WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 08 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8776 ข่าวสดรายวัน


'ยาง'ลุยแน่ ฮึ่มปิดถนน-กดดันรบ. 
แกนนำ 16 จว.จี้อุ้มราคา พิเชษฐอัดเลือกนายกฯ คือระบบปธน.-ทำไม่ได้

      กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ ดันกฎหมายคุมรัฐซื้อโฆษณา ห้ามมีรูปและเสียงรัฐมนตรี นักการเมือง บิ๊กข้าราชการ 'พิเชษฐ'อัดแนวคิดเลือกตั้งนายกฯ เหมือนระบบประธานาธิบดี เป็นไปไม่ได้'เสี่ยตือ'รอฟังความเห็น'บวรศักดิ์'โพลชี้บริหารประเทศ 3 เดือน คะแนน'บิ๊กตู่'ลดลง ป.ป.ช.เล็งสรุปคดี'บุญทรง'ขายข้าวจีทูจี ภายในธ.ค.นี้ หึ่งสนง.วุฒิสภาขอเก้าอี้ที่ปรึกษาระดับ 11 ปูทางเลขาฯคนใหม่ สวนยางสุราษฎร์ฯ ฮึ่มปิดถนนหน้าศาลากลาง จี้รัฐบาลอุดหนุนราคาทันที

กมธ.ดันกม.คุมรัฐซื้อโฆษณา
      วันที่ 7 ธ.ค. นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ในสภาปฏิรูป (สปช.) กล่าวถึงการจัดทำกฎหมายควบคุมการซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ว่า การประชุมครั้งที่ผ่านมามีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธานการประชุม มีการหารือเพื่อเตรียมผลักดันให้รัฐบาลออก พ.ร.บ. ควบคุมการซื้อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ โดยเรื่องนี้เป็นการเคลื่อนไหวร่วมกันของภาคีเครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ทีดีอาร์ไอ และอีก 4 องค์กรสื่อคือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ 
     นายประดิษฐ์ กล่าวว่า เนื่องจากผลการวิจัยทีดีอาร์ไอพบว่า หน่วยงานภาครัฐใช้งบประมาณในการซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานหรือองค์กร ตกปีละ 8,000-10,000 ล้านบาท ยังไม่รวมการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานภาครัฐ พบว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ รั่วไหล ซ้ำยังสร้างปัญหาให้สื่อขาดความเป็นอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน ที่ผ่านมามักจะมีคำขู่ทั้งจากรัฐบาลและนักการเมืองมาตลอดว่าถ้าไม่เชียร์รัฐบาลก็จะถอนการซื้อพื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์ในสื่อนั้นๆ ส่งผล กระทบต่อสื่อบางแห่ง และมีปัญหาในการนำเสนอข่าวสารต่อสังคม 

ห้ามมีรูป"รมต.-ขรก."
      นายประดิษฐ์กล่าวว่า องค์กรภาคีเครือข่ายจึงเห็นร่วมกันว่าควรจะมีพ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ....เพื่อให้การดำเนินการซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ให้มีประสิทธิ ภาพ โปร่งใสตรวจสอบได้ โดยเน้นสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในข้อมูลที่ประชาชนควรรับรู้ รับทราบ และห้ามมิให้มีภาพและเสียงของบรรดานักการเมือง รัฐมนตรีหรือข้าราชการระดับสูงที่คุมหน่วยงานนั้นๆ เพื่อแอบแฝงประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของตัวเองเหมือนอดีตที่ผ่านมา 
     นายประดิษฐ์กล่าวว่า รวมทั้งให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณในการซื้อสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าแต่ละปีได้ใช้งบประมาณจำนวนเท่าใด เป็นงบของหน่วยงานใดบ้าง โดยต้องรายงานต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทุกปี ทั้งนี้ กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ ได้พิจารณารัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 45 ที่บัญญัติเรื่องการใช้งบโฆษณาประชาสัมพันธ์เข้าพิจารณาด้วยพบว่ายังมีการแทรกแซง ครอบงำสื่อ จึงเห็นด้วยว่าควรจะมีกฎหมายดังกล่าวออกมาควบคุมการใช้งบประมาณของภาครัฐให้รัดกุม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะมีการหารือในที่ประชุมกมธ.ปฏิรูปสื่อฯ ให้ถือว่าเป็นกฎหมายที่เร่งด่วนที่สำคัญอันจะนำไปสู่การปฏิรูปสื่อสารมวลชน ผลักดันเสนอเป็นกฎหมายต่อรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

ดันอีกฉบับพ.ร.บ.เสรีภาพสื่อ
     รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะเดียวกัน คณะกรรมการปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ เตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและส่งเสริมมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ..... หลังจากที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ได้หารือกับสปช. สายสื่อมวลชนแล้วเห็นว่าควรมีการนำร่างกฎหมายดังกล่าวที่ยกร่างมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่ผ่านมานำมาพิจารณาปรับปรุงเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพในการควบคุมกันเองของสื่อมวลชน รวมถึงพิทักษ์ประโยชน์ให้กับสื่อมวลชน 
      ล่าสุดเรื่องดังกล่าวถูกนำเสนอเข้าสู่คณะอนุกมธ.จัดทำข้อเสนอแนะในการตราหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่มีนายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นประธานแล้ว และจะมีการพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดบางบทบัญญัติให้มีความทันสมัยกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ ในประเด็นสิทธิ เสรีภาพสื่อมวลชนที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เบื้องต้นมีข้อสรุปคือจะคงเจตนารมณ์และสาระหลักเหมือนในรัฐธรรมนูญ 2550 แต่จะเพิ่มประเด็นการใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบ 
       นอกจากนั้น ในส่วนของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เป็นกลไกกำกับดูแลสื่อมวลชน จะพิจารณาให้รวมเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกัน เพื่อให้การกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบันที่พบว่า กสทช. ได้แยกเป็นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ทำให้มีปัญหาต่อการทำงาน

กมธ.ดันเลือกตรงนายกฯ-ครม.
      นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช. ในฐานะกมธ.ปฏิรูปการเมือง เผยว่า ขณะนี้การพิจารณาแนวทางปฏิรูปการเมืองในประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยตรง รวมถึงการเลือก ส.ส.ให้มี 350 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีเฉพาะแบบแบ่งเขต กำหนดให้เลือกได้ไม่เกินเขตละ 3 คน ในชั้นของคณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ถือว่าเป็นอันสิ้นสุดแล้ว เสียงส่วนใหญ่ของกมธ.เห็นด้วยกับการเลือกนายกฯ และครม. รวมถึงการให้มี ส.ส.เฉพาะระบบเขตเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีกมธ. 3-4 คน ที่ขอสงวนความเห็นไปพูดในที่ประชุมสปช. ทั้งนี้ วันที่ 8 ธ.ค. กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาประเด็นทั้งหมดครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอต่อคณะกมธ.วิสามัญติดตามให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ 

8 ธ.ค.ขอมติ กมธ.รับรอง
     นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสปช. ในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงข้อเสนอของ กมธ.ที่ให้มีการเลือกนายกฯ และครม.โดยตรง ว่า กมธ.ปฏิรูปการเมืองเสียงข้างมากมีข้อสรุปเบื้องต้นคือจะให้ประชาชนได้เลือกครม.โดยตรง เนื่องจากที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นปัญหาจากรูปแบบเดิมคือระบบรัฐสภาที่ให้ประชาชนเลือก ส.ส.แล้วให้ ส.ส.เลือกนายกฯ หากส.ส.มีความสุจริต เที่ยงธรรม ก็จะมีส่วนทำให้ได้นายกฯ ที่ดี แต่ถ้า ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งมาจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ก็จะมีปัญหาตามมาว่านายกฯ ต้องมาดูแลและคอยอุปถัมภ์ตัว ส.ส.ที่ยอมจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อเสียงเข้ามา และถ้าหากรัฐบาลมีเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดก็จะเข้าครอบงำทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ทำให้การตรวจสอบอ่อนแอ ระบบการตรวจสอบโดยการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะไม่เป็นผลเพราะอภิปรายเมื่อใดก็แพ้ทุกครั้ง ทำให้ฝ่ายบริหารยิ่งเหิมเกริมในการทุจริตคอร์รัปชั่น ส่งผลให้เป็นปัญหารุนแรงของประเทศ ไม่มีทางแก้ไขได้ 
       นายสมบัติ กล่าวว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่จึงเห็นว่าแนวคิดในการเลือกครม.โดยตรงน่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เพราะ ครม.จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพา ส.ส.หรือยืมมือทำให้ได้เป็นรัฐบาลอีกต่อไป และการเลือกครม.โดยตรงก็จะทำให้ประชาชนได้รู้ว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯและครม.มีประวัติมีผลงานน่าเชื่อถือเพียงใด รู้ก่อนตั้งแต่ยังไม่เลือกเข้ามาทำงาน ถ้าไม่พอใจก็ไม่ต้องเลือกเข้ามาทำหน้าที่ หากปล่อยให้นายกฯ มาเลือกครม.ภายหลัง บางครั้งตัวนายกฯ ก็อาจไปเลือกนายทุน ผู้อิทธิพล เจ้าของบ่อน เข้ามาเป็น ครม.เพื่อเป็นการตอบแทนกันก็ได้ ดังนั้น การที่ประชาชนได้รู้ประวัติและนโยบายของ ครม.ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน อย่างไรก็ตาม วันจันทร์ที่ 8 ธ.ค. เวลา 10.00 น. กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะประชุมเพื่อลงมติรับรองข้อเสนอดังกล่าวอีกครั้ง 

'เสี่ยตือ'รอฟัง'บวรศักดิ์'
      นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงข้อเสนอเลือกตรงนายกฯและครม ว่า ขณะนี้เป็นเพียงข้อเสนอของกมธ.และอนุกมธ.ชุดต่างๆ หรือสมาชิก สปช.บางคน ยังไม่ใช่ข้อสรุปหรือเป็นมติที่แท้จริง จึงไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความเห็นเพราะไม่เกิดประโยชน์ คงต้องรอให้ประเด็นต่างๆได้ ตกผลึก เกิดความชัดเจนก่อน คงต้องรอกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง หรือให้ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป็นคนที่เกี่ยวข้องเป็นคนพูดจึงจะเชื่อ ถือได้
     เมื่อถามถึงข้อเสนอของพรรคชาติไทยพัฒนาที่ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมศักดิ์กล่าวว่า พรรคเห็นว่านายกฯจะต้องมาจากรัฐสภาและยึดโยงกับประชาชน เราต้องคิดถึงอนาคตข้างหน้าหากนายกฯ ไม่ยึดโยงสภา ไม่เข้าสภา ไม่สนใจสภาจะเป็นเช่นไร โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดสุญญากาศทางการเมืองด้วย ขณะที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ว.ยังมีความสำคัญต้องคงอยู่ ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เห็นว่ารัฐสภาต้องมีนักการเมืองอาชีพ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย เพราะผู้ทรงคุณวุฒิถือว่าเป็นคนเก่งมีความสามารถ ควรจะเข้ามาสภาเพื่อนำความรู้ความสามารถมาทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง เพราะหากมีเพียงนักการเมืองอาชีพอย่างเดียวก็รู้เพียงผิวเผินไม่ลงลึกในรายละเอียด

วิรัตน์ หนุนจะได้ไม่มีเสียงยี้ 
      นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปตย์ กล่าวถึงข้อเสนอเดียวกันว่า ต้องถามประชาชนว่าเห็นอย่างไรกับข้อเสนอนี้ ข้อดีของมุมนี้คือประชาชนจะได้รู้ตัวนายกฯ และรัฐมนตรีล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นพรรคการเมืองจะยัดเยียดคนยี้มาเป็นรัฐมนตรี เช่น ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลจะมีคนนี้มาเป็นนายกฯ และรัฐมนตรี โดยที่ผู้บริหารพรรคไม่สามารถปิดหูปิดตาประชาชนได้ ส่วนข้อเสียนั้นยังไม่เห็น ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่จะปฏิรูปการเมืองไทย 
      นายวิรัตน์ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีจำนวน ส.ส. 350 คน ว่า ตนเห็นว่าจำนนวนส.ส. 1 คนต่อประชาชนกร 2 แสนคน ก็ดูแลประชาชนได้ และการที่ได้เขตใหญ่เขตละ 3 คนนั้น ตนเห็นด้วย เพราะจะได้ ส.ส.ที่มีคุณภาพ ทำให้การซื้อเสียงยากขึ้น ส่วนที่เสนอให้ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นหากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นด้วยก็ต้องออกแบบให้นักวิชาการ หรือคนที่มีชื่อเสียงทำงานในภาพรวมมีที่ยื่นทางการเมือง ทั้งหมดก็อยู่ที่กมธ.ยกร่างฯ เห็นเป็นอย่างไร 

'พิเชษ'อัดเลือกตั้งนายกฯ
      นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส. กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลือกนายกฯ โดยตรง ลักษณะเหมือนเลือกประธานาธิบดี แล้วประธานาธิบดีก็แต่งตั้ง ครม. และข้าราชการ แต่ประเทศเราเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะมีประธานาธิบดีขึ้นมาเคียงคู่ไม่ได้ ประเทศที่มีประธานาธิบดีเขาไม่มีพระมหากษัตริย์ ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้บ้านเมืองผิดแปลกหมด ขณะนี้ระบบประชาธิป ไตยอำนาจของประชาชนแทบจะหมดไปแล้ว ยังจะมาลิดรอนอำนาจประชาชนเหมือนระบบอำมาตย์ 
     นายพิเชษฐ กล่าวว่า ตอนนี้พยายามลดอำนาจประชาชนด้วยการลดจำนวนส.ส. เหลือ 350 คน การลดจำนวน ส.ส.ก็คือการลดอำนาจประชาชน ทำให้ประชาชนแทบจะไม่เหลือที่ยืนแล้ว และผู้แทนก็ไม่มีความหมาย นายกฯ ที่มาในระบอบประชาธิปไตยคือมาตามระบอบ ถูกเลือกโดยผู้แทนของประชาชนในสภา เขาจะสำนึกในบุญคุณของประชาชน จะเห็นประชาชนเป็นนาย แต่ถามมาจากระบบอื่นเขาจะรู้สึกว่าเป็นนายประชาชน
    ก่อนให้สัมภาษณ์ นายพิเชษฐโพสต์ เฟซบุ๊ก ระบุ "เศษซากประชาธิปไตยไทย ระบอบประธานาธิบดีที่แท้จริงมาแล้ว เลือกนายกฯ-ครม.โดยตรง ลดผู้แทนราษฎรเหลือ 350 คน ยุบปาร์ตี้ลิสต์ สรุปผู้แทนราษฎรเดิม 550 เหลือ 350 สะใจมั้ยล่ะ ประชาชนที่ ช่วยกันล้มสถาบันของตนเอง เอานักเพ้อฝัน หลับๆ ตื่นๆ มากำหนดรูปแบบประชาธิปไตยของประชาชน"

โพลชี้เรตติ้ง"บิ๊กตู่-รบ."ลด
      กรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ประเมินผลงาน 3 เดือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เก็บข้อมูลจากประชาชน 1,158 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศระหว่างวันที่ 1-3 ธ.ค. 
       พบว่า ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เฉลี่ย 6.52 คะแนน จากเต็ม 10 ซึ่งลดลงจากการทำงานครบ 3 เดือน คสช. 0.38 คะแนน โดยได้คะแนนมากที่สุดในด้านความมั่นคงของประเทศ 7.30 คะแนน และได้คะแนนน้อยที่สุดในด้านเศรษฐกิจ 5.89 คะแนน
     สำหรับ ความพึงพอใจในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้เฉลี่ย 7.43 คะแนนจากเต็ม 10 ซึ่งลดลง 0.33 คะแนน จากการทำงานครบ 3 เดือนในช่วง คสช.บริหารประเทศ โดยด้านที่ได้คะแนนมากที่สุดคือความเด็ดขาด กล้าตัดสินใจ 8.04 คะแนน และด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุดคือความสามารถสร้าง สรรค์ผลงาน หรือโครงการใหม่ๆ 6.41 คะแนน
     เมื่อให้เปรียบเทียบผลงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากับความคาดหวัง เมื่อทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์มาดำรงตำแหน่งนายกฯ ประชาชนร้อยละ 53.8 ระบุว่าผลงานดีกว่าที่คาดหวังไว้ รองลงมาร้อยละ 25.1 ระบุว่าผลงานพอๆ กับที่คาดหวังไว้ มีเพียงร้อยละ 7.5 ที่ระบุว่าผลงานแย่กว่าที่คาดหวังไว้ ที่เหลือร้อยละ 13.6 ระบุว่ายังไม่ได้คาดหวังไว้

เลือก'ประยุทธ์'นายกฯก็ลดด้วย

       สำหรับคำถามที่ว่า "หากวันนี้ท่านมีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจะออกเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่" พบว่า ประชาชน ร้อยละ 75.0 จะออกเสียงสนับสนุน ซึ่งลดลงร้อยละ 5.5 เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 12.6 จะไม่ออกเสียงสนับสนุน อีกร้อยละ 12.4 งดออกเสียง 

       ส่วนสิ่งที่อยากได้จากรัฐบาลเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ปีนี้อันดับ 1 คือช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นจะได้สร้างงาน สร้างรายได้ (ร้อยละ 20.5) อันดับ 2 คือช่วยทำให้ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มีราคาสูงขึ้น (ร้อยละ 18.9) อันดับ 3 คือช่วยทำให้ราคาสินค้าต่างๆ และค่าครองชีพถูกลง (ร้อยละ 16.0)

แกนนำชุมชนยังหนุนคสช.
      นายเชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่องสำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อผลงานของรัฐบาล และ คสช. ศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน 624 ชุมชน ระหว่างวันที่ 29 พ.ย.-6 ธ.ค. 2557 พบแกนนำชุมชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 88.2 ยังคงสนับสนุน คสช. ขณะที่ร้อยละ 10.4 ไม่แน่ใจ/ขออยู่ตรงกลาง ร้อยละ 1.4 ไม่สนับสนุน
     คะแนนความพึงพอใจโดยเฉลี่ยของ แกนนำชุมชนต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาล และคสช. ดังนี้ ความพึงพอใจต่อผลงานด้านการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของประชาชน คะแนนเต็ม 10 พบ ลำดับที่ 1 ได้แก่ การเพิ่มเงินเบี้ยเลี้ยงสำหรับผู้พิการจาก 600 บาท เป็น 800 บาท 8.52 คะแนน มาตรการลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นช่วงปีใหม่ 8.16 คะแนน การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา 8.08 คะแนน การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม 7.95 คะแนน และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง 7.91 คะแนน 

ผลงานแก้โกงได้คะแนนสูง
     ความพึงพอใจต่อผลงานด้านการเมือง การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น 8.23 คะแนน การส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในชาติ 8.10 คะแนน การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 8.00 คะแนน การตรวจสอบความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ และการจัดการกับปัญหาแทรกซ้อนที่มีผู้พยายามก่อความวุ่นวายและสร้างความขัดแย้ง 7.99 คะแนนเท่ากัน
      คะแนนความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อผลงานด้านการเมือง ดังนี้ การยอมรับฟังความคิดเห็นต่อการปฏิรูปประเทศของทุกกลุ่มทุกฝ่าย 7.94 คะแนน การส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ 7.94 คะแนน ผลงานการไปประชุมร่วมกับต่างประเทศของนายกฯ และคณะ 7.92 คะแนน การกำกับดูแลความโปร่งใสของกิจการด้านพลังงาน 7.89 คะแนน และความคืบหน้าในการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน 7.77 คะแนน
      คะแนนความพึงพอใจต่อผลงานด้านเศรษฐกิจ พบการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว 7.96 คะแนน จากเต็ม 10 การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน 7.91 คะแนน การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตผลทางการเกษตร 7.86 คะแนน การส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) 7.82 คะแนน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการคมนาคมและการสื่อสาร 7.80 คะแนน 

ความพึงพอใจภาพรวมขยับขึ้น
       คะแนนความพึงพอใจต่อผลงานด้านสังคม พบ การแก้ไขปัญหายาเสพติด 8.18 คะแนน การปราบปรามจับกุมอาวุธสงคราม 8.14 คะแนน การจัดระเบียบสังคม 8.10 คะแนน การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 8.05 คะแนน การส่งเสริมค่านิยมความเป็นไทย 12 ประการ 7.97 คะแนน 
       การแก้ไขกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 7.91 คะแนน การจัดตั้งกองทุนยุติธรรม เพื่อคนมีรายได้น้อยที่มีปัญหาทางด้านกฎหมาย ได้ 7.79 คะแนน การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วมในปีพ.ศ.2558 ได้ 7.73 คะแนน การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ 7.72 คะแนน การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ 7.67 คะแนน
      พิจารณาคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยของแกนนำชุมชนต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาล และ คสช. โดยภาพรวมเปรียบเทียบจากการสำรวจตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าแกนนำชุมชนยังคงมีความพึงพอใจในระดับ "มาก" โดยได้คะแนนเฉลี่ยมากกว่า 8 คะแนนขึ้นไป การสำรวจครั้งล่าสุดพบได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.53 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

ปชช.หนุนทำประชามติ 
      สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจ "ร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร? จึงจะถูกใจประชาชน" สำรวจประชาชนทั่วประเทศ 2,318 คน ระหว่างวันที่ 1-6 ธ.ค.2557 สรุปดังนี้ 
        ประชาชนรับรู้เรื่องของการร่าง "รัฐ ธรรมนูญ" ฉบับใหม่นี้หรือไม่? พบร้อยละ 56.60 รับรู้ ขณะที่ร้อยละ 43.40% ไม่รู้เรื่อง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.92 ระบุค่อนข้างให้ความสำคัญกับการ "ร่างรัฐธรรมนูญ" ฉบับใหม่ ร้อยละ 30.85 ให้ความสำคัญมาก 
       สอบถามประชาชนอยากให้ "รัฐธรรม นูญ" ฉบับใหม่นี้เน้นเรื่องอะไร? ด้านการเมือง ร้อยละ 79.64 คุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งนายกฯ ส.ส. ส.ว. ที่รัดกุมและชัดเจน ร้อยละ 76.57 มาตรการในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 60.48 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น เช่น เข้าชื่อถอดถอน ตรวจสอบการเลือกตั้ง
      ด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 85.63 แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ควบคุมราคาสินค้า กระจายรายได้และความเจริญอย่างทั่วถึง ด้านสังคม ร้อยละ 83.78 การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในสังคม สนับสนุนด้านการศึกษา การป้องกันปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 80.33 สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ 77.52 สร้างความสามัคคีปรองดอง ความเป็นระเบียบและความสงบสุขของบ้านเมือง
     สิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึง "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" ฉบับใหม่ ร้อยละ 78.47 มีเนื้อหาเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน เน้นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ร้อยละ 70.88 อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ ไม่แก้ไขบ่อย ใช้ได้ในระยะยาว ประชาชนให้การยอมรับโดยการทำประชามติ ร้อยละ 62.86 มีการชี้แจงความก้าวหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจง่าย

วิชา เผยคดีบุญทรงสรุปธ.ค.นี้
     นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าในการไต่สวนคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวกเป็นผู้ถูกกล่าวหา ว่า ต้องติดตามกันต่อไปว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร ขณะนี้ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการ ไต่สวนฯ ครบถ้วนแล้ว คาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปเสร็จสิ้นภายในเดือนธ.ค.นี้
     เมื่อถามว่าการพิจารณาชี้มูลคดีนี้จะเป็นการทยอยชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า คงไม่ได้ทยอยชี้มูล เรื่องนี้หากหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงใครก็ถึงคนนั้น โดยเฉพาะตัวการใหญ่ที่ต้องถูกดำเนินการก่อน

วุฒิฯขอเก้าอี้ที่ปรึกษาระดับ 11
        รายงานข่าวจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา (กร.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุมเมื่อ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอขออนุมัติปรับระดับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกร ระดับทรงคุณวุฒิหรือ ที่ปรึกษาระดับ 11) ต่อกร. อีก 1 ตำแหน่ง 
        โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปฏิบัติงานรองรับ สนช. ซึ่งปัจจุบันมีร่าง พ.ร.บ.ที่จะเข้าสู่การพิจารณาใน สนช.จำนวนมาก ทำให้สำนัก งานเลขาธิการวุฒิสภา มีปริมาณงานเพิ่มขึ้น จำเป็นต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ เพื่อให้คำแนะนำวินิจฉัยปัญหาด้านกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขอตำแหน่งที่ปรึกษาระดับ 11 นี้ เป็นเพียงการขอปรับตำแหน่งชั่วคราวเท่านั้น หากว่างลงก็ให้ยกเลิกกลับไปเป็นที่ปรึกษาระดับ 10 เหมือนเดิม โดยเรื่องดังกล่าว นายพรเพชรมอบหมายให้อนุกรรมการกร. ไปทำความเห็นอีกครั้งก่อนเสนอต่อ กร.เพื่ออนุมัติตามที่สำนักงานเลขาธิการ สนช.เสนอมา โดยจะประชุมกร.วันที่ 8 ธ.ค.นี้

หึ่งปูทางเลขาฯวุฒิฯคนใหม่ 
       แหล่งข่าวระดับสูงใน กร.กล่าวว่า มีการเสนอการขอตำแหน่งที่ปรึกษาระดับ 11 จริง หลายคนเห็นว่าเป็นการสร้างธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งาม ทำลายระบบการเข้าสู่ตำแหน่งที่ไม่ผ่านระบบการประเมินผลงาน แต่เป็นการตั้งตำแหน่งใหม่รองรับโดยใช้มติ กร.เป็นหลังพิง ตำแหน่งที่ปรึกษาระดับ 11 ในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภามีอยู่แล้ว 2 ตำแหน่งแต่กลับเปิดตำแหน่งระดับ 11 อีก ซึ่งมีข่าวว่าเปิดเพื่อรองรับให้กับคนคนหนึ่ง ซึ่งหากทำได้ในอนาคตหากใครต้องการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นก็เข้าหานักการเมืองเพื่อปูนบำเหน็จให้ก็ไม่ถูกต้องตามระบบ ทั้งที่ต้องทำตามระบบนั่นคือ การทำผลงาน การประเมินผลงาน เพื่อก้าวขึ้นสู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น
       "ข้ออ้างที่ว่า มีกฎหมายเข้ามาเยอะจำเป็นต้องเปิดตำแหน่งใหม่เพื่อรองรับไม่น่าจะเป็นเหตุผล กลับมีการขอตำแหน่งที่สูงขึ้นมีเป้าหมายอะไร หรืออยากได้ตำแหน่งอะไรก็เปิดตำแหน่งใหม่ แบบนี้จะมีระบบไว้เพื่ออะไรและความชอบธรรมจะอยู่ตรงไหน หากทำแบบนี้จะปฏิรูปกันไปทำไม ที่สำคัญเป็นการบั่นทอนกำลังใจของข้าราชการที่ตั้งใจทำงาน"แหล่งข่าวกล่าว
      รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ภายหลังสำนักงานเลขาธิการ สนช.เสนอเรื่องขอตำแหน่งที่ปรึกษาระดับ 11 เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากข้าราชการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาอย่างมาก มองว่าไม่ความเหมาะสมและไม่จำเป็น เพราะสำนักงานมีตำแหน่งที่ปรึกษาระดับ 11 เพียงพอต่อการรองรับงานของสนช. และงานด้านกฎหมายก็ยังมีส่วนงานอื่นที่สามารถช่วยดำเนินการได้อีกทั้งเป็นการทำลายระบบการแต่งตั้ง โยกย้าย ของสำนักงาน นอกจากนี้ยังวิจารณ์กันหนาหูอีกว่า การปรับตำแหน่งดังกล่าวนี้อาจเป็นเพราะเพื่อรองรับข้าราชการะดับสูงระดับ 10 คนหนึ่งให้ขึ้นสู่ระดับ 11 เพื่อเป็นการปูทางให้สามารถนั่งตำแหน่งเลขาธิการวุฒิสภาคนใหม่ ซึ่งนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภาจะเกษียณอายุราชการ ในปี 2558 เพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นเพียงชั่วคราวหากคนที่มานั่งในตำแหน่งนี้ได้โยกย้ายหรือขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นตำแหน่งดังกล่าวก็จะถูกยุบไป

สวนยางสุราษฎร์ขู่ปิดถนน
       วันที่ 7 ธ.ค. นายไพโรจน์ ฤกษ์ดี อาชีพเกษตรกรและทนายความอยู่ที่ ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ในฐานะ ผู้ประสานงาน "แนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้อง และพันธมิตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี" ออกหนังสือเปิดผนึกฉบับที่ 2 ของแนวร่วมเกษตรกรฯ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะ คสช. เรียกร้องรัฐบาลให้ประกาศอุดหนุนราคายางพาราทันที อันเนื่องจากปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางจากสถานการณ์ราคาผลผลิตยางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเวลา 9 โมงเช้าวันที่ 9 ธ.ค.นี้ จะมีเกษตรกรชาวสวนยางจาก อ.พระแสง, เวียงสระ, เคียนซา และบางส่วนจาก อ.พุนพิน ไม่ต่ำกว่า 200 คนมาร่วมชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี

จี้อุดหนุนราคายางทันที
      นายไพโรจน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ตนและตัวแทน 6 คนเคยไปยื่นหนังสือเปิดผนึกฉบับที่ 1 ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำเป็นวาระเร่งด่วนที่สุด โดยเสนอให้ปรับขึ้นราคายางเพียงกรณีเดียว และไม่ได้เรียกร้องให้ช่วยเหลือด้านอื่นเพราะเห็นว่าจะเป็นการสิ้นเปลืองและละลายงบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชน แต่รัฐบาลยังใช้วิธีให้เงินอุดหนุนและเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยแก่สหกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดและไม่ตรงความต้องการชาวสวนยางอย่างแท้จริง
       "สุดท้ายราคายางยังดิ่งลงอย่างต่อเนื่องจนขณะนี้ต้องเดือดร้อนกันอย่างหนักเป็นวงกว้าง แม้กระทั่งลูกจ้างกรีดยางไปถึงผู้รับซื้อยาง มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายประจำวัน คณะแนวร่วมฯ จึงมีมติจะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยจะปิดถนนด้านหน้าศาลากลางจังหวัดกดดันให้รัฐบาลประกาศอุดหนุนราคายางพารา ดังนี้ 1.เศษยางราคาขั้นต่ำ 30 บาท ต่อกิโลกรัม 2.น้ำยางราคาขั้นต่ำ 70 บาทต่อกิโลกรัม และ 3.ยางแผ่นดิบราคาขั้นต่ำ 80 บาทต่อกิโลกรัม การออกมาชุมนุมไม่กลัวจะชนกับฝ่ายทหารไม่อย่างนั้นชาวบ้านก็จะพากันอดตายหมด" นายไพโรจน์กล่าว
        นายไพโรจน์ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้จะต้องมีคำตอบราคาอย่างเดียว จะไม่ให้เวลารัฐบาลอีกแล้ว เพราะเป็นความเดือดร้อนบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริงไม่มีประเด็นการเมืองและผลประโยชน์แอบแฝง ซึ่งมีชาวสวนยางจากอำเภออื่นๆ ที่รอดูท่าทีจะออกมาร่วมด้วย หากไม่ได้รับการแก้ไขตามข้อเรียกร้องจะประสานกับแกนนำกลุ่มอื่นๆ เพื่อยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป

แกนนำ 16 จว.ใต้ชี้วิกฤตแล้ว 
      นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ (คยป.) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องยางพาราตอนนี้นั้นอยู่ในระดับวิกฤต วันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาเครือข่ายพบกับ รมช.เกษตรฯ โดยยื่นยุทธศาสตร์ยางฉบับประชาชนให้ แต่รัฐบาลไม่ได้นำมาใช้ กลับยังเดินหน้าขายยางพารา 2.1 แสนตันในสต๊อกในระบบจีทูจี ยิ่งทำให้ราคายาง ปั่นป่วนอย่างหนัก ตกลงถึง 3 กิโลกรัม ละ 100 บาท ส่วนเศษยาง 1 กิโลฯ ไม่สามารถซื้อปลาทู 1 ตัวได้ แล้วจะอยู่อย่างไร พวกเราบอกแล้วอย่าแตะยางในสต๊อกเพราะเป็นเศษยางเท่านั้น รัฐบาลรู้ดีว่ายางไม่ดีแล้วจะขายทำไม ทำไมไม่นำยางดีในสต๊อกใหม่ออกขาย ส่วนยางไม่ดีในสต๊อกสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดใต้พร้อมจะขับเคลื่อนนำมาเป็นส่วนผสมในยางมะตอยเพียง 5% ในการทำถนน 
        นายทศพล กล่าวว่า ขณะนี้ถนนเพชร เกษมสาย 41 จาก จ.นราธิวาส ไปถึง จ.เชียงราย ถูกละเลยจนกลายเป็นถนนอุกกาบาตแล้ว บางหลุมกว้างจนนำปลามาเลี้ยงกลางถนนได้แล้ว เพียงแค่สำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือสั่งการมาเท่านั้นก็สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ไม่ยอมทำกัน

เกษตรกรตรังร่วมชุมนุม
      นายทศพล กล่าวว่า บอกให้พล.อ. ประยุทธ์หยุดพูดเรื่องราคายางพารา เพราะท่านพูด 4 ครั้ง ยางลดลงกว่า 10 บาท แต่พอท่านหยุดเท่านั้นราคากลับมาคงที่แล้ว ส่วนท่าน รมช.เกษตรฯ เป็นใคร ทำไมไม่หยุดเพื่อฟังประชาชนอย่างพวกเราบ้าง การช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตของรัฐบาลรายละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่นั้น ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด กลับทำให้ยางราคาตกลงมาอีก
       "วันที่ 9 ธ.ค.นี้เราตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แกนนำ คยป.จะเดินทางเข้าเจรจาพูดคุยกันอีกครั้งตามนัดหมาย ส่วนเกษตรกร จ.ตรัง และสุราษฎร์ธานี จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือกับผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ผลการเจรจาจะเป็นอย่างไรตนได้ประกาศในที่ประชุมว่า คยป.ขอเวลาชาวสวนยาง 2 เดือน ให้รัฐบาลแก้ปัญหา หากไม่แก้ปัญหาพวกเรา คยป.ไม่ขอรับผิดชอบใดๆ หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น" นายทศพลกล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!