WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

ขอปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่อง แนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม : การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา

GOV8

ขอปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่อง แนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม : การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่อง แนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตามที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) เสนอ

          เรื่องเดิม

          คณะรัฐมนตรีมีมติ (4 มกราคม 2560) ดังนี้

          1. เห็นชอบแนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ตามมติ กพยช. ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2559 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในฐานะประธาน กพยช. เสนอ โดยมีแนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ดังนี้

                    1.1 ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดนโยบายให้แก่สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ โดยบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและให้สอบถามความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการด้วย โดยมีหัวข้อวิชา ได้แก่ หัวข้อวิชาที่ 1 กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายในชีวิตประจำวัน1 และหัวข้อวิชาที่ 2 หลักสิทธิมนุษยชน คุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล2

                    1.2 ให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโดยการบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ (ตามข้อ 1.1) พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้า และปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรให้สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ทราบ ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรี

          2. ให้กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินโครงการหรือจัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง

          กพยช. รายงานว่า

          1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติวันที่ 4 มกราคม 2560 ยธ. โดย สกธ. ในฐานะเลขานุการ กพยช. ได้ดำเนินการติดตามผลการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ พบว่าในภาพรวมตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 - 2564 สรุปได้ ดังนี้

                    1.1) สถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินการตามข้อ 1.2 มีจำนวน 10 แห่ง จาก 117 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 8.55 ของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด) 

                    1.2) สถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินการด้วยวิธีอื่น อาทิ ปรับหัวข้อวิชาให้ตรง หรือสอดคล้องในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หรือหมวดวิชาเลือกเสรี หรือหมวดวิชาเฉพาะ หรือสอดแทรกองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในรายวิชาที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้ว มีจำนวน 88 แห่ง จาก 117 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 75.21 ของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด)

                    1.3) สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่มีการรายงานผลการดำเนินการ มีจำนวน 19 แห่ง จาก 117 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 16.24 ของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด) ซึ่งจะเห็นได้ว่า สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่มีความตั้งใจที่จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีแต่ยังไม่สามารถบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ (ตามข้อ 1.2) จึงเลือกดำเนินการในรูปแบบอื่นๆ ไว้ก่อน ทั้งนี้ จากการประชุมหารือร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนมติคณะรัฐมนตรีพบปัญหาอุปสรรคที่ทำให้สถาบันอุดมศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนี้

                              (1) สถาบันอุดมศึกษามีการปรับหลักสูตรทุก 5 ปี ตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรของ สกอ. ซึ่งการบรรจุหัวข้อวิชาดังกล่าวตามแนวทางที่ สกอ. ได้จัดทำ (ตามข้อ 1.1) อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างหลักสูตร จำนวนหน่วยกิตทางการศึกษา 

                              (2) สถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่มีการเรียนการสอนในหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว แต่มีชื่อหัวข้อวิชาไม่ตรงตามที่กำหนดไว้หรือมีเนื้อหาสาระบางส่วนของรายวิชาใกล้เคียงกับหัวข้อวิชาที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ หรือมีชื่อหัวข้อวิชาตรงแต่ยังมีเนื้อหาวิชาไม่ครอบคลุมตามที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ทั้งหมด

                              (3) การเพิ่มหัวข้อวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอนอาจส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการศึกษาและระยะเวลาการเรียนในหลักสูตร

                              (4) ทั้งหน่วยงานราชการและองค์กรอิสระต่างก็ประสงค์ให้นำเนื้อหาภารกิจของหน่วยงานตนเองบรรจุเป็นหัวข้อวิชาในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันอุดมศึกษาเช่นกัน

                              (5) สถาบันอุดมศึกษาขาดการสนับสนุนปัจจัยและทรัพยากรในการดำเนินการจัดการเรียนการสอน

                    นอกจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมกันแล้วมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและบรรลุเจตนารมณ์ตามมติคณะรัฐมนตรีจึงเห็นควรให้สถาบันอุดมศึกษาได้มีอิสระในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาตามความพร้อมและศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษา

          2. กพยช. [รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครื่องาม) เป็นประธาน] ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ได้พิจารณาแนวทางการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 เรื่อง แนวทางการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม และมีมติเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้

เดิม

 

ปรับเป็น

ให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนโดยการบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ในหมวดวิชาบังคับ (ข้อ 1.2)

 

ให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถเลือกดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรได้ตามความพร้อมของสถาบันฯ โดยให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สามารถเลือกพิจารณาดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร โดยบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 ไว้ใน

     ● หมวดวิชาบังคับ (ตามข้อ 1.2)

     ● หมวดวิชาเฉพาะ

     ● หมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education : GE)

     ● หมวดวิชาเลือกเสรี

     ● นำประมวลรายวิชา (Course Syllabus) ที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560 ไปสอดแทรกในรายวิชาที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้วในหมวดวิชาบังคับ หมวดวิชาเฉพาะ หรือหมวดวิชาอื่นๆ

     ● ดำเนินการอื่นใดตามความเหมาะสมของการจัดการเรียนสอน

ให้ สกอ. ติดตามผลการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและให้สอบถามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคของการดำเนินการ (ข้อ 1.1)

 

ให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ประกาศเป็นนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินงาน การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และให้สอบถามความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคการดำเนินงาน

ให้สถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ รายงานความก้าวหน้า และปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการพัฒนาหลักสูตร ให้ สกอ. ทราบภายในระยะเวลา 1 ปี หลังจากที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ข้อ 1.2)

 

ให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ รายงานความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคของการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ สป.อว. ได้รับทราบทุกปีงบประมาณ โดยให้ สป.อว. หารือวิธีการรายงานผลการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีร่วมกับ สกธ.

 

          3. สกธ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กพยช. แจ้งว่า เรื่องนี้มีความสำคัญต่อการเตรียมบุคลากรก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีเป้าหมายต้องการให้นิสิต นักศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม จึงเสนอให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีสาขาวิชาดังกล่าวมีอิสระในการบรรจุหัวข้อวิชาที่เป็นองค์ความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรมได้อย่างหลากหลายตามความพร้อมของสถาบันฯ เพื่อเป็นการลดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการบรรจุหัวข้อวิชาดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นไปโดยสอดคล้องกับมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปเว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 

________________

1 หัวข้อวิชาที่ 1 กระบวนการยุติธรรมและกฎหมายในชีวิตประจำวัน มีคำอธิบายรายวิชาประกอบด้วย แนวคิด หลักการ ความหมายของการบริหรงานยุติธรรมทางแพ่ง อาญา และปกครอง ประวัติและพัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมสากล ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป กฎหมายสำคัญในการดำเนินชีวิต กฎหมายที่เป็นข้อบังคับของสังคมและประเทศชาติ หลักนิติธรรม กระบวนการยุติธรรมทางเลือก ปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม

2 หัวข้อวิชาที่ 2 หลักสิทธิมนุษยชน คุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล มีคำอธิบายรายวิชาประกอบด้วย หลักสิทธิมนุษยชน บทบาทและการพัฒนาของสิทธิมนุษยชนระดับสากลและสังคมไทย มโนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน นโยบายการพัฒนาของรัฐที่ส่งผลต่อสิทธิมนุษยชน แนวคิดทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบทางสังคมของบุคลากรภาครัฐ การปฏิบัติตนตามหลักธรรมาภิบาล ประเด็นปัญหาทางจริยธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ ผลกระทบทางสังคมและแนวทางการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 30 พฤษภาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A51224

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

MTL 720x100

TU 720 x 109

sme 720x100

ธกส 720x100

SPALAI 720x100

PF 720x100

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!