WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

GOV 13

ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

           คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2566 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (18 เมษายน 2566) เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุม AFMGF ครั้งที่ 9 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

           1. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 27 ที่ประชุมฯ ได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียน ได้แก่ ด้านศุลกากร ภาษีอากร การประกันภัย การระดมทุน เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาตลาดทุน และการบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ ได้แก่ (1) การปรับทิศทางการดำเนินงานไปสู่การลงทุนในโครงการสีเขียวเพิ่มขึ้นและการพิจารณาเพิ่มทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของกองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียน1 (2) การขยายขอบเขตของคณะกรรมการร่วมด้านการบริหารความเสี่ยงทางการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติของอาเซียนให้ครอบคลุมเรื่องโรคระบาด (3) การผลักดันการเลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ (4) ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการเงินการคลังและหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินความต้องการเงินทุนและกลไกระดมทุนระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศเพื่อการป้องกัน เตรียมความพร้อมและรับมือกับโรคระบาดรวมทั้งความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนระดับภูมิภาค และ (5) ความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร

           2. การประชุม AFMGM ครั้งที่ 9 สรุปได้ ดังนี้

                      2.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 คณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank ADB) โดยสถาบันการเงินระหว่างประเทศระบุว่า ในปี 2566 เป็นปีที่ท้าทายเนื่องจากยังมีแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อและความเสี่ยงจากสถานการณ์สหพันธรัฐรัสเซีย-ยูเครน ส่วนอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและจะเริ่มปรับตัวลดลงในปี 2567 ทั้งนี้ ได้เสนอแนะให้มีการรักษาสมดุลระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับการรักษาระดับเงินเฟ้อ

                      2.2 ที่ประชุมฯ รับทราบประเด็นสำคัญที่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนต้องการผลักดันให้สำเร็จภายในปี 2566 ใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการฟื้นฟูและการสร้างใหม่ (2) ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และ (3) ด้านความยั่งยืน และได้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมการทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินท้องถิ่นและการชำระเงินข้ามพรมแดนโดยได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น รวมทั้งมีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในสาขาต่างๆ ภายใต้แผนงานการรวมกลุ่มด้านการเงินของอาเซียนและความร่วมมือด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบข้อเสนอของอินโดนีเซียในการพัฒนากระบวนงานของ AFMGM ได้แก่ (1) การจัดการประชุม AFMGM จำนวน 2 ครั้งต่อปี และ (2) การพิจารณาปรับปรุงบริบทของคณะทำงานต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเสนอให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สนับสนุนการผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการชำระค่าสินค้าและการลงทุนและการชำระเงินข้ามพรมแดน รวมทั้งได้เสนอให้คณะทำงานเพื่อพัฒนาตลาดทุนพิจารณาเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นประเด็นหารือในคณะทำงาน

                      ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าประเทศไทยเห็นด้วยกับร่างแถลงการณ์ร่วมฯ แต่จะสามารถรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการตามกระบวนการภายในแล้วเสร็จ2 ทั้งนี้ ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีการรับรองไปแล้ว นั้น มีการปรับเปลี่ยนจากร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ที่ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการของร่างแถลงการณ์ร่วมฯ เดิม โดยสมาชิกอาเซียนทุกประเทศรวมถึงไทยจะได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงให้สาระสำคัญมีความชัดเจน กระชับ ครอบคลุมประเด็นที่ได้หารือ และสะท้อนถึงความต้องการของสมาชิกมากขึ้น เช่น การกำหนดกลยุทธ์ในการจัดการผลกระทบจากโควิด-19 การเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการจัดตั้งกลไกทางการเงินระดับภูมิภาค การอำนวยความสะดวกให้กับการเชื่อมโยงประเทศสมาชิกทั้งที่มีและไม่มีระบบชำระเงินทันด่วน3 และความคืบหน้าของข้อริเริ่มของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียน

           3. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AFMM Retreat) ที่ประชุมฯ ได้หารือใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ความท้าทายของนโยบายการคลังภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (2) ความมั่นคงทางพลังงาน และ (3) ความมั่นคงทางอาหาร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนเห็นควรให้อาเซียนร่วมมือและเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านโรคติดต่อ ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร และเสริมสร้างระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต โดยมอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนจัดทำกรอบแนวคิดนโยบายเพื่อศึกษาแนวนโยบายการคลังของอาเซียนต่อไป ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอต่อที่ประชุมว่า นโยบายการเงินและการคลังภายหลังวิกฤตควรจะมุ่งสู่ความสมเหตุสมผลความเข้มแข็งของฐานะการคลัง ความมีเสถียรภาพ และความยั่งยืน โดยการจัดการกับผลกระทบต่อฐานะการคลังจากการเพิ่มการใช้จ่ายในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะต้องดำเนินนโยบายตามสถานภาพที่เป็นจริง มีการจัดหารายได้ให้เพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นเพิ่มขึ้น ส่วนความร่วมมือด้านการเงินอาเซียน ควรพิจารณาจากความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี4 ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทยเมื่อเมื่อปี 2540

           4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีการหารือทวิภาคีกับคู่เจรจาต่างๆ ดังนี้

 

คู่เจรจา

 

ผลการหารือ (เช่น)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย

 

ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เช่น การจัดสรรงบประมาณ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การจัดการด้านสาธารณสุข โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ขอให้อินโดนีเซียช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2028 จังหวัดภูเก็ต

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐสิงคโปร์

 

ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคของทั้งสองประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยได้กล่าวถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากในปี 2566 รวมทั้งนโยบายด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานของไทย เช่น การสนับสนุนระบบหลังคาโซล่าร์และการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ได้ขอบคุณที่ไทยให้การสนับสนุนด้านการระดมทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียนภายใต้กรอบอาเซียน+3 และการผลักดันโครงการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน

ADB

 

ADB ได้อนุมัติโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการของไทย เรื่อง การปฏิรูประบบภาษีเพื่อสนับสนุนด้านการระดมทรัพยากรในประเทศแล้ว และจะสนับสนุนการดำเนินการภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือกับ ADB เพื่อสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในไทยเพิ่มเติม เช่น โครงการถนนมอเตอร์เวย์ และการจัดตั้งกองทุนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) เพื่อสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน

สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC)

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของไทยในการคำเนินการเพื่อสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืน โดยไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว และสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจสำหรับการค้าและการลงทุน และอยู่ระหว่างเริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและการบริการของไทยในตลาดยุโรปที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีกำลังซื้อสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก

 

           5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การเปลี่ยนผ่านสู่การเงินที่ยั่งยืนในอาเซียน” ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซียและรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

                      5.1 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับหลักการ 4Ds สำหรับการเปลี่ยนแปลงพลังงาน ได้แก่ (1) การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonisation) (2) การผลิตพลังงานแบบกระจายตัว (Decentralisation) (3) การลดการใช้ (Decreasing Use) และ (4) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน (Digitalization) และได้ชื่นชมการเผยแพร่มาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชัดเจนต่อนักลงทุนเกี่ยวกับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอาเซียนมากขึ้นและจะช่วยให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

                      5.2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าควรมีการผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนควบคู่กับการให้ความสำคัญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาทางสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาฝุ่น PM25 รวมทั้งได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องพลังงานของไทยโดยมีการสนับสนุนการใช้โซลาร์เซลล์และพลังงานชีวมวลและการผลักดันนโยบาย 30@30 เพื่อให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030

                      5.3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม บรรษัทภิบาล และการป้องกันการฟอกเขียวหรือการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมโดยการรักษาสิ่งแวดล้อม และได้นำประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เป็นประเด็นผลักดันสำคัญในเวทีการประชุม G205

___________________________

1จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 กค. แจ้งว่า กองทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียนเป็นกองทุนเพื่อการจัดสรรเงินกู้ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังาน น้ำ การขนส่ง และการพัฒนาเมือง เป็นต้น

2คณะรัฐมนตรีมีมติ (18 เมษายน 2566) เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุม AFMGF ครั้งที่ 9 แล้ว

3ระบบชำระเงินทันด่วน คือระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนภายใต้เครือข่ายพหุภาคีโดยใช้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือ

4มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคื คือความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5การประชุม G20 เป็นการประชุมผู้นำประเทศสมาชิกเพื่อหารือประเด็นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนสหภาพยุโรปและอีก 19 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเท และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 พฤษภาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A5058

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

MTL 720x100

TU 720 x 109

sme 720x100

ธกส 720x100

SPALAI 720x100

PF 720x100

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!