WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8781 ข่าวสดรายวัน


ฉะกสม.ไม่ทำหน้าที่ นศ.บุกไล่! 
อสส.ชี้คดีข้าวปู ต้อง-สอบเพิ่ม โภคินแนะกมธ. ยึดโยงรธน.40


ไล่กสม.- กลุ่มนักศึกษาชูป้าย "เลิกจ้าง กสม." ประท้วงที่ผ่านมาไม่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิฯ ต่อหน้านางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม. ขณะมอบรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน บนเวที ที่อาคารศูนย์ราชการฯ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค

       กสม.แจกรางวัล เจอน.ศ.บุกไล่ ชี้ไม่ปกป้องสิทธิ จวกยับจัดงานหลอกตัวเอง ด้านกลุ่ม'ดาวดิน'ที่ขึ้นเวทีรับรางวัล ก็ชู 3 นิ้ว-ซัดอัยการศึกละเมิดสิทธิ์ 'บิ๊กตู่'ลั่นปชต.ต้องเคารพสิทธิผู้อื่นด้วย 'โภคิน พลกุล"พบกมธ.ยกร่างรธน. เสนอให้ยึดรัฐธรรมนูญปี 40 'อำนวย'ลั่นต้องเลิกชดเชยส่วนต่างเกษตรกร ให้ชาวนา-ชาวสวนยางพัฒนาคุณภาพ สุราษฎร์ฯ โค่นยางหันปลูกปาล์มน้ำมัน อสส.แจงคดีข้าว'ปู' ยังต้องสอบเพิ่มอีก ชี้สำนวน ป.ป.ช.-พยานขัดกันเอง

'บิ๊กตู่'ปลื้มดัชนีคอร์รัปชั่นดีขึ้น
      เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ 'คืนความสุขให้คนในชาติ'ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในห้วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการหยุดทบทวนตัวเอง สำหรับการปฏิรูปประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขอความร่วมมือคนไทยทุกภาคส่วน ใช้ความอดทนและเพียรพยายามฟังความเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ สามัคคีร่วมใจทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ละทิ้งประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้น่ายินดีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) เผยผลการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ของปี 2557 ระบุว่าประเทศไทยได้คะแนนดีขึ้นมาเป็นลำดับที่ 85 จากทั้งหมด 175 ประเทศ ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 17 อันดับ ถือเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อันดับ 7 และมาเลเซีย อันดับ 50 แม้อันดับของไทยจะดีขึ้น แต่ยังต้องแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งรัฐบาล เอกชน ประชาชน ข้าราชการ องค์กรต่างๆ ทั้งผู้ให้ ผู้รับ มีความผิดทั้งคู่ ข้าราชการทุกระดับชั้นและจากบุคคลรอบข้างใกล้ชิดต้องระมัดระวังด้วย อย่าปล่อยปละละเลยให้คนเหล่านั้นไปเรียกร้องผลประโยชน์ ตนและคณะรัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆ ขอให้ช่วยกันดูแลด้วย

ลั่นใช้'สัญญาคุณธรรม'คุมจัดซื้อ
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนในฐานะหัวหน้า คสช. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เพื่อบูรณาการกำกับดูแลทั้งการป้องปรามและปราบปรามการทุจริตของภาครัฐทั้งระบบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีเจ้าภาพหลักดูแล จะได้ให้รวดเร็วขึ้นได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และต้องเป็นไปตามกฎหมาย พยานหลักฐานต่างๆ ชัดเจนขึ้น และจำเป็นต้องพัฒนากระบวนการตรวจสอบให้ทันต่อสถานการณ์ คณะกรรมการฯ ชุดนี้นอกจากมีกรรมการ คสช.ร่วมเป็นกรรมการฯแล้ว จะมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งจากภาครัฐและเอกชนร่วมเป็นกรรมการด้วย จะช่วยเสริมประสานให้การทำงานต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น



พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะนำ "สัญญาคุณธรรม" หรือ Integrity Pact มาใช้โดยให้หน่วยงานรัฐผู้จัดซื้อจัดจ้างและเอกชนทุกคนที่เสนอราคาต้องลงนามในสัญญาว่าจะไม่มีการรับหรือให้สินบน และยอมรับกระบวนการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน ยอมให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพหรือภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นคณะตรวจสอบอิสระ ซึ่งโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของ รฟม. จะเป็นโครงการนำร่องการปฏิบัติตามสัญญาคุณธรรม เพื่อเรียนรู้ปัญหาและความเสี่ยงในทางปฏิบัติ ก่อนพัฒนาต่อยอดเป็นร่างกฎหมาย หรือมาตรการที่ครอบคลุมให้เป็นมาตรฐานของโครงการต่างๆ ต่อไป



ยังไม่มีข้อยุติ"รธน."แบบไหน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธ.ค. ขอแสดงความยินดีกับคนไทยทุกคนในการเฉลิมฉลองการมีรัฐธรรมนูญ จนถึงปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญมาเกือบ 20 ฉบับ เราอาจจะต้องมาดูความพร้อม ไม่พร้อม ในด้านความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครองนี้อย่างถ่องแท้ ต้องยกระดับการศึกษาของเราให้ได้ ทำให้การเมือง นักการเมือง ประชาชน เรียนรู้การบริหาร เพราะเป็นคนใช้สิทธิ์ ใช้เสียงเลือกตั้ง และทำให้การบริหารของรัฐบาลที่จะเข้ามานั้นมีธรรมาภิบาล ซึ่งทุกคนต้องเรียนรู้ อย่าถือว่าเป็นหน้าที่ของใคร ถ้ารู้แล้วเราจะเลือกคนได้ถูกต้อง มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ 



"ประเทศเราเหมือนอยู่บนเรือ ผ่านคลื่นลมการทุจริตมาตลอด การหาผลประโยชน์ใส่ตัวของผู้มีอำนาจมีผลประโยชน์ตลอดมา จึงจำเป็นต้องปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้ทันสมัย ขจัดปัญหาในอดีต และมีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ผมยังไม่มีข้อยุติว่าจะเป็นแบบไหน อย่างไร เป็นเรื่องของการปฏิรูป เรื่องของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เสนอเรื่องขึ้นมา เราจะพิจารณาร่วมกันอีกครั้งในตอนช่วงท้าย วันนี้แสดงความคิดเห็นกันได้ ผมไม่ได้จำกัดอะไรทั้งสิ้น แล้วจะมาถามข้อสรุปของผม ยังสรุปไม่ได้ในเวลานี้"นายกฯ กล่าว



ชี้"ฐานเสียง"เป็นอันตราย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจในการปกครองในระบอบประชาธิป ไตยที่เราไม่อาจละเลย คือ 1.ประเทศประชาธิปไตย ไม่เพียงแต่จัดเลือกตั้งเท่านั้น หากแต่การใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ต้องมีหลักประกันด้วยว่าได้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างเสรีเต็มที่ และมีโอกาสเลือกสรรตัวบุคคลที่ต้องการจริงๆ ปราศจากแรงจูงใจที่ทุจริต เช่น การซื้อสิทธิขายเสียง นักการเมืองก็มีฐานเสียง มีประชาชน เหมือนเป็นคะแนนเสียงของตัวเองไปไหนก็ไปด้วยตลอด ตนคิดว่าก็อันตรายเหมือนกัน ต้องดูหลักการนโยบายให้ชัดเจน



นายกฯ กล่าวว่า 2.ในระบอบประชาธิป ไตย มิได้หมายความเพียงการยึดหลักเสียงข้างมากอย่างเดียว กระทั่งหลงลืมเสียงข้างน้อย จึงจำเป็นต้องมีหลักประกันให้เสียงข้างน้อยด้วย ได้รับการเคารพจากเสียงส่วนใหญ่ด้วย เสียงข้างมากจะต้องไม่ละเมิดหรือก้าวก่ายสิทธิของเสียงข้างน้อย เสียงข้างน้อยก็ไม่ต้องไประรานกับเสียงข้างมากเพราะเป็นคนไทยด้วยกัน 



ลั่นต้องเคารพสิทธิผู้อื่นด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า วันนี้เราอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันของ ครม. คสช. สนช. สปช. และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญใหม่นี้ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งต้องคิดถึงประชาชนก่อนแล้วย้อนขึ้นมาว่าจะเข้าสู่กระบวนการเข้าสู่อำนาจอย่างไร หากระบวนการตรวจสอบความโปร่งใส โดยเริ่มจากข้างล่างประชาชนเป็นศูนย์กลางก่อน ข้างบนก็เป็นฝ่ายบริหาร ตรงกลางก็หาวิธีให้เกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ถึงจะเกิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และยั่งยืน



พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญที่เขียนมาตั้งเกือบ 20 ฉบับ เขียนดีอย่างไรก็ตาม ถ้าขาดจิตสำนึกที่ดี ขาดคุณสมบัติของนักการเมืองที่ดี ขาดการเป็นประชาชนที่มีการเรียนรู้แล้ว มันก็ไปไม่ได้ ดังนั้นต่างคนต่างมีบทบาท ต้องวางตัวให้เหมาะสม หรือคำว่ามีเสรีภาพ มีสิทธิ เป็นของประชาชน มันไร้ขอบเขต กว้างขวางไร้ขีดจำกัดไม่ได้ ต้องเคารพสิทธิผู้อื่นด้วย ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่นด้วย 



ยันเร่งแก้ปัญหาเกษตรกร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า อีกเรื่องที่เป็นห่วงคือราคาพืชผลการเกษตร เราไม่เคยนิ่งนอนใจ ตนให้นโยบายไปอย่างต่อเนื่อง ก็ติดตามทุกวัน ไม่ใช่ไม่สนใจ แต่ปัญหาคือเราต้องดูแลคนหลายกลุ่ม ขอความร่วมมือจากทุกคนโดยเฉพาะเกษตรกรภาคต่างๆ การจะเรียกร้องหรือเดินขบวนต่างๆ ตนคิดว่าบางทีมันก็ไม่เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหา เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น มีผลกระทบมาถึงในประเทศด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือราคาน้ำมัน ก็ผูกติดกับหลายอย่าง น้ำมันเกี่ยวข้องกับยางด้วย 



พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือพวกพ่อค้า ภาคเอกชนต่างๆ อย่าเพิ่งหาประโยชน์มากนัก ต้องคำนึงว่าประชาชนเดือดร้อน อาจกำไรน้อยลง น่าจะยอมกัน ช่วยรัฐบาลบ้าง ถ้าเราใช้งบฯ มากเกินไปจะมีปัญหา วันหน้าเราจะไม่มีงบดูแลภาคอื่นๆ ด้วย ถ้าทุกคนยอมรับในหลักการนี้ เราก็มีกำลังใจ และจะหาวิธีการมาแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว ไม่ใช่ว่าเรานิ่งนอนใจ ร้อนอกร้อนใจทุกวัน ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน



สมช.คงอัยการศึกเป็นของขวัญ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการผ่อนคลายกฎอัยการศึกเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนว่า ตนตีความไม่ออกว่าจะเป็นของขวัญให้ประชาชนได้อย่างไร บางครั้งการคงกฎอัยการศึกไว้ อาจเป็นของขวัญให้ประชาชนได้อยู่อย่างสงบและสันติเพื่อรอเวลาการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีก็ได้



เมื่อถามว่าประเมินหรือไม่ว่าหลังปีใหม่อาจมีกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เลขาฯสมช.กล่าวว่า เป็นธรรมชาติของการขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อเวลาผ่านไปแล้วรัฐบาลมีจุดอ่อนหรือช่องว่างขึ้น ก็อาจมีบุคคลที่ไม่เห็นด้วย แต่อยากให้มองภาพใหญ่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น เยาวชนและลูกหลานอยู่ได้ต่อไป 



รมว.ยันไม่กระทบท่องเที่ยว

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ถึงของขวัญปีใหม่พ.ศ. 2558 ว่า ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ยกเว้นค่าธรรมเนียมเอทีเอ็มเมื่อกดเงินข้ามธนาคารหรือต่างพื้นที่ในช่วงเทศวันหยุดเทศกาลปีใหม่ วันที่ 31 ธ.ค. 2557 - 4 ม.ค. 2558 นอกจากนี้ได้ร่วมกับบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ใช้สถานีบริการน้ำมันในถนนสายหลักเป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวในระยะใกล้ และยืนยันว่าน้ำมันจะไม่หมด ขณะเดียวกันยังมีมาตรการลดหย่อนภาษี สามารถนำใบเสร็จจากการเดินทางมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ สถานีรถไฟฟ้าและสถานีรถไฟใต้ดินจะให้บริการถึงเวลา 02.00 น. ในวันที่ 31 ธ.ค. 2557-1 ม.ค.2558 ยืนยันว่า กฎอัยการศึกไม่มีผลต่อการท่องเที่ยว 



พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เปิดเผยว่า วันที่ 13 ธ.ค. พม.จะเปิดตัวของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งมีกว่า 20 โครงการ เช่น การเปิดศูนย์รับแจ้งเรื่องความรุนแรงที่มีการปรับปรุงให้ประชาชนเข้าถึงการบริการของรัฐ การวางระบบการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ให้สะดวกมากขึ้น การเปิดเว็บไซต์สำหรับหญิงไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ให้ร้องเรียนและขอความช่วยเหลือได้ การเพิ่มเบี้ยคนพิการ จาก 500 เป็น 800 บาท ลดดอกเบี้ยโรงรับจำนำร้อยละ 1 ที่ได้เริ่มไปแล้ว รวมถึงประมูลของที่หลุดรับจำนำในราคาถูก และการซ่อมแซมบ้านผู้มีรายได้น้อย โดยรวบรวมส่งมายังรัฐบาล เพื่อเตรียมแถลงในวันที่ 25 ธ.ค.นี้


แนะกมธ.- นายโภคิน พลกุล และนายสามารถ แก้วมีชัย ทีมกฎหมายพรรค เพื่อไทย เข้าให้ข้อเสนอแนะกับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ยึดรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนปี 2540 เป็นที่ตั้ง ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.





พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เตรียมเปิดหน่วยทหารทั้งหมดให้คนไปเที่ยวฟรี เพราะมีสถานที่ให้เที่ยวมากในต่างจังหวัด ทั้งกระโดดหอ กระโดดร่ม



"อำนวย"ลั่นเลิกชดเชยส่วนต่าง

นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เผยในการเปิดประชุมเรื่อง "การปฏิรูปยุทธศาสตร์ข้าวไทย"ที่ม.เกษตรศาสตร์ ว่า สินค้าเกษตรทุกชนิดขณะนี้จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของตลาด สินค้า 2 ชนิดที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน คือ ข้าวและยางพารา เนื่องจากมีสต๊อกค้างอยู่ อีกทั้งแนวโน้มราคายังตกต่ำ เกษตรกรเริ่มมีปัญหาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไข ยึดติดอยู่กับการประชานิยม เมื่อขอแล้วรัฐบาลต้องให้ ซึ่งต่อไปนี้จะไม่มีการประชานิยมอีกต่อไป



นายอำนวยกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสินค้าทั้ง 2 ชนิดนี้จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อยู่ในกรอบของการขับเคลื่อนที่ปลอดจากการเมือง ต้องเดินหน้าการช่วยเหลือไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานที่ดี เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตามความต้องการของตลาดเท่านั้น จึงจะส่งผลให้เกษตรกรอยู่รอดสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ในกรณีของข้าวที่มีสต๊อกค้างอยู่ 18 ล้านตัน ทุกคนสนใจแต่จะหาตัวผู้ประทำความผิดกรณีโครงการรับจำนำ ลืมการแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาว ที่ต้องพัฒนาคุณภาพผลผลิต ส่วนยางพาราต้องขับเคลื่อนทุกมาตรการไปพร้อมกัน เพื่อผลักดันราคาในประเทศให้สูงขึ้น มาตรการชดเชยส่วนต่างคงไม่นำมาใช้อีกต่อไป



เริ่มโค่นยางหันทำปาล์มน้ำมัน

นายมนูญ อุปลา ผู้ประสานงานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาราคายางตกต่ำขณะนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้ประชุมมีข้อสรุปว่า จะทำหนังสือยื่นผ่านศูนย์ดำรงธรรมสุราษฎร์ธานี วันจันทร์ที่ 15 ธ.ค.นี้ เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาชดเชยราคายางที่กิโลกรัมละ 60 บาท โดยให้ชดเชยส่วนต่างกับผู้ประกอบการโดยตรง หากราคายางในท้องตลาดกิโลกรัมละ 45 บาท ภาครัฐต้องชดเชยส่วนต่าง 15 บาทเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกร ล่าสุดราคาน้ำยางสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 36 บาท ยางแผ่นดิบ 42.90 บาท 



นายมนูญกล่าวอีกว่ามีชาวสวนยางหลาย 10 ราย ประกาศขายต้นยางเพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันทั้งที่อายุต้นยางพารายังเปิดกรีดได้อีกหลายปี บางรายอายุยางพาราเพิ่งเริ่มเปิดกรีดได้เพียง 5-10 ปี ก็ประกาศขายต้นยางพารา เนื่องจากแบกรับภาระมายาวนาน ทำให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางรายก็โค่นยางเพื่อขอทุนจากองค์การสงเคราะห์การทำสวนยางเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเกษตรกรที่ โค่นยางทิ้งอยู่ที่ต.บ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎรธานี



สหกรณ์ชี้ใช้นโยบายผิดพลาด

นายถนอมเกียรติ เอ่งฉ้วน ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรอุตสาหกรรมยางจังหวัดตรัง กล่าวว่า จ.ตรัง มีสหกรณ์ยางพาราประมาณ 80 แห่ง ตั้งแต่ผลผลิตราคายางตกต่ำต่อเนื่องยาวนานทำให้สหกรณ์มีผลประกอบการขาดทุนกว่า 150 ล้าน ในห้วงแค่ 3 เดือนที่ผ่านมา เฉลี่ยเดือนละกว่า 1 ล้าน จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลเพราะงบฯที่รัฐบาลอัดลงไปอยู่แต่เฉพาะหน่วยงานและองค์กรที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ เช่น การอนุมัติงบฯ ผ่านองค์การสวนยาง (อสย.) นำไปแทรกแซงราคายางในตลาดกลาง รวมทั้งการจัดสรรงบฯให้สหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรที่จดทะเบียนถูกต้องกู้ยืมเพื่อนำมาบริหารจัดการ รวมทั้งการช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิต ล้วนแต่ทำให้เม็ดเงินไปตกอยู่กับกลุ่มทุน พ่อค้าคนกลาง เจ้าของสวนยางพารา แต่เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์อย่างเสมอภาค การจัดสรรงบฯลงมาแก้ปัญหาแต่ละครั้งจึงไม่ถึงมือชาวสวนยางทุกคน สหกรณ์ทุกแห่งจึงขาดทุนอย่างหนัก



นายถนอมเกียรติ เอ่งฉ้วน กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลอนุมัติงบฯผ่าน อสย. เข้ามาช่วยซื้อยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดกลางเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา สหกรณ์หลายแห่งมีเงินเข้ามาบ้าง แต่ยังไม่สามารถหักลบกลบหนี้ช่วงที่ขาดทุนจากที่รัฐช่วยเหลือผิดวิธีได้ เพราะ อสย.ยังไม่รับซื้อน้ำยางดิบ และไม่ได้รับซื้อยางทุกชั้น ทุกเกรด รวมทั้งยางแผ่นดิบ งบฯดังกล่าวจึงไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยตรง ถ้ายังใช้วิธีเดิมๆ อีกไม่เกิน 2 เดือนรัฐบาลต้องได้รับมือกับการชุมนุมเรียกร้องอย่างแน่นอน



ทปอ.จ่อถกคุกคามเสรีภาพวิชาการ

นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะรักษาการประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้สัมภาษณ์ กรณีนักวิชาการและนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ 201 คนร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงประธานทปอ. เพื่อเรียกร้องให้คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการที่กำลังถูกคุกคามในรั้วมหาวิทยาลัยว่า จะนำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมทปอ. ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) วันที่ 20 ธ.ค. ว่ามหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ดังนั้นขอให้รอฟังการแถลงข่าวหลังการประชุมทปอ.



อมราโชว์วิสัยทัศน์เรื่อง"สิทธิ์"

ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล โดยมีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2556 และ 2557 โดยนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม. ปาฐกถาเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทยต้องเข้าใจสิทธิมนุษยชน" ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันเราถกเถียงกันมาก ระหว่างสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิสาธารณะ ซึ่งต้องพยายามสร้างความสมดุล ระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพกับการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ ว่าจุดสมดุลอยู่ตรงไหน ซึ่งสปช.คงนำไปพิจารณา เพราะคสช. ครม. มองว่าเราต้องยอมเสียสละสิทธิส่วนบุคคลส่วนหนึ่งเพื่อคุ้มครองสิทธิพลเมือง ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิวัติก็มองว่าสิทธิส่วนบุคคล สิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิทางการเมืองจะถูกละเมิดไม่ได้เด็ดขาด ข้อถกเถียงคงจะมีอยู่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า 



"เราคงต้องใช้วิจารณญาณว่าบางกรณีเราต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิบุคคลเป็นหลัก แต่บางเรื่องต้องคุ้มครองสิทธิสาธารณะ โดยยอมเสียสิทธิส่วนบุคคลบ้าง นอกจากนี้ความเสมอภาคเท่าเทียมและการไม่เลือกปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ" นางอมรากล่าว



นศ.บุกจี้จริยธรรม"กสม." 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่นางอมรากล่าวปาฐกถา กลุ่มเมล็ดพริกและนักศึกษาจากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) ประมาณ 5 คน นำโดย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายนัชชชา กองอุดม นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ชู 3 นิ้วแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บริเวณหน้าเวที พร้อมชูป้ายมีข้อความว่า "เลิกจ้าง กสม." และได้มอบภาพการจับตัวนักศึกษาให้นางอมราด้วย 



นายสิรวิชญ์กล่าวว่า วันนี้ที่มา ไม่ได้มีเจตนาจะมาป่วน แต่ต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในเชิงตั้งคำถามต่อกสม. และต้องการให้กสม. ในฐานะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมต่อหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิประชาชน ภาพที่นำมามอบให้นั้นเป็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ ในหลายครั้งที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิ โดยมีข้อความว่า "กสม.อยู่ไหน เมื่อปืนมา" และที่สำคัญขอเรียกร้องให้ กสม.แสดงบทบาทเชิงรุก ต่อ คสช.ด้วย 



"ดาวดิน"ชู 3 นิ้วขณะรับรางวัล

ตัวแทนกลุ่มเมล็ดพริกให้เหตุผลว่า กสม.มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศ และตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การทำงานของ กสม.ตั้งแต่การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี"53 จนถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 57 กสม.ไม่ได้ทำหน้าที่ตามหลักการอย่างตรงไปตรงมา มีการเลือกปฏิบัติ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งในยามที่บ้านเมืองอยู่ภายใต้รัฐทหารได้ ดังนั้น การจัดงานวันนี้จึงเป็นการหลอกตัวเอง เพราะสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยถึงจุดตกต่ำที่สุด ดังนั้น เราในฐานะผู้เสียภาษีจึงประกาศเลิกจ้าง กสม.



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นในช่วงรับรางวัล ตัวแทนนักศึกษากลุ่มดาวดิน ที่ขึ้นรับรางวัลบนเวที ได้แสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้วและอ่านคำประกาศของกลุ่มว่า กลุ่มดาวดินจะไม่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีที่รัฐบาลหรือ สปช.จัดขึ้น เพราะเห็นว่า คสช.ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้อง และทางกลุ่มต้องการจัดเวทีประชาชนเอง เพื่อสะท้อนความอึดอัดของคนในสังคม และเห็นว่าการประกาศกฎอัยการศึกเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 



ทั้งนี้ จากเหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และตำรวจจากสน.ทุ่งสองห้อง ต้องเข้ามาเจรจากับกลุ่มดังกล่าวเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่มีการจับกุมตัวแต่อย่างใด ก่อนที่กลุ่มดังกล่าวจะสลายตัวไป



"บิ๊กป้อม"ชี้นิรโทษยังไม่ตกผลึก

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการเรื่องการสร้างความปรองดอง เสนอให้นิรโทษกรรมคู่ขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2549-2557 ต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่ตกผลึก อยู่ระหว่างการพูดจาและการเสนอความคิดของ สปช. ต้องปล่อยให้คิดไปก่อน ไม่ใช่พูดวันนี้แล้วต้องสรุปเดี๋ยวนี้ ต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายที่มี 200 คน 200 ความคิดได้คุยและตกผลึกเป็นความคิดเดียวกันและชี้แจงให้ประชาชนรับรู้ต่อไป 



เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่กับการเสนอเรื่องนี้ออกมาจะส่งผลอื่นๆ ตามมา รองนายกฯกล่าวว่า ไม่เกรงอะไรทั้งสิ้น เพราะทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ รัฐบาลทำทุกอย่างด้วยความชัดเจน เมื่อถามว่าแสดงว่ามั่นใจประชาชนยังสนับสนุนรัฐบาลให้ดำเนินการอยู่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ประชาชนมีความสุข ทำทุกอย่างในการดูแลรักษาชีวิตและทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย ประชาชนยังสามารถฉลองเทศกาลปีใหม่ได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลใดๆ ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องช่วยกันดูแล สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และกระทรวงมหาดไทยก็ต้องร่วมมือกันในการดูแลสถานการณ์ด้วย


ถึงไทย - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางกลับถึงสนามบิน บน. 6 ดอนเมือง หลังไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ ที่ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.





สนช.สรุปความเห็นร่างรธน.

ที่รัฐสภา มีการประชุมสนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณาวาระเรื่องด่วน เรื่องรายงานการรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) สามัญรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช.พิจารณาเสร็จแล้ว นายสุรชัยแจ้งให้สมาชิกสนช. ทราบว่าการพิจารณาให้ประธานกมธ. 16 คณะหรือผู้แทน รวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการผังเมืองและการใช้พื้นที่ รายงานที่ประชุมคณะละ 5 นาที ภายหลังรายงานได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปราย 



จากนั้นนายสุรชัยสรุปว่าการอภิปรายแสดงความเห็นของสมาชิกสนช. พร้อมระบุว่า จากนี้สนช.คงไปรวบรวมความเห็นและรับฟังความเห็นของสมาชิก สนช. ในกมธ. 17 คณะอีกครั้ง เชื่อว่าจะมีประเด็นชัดเจนมากขึ้น บางประเด็นที่สมาชิกสนช. ท้วงติงว่าไม่มีอยู่ในฉบับแรกครั้งนี้ เช่น เรื่องประมวลจริยธรรมนักการเมือง จะนำไปไว้ในข้อเสนอฉบับที่ 2 โดยการนำเสนอฉบับที่ 2 จะดำเนินควบคู่กมธ.ยกร่างฯ ที่มีระยะเวลา 120 วัน 



จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบให้นำรายงานฉบับดังกล่าวเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ด้วยคะแนน 160 คะแนน งดออกเสียง 2 เสียง



สปช.จัดคิวอภิปราย15-17ธ.ค.

ด้านนายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.กิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) แถลงผลการประชุมว่า ได้หารือเตรียมพร้อมการประชุมสปช.วันที่ 15-17 ธ.ค.นี้ ซึ่งจะรายงานผลของกมธ.สามัญประจำ สปช.ทั้ง 18 คณะ มีประเด็นสำคัญรวม 246 ประเด็น ประเด็นใหญ่ๆ คือ ผู้นำทางการเมืองและสถาบันทางการเมืองที่ดี 133 ประเด็น นิติธรรม ศาล การตรวจสอบอำนาจรัฐ 33 ประเด็น และการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง 35 ประเด็น 



นายวันชัยกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การประชุม วันที่ 15 ธ.ค. กำหนดให้อภิปราย 7 คณะ วันที่ 16 ธ.ค. มี 7 คณะ ส่วนวันที่ 17 ธ.ค. ถือเป็นไฮไลต์เพราะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาก มี 4 คณะ คือ 1.กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม 2.กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น 3.กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน และ 4.กมธ.ปฏิรูปการเมือง จากนั้นจะลงมติเห็นชอบหรือไม่ ในการนำข้อเสนอแนะทั้งหมดเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านวิทยุโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์ และรัฐสภา ซึ่งการอภิปรายในครั้งนี้จะต้องเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ไม่เป็นเวทีตอบโต้หรือหาเสียง เพราะถือว่าเรื่องเหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้นในสปช.



โภคินเสนอ"กมธ."ยึดรธน. 40

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย และร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตส.ส. ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เข้าให้ความเห็นและข้อเสนอแนะการปฏิรูปประเทศและการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 



นายโภคินให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้ข้อเสนอว่า มาในนามส่วนตัว ซึ่งได้ศึกษาเรื่องการปฏิรูปจนตกผลึกแล้ว จะเสนอปฏิรูป 3 ช่วงใหญ่ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งมีการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ให้นายกฯ มาจากส.ส. ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีอายุ 18 ปี ส.ส.ควรสังกัดพรรค ซึ่งทั้งหมดได้ตกผลึกมาอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีแต่ใช้ไปสักระยะก็มีปัญหา ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 คณะรัฐประหารมุ่งจัดการกับหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค มีบันได 4 ขั้น และวางกลไกย้อนหลัง โดยองค์กรอิสระไม่ได้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา มีอคติ ทำให้เกิดความแบ่งแยก ขัดแย้งกันใหญ่ 



ชี้องค์กรอิสระต้องถูกตรวจสอบ

นายโภคินกล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการสร้างความปรองดอง ส่วนตัวอยากเสนอหลักการใหญ่ๆ ให้ยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก แต่หากมีตรงไหนไม่ดีก็แก้ไขกันไป ส่วนเรื่องจิตสำนึก แม้เขียนในรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ได้และการนิรโทษกรรมทำไม่ได้ ต้องยึดถือเรื่องประเพณีการปกครอง ปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องแก้ด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว แต่ขึ้นอยู่กับกมธ.จะพิจารณาอย่างไร แต่ต้องยึดประชาธิปไตยและทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด 



เมื่อถามว่าขณะนี้มีข้อเสนอให้ลดวาระการดำรงตำแหน่งของกกต. และป.ป.ช.ให้เหลือ 5 ปี นายโภคินกล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีความเห็น แต่องค์กรอิสระต้องถูกตรวจสอบจากศาลในการปฏิบัติหน้าที่ และควรแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะเพราะฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็ยังถูกตรวจสอบ 



เสธ.อู้เผยคุยครบทุกพรรคแล้ว

ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงสรุปข้อเสนอแนะจากนายโภคินว่า ขอให้คงโครงสร้างหลักจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เอาไว้ และขอให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่าห้ามนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ส่วนองค์กรอิสระก็ต้องยึดโยงกับประชาชน ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งองค์กรตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตีความข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและทำหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้เท่านั้น และควรยกเลิกบทลงโทษตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรคในมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 



โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนการจัดการทุจริตให้กำหนดว่า เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับจะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณชน และขอให้นิยามคำว่าทุจริตเพิ่มเติมโดยให้ครอบถึงการบังคับใช้อำนาจที่เลือกปฏิบัติและอคติ เพราะถือว่าร้ายแรงกว่าการทุจริตทรัพย์สิน และรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้จะสมบูรณ์ได้ก็ควรมีการลงประชามติจากประชาชน



พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้พรรคการเมืองได้เข้ามาเสนอความเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯ ครบถ้วนตามที่เชิญ เหลือแค่ตัวแทนจากกลุ่มมวลชน นปช. และพันธมิตรฯ เท่านั้น ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ขอเชิญแกนนำมวลชนทั้ง 2 ให้เข้าร่วมแสดงความเห็น นอกจากนี้ ทราบว่า สปช.มีประเด็นที่จะเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 15-17 ธ.ค. ทั้งสิ้น 246 ประเด็น โดยจะส่งมอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯ จะเริ่มนำข้อเสนอทั้งจากสนช. และ สปช. มาพิจารณาในเนื้อหาเบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. เป็นต้นไป



นิด้าเสวนาชง"ถ่วงดุล"

ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "กรอบรัฐธรรม นูญและแนวคิดการปฏิรูปกับอนาคตประเทศ ไทย โดยมี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดี นิด้า และสมาชิก สปช. พร้อมด้วย นายปกรณ์ ปรียากร อดีตคณบดี คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า และโฆษกกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายอุดม ทุมโฆสิต สมาชิก สปช. ร่วมเสวนา 



นายปกรณ์กล่าวว่า หลักการเขียนรัฐธรรมนูญยุคใหม่เขียนให้มีการถ่วงดุล ไม่ใช่ตรวจสอบเพียงฝ่ายบริหารอย่างเดียว แต่จะตรวจสอบฝ่ายตุลาการด้วย และเปิดโอกาสให้ประชาชนตรวจสอบภาครัฐได้ 



นายสมบัติกล่าวว่า การเลือกตั้งนายกฯและครม.โดยตรง มีคนถามว่าถ้าเลือกมาแล้วมีอำนาจตีตนเทียบประมุขของประเทศนั้น การที่ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรเข้ามาต่างมีความคาดหวังว่าจะได้คนดี แต่ถ้าเข้ามาแล้วใช้อำนาจในทางที่ไม่ดี ประชาชนที่เลือกเข้ามาก็คงไม่ยอมและสามารถมีอำนาจถอดถอนได้ เรื่องความเหลื่อมล้ำต้องดูที่สาเหตุส่วนหนึ่งคือการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่นักการเมืองร่วมมือกับข้าราชการ อีกเรื่องที่สำคัญคือ ปัญหาราคาข้าว ราคายางพารา และปัญหาพืชผลผลิต ซึ่งหากไม่สามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็จะยังอยู่ในสังคมไทยต่อไป



เพื่อไทยแนะปชป.สำรวจตัวเอง

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ตอบโต้การแสดงความเห็นของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน ด้วยข้อความว่า "พรรคชั่ว ว่า นายพิชัยเตือนด้วยความหวังดีให้พรรคประชาธิปัตย์ปฏิรูป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและผู้ใหญ่ในพรรคต้องระมัดระวัง ดูแลห้ามปรามลูกพรรค ไม่ให้แสดงความเห็นยั่วยุ เพราะจะส่งผลต่อกรอบโรดแม็ปสร้างปรองดองสมานฉันท์ของรัฐบาลและคสช. เพราะที่ผ่านมาบ้านเมืองบอบช้ำมามาก แต่คนบางกลุ่มยังสร้างความแตกแยก ไปจำคำกลุ่มคนบางกลุ่มมาพูด 



"อยากให้พรรคประชาธิปัตย์สำนึกและสำรวจตัวเอง กลับใจและเลิกพฤติกรรมในอดีต และหันมาส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อประเทศชาติจะได้ไม่เสียหายไปกว่านี้ เพราะทำตัวเหมือนเดิมโดยยอมทำได้ทุกอย่าง เปลี่ยนอุดมการณ์เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ ประเทศคงล่มจมแน่นอน" นายอนุสรณ์กล่าว



อสส.แจงสำนวนคดีข้าว"ปู"

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตะกูล อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน พร้อมด้วยนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอสส. แถลงความคืบหน้าการตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดีอาญาน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ระหว่างฝ่าย อสส.กับป.ป.ช.ว่า อสส.พิจารณาแล้วเห็นว่าควรสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมและส่งพยานเอกสารให้ครบถ้วนตามที่แจ้งข้อไม่สมบูรณ์ไว้ทุกประเด็น แต่คณะทำงานฝ่ายป.ป.ช. เห็นว่าจะส่งพยานเอกสารเพิ่มเติมและสอบพยานบุคคลบางปากที่เกี่ยวข้องกับเอกสารเท่านั้น 



นายสุรศักดิ์กล่าวต่อว่า โดยคณะทำงานแต่ละฝ่ายจะนำประเด็นที่พิจารณาไปเสนอ อสส. และป.ป.ช.ว่า ทั้งสองฝ่ายจะเห็นพ้องในแนวทางใด จากนี้ต้องรอการประสานว่าทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมอีกครั้งเมื่อใด



ให้สอบเพิ่มปมพยานขัดกันเอง

"อสส.เห็นว่าหากรวบรวมพยานเอกสารเพิ่มเติมและสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามที่คณะทำงานฝ่ายป.ป.ช. เห็นชอบด้วย และสอบเพิ่มเติมในประเด็นของคณะทำงานฝ่ายอสส. เรื่องการซื้อขายข้าวแบบจีทูจีให้สิ้นกระแสความแล้ว คดีน่าจะมีพยานหลักฐานสมบูรณ์พอจะดำเนินคดีอาญาในชั้นศาล เนื่องจากขณะนี้พยานยังให้การขัดแย้งกันเอง บางปากระบุไม่มีการขายข้าวแบบจีทูจี แต่บางปากระบุว่ามีจริง" นายสุรศักดิ์กล่าว



นายสุรศักดิ์กล่าวว่า อสส.จะยึดหลักกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม อำนวยความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่ายเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 



เมื่อถามว่าจะตรวจสอบข้อมูลในส่วนเพิ่มหรือไม่ ในกรณีที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดในโครงการรับจำนำข้าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ทุกฝ่ายจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ทุกข้อกล่าวหา



บิ๊กป้อมย้ำอีกไทยไม่มี"คุก"ลับ

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานผลการสอบสวนการทารุณทรมานผู้ต้องสงสัยของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ(ซีไอเอ) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งคุกลับ ว่า ไม่มี ในเมืองไทยไม่มีคุกลับ และไม่ต้องทำหนังสือไปยังซีไอเอหรือรัฐบาลสหรัฐ ตนยังไม่รู้เลยว่าใครเขียนรายงานนี้ขึ้นมา ส่วนที่สหรัฐออกคำเตือนพลเมืองในต่างประเทศให้ระวังการก่อเหตุประท้วงต่อต้านสหรัฐ รองนายกฯกล่าวว่า ทางการไทยมีความพร้อมและเตรียมการไว้อยู่แล้ว ตอนนี้ไม่มีข้อมูลทางการข่าวว่าอาจจะมีการก่อเหตุใดๆ



นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษาพล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เพราะรูปแบบเดิมมีการต่อต้านมาก การปรับการทำงานมีการเปิดเผยที่ไม่ครบถ้วนและอาจมีผลกระทบต่อประเทศพันธมิตร ยังไม่เห็นรายงานฉบับเต็มซึ่งมี 20 ประเด็นที่คณะกรรมาธิการข่าวกรองของสหรัฐตั้งข้อสังเกตแต่ไม่ได้เกี่ยวกับไทย แม้เรามีพันธสัญญาด้านความมั่นคงกับสหรัฐ แต่ทุกรัฐบาลไม่มีนโยบายให้สหรัฐเข้ามาใช้พื้นที่สอบสวนผู้ต้องหา ก่อนหน้านี้สหรัฐขอใช้ฐานทัพในไทยเรายังปฏิเสธ ส่วนการต่อต้านการก่อการร้ายเมื่อจับกุมคนร้ายได้จะส่งออกนอกประเทศด้วยเวลาที่รวดเร็ว ไม่มีนโยบายกักกันนักโทษต่างชาติไว้ในประเทศเป็นเวลานาน ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ประชุมเพื่อปรับแผนการแจ้งเตือนเรียบร้อยแล้ว หากมีแนวโน้มจะเกิดปัญหาก็จะปฏิบัติตามแผนที่วางไว้





"บิ๊กตู่"สั่งปราบค้ามนุษย์จริงจัง 

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 2/2557 โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม



พล.อ.ประวิตรกล่าวก่อนเริ่มประชุมว่า จะใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เน้นการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่ยุ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และในฐานะที่นายกฯมอบให้ตนเป็นประธาน จะขับเคลื่อนแผนการปราบปรามการค้ามนุษย์ ในปี 2557 อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการจัดทำรายงานสรุปผลการแก้ไขปัญหา การค้ามนุษย์ เพื่อเสนอสหรัฐ ภายหลังจัดอันดับปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยให้อยู่ในระดับ เทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด



ด้านพล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า การจัดลำดับสถานการณ์การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ไทย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 พล.อ.ประวิตรได้กำชับให้แก้ปัญหา ทั้งทางกฎหมาย การดำเนินคดี การคัดแยกและช่วยเหลือต่างๆ มั่นใจว่าปี 2558 ลำดับของประเทศไทยจะดีขึ้น



พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า นายกฯ กำชับให้ดูแลทั้งหมด และดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดีเอสไอกำลังสอบสวนคาดว่าจะมีหลักฐานยืนยันได้อย่างน้อย 2 คดี อย่างไรก็ตาม เราได้ติดตามข้อมูลและประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด



เด้ง"สมเกียรติ"พ้นผอ.สวรส.

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงพฤติกรรม นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผอ.สวรส. ว่า ที่ประชุมพิจารณาเรื่องที่มีการตรวจพบว่า นพ.สมเกียรติ ไม่ปฏิบัติตามข้อ 6 ในสัญญาจ้าง มีพฤติกรรมขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ สวรส. ทำให้ไม่สามารถเดินหน้างานต่างๆ ได้ ที่ประชุมบอร์ดจึงมีมติเลิกจ้าง นพ.สมเกียรติ โดยให้พ้นจากตำแหน่ง ผอ.สวรส. ซึ่งหลังจากนี้ ประธานบอร์ดจะมีหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการ และจะเข้าสู่กระบวนการสรรหาผอ.สวรส.คนใหม่ และระหว่างนี้ตนจะพิจารณาสรรหารักษาการผอ.สวรส.ต่อไป



นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สาเหตุหลักของการเลิกจ้าง คือการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและขัดขวางการทำงานของบอร์ด คือในการประชุมบอร์ดครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น นพ. สมเกียรติ ติดภารกิจที่ต่างประเทศ และมอบอำนาจให้มีผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน แต่ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการบอร์ด สวรส. ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ ส่งผลให้บอร์ดไม่สามารถลงมติหรือตั้งอนุกรรมการอื่นๆ ได้ ถือว่าไม่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม การปลดนพ. สมเกียรติ มีหลายเหตุผลแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ขอให้รอผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เนื่องจากหากกล่าวออกไปอาจไม่เป็นธรรมได้



ด้านนพ.สมเกียรติกล่าวว่า ตนได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อหัวหน้าคสช. และป.ป.ช. แล้วว่าการสรรหาบอร์ดชุดดังกล่าวไม่ถูกต้องทั้งในส่วนของคณะกรรมการทั้ง 7 คน และประธาน เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ทับซ้อนจากการรับทุน ทั้งนี้ ตนได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าว



"นายกฯตู่"บินกลับถึงไทยแล้ว

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ระหว่างการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 10-12 ธ.ค. โดยในช่วงเช้าได้ร่วมประชุมอาเซียน-เกาหลีสมัยพิเศษ จากนั้นร่วมการประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีสมัยพิเศษ ช่วงที่ 2 ในหัวข้อ "Discussion on Non-Traditional Security Issues" แล้วไปเยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมาภิบาล ต่อด้วยการเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ดารุสซาลาม และร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันของผู้นำ ซึ่งประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีเป็นเจ้าภาพ จากนั้นเดินทางกลับประเทศไทย มาถึงท่าอากาศยาน กองบิน 6 ในเวลา 22.00 น.



พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมความสำเร็จในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีสมัยพิเศษว่า ได้พบกับนักธุกิจชั้นนำของเกาหลีทั้งด้านยานยนต์ ไอที รัฐวิสาหกิจและบริษัทบริหารจัดการน้ำ โดยเชิญชวนให้มาลงทุนในไทยมากขึ้น และให้ความมั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลจะโปร่งใสและได้ยืนยันถึงสถานการณ์ในประเทศที่มีความเรียบร้อย มีเสถียรภาพ นักลงทุนไม่ต้องกังวลเรื่องนี้



พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ส่วนการเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนดารุสซาลาม ทรงแสดงออกซึ่งความเคารพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพูดคุยถึงความร่วมมือด้านการเกษตร ประมง และการท่องเที่ยว เพราะบรูไนแม้จะมีธุรกิจน้ำมันแต่ต้องวางยุทธศาสตร์สำหรับประเทศในอนาคตในด้านอาหารและพลังงานทดแทน



โพลชี้ประชาชนกังวลปฏิวัติซ้อน

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,269 คน ระหว่างวันที่ 7-11 ธ.ค. ถึงกรณีพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯเตือนรัฐบาล และคสช.ให้ระวังการเกิดปฏิวัติซ้อน หากมีการบรรจุที่มาของนายกฯให้ประชาชนเลือกโดยตรงในรัฐธรรมนูญ พบว่า ร้อยละ 80.61 ระบุข่าวการปฏิวัติซ้อนทำให้ประชาชนรู้สึกกังวล เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก ร้อยละ 79.20 เห็นว่าหากมีการปฏิวัติซ้อน ภาพลักษณ์ประเทศจะยิ่งเสียหาย เศรษฐกิจตกต่ำ และร้อยละ 74.70 ระบุยังไม่รู้ข้อเท็จจริง อาจเป็นเพียงข่าวลือ ควรตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว



ทั้งนี้ ร้อยละ 37.28 มองว่าการปฏิวัติซ้อนไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะบ้านเมืองสงบเรียบร้อยมากขึ้น คสช.มีอำนาจบริหารดูแลเต็มที่ ไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวายอีกครั้ง ร้อยละ 34.04 บอกไม่แน่ใจ เพราะยังไม่รู้รายละเอียดที่ชัดเจน ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด อาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมือง และร้อยละ 28.13 ระบุน่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะยังมีหลายกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและมีการเคลื่อนไหว อาจมีผู้ที่ต้องการสร้างความวุ่นวาย การเมืองเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อาจมาจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนเดือดร้อน 



ส่วนผลเสียถ้ามีการปฏิวัติซ้อนเกิดขึ้น ร้อยละ 78.32 มองว่าทำให้ประเทศชาติเสียหาย การพัฒนาหยุดชะงัก เศรษฐกิจตกต่ำ ร้อยละ 74.54 บ้านเมืองไม่สงบ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายและอาจมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 85.57 คิดว่ายังไม่ถึงเวลาจะมีการปฏิวัติซ้อนเกิดขึ้น เพราะคสช.และรัฐบาลบริหารได้ดี บ้านเมืองกำลังเดินหน้า ควรให้โอกาสและใช้เวลาสักระยะ หากเกิดความวุ่นวายอีกประเทศจะยิ่งเสียหาย คนไทยบอบช้ำมามากแล้ว ร้อยละ 14.43 ที่เห็นว่าถึงเวลาแล้ว เพราะยังมีบางกลุ่มที่เคลื่อนไหว มีความขัดแย้งในบ้านเมือง เพิ่มขึ้น ประชาชนยังเดือดร้อน สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของแพง 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!