รายงานประจำปีคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 April 2023 00:11
- Hits: 2005
รายงานประจำปีคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอรายงานประจำปี กพยช. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 มาตรา 16 (6) ที่บัญญัติให้สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพยช. มีอำนาจหน้าที่จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ กพยช. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ สรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1. ภาพรวมสถานการณ์กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย ในช่วง พ.ศ. 2562 - 2564 |
1.1) สถิติจำนวนคดีที่รับแจ้งความ 1,923,542 คดี และจำนวนผู้ต้องหาที่จับกุมได้ ในปี 2562 – 2564 จำนวน 1,883,197 คน 1.2) สถิติจำนวนคดีอาญาที่เข้าสู่การพิจารณา 1,642,011 คดี และคดีเสร็จไปของศาลชั้นต้นทั่วราชอาณาจักร 1,490,814 คดี 1.3) สถิติจำนวนผู้อยู่ในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ทั่วประเทศ แบ่งเป็น นักโทษเด็ดขาด 814,905 คน ผู้ต้องขังระหว่าง (อุทธรณ์-ฎีกาไต่สวน-พิจารณา และสอบสวน) 166,899 คน และการกระทำผิดซ้ำหลังจากได้รับการปล่อยตัวในปีแรก 96,288 คน 1.4) สถิติคดีรับเข้าของศาลปกครองชั้นต้น 24,180 คดี และคดีแล้วเสร็จ 20,159 คดี |
|
2. ผลการดำเนินงานของ กพยช. และคณะอนุกรรมการภายใต้ กพยช. จำนวน 6 คณะ |
2.1) ภาพรวมการดำเนินงาน กพยช. โดยคณะกรรมการได้มีการประชุม จำนวน 2 ครั้ง และมีผลงานสำคัญ เช่น 2.1.1) การจัดทำร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้ผู้พ้นโทษไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขในสังคมโดยเฉพาะการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งงานหรือสถานประกอบการที่ตรงกับความรู้ความสามารถของตนภายหลังการพ้นโทษมาแล้ว โดยกำหนดหลักเกณฑ์การจัดการประวัติการกระทำความผิด ตั้งแต่การเปิดเผยประวัติอาชญากรรมสำหรับคดีที่มีความสำคัญและกระทบต่อความสงบสุขของสังคมส่วนรวมและไม่เปิดเผยประวัติอาชญากรรมเพื่อให้โอกาสผู้กระทำความผิดในการกลับคืนสู่สังคม (ปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งคืนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วตามแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร) 2.1.2) การจัดทำร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ. .... เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้แสดงความรับผิดชอบในการกระทำ ชดเชยเยียวยา บรรเทาผลร้ายแห่งการกระทำให้แก่ผู้เสียหายในชั้นแรกและเป็นการเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เสียหายอันนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างคู่กรณี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และสังคม มากกว่าการดำเนินการให้มีการพิจารณาลงโทษ ซึ่งจะทำให้คดีอาญาระงับลงและเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม (ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) 2.1.3) การจัดทำกรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 – 2569 เพื่อพัฒนาองค์กรความรู้และเสริมสร้างนวัตกรรมด้านกระบวนการยุติธรรม และทิศทางการศึกษาวิจัยด้านการยุติธรรมในอนาคตที่ตรงตามความต้องการของหน่วยงานและสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งขับเคลื่อนให้มีการนำงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย 5 กรอบ ได้แก่ (1) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญา (2) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ปกครอง (3) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนากฎหมาย (4) กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการยุติธรรม และ (5) กรอบการวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม 2.1.4) การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 เพื่อส่งเสริมสังคมสงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ (Peace Justice and Strong Institutions) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมสังคมที่สงบสุข สร้างความปลอดภัย ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม และสร้างสถาบันที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้ ประกอบด้วย 12 เป้าหมายย่อย 24 ตัวชี้วัด โดยจำแนกเป็นประเด็นหลัก 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านสังคมสงบสุข (Peace) (2) ด้านยุติธรรม (Justice) และ (3) ด้านไม่แบ่งแยก (Strong Institutions) มีผลงานที่สำคัญ เช่น (1) จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 16 (2) จัดงานนิทรรศการ “ก้าวพอดี 2565” พลิกโฉมประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน (A Bright Leap Forward 2022: Transforming Thailand towards Sustainable Growth) ระหว่างวันที่ 22 – 25 กันยายน 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ (3) ประชุมหารือข้อมูลตัวชี้วัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 16 ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดให้มีความชัดเจนและสามารถรายงานข้อมูลได้อย่างครบถ้วน 2.2) ผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการภายใต้ กพยช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 6 คณะ เช่น (1) การเตรียมความพร้อมในการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ .. พ.ศ. .... (เพิ่มเกณฑ์อายุเด็กในกรณีที่เด็กกระทำความผิดอาญา) (2) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประวัติอาชญากรรม พ.ศ. .... (3) พิจารณาการบริหารจัดการงานวิจัยด้านการบริหารงานยุติธรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมไทย และ (4) พิจารณาแนวทางการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 |
|
3. ผลการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กพยช. ตามพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 (มาตรา 10) |
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของ กพยช. เช่น (1) จัดทำร่างแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2569) (2) จัดทำร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2566 - 2569) (3) ประสานงานและส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 16 และ (4) จัดทำกรอบวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566 - 2569 |
|
4. การขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2565) |
แบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ (1) รายงานข้อมูลสถานการณ์ตามตัวชี้วัดแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2562 - 2565) เช่น ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ทั่วถึงและเท่าเทียมของประชาชน และ (2) รายงานผลการดำเนินการโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทฯ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 164 โครงการ และใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,818.46 ล้านบาท |
|
5. ผลการดำเนินงานของ ฝ่ายเลขานุการ (สกธ.) เพื่อสนับสนุนภารกิจของ กพยช. |
5.1) พัฒนาข้อมูลและสถิติที่สำคัญต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม จัดทำรายงานสถานการณ์อาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม ประจำปี พ.ศ. 2564 (White Paper on Crime & Justice 2020) โดยสำรวจสถานการณ์ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมผ่านข้อมูลตัวชี้วัดประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการสำรวจสถานการณ์การตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรม และพฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน 5.2) พัฒนาระบบการใช้มาตรการต่อผู้กระทำผิดอาญาแทนการควบคุมตัว (Non-custodial Measures) ได้ทำการศึกษาทบทวนและประเมินผลการใช้เงื่อนไขการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 และกลไกอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 และศึกษาเปรียบเทียบการใช้มาตรการต่อผู้กระทำผิดอาญาแทนการควบคุมตัวในประเทศไทยและต่างประเทศ 5.3) ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรม ดำเนินการพัฒนารูปแบบและวิธีการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เน้นการสื่อสารที่มีความทันสมัย และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยนำเสนอผ่านรูปภาพและภาษาที่เข้าใจได้ง่ายในรูปแบบอินโฟกราฟิก โมชั่นกราฟิก วิดีโอ และบทความ รวมถึงช่องทางออนไลน์ 5.4) ขับเคลื่อนงานด้านกระบวนการยุติธรรมในมิติเชิงพื้นที่ ดำเนินการขับเคลื่อนกรอบแนวทางในการป้องกันอาชญากรรม ผ่านการดำเนินโครงการโรงเรียนยุติธรรมอุปถัมภ์ และการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมระดับจังหวัด 5.5) เชื่อมโยงข้อมูลด้านกระบวนการยุติธรรม โดยพัฒนาการเชื่อมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับระบบงานคดีของตำรวจ การพัฒนาระบบนำเข้าและตรวจสอบความถูกต้องและจัดการบัญชีชุดข้อมูลหลักของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดการยกระดับในการให้บริการและการประมวลผลข้อมูลเพิ่มมากขึ้นตามกรอบด้านการให้บริการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูล ในเครือข่าย DATA EXCHANGE CENTER : DXC 5.6) จัดประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 19 (The 19th National Symposium on Justice Administration) ในหัวข้อ “กระบวนการยุติธรรมกับความท้าทายในทศวรรษหน้า” ระหว่างวันที่ 30 - 31 มีนาคม 2565 ในรูปแบบ Online Event มีผู้เข้าร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์ จำนวน 10,000 คน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 เมษายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4418