WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

สรุปผลการประชุมสมัชชาภาคอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2

GOV 21

สรุปผลการประชุมสมัชชาภาคอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอสรุปผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ1 (อนุสัญญาฯ) สมัยที่ 15 และการประชุม ที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2 และกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (กรอบงาน คุนหมิง-มอนทรีออลฯ)2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-19 ธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยมีเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงจากประเทศภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 139 ประเทศเข้าร่วมประชุม โดยผลการประชุมต่างๆ (ซึ่งคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบและมอบหมายให้ ทส. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

          1. การประชุมระดับสูง เมื่อวันที่ 15-17 ธันวาคม 2565

                  (1) ที่ประชุมแสดงถึงความกังวลต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา

                  (2) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กล่าวถ้อยแถลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับประชาคมโลกในการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำการส่งเสริม BCG Model3 โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในรูปแบบพหุภาคีและทวิภาคี การสนับสนุนกลไกทางการเงิน การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและการเสริมสร้างสมรรถนะเพื่อดำเนินการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งส่งผลให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. 2050

          2. การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 7-19 ธันวาคม 2565

                  ด้านนโยบาย

                  (1) ที่ประชุมให้การรับรอง (ร่าง) กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก หลังปี ค.ศ. 2020 (แบบไม่ลงนาม) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (6 ธันวาคม 2565) เห็นชอบต่อกรอบท่าทีเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ช่วงที่ 2 ซึ่งได้มีการกล่าวถึง (ร่าง) กรอบงานฯ ไว้ด้วย] โดยเปลี่ยนชื่อเป็นกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดให้ประชาคมโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. 2050 และเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในปี ค.ศ. 2030

                  (2) ที่ประชุมเห็นชอบตัวชี้วัดหลักและตัวชี้วัดรอง รวมทั้งองค์ประกอบตัวชี้วัดสำหรับใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ ระดับโลก ภูมิภาค และประเทศ

                  (3) ที่ประชุมขอให้ภาคีดำเนินการตามข้อตัดสินใจต่างๆ ดังนี้

                          (3.1) ขอให้ภาคีเลือกหรือจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายและเป้าประสงค์ของกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ เพื่อนำไปจัดทำเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ4 และนำเสนอมายังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ก่อนการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 เพื่อรวบรวม วิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ (ทส. แจ้งว่า อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเป้าหมายชาติโดยใช้กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ และนโยบายที่เกี่ยวข้องของประเทศเป็นข้อมูลในการดำเนินงาน)

                          (3.2) ขอให้ภาคีเตรียมจัดทำรายงานแห่งชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ5 (รายงานฉบับที่ 7 และฉบับที่ 8)6 โดยเลือกใช้ตัวชี้วัดที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมในครั้งนี้ ตามความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ และจัดส่งรายงานดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2569 และวันที่ 30 มิถุนายน 2572 เพื่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ จะประเมินผลการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ ต่อไป

                  ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของอนุสัญญาฯ

                  (1) การระดมทรัพยากรและกลไกทางการเงิน

                          (1.1) สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ จะจัดทำยุทธศาสตร์การระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ เพื่อให้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก(Global Environmental Facility: GEF)7 ใช้เป็นแนวทางการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานของภาคี และนำเสนอยุทธศาสตร์ฯ ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16

                          (1.2) ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนใหม่และขอให้ภาคีจัดทำแผนการเงินระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อกระตุ้นรัฐบาล สถาบันการเงิน ธนาคาร และภาคธุรกิจให้การสนับสนุนการดำเนินงานมากขึ้น

                  (2) การเสริมสร้างสมรรถนะ ความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ และ การจัดการองค์ความรู้และการสื่อสาร

                          (2.1) ที่ประชุมเห็นชอบยุทธศาสตร์การสื่อสารระยะยาวเพื่อสร้างความเข้าใจและสนับสนุนการดำเนินงานตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลฯ โดยขอให้ภาคีนำยุทธศาสตร์ฯ ไปปรับใช้ดำเนินงานได้จนถึงปี 2593

                          (2.2) ที่ประชุมเห็นชอบขอบเขตการดำเนินงานของคณะที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการด้านความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการเพื่อพิจารณาความร่วมมือที่จะนำไปสู่การจัดทำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเสริมสร้างสมรรถนะ การจัดการองค์ความรู้ และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

                  ด้านวิทยาศาสตร์และวิชาการ

                  (1) ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่ง โดยที่การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ที่ประชุมจึงสนับสนุนให้ภาคีจัดทำแผนบริหารจัดการโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และวิชาการในด้านต่างๆ เช่น 1) ลดกิจกรรมการจับสัตว์น้ำที่มากเกินกว่าธรรมชาติจะทดแทน และ 2) แก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

                  (2) ความหลากหลายทางชีวภาพและสุขภาพ โดยที่ประชุมสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว8 เพื่อเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ โดยขอให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ประสานความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกและองค์การที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับโรคระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีทิศทางเดียวกัน

                  (3) ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species: IAS)9 เป็นภัยคุกคามสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยที่ประชุมได้พิจารณาช่องทางที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดของ IAS ที่เห็นว่าการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นผ่านการค้าขายสินค้าและบริการทางช่องทางออนไลน์ยังไม่มีมาตรการหรือเครื่องมือติดตามตรวจสอบ รวมทั้งการประเมินที่ชัดเจนและขอให้คณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจด้านชนิดพันธุ์ต่างถิ่นหาวิธีการ เครื่องมือ และการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

                  (4) สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms: LMOs)10 ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า LMOs แบบใดที่เป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้คณะที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ และเทคโนโลยี (Subsidiary Body on Scientific, Technical and Technological Advice: SBSTTA) ทบทวนแนวทางการประเมินความเสี่ยง LMOs ที่ใช้ gene drive11 ในกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม และทบทวนเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่เกี่ยวกับชีววิทยาสังเคราะห์ให้มีความรอบด้านยิ่งขึ้น

                  (5) ข้อมูลดิจิทัลของลำดับพันธุกรรม12 (Digital Sequence Information on Genetic Resources DSI) โดยที่ประชุมพิจารณาทางเลือกในการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ DSI เพื่อเสนอต่อการประชุมสมัชชาภาคีนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 โดยหลายประเทศเห็นว่า การแบ่งปันผลประโยชน์แบบพหุภาคีมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้กับ DSI มากที่สุด และที่ประชุมเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ DSI เพื่อศึกษาและจัดทำกลไกพหุภาคี ซึ่งควรมีรูปแบบเป็นกองทุนระดับโลก

                  (6) ความหลากหลายทางชีวภาพกับการเกษตร โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่าพื้นที่เกษตรเป็นระบบนิเวศรูปแบบหนึ่งที่เกษตรกรสามารถใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารและลดความยากจน และขอให้ภาคีส่งเสริมการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

                  (7) ความหลากหลายทางชีวภาพกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ประชุมรับทราบว่าการจำกัดค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกก่อนยุคอุตสาหกรรมไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพโดยขอให้ภาคีเสนอข้อมูลการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ตามความสมัครใจ) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ เพื่อวิเคราะห์การดำเนินงานต่อไป

                  (8) ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น เนื่องจากคณะทำงานว่าด้วยข้อบท 8 (เจ) ของอนุสัญญาฯ13 ได้เสนอให้ยกระดับการดำเนินงานตามข้อบทดังกล่าวเพื่อให้ชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินงานในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น ที่ประชุมขอให้คณะทำงานฯ พิจารณาวัตถุประสงค์ หลักการ องค์ประกอบในการดำเนินงานที่เป็นไปได้และประเด็นที่จะดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาฯ เพื่อเสนอสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ พิจารณาต่อไป

                  อื่นๆ

                  (1) สาธารณรัฐทูร์เคียรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 ในช่วงปลาย ปี 2567 นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ได้เชิญชวนประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออกเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 17 รวมทั้งเชิญชวนประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 18 

                  (2) ให้คณะที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ วิชาการ และเทคโนโลยี (SBSTTA Bureau) และคณะที่ปรึกษาด้านการดำเนินงาน (SBI Bureau) (เป็นตัวแทนจาก 5 ภูมิภาคทั่วโลก) ชุดปัจจุบัน14 ที่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 14 ยังไม่หมดวาระและให้ดำเนินงานต่อไป

          3. กิจกรรมคู่ขนานและการดำเนินงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างการประชุมฯ เช่น

                  (1) การหารือทวิภาคีระหว่างเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับประเทศอื่นๆ ได้แก่ การหารือกับ State secretary แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมัน) และผู้แทนกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ ความปลอดภัยทางปรมาณูและคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเยอรมันเกี่ยวกับโอกาสในการขยายการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนานโยบายด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต รวมทั้งประเด็นความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมความริเริ่มในการจัดทำแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยฉบับต่อไป และการหารือกับผู้จัดการโครงการริเริ่มการลงทุนเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (The Biodiversity Finance Initiative: BIOFIN)15 ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่ริเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับการเพิ่มการสนับสนุนด้านงบประมาณและวิชาการ โดยการทบทวนแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศและความเป็นไปได้ในการขยายการดำเนินงานโครงการ BIOFIN ในประเทศไทยออกไปจนถึงปี 2570

                  (2) การเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานที่จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่อง Biodiversity Perspective for Urbanization: Case Study on EGAT Headquarter เพื่อเผยแพร่ความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามและพันธุ์พืชที่ใกลัสูญพันธุ์

___________________

1 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 กรกฎาคม 2546) อนุมัติการจัดทำหนังสือการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เสนอต่อรัฐสภาตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 ตามที่ ทส. เสนอ]

2 กรอบงานคุนหมิง-มอนหรีออลฯ เป็นกลยุทธ์การดำเนินงานของอนุสัญญาฯ ประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์ ได้แก่ 1) การอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูระบบนิเวศ และเชื่อมโยงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ 2) สนับสนุนการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน 3) ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม และ 4) ลดช่องว่างทางการเงินและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานต่างๆ ที่สนับสนุนอนุสัญญาฯ

3 BCG Model เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ประกอบด้วย 3 มิติ ได้แก่ 1) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม 2) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยคำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ 3) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน

4 คณะรัฐมนตรีมีมติ (10 มีนาคม 2558) เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 เป็นแผนหลักด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และ (ร่าง) เป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (กำหนดแนวทางดำเนินงานปี 2559-2564) และคณะรัฐมนตรีมีมติ (28 มีนาคม 2560) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560-2564 ตามที่ ทส. เสนอ

5 อนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐภาคีอนุสัญญาฯ ต้องเสนอรายงานต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ ตามระยะเวลาที่กำหนด (ทุกๆ 4 ปี) เพื่อสะท้อนความก้าวหน้าการดำเนินงานของประเทศ

6 รายงานฉบับที่ 6 (ปี 2561) เป็นฉบับล่าสุด โดยเน้นการประเมินความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ

7 GEF ก่อตั้งในปี 2534 เป็นกลไกความร่วมมือบนหลักการของความเป็นหุ้นส่วนทางด้านการเงินระหว่างประเทศเพื่อให้การสนับสนุนการเงินกับประเทศที่ขอรับการสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมภายใต้อนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

8 แนวทางสุขภาพหนึ่งเดียวเป็นแนวคิดในการทำงานร่วมกันของสหวิชาชีพทั้งระดับ ท้องถิ่น ระดับชาติและระดับโลกเพื่อให้เกิดภาวะสุขภาพที่ดีแบบองค์รวมทั้งในคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

9 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน หมายถึง ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานและแพร่กระจายได้ในธรรมชาติเป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นหรือพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ รวมถึงคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพและก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย [ประเทศไทยมีพืชต่างถิ่น เช่น วงศ์พืช (เช่น วงศ์ถั่ว วงศ์ดาวเรือง และวงศ์บานไม่รู้โรย) ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา และวงศ์หญ้าที่เป็นวัชพืช (เช่น หญ้าคา)] ซึ่งมีพฤติกรรมรุกรานและเจริญเติบโตรวดเร็ว

10 สิ่งมีชีวิตตัดแปลงพันธุกรรม (LMOs) หมายถึง สิ่งมีชีวิต (พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์) ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมโดยใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (เทคนิคการตัดต่อยีน) เพื่อให้มีคุณสมบัติหรือคุณลักษณะตามที่ต้องการอย่างจำเพาะ เช่น ต้านทานแมลงศัตรูพืช ต้านทานโรค และคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม

11 เป็นวิธีการนำยีนแปลกปลอมเข้าไปสู่เซลล์และการแพร่กระจายเพื่อควบคุม ลด หรือกำจัดจำนวนประชากรนั้นๆ เช่น ยุง

12 เป็นข้อมูลเกี่ยวกับรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีการวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล

13 กำหนดให้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติจะต้องเคารพ สงวนรักษาภูมิปัญญาและวิธีปฏิบัติของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

14 ทส. ชี้แจงว่า SBSTTA Bureau และ SBI Bureau จะได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ในแต่ละสมัย ซึ่งคณะที่ปรึกษาชุดปัจจุบันได้รับคัดเลือกและดำเนินงานตั้งแต่การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 14 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 15 เห็นควรให้คณะที่ปรึกษาชุดเดิมทั้ง 2 คณะ ดำเนินงานต่อไปจนถึงการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ถัดไป

15 โครงการ BIOFIN เป็นโครงการระดับโลกภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนทางด้านวิชาการเพื่อให้ประเทศสมาชิกเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการการเงิน บุคลากร และทรัพยากรด้านอื่นๆ เพื่อดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการนำร่องนวัตกรรมทางการเงินใน 41 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2557 โดยมีกิจกรรมการดำเนินงาน เช่น การประเมินค่าใช้จ่ายและช่องว่างการดำเนินงานตามแผนแม่บทบูรณาการฯ การจัดทำแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนในพื้นที่เกาะเต่าขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งจะสิ้นสุดในปี

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 มิถุนายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A6401

Click Donate Support Web  

MTL 720x100

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!