WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2565

GOV 21

ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2565

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม) และภาพรวม ปี 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (5) ที่บัญญัติให้ สศช. รายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

                    1.1 สถานการณ์แรงงาน ในไตรมาสสี่มีการจ้างงานจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการจ้างงานในสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารและสาขาการค้าส่งและค้าปลีกปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว ส่วนภาคเกษตรกรรม การจ้างงานหดตัวร้อยละ 3.4 จากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้และการย้ายสาขาของแรงงาน ขณะที่การว่างงานปรับตัวดีขึ้นโดยมีผู้ว่างงานจำนวน 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.15 ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน ส่วนสถานการณ์ด้านแรงงาน ปี 2565 มีผู้มีงานทำจำนวน 39.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงานหดตัวร้อยละ 1.2 จากผลกระทบของอุทกภัยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปสู่สาขาที่ฟื้นตัวได้ดี ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ (1) การจ้างงานในอุตสาหกรรมส่งออกและโอกาสการหางานของเด็กจบใหม่ (2) ภาระค่าครองชีพของแรงงานจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูง และ (3) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว

                    1.2 หนี้สินครัวเรือน ไตรมาสสาม1 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) ปี 2565 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.90 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากร้อยละ 3.5 ของไตรมาสก่อนเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) อยู่ที่ร้อยละ 86.8 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ที่ร้อยละ 88.1 ส่วนคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงทรงตัว โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Peforming Loan: NPL) ไตรมาสสี่ ปี 2565 มีสัดส่วนร้อยละ 2.62 ต่อสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตาม พบว่าสินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน ในสินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 13.7 ของสินเชื่อรวม อีกทั้งลูกหนี้เสียจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังมีปริมาณมากแม้สถานการณ์จะคลี่คลาย โดยมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ (1) การเร่งปรับโครงสร้างของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้และ (2) การกำหนดมาตรการเฉพาะเจาะจงเพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เสียจากผลกระทบของโควิด-19

                    1.3 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง ไตรมาสสี่ ปี 2565 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นร้อยละ 308.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนผู้ป่วยจากโรคเฝ้าระวังสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก ส่วนภาพรวมปี 2565 พบผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 134.9 โดยเป็นผู้ป่วยโรคปอดอักเสบสูงสุดที่สุด ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพจิตยังเป็นประเด็นสำคัญ โดยปี 2564 มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มเป็น 358,267 คน จากปี 2563 ที่มีจำนวน 355,537 คน และมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และการหามาตรการป้องกันมลพิษทางอากาศที่ยั่งยืน

                    1.4 การศึกษา ในปี 25642 เด็กไทยมีการเข้าเรียนเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการเข้าเรียนในระบบการศึกษาประมาณร้อยละ 81.7 เพิ่มจากปี 2563 ที่อยู่ที่ร้อยละ 81.0 ขณะที่ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปี 2564 มีคะแนนลดลงในทุกระดับชั้นและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การแก้ไขปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องและ (2) การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่หายไปในช่วงโควิด-19 ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่า ร้อยละ 25 ของเด็กไทยยังมีพัฒนาการที่ไม่สมวัย

                    1.5 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ไตรมาสสี่ ปี 2565 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ส่วนภาพรวม ปี 2565 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.9 ตามภาวะเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวและการกระตุ้นตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้นในหลายช่องทาง ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ คือ การเร่งปราบปรามบุหรี่หนีภาษีในเครือข่ายออนไลน์

                    1.6 คดีอาญา ไตรมาสสี่ ปี 2565 มีการรับแจ้งคดีอาญารวม 112,842 คดี ลดลงร้อยละ 5.9 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 โดยเป็นคดียาเสพติด คดีชีวิต ร่างกาย และเพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ส่วนภาพรวม ปี 2565 มีการรับแจ้งคดีอาญารวม 431,666 คดี ลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 18.4 ซึ่งพบว่ามีคดีข่มขืนกระทำชำเราเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 จากปี 2564 ขณะที่คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ พบการกระทำผิดผ่านระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยมีการรับแจ้งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 106.8 ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ (1) ภัยจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือภัยไซเบอร์ (2) การแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดใหม่ที่มีฤทธิ์แรงกว่าเดิม (3) การเล่นพนันออนไลน์ และ (4) การใช้ความรุนแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

                    1.7 การรับแจ้งเหตุผู้ประสบภัยทางถนนและจำนวนผู้เสียชีวิต ไตรมาสสี่ ปี 2565 มีการรับแจ้งเหตุผู้ประสบภัยสะสมจากอุบัติเหตุรถยนต์ทั่วประเทศรวม 243,803 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2564 โดยเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด ส่วนภาพรวม ปี 2565 มีการรับแจ้งผู้ประสบภัยรวม 941,084 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากปีก่อน โดยเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด ขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 จำนวนการเกิดอุบัติเหตุผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 9.9 4.8 และ 8.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ต้องให้ความสำคัญและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงออกแบบถนนที่คำนึงถึงความปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจร และรณรงค์ให้ความรู้ด้านความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

                    1.8 การรับเรื่องร้องเรียน ไตรมาสสี่ ปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 โดยเฉพาะด้านการขายตรงและตลาดแบบตรง ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้รับการร้องเรียนลดลงร้อยละ 74.0 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด โดยเฉพาะในประเด็นการได้รับข้อความสั้น (SMS) ส่วนปี 2565 การร้องเรียนโดยรวมลดลงร้อยละ 9.6 จากปีก่อน โดยมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ (1) การหลอกลวงให้ประชาชนเปิดบัญชีม้า (2) ปัญหาการหลอกลวงประชาชนโดยใช้แอปพลิเคชันเงินกู้เถื่อน (3) ปัญหาการให้บริการของรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถแท็กซี่ (4) ปัญหารถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย และ (5) ปัญหาและความเสี่ยงการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์กับการคุ้มครองผู้บริโภค

          2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ

                    2.1 อินเทอร์เน็ต : โอกาสและข้อจำกัดในการยกระดับการศึกษาของเด็กไทยอินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการเข้าถึงองค์ความรู้เชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ มาสู่ผู้ใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด ทำให้ทั่วโลกมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษามากขึ้น โดยพบว่าประเทศที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในโรงเรียนระดับสูงจะส่งผลให้เด็กมีคุณภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาต้องคำนึงถึงการเข้าถึงและความแรงของสัญญาณและอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อ ซึ่งประเทศไทยยังมีข้อจำกัด ดังนี้ (1) การให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรียังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร (2) สถานศึกษาบางแห่งยังไม่มีอินเทอร์เน็ต (3) สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษามีปัญหาด้านคุณภาพการเชื่อมต่อสัญญาณ และ (4) เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งยังไม่ตระหนักถึงประโยชน์ในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาจึงควรเร่งดำเนินการ ดังนี้ (1) เร่งขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมโรงเรียนทั่วประเทศ (2) ส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะเด็กในครัวเรือนยากจน และ (3) สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญพื้นฐานเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตให้กับเด็กและเยาวชน

                    2.2 เรียนรู้การกำหนดค่าจ้างจากต่างประเทศ การได้รับค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมส่งผลให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจน และจูงใจให้แรงงานมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันการกำหนดค่าจ้างของประเทศต่างๆ ประกอบด้วย (1) การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อคุ้มครองให้แรงงานได้รับค่าจ้างเพียงพอ (2) การกำหนดโครงสร้างค่าจ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับแรงงานมากขึ้น และ (3) การกำหนดค่าจ้างโดยการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างหรือการใช้กลไกตลาด ซึ่งจะไม่มีการแทรกแซงจากภาครัฐ โดยในส่วนของไทยมีการกำหนดค่าจ้างเป็นรูปแบบผสมผสาน ดังนี้ (1) การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นค่าจ้างที่เพียงพอสำหรับแรงงานทั่วไปแรกเข้า (2) การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเพื่อให้แรงงานกึ่งฝีมือและแรงงานฝีมือได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม และ (3) การกำหนดค่าจ้างโดยกลไกตลาด ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรงงานที่มีทักษะระดับกลางขึ้นไป ทั้งนี้ ในระยะต่อไปไทยควรกำหนดให้ค่าจ้างเป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงานและช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การสนับสนุนให้แรงงานได้รับการฝึกอบรมและทดสอบเพื่อเพิ่มระดับทักษะโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ

                    2.3 การพัฒนาทักษะแรงงานไทย ทันหรือไม่ต่อการเปลี่ยนแปลงผลกระทบของเทคโนโลยีทำให้ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกอนาคต รวมถึงไทยที่มีนโยบายปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมแต่ยังมีประเด็นปัญหาในการยกระดับทักษะแรงงาน เช่น (1) การขาดการกำหนดชุดทักษะที่จำเป็นและสอดคล้องกับตลาดแรงงาน (2) หลักสูตรการอบรมของภาครัฐยังขาดความทันสมัยและไม่ครอบคลุมความต้องการของตลาด และ (3) แรงงานไทยส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาต่ำและไม่ต้องการพัฒนาทักษะ ทั้งนี้ มีแนวทางการพัฒนาทักษะในระยะต่อไป เช่น (1) จัดทำชุดทักษะที่จำเป็นที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการและทิศทางการพัฒนาของประเทศ (2) ปรับบทบาทการฝึกอบรมของภาครัฐให้เป็นผู้สนับสนุนและกำกับดูแลภาคเอกชนในการดำเนินการฝึกอบรมให้ได้มาตรฐาน และ (3) สนับสนุนและสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ

          3. บทความเรื่อง “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : แหล่งรายได้รัฐและเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ” ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นรายได้และเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรของคนในสังคมให้มีความเท่าเทียมกันและนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยพบว่าในช่วงปี 2556-2564 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อรายได้จากภาษีทั้งหมดที่รัฐจัดเก็บมีสัดส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 12.2-13.7 หรือประมาณร้อยละ 2.09 ของ GDP ซึ่งค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่มีสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 24.1 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภาษีเงินได้ของไทยยังไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้แก่รัฐและจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมากระจายใหม่ได้มากนัก โดยมีสาเหตุจาก (1) แรงงานไทยประมาณ 3 ใน 4 อยู่นอกระบบภาษี (2) ประเภทของเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่ และ (3) การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ดังนั้น จึงควรมีการดำเนินการ ดังนี้ (1) นำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษีโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ (2) ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท (3) ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน และ (4) สื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี

____________________

1 ข้อมูลหนี้สินครัวเรือนจะเป็นตัวเลขของไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจาก สศช. จะประกาศรายงานหนี้สินครัวเรือนช้ากว่าข้อมูลประเภทอื่นๆ 1 ไตรมาส

2 จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 สศช. แจ้งว่า สถิติการศึกษาปี 2564 คือข้อมูลล่าสุดที่สามารถรวบรวมได้

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 เมษายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A4149

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!