มาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 April 2023 00:22
- Hits: 2168
มาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง
คณะรัฐมนตรีมีมติ
1. รับทราบมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ตามที่คณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ
2. ให้กระทรวงการคลัง (กค.) เร่งรัดดำเนินการศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการพิจารณาดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า
1. หน่วยงานของรัฐมีการใช้รถดัดแปลง* ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อนำไปใช้อำนวยความสะดวกในงานราชการและจัดบริการสาธารณะแก่ชุมชน ซึ่งปัจจุบันความต้องการจัดซื้อรถดัดแปลงเพื่อให้บริการแก่ชุมชนและจัดการระบบสาธารณูปโภคเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของประชากรและชุมชน โดยจากข้อมูลระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลางตั้งแต่ปี 2552-2561 พบว่า มีสัญญาซื้อขายรถดัดแปลงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบริษัทเอกชน จำนวน 1,721 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินทั้งสิ้น 8,634.68 ล้านบาท ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากกระบวนการจัดซื้อรถดัดแปลงแล้วพบว่า มีประเด็นปัญหา ดังนี้
1.1 การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดทำขอบเขตงาน (Terms of Reference: TOR เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งและมีการกำหนดราคากลางที่สูงเกินควร โดยรถดัดแปลงหลายประเภทไม่ได้มีการกำหนดคุณลักษณะและราคากลางไว้ตามมาตรฐานครุภัณฑ์ ดังนั้น หลายหน่วยงานจึงเลือกจัดซื้อโดยการสืบราคาและค้นหารายละเอียดของครุภัณฑ์จากแคตตาล็อกของผู้เสนอราคาซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทหรือบริษัทในเครือเพื่อทำการเปรียบเทียบราคาที่จะนำมากำหนดราคากลาง ทั้งที่เป็นการสืบราคาจากแหล่งเดียวกันและเมื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคา มักพบว่า เป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันหรือบริษัทในเครือเดียวกันที่เข้าร่วมเสนอราคาและหมุนเวียนกันเป็นผู้ชนะการประมูล
1.2 การเข้าเสนอราคาอาจไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขัน โดยบริษัทที่ร่วมเสนอราคาได้เสนอราคาอยู่ในช่วงราคาเดียวกัน ประกอบกับระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐไม่ได้กำหนดจำนวนการเคาะประมูลของบริษัท ซึ่งการเสนอราคาประมูลของบริษัทบางแห่งมีการเคาะราคาเพียงรายละ 1 ครั้ง และมีส่วนต่างของราคาที่ใกล้เคียงกันมากอยู่ระหว่าง 1,500-51,000 บาท ทำให้การเคาะราคาประมูลดังกล่าวอาจไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขันการเข้าเสนอราคาที่แท้จริง อีกทั้งหน่วยงานของรัฐบางแห่งเลือกที่จะพิจารณาเพียงเอกสารเสนอราคาเท่านั้น
1.3 การจัดซื้อรถดัดแปลงราคาแพง โดยราคาตัวรถดัดแปลงและส่วนประกอบของรถเมื่อนำมาเทียบเคียงกับส่วนต่างราคาของสินค้าควบคุมประเภทรถยนต์แล้วพบว่า ราคาจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้นจากราคาโรงงานผลิตร้อยละ 29 และเมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้วจะมีกำไรจากการประมูลร้อยละ 52.10 ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
1.4 การเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้มีอำนาจอนุมัติให้จัดซื้อเช่น การให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้มีอำนาจอนุมัติให้บริษัทที่เสนอราคาได้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ
2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรเสนอมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตในการจัดซื้อรถดัดแปลงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในภาพรวมของประเทศ ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ป้องกันความเสี่ยงในการกำหนดราคากลางของรถดัดแปลงอื่นๆ ที่อาจสูงเกินควรและการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสนอราคาให้รายใดรายหนึ่ง ดังนี้
มาตรการ/การดำเนินการ |
หน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย |
|
(1) การจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ ราคาต้นทุน และผลตอบแทนตามปกติทางการค้าของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ดังนี้ (1.1) พิจารณาต้นทุนและอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และภาษีการจดประกอบที่เกี่ยวข้องของรถดัดแปลงให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้าในเชิงคุณภาพ (1.2) ศึกษาลักษณะงานที่มีความจำเป็นในการใช้รถดัดแปลง โดยสอบถามไปยังหน่วยงานที่ประสงค์ใช้รถประเภทดังกล่าว ตลอดจนศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลสถิติการใช้รถประเภทดังกล่าวของแต่ละหน่วยงาน เพื่อกำหนดมาตรฐานการออกแบบพร้อมราคา และเพื่อให้ครอบคลุมประเภทรถที่สอดคล้องกับบริบทการใช้งานในแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงมาตรฐานและต้นทุนที่แตกต่างกัน (1.3) กำหนดราคามาตรฐานรถดัดแปลง โดยหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (1.4) ในการดำเนินการในระยะต่อไป ให้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลงอื่นๆ โดยจัดลำดับความสำคัญจากสถิติการร้องเรียนที่เกี่ยวกับยานพาหนะดัดแปลงอื่นๆ ตลอดจนมูลค่าความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านความคุ้มค่า ผลลัพธ์ ผลผลิต ผลกระทบ และความพึงพอใจต่อสาธารณชน |
กระทรวงการคลัง (กค.) (กรมบัญชีกลาง) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) |
|
(2) การบูรณาการข้อมูลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลงฯ ดังนี้ (2.1) จัดทำและบูรณาการฐานข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางของยานพาหนะดัดแปลงอื่นๆ โดยจัดลำดับความสำคัญจากมูลค่าความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และจัดทำฐานข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง (2.2) นำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางที่แล้วเสร็จไปดำเนินการในระบบออนไลน์กลางของภาครัฐ และต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ |
กค. มท. และ สงป. |
|
(3) การตรวจสอบเชิงรุกเพื่อป้องกันการสมยอมราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถดัดแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลงฯ (3.1) ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลงฯ (3.2) ให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตระดับกระทรวงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการตรวจสอบการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยสร้างแรงจูงใจและยกระดับมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตและมาตรการคุ้มครองพยานให้เป็นไปตามหลักการสากล (3.3) ให้สำนักงาน ก.พ.ร. นำมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลงฯ ไปพิจารณากำหนดเป็นตัวชี้วัดในแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
กค. มท. สงป. สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน |
|
(4) การดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003 ของประเทศไทยรอบที่ 2 ในหมวดการป้องกันการทุจริต และข้อเสนอแนะจากคู่มือพิชิตความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตในสัญญาภาครัฐจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เช่น ประเด็นการขยายระยะเวลาการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ และแนวทางการประเมินความเสี่ยงต่อคุณธรรมจริยธรรมในระดับองค์กร ระดับกระบวนการ และระดับบุคคลและเครื่องมือจัดซื้อจัดจ้างสมัยใหม่มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความเหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเผยแพร่การดำเนินงานผ่านทางเว็บไซต์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะและประชาคมระหว่างประเทศต่อไป |
กค. มท. และ สงป. |
________
* รถดัดแปลง หมายถึง รถที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพของรถจากเดิมตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก โดยในเรื่องนี้หมายถึงรถที่ดัดแปลงแล้วนำไปใช้อำนวยความสะดวกในงานราชการและจัดบริการสาธารณะแก่ชุมชน เช่น รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกขยะมูลฝอยและรถดูดสิ่งปฏิกูล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 เมษายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4420