WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565

GOV2 copy copy

รายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ดังนี้

          1. รับทราบรายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ และให้เสนอ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบต่อไป

          2. รับทราบผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ

          สาระสำคัญของเรื่อง

          1. รายงานประจำปี 2565 ของ สกพอ.

          สกพอ. ได้จัดทำรายงานประจำปี 2565 โดยมีผลงานที่สำคัญ ดังนี้

 

ประเด็น

 

การดำเนินการ

1. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List) โดยมีโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว รวม 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F 4) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และ 5) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO)

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีความก้าวหน้าของโครงการ เช่น มีการส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชนตามคู่สัญญาดำเนินการ มีการออกแบบและก่อสร้างโครงการพื้นฐานเกี่ยวกับโครงการก่อนวันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาโครงการ (เช่น งานก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราว งานก่อสร้างสำนักงานสนามและบ้านพักคนงาน) และการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีความก้าวหน้าของโครงการ เช่น มีการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 และทางขับที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการ (เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย และระบบน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน) และมีการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F มีความก้าวหน้าของโครงการ เช่น มีการถมทะเล มีการสร้างอาคารท่าเทียบเรือชายฝั่งและมีการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีความก้าวหน้าของโครงการ เช่น มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายในงานถมทะเล และมีการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ

โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) มีการชะลอโครงการ เนื่องจาก การบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ และมีสถานะเป็นเอกชนจึงไม่สามารถดำเนินโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้

2. เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใน EEC โดยมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ และ 2) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม

 

เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ มีการจัดตั้งไปแล้ว 7 เขต รวมพื้นที่ประมาณ 18,314 ไร่ เช่น เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (EECh) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม มีการประกาศจัดตั้งแล้ว รวม 28 เขต รวมพื้นที่ประมาณ 96,892.42 ไร่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง นิคมอุตสาหกรรม ทีเอฟ ดี 2 นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย คลีน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว

3. แผนผังการพัฒนาพื้นที่ EEC โดยแบ่งประเภทการใช้ที่ดินออกเป็น 4 กลุ่มตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ 1) พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 2) พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 3) พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และ 4) พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

กรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองรวม ระดับอำเภอ รวม 30 อำเภอ ในพื้นที่ EEC โดยคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ทั้งหมดภายในปี 2567 โดยมีความก้าวหน้า เช่น มีการสำรวจ กำหนดเขตผังเมืองและวิเคราะห์จัดทำร่างผังเมือง จำนวน 17 ผัง

4. ความก้าวหน้าโครงการ EECi และ EECd ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบการนำนวัตกรรมผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านดิจิทัลและเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ

 

โครงการ EECi มีความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นที่ของ EECi เช่น มีการก่อสร้างกลุ่มอาคาร เพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางและปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ติดตั้งแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมในโรงงานอุตสาหกรรมนำร่อง และจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยทดสอบประสิทธิภาพมอเตอร์ไฟฟ้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 17025

โครงการ EECd มีการจัดโซน (Zoning) เพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์และพิจารณาการวางรูปแบบแผนผังการดำเนินการในพื้นที่เป็นระยะ (Phasing) เพื่อสร้างจุดสมดุลระหว่างความจำเป็นในการใช้พื้นที่และการพัฒนา โดยแบ่งพื้นที่โครงการออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 0 ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ EECd ระยะที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ระยะที่ 2 พัฒนาพื้นที่เพื่อการดำเนินการด้านธุรกิจเชิงพาณิชย์ ระยะที่ 3 พัฒนาพื้นที่เพื่อกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และระยะที่ 4 พัฒนาพื้นที่เพื่อธุรกิจเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม

5. การให้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC - OSS) เป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ EEC รวม 44 งานบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การขอขยายกิจการ และการต่ออายุใบอนุญาต

 

ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC - OSS) มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน เช่น มีการดำเนินงานร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้หน่วยงานในพื้นที่เป็นพื้นที่นำร่องในการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Digital Government) และร่วมกันพัฒนางานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่

6. การชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ

 

EEC มีการปรับแผนการชักจูงการลงทุนใหม่ โดยมุ่งเน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 1 แนวคิด ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Circular Economy)

สกพอ. มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อชักจูงนักลงทุนเป้าหมายจากประเทศต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนจำนวน 19 ประเทศทั่วโลก และ 1 องค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหราชอาณจักร สาธารณรัฐฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT)

7. การประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่

 

มีการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนพื้นที่ในด้านนโยบาย และความก้าวหน้าของการพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งขยายผลการสื่อสารผ่านกลุ่มเครือข่ายสำคัญในรูปแบบต่างๆ ผ่านกิจกรรม เช่น การจัดสัมมนา การจัดค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชน และการจัดค่ายฝึกอบรมในด้านต่างๆ

8. แผนงานบูรณาการ EEC

 

สกพอ. มีการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขับเคลื่อนแผนบูรณการฯ โดยให้ความสำคัญกับการสานต่อโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (EEC Project List) และการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมยกระดับคุณภาพระบบสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสากล เพียงพอต่อการให้บริการควบคู่ไปกับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ

9. ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC

 

สกพอ. ร่วมลงนาม MOU ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อส่งเสริมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ5G แก่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC

สกพอ. ร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และมหาวิทยาลัยบูรพาจัดทำโครงการสนับสนุนพัฒนายาจากสารสกัดพืชสมุนไพรที่ได้รับการส่งเสริมการปลูกในพื้นที่ EEC เช่น ฟ้าทะลายโจร

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เห็นชอบแผนการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับ EEC ปี 2563 -2580 ประกอบด้วย 38 โครงการ ซึ่งจะทำให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำถึงปี 2580

สกพอ. ร่วมกับเมืองพัทยาขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือเป็นโครงการนำร่องตามแนวทาง NEO PATTAYA ภายใต้แนวคิดพัทยาโฉมใหม่ใส่ใจไม่ทิ้งกันเพื่อเป็นต้นแบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

10. กองทุนพัฒนา EEC จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ EEC .. 2561 เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา EEC

 

กองทุนพัฒนา EEC มีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ โครงการยกระดับการผลิตทุเรียนพรีเมี่ยมด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและโครงการหลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการจัดอบรมไปแล้ว 2 รุ่น

11. ระเบียบ/ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC

 

คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้พิจารณากลั่นกรองความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้แล้ว รวม 10 ฉบับ

 

          2. ผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565

                    2.1 งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2565

หน่วย : ล้านบาท

รายการ

ปี 2565

ปี 2564

สินทรัพย์

859.02

957.74

สินทรัพย์หมุนเวียน (เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ลูกหนี้ระยะสั้น วัสดุคงเหลือ และสินทรัพย์หมุนเวียนอื่น)

744.29

873.97

สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (ส่วนปรับปรุงอาคารและอุปกรณ์และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน)

114.72

83.77

หนี้สิน

75.63

66.11

หนี้สินหมุนเวียน (เจ้าหนี้ระยะสั้น - บุคคลภายนอก ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เงินประกันสัญญาและเงินประกันผลงาน และหนี้สินหมุนเวียนอื่น)

61.03

46.95

หนี้สิ้นไม่หมุนเวียน (ผลประโยชน์พนักงานและเงินชดเชยการเลิกจ้าง)

14.60

19.16

สินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน

783.38

891.63

 

                    2.2 งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565

หน่วย : ล้านบาท

รายการ

ปี 2565

ปี 2564

รายได้ (เงินงบประมาณ การดำเนินงาน เงินกู้ตาม ... กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาจากการระบาดไวรัส 2019 และรายได้อื่นๆ)

493.96

666.48

ค่าใช้จ่าย (บุคลากร การดำเนินงาน เงินงบประมาณ - เงินกู้ตาม ... กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาจากการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย)

602.21

647.26

รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ

(108.24)1

19.22

 

_____________________

1 ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารายได้ เป็นภาระผูกพันที่สะสมมาจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ไม่ตรงตามปีงบประมาณ เช่น ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง และสัญญาต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม สกพอ. มีการเร่งรัดผลการดำเนินงานได้ดีขึ้น 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 เมษายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A4839

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

MTL 720x100

TU 720 x 109

sme 720x100

ธกส 720x100

SPALAI 720x100

PF 720x100

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!