WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ 7 (CED 7) ระดับรัฐมนตรี

GOV 17

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ 7 (CED 7) ระดับรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสมัยที่ 7 (The Seventh Session of the Committee on Environment and Development: CED 7)1 ระดับรัฐมนตรี ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติกรุงเทพมหานคร และผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม 2565 โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ) เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ [คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 พฤศจิกายน 2565) เห็นชอบต่อกรอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมฯ และหลักการต่อร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการปกป้องโลกของเราผ่านความร่วมมือระดับภูมิภาคและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยมลพิษทางอากาศ ภาคผนวกของปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และอนุมัติให้หัวหน้าคณะผู้แทนไทย หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้การรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ และภาคผนวกของปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฯ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. การประชุม CED 7 ระดับรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อหลัก “Protecting our planet through regional cooperation and solidarity in Asia and the Pacific” สรุปได้ ดังนี้

                  1.1 การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ผ่านการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงปัญหามลพิษข้ามแดนที่สำคัญโดยเฉพาะมลพิษทางอากาศที่จำเป็นต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยการกำหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ได้เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกร่วมกันทบทวนการดำเนินงานตามปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่รับรองเมื่อปี พ.ศ. 2560 พร้อมทั้งหารือการดำเนินงานเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคร่วมกัน

                  1.2 การประชุมระดับรัฐมนตรี

                          1.2.1 ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อแก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ และการดำเนินงานเพื่อบรรลุการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศที่มากเกินไป การทำลายถิ่นที่อยู่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชนิดพันธุ์รุกราน2 ทำให้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ และปัญหาทางมลพิษ เช่น มลพิษจากขยะมูลฝอยและพลาสติกที่ส่งผลกระทบขยายไปถึงระบบนิเวศทางทะเล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคในด้านนโยบายและแนวปฏิบัติสำหรับการแก้ปัญหาที่อิงจากธรรมชาติ (Nature based Solutions) เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆ เพิ่มความพยายามในการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องเสริมสร้างความสอดคล้องของนโยบาย การทำงานร่วมกัน และกรอบกฎหมายเพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

                          1.2.2 การเสวนาโต๊ะกลม (Roundtable) 2 หัวข้อ ได้แก่

                                  (1) “Strengthening regional collaboration to protect our planet” เป็นการนำเสนอนโยบายหรือข้อริเริ่ม รวมถึงประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยประเทศไทยนำเสนอการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้ผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย ตลอดจนการดำเนินการที่เกี่ยวกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่างๆ ที่ไทยมีส่วนร่วมในภูมิภาค ได้แก่ การประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2025 ผ่านการพัฒนากลไกคาร์บอนเครดิต รวมทั้งการร่วมมือกับภูมิภาคในการแก้ไขมลพิษทางอากาศที่สำคัญ เช่น การประยุกต์ใช้ดาวเทียมเพื่อติดตามและคาดการณ์ PM2.5 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหามลพิษจากพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาข้ามพรมแดน สำหรับการดำเนินงานภายในประเทศได้ยกระดับความพยายามในการจัดการกับพลาสติก โดยได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก3 ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก ภายในปี พ.ศ. 2568 นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำว่าไทยพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อการส่งเสริมการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกต่อไป

                                  (2) “The Future of our Ocean” เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีในประเด็นด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องมหาสมุทร โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำให้ประเทศต่างๆ ดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายร้อยละ 30 ของพื้นที่คุ้มครองทางทะเล4ภายในปี ค.ศ. 2030 พร้อมการดำเนินงานท่าเรือที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยการพัฒนากรอบการกำกับดูแลด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนและส่งเสริมความหลากหลายทางเพศในภาคการเดินเรือ การสนับสนุนระบบ Ocean accounting ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อการวางแผนการพัฒนามหาสมุทรอย่างยั่งยืน การจัดหาเงินทุนเพื่อการปกป้องระบบนิเวศที่ใกลัสูญพันธุ์ และ การจัดทำมาตรฐานการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)5

          2. การร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ได้แก่ (1) ปฏิญญาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการปกป้องโลกของเราฯ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฟื้นฟูระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ การลดมลพิษทางอากาศ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การยกระดับเข้าถึงข้อมูลและกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของสาธารณชน รวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเน้นย้ำบทบาทของ ESCAP ในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ประเทศสมาชิกเสริมสร้างขีดความสามารถการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และ (2) แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคฯ (เป็นภาคผนวกของปฏิญญาระดับรัฐนตรีฯ) เพื่อตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ รวมทั้งร่วมกันหาแนวทางในการตอบสนองต่อความท้าทายด้านมลพิษทางอากาศระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐนตรีให้ความเห็นชอบไว้แล้ว เช่น การเพิ่มประเด็นการแบ่งปันข้อมูลแบบเปิดที่เกี่ยวกับการจัดการคุณภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 การปรับถ้อยคำในเรื่องของกลไกทางการเงินโดยเป็นการเน้นย้ำการดำเนินงานผ่านกลไกความร่วมมือและแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของ ESCAP ให้ชัดเจนเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างขีดความสามารถ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ เพื่อต่อสู้กับปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกรวมถึงไทยในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเด็นท้าทาย ต่างๆ ให้เป็นไปตามบริบทและขีดความสามารถของแต่ละประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของความสมัครใจ

_____________________

1คณะกรรมการว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Committee on Environment and Development: CED) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการย่อยของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) แห่งสหประชาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิก 53 ประเทศ

2ชนิดพันธุ์รุกราน หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดในพื้นที่หรือสิ่งแวดล้อมนั้นๆ แต่แพร่กระจายมาจากที่อื่น คุกคามระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัย หรือชนิดพันธุ์อื่นๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลเสียต่อระบบนิเวศดั้งเดิมได้

3คณะรัฐมนตรีมีมติ (17 เมษายน 2562) รับทราบ (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ตามที่ ทส. เสนอ

4พื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area) คือ พื้นที่บริเวณน้ำขึ้นน้ำลง หรือบริเวณพื้นที่ท้องทะเลรวมทั้งมวลน้ำสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ ลักษณะสำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคม ซึ่งต้องสงวนไว้ด้วยระเบียบกฎหมายหรือด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพอื่นใด เพื่อคุ้มครองส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสภาพบริเวณนั้น ทั้งนี้ พื้นที่คุ้มครองทางทะเลในแต่ละประเทศอาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับกฎหมายหรือข้อบังคับของแต่ละประเทศที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศนั้น โดยพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในไทยมี 12 รูปแบ เช่น อุทยานแห่งชาติทางทะเลพื้ นที่ป่าชายเลน และพื้นที่แนวปะการัง

5เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) คือ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับท้องถิ่นและชุมชน เพื่อให้มีการดำรงชีพและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งและทะเล

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 เมษายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A4144

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!