 พิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี แต่รับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษลงกึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน แต่ข้อความที่จำเลยกล่าวปราศรัยมีเนื้อหาถ้อยคำรุนแรง ทำให้สถาบันเกิดความเสียหาย อีกทั้งเคยเป็นส.ส.ถึง 2 สมัย ย่อมรู้จักรับผิดชอบชั่วดี การใช้คำพูดต้องใช้วิจารณญาณและระมัดระวังมากกว่าบุคคลทั่วไป อีกทั้งมีประวัติถูกดำเนินคดีอาญาหลายคดี แต่ยังมากระทำผิดซ้ำอีกในเรื่องที่ร้ายแรงขึ้น จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น จ.ส.ต.ประสิทธิ์มีสีหน้าซึมเศร้า ภรรยาของจ.ส.ต. ประสิทธิ์ เข้ามาโอบกอดพร้อมร่ำไห้ ขณะที่จ.ส.ต.ประสิทธิ์พูดปลอบใจสั้นๆ ว่าไม่เป็นไร

จ.ส.ต.ประสิทธิ์เผยว่า ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำมากว่า 6 เดือนแล้วแต่ไม่คิดนำความขัดแย้งกลับมาอีก ขณะนี้จึงยังไม่คิดเรื่องอุทธรณ์คดี

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!