WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

นโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570)

GOV8

นโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570)

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) ตามมติคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.) ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565* [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 (1) บัญญัติให้ คพช. มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในเรื่องนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. สถานการณ์ทั่วไปของสหกรณ์ของประเทศไทย

          สหกรณ์ในไทยมีจำนวน 7,520 แห่ง และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งในภาพรวมของการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ พบว่า มีปริมาณธุรกิจด้านการให้เงินกู้มากที่สุด รองลงมาเป็นการรับฝากเงิน และการรวบรวมผลผลิต ส่วนชุมนุมสหกรณ์มีจำนวน 135 แห่ง และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีสัดส่วนปริมาณธุรกิจในการให้บริการรับฝากสูงที่สุด รองลงมาเป็นการให้สินเชื่อ ส่วนการดำเนินงานในด้านอื่นๆ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ของปริมาณธุรกิจของชุมนุมสหกรณ์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเติบโตของปริมาณธุรกิจของชุมนุมสหกรณ์ พบว่า ปริมาณธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปีแต่ชุมนุมสหกรณ์ที่มีกำไรมีสัดส่วนลดลง

          จากสถานการณ์ทั่วไปของสหกรณ์และสภาพเศรษฐกิจในประเทศหลังการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า มีความท้าทายที่สหกรณ์ต้องเผชิญ ได้แก่ (1) สภาวะเศรษฐกิจหดตัว (2) การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (3) การฟื้นตัวจากภาวะวิกฤตโรคระบาด และ (4) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาในมิติต่างๆ ได้แก่ (1) การนำองค์กรสมัยใหม่ (ผู้นำแบบสมัยใหม่) (2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ (3) การพัฒนาองค์กรสู่รูปแบบการบริหารองค์กรที่มีความคล่องตัว (4) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า และ (5) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนของการสหกรณ์

          2. นโยบายและแนวทางในการพัฒนาการสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) มีเป้าหมายเพื่อให้สหกรณ์เข้มแข็งและเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย 6 นโยบายย่อย สรุปได้ ดังนี้

 

นโยบาย

 

แนวทางการพัฒนา

(1) พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการในสหกรณ์สู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

1) พัฒนารูปแบบการบริหารสหกรณ์ในด้านการบริหารจัดการองค์ความรู้ในองค์กรและปรับโครงสร้างให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่น

2) กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของกรรมการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการและพัฒนาศักยภาพกรรมการสหกรณ์ในด้านการบริหารจัดการและผู้ตรวจสอบกิจการให้เป็นไปตามลักษณะที่พึงประสงค์

3) พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีและมีความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจ

4) สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในสหกรณ์ โดยสร้างกระบวนการจัดการเรียนรู้หรือแหล่งเรียนรู้ และใช้องค์ความรู้จากบุคลากร

5) สนับสนุนให้สหกรณ์พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการดำเนินธุรกิจและการให้บริการสมาชิก

(2) ส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรและดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและข้อมูลสารสนเทศ

 

1) วางระบบการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานของสหกรณ์ รวมทั้งจัดหาและสนับสนุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านงานเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเภทสหกรณ์

2) พัฒนาและปรับเปลี่ยนกรอบความคิดและทัศนคติเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่บุคลากรสหกรณ์

3) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์และเครือข่ายการสหกรณ์

4) พัฒนาหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจสำหรับบุคลากรสหกรณ์

(3) ยกระดับศักยภาพและสมรรถนะการดำเนินธุรกิจตามลักษณะธุรกิจและประเภทของสหกรณ์

 

1) ยกระดับขบวนการสหกรณ์ให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง

2) สร้างมูลค่าและเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์และบริการของสหกรณ์ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วยการปรับปรุงกระบวนการสำคัญและการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ดังนี้

        2.1) ธุรกิจด้านการเกษตร สนับสนุนทรัพยากรและองค์ความรู้เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า และความหลากหลายของสินค้าเกษตร รวมถึงการปรับตัวเพื่อเป็นผู้ให้บริการด้านการเกษตรสมัยใหม่เพื่อให้สหกรณ์มีบทบาทในการช่วยเหลือเกษตรกรในการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยใช้การตลาดนำการผลิต

        2.2) ธุรกิจด้านการเงิน พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการเงิน สหกรณ์ประเภทออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และวางรูปแบบและสนับสนุนให้มีระบบเครือข่ายทางการเงินระหว่างสหกรณ์ต่างประเภท

        2.3) ธุรกิจด้านการบริการ พัฒนาแพลตฟอร์มและช่องทางการบริการสำหรับการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับการให้บริการสมาชิกภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไป

3) พัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพของสมาชิกทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร โดยพัฒนากระบวนการผลิต การให้บริการ และการทำธุรกิจให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก รวมถึงการจัดสวัสดิการแก่สมาชิกที่เหมาะสมกับช่วงวัยและอาชีพ

4) ส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับสังคมสูงวัยในชุมชนที่สอดคล้องกับธุรกิจและบริบทของสหกรณ์เพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้

5) พัฒนาความรู้เรื่องการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่บุคลากรสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ

6) ฝึกทักษะการวางแผนธุรกิจโดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงของบุคลากรสหกรณ์

(4) สร้างการเชื่อมโยงและร่วมมือกันทางธุรกิจและสังคม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

1) สร้างกลไกการเป็นห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเภทสหกรณ์ โดยออกแบบโครงสร้างขบวนการสหกรณ์ให้มีความเชื่อมโยงทั้งทางด้านธุรกิจและการร่วมมือในการพัฒนาสหกรณ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

2) สร้างระบบนิเวศทางธุรกิจโดยการรวมตัวของธุรกิจ บุคลากร องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้ทุกฝ่ายสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้รวมทั้งการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การยกระดับความสัมพันธ์และการสร้างความร่วมมือและการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับทุกภาคส่วน

3) พัฒนาให้ชุมนุมสหกรณ์ในแต่ละระดับวางแผนการเชื่อมโยงธุรกิจของสหกรณ์เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันทางธุรกิจและสังคม

4) ควบรวมสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสมาชิก

(5) สร้างธรรมาภิบาลในขบวนการสหกรณ์

 

1) กำหนดจรรยาบรรณของบุคลากรสหกรณ์ในข้อบังคับของสหกรณ์และแต่งตั้งคณะกรรมการด้านจรรยาบรรณที่มีความเป็นอิสระ

2) กำหนดคุณสมบัติและองค์ประกอบของคณะกรรมการที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการบริหาร รวมถึงกำหนดวิธีการสรรหาก่อนการเลือกตั้งคณะกรรมการให้มีความเป็นธรรมและมีส่วนร่วมจากสมาชิกสหกรณ์

3) สนับสนุนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นเรื่องการบริหารจัดการที่ดีและธรรมาภิบาลในสหกรณ์

4) สร้างกลไกในการเฝ้าระวัง กำกับ ติดตาม และการบริหารจัดการของสหกรณ์ รวมทั้งมีระบบควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริตในสหกรณ์

5) สร้างนวัตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเชิงรุกในสหกรณ์โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม

6) ทบทวนและปรับปรุงข้อกฎหมายให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาให้ทันท่วงที

(6) ปรับโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ขบวนการสหกรณ์และภาครัฐ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

 

1) ศึกษา วิจัย และพัฒนาเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน รวมถึงการวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตของสหกรณ์แต่ละประเภทในด้านการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ และการลงทุนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงข้อเสนอและการทบทวนโครงสร้างการสหกรณ์ในไทยที่เหมาะสม

2) สร้างความเข้มแข็งของชุมนุมสหกรณ์ทุกระดับและสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยการปรับปรุงและทบทวนโครงสร้างและบทบาทหน้าที่

3) เสริมสร้างศักยภาพในการกำกับดูแลสหกรณ์ โดยการปรับปรุงโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐให้มีโครงสร้างที่เหมาะสมและทำหน้าที่ในการส่งเสริมและกำกับดูแลสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพ

4) ปรับปรุงแนวทางการส่งเสริม พัฒนา และกำกับสหกรณ์ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของสหกรณ์แต่ละประเภท

 

          คพช. ได้นำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติโดยจัดทำเป็นแผนพัฒนาสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 - 2570) และได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนแผนฯ โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการสหกรณ์ฯ และคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาการสหกรณ์ฯ เพื่อขับเคลื่อนแผนและติดตามความก้าวหน้าจากทุกภาคส่วนต่อไป

_____________________

* เป็นข้อมูลที่ได้รับจากการประสานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 เมษายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A4145

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!