WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 24 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มีนาคม 2566)

GOV 5

 

 

 

สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 24 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มีนาคม 2566)

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 24 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มีนาคม 2566) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

 

 

          1. นโยบายหลัก 8 ด้าน ประกอบด้วย

 

นโยบายหลัก

 

มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

 

1.1) ขับเคลื่อนโครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการ และลูกจ้าง น้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินชีวิต ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ และนำผลผลิตมาใช้สำหรับบริโภคเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย และจำหน่ายในชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ โดยในปี 2566 มีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการแล้ว 245 แห่ง ลูกจ้างที่ได้รับประโยชน์ 24,039 คน คิดเป็นมูลค่า 14.46 ล้านบาท

1.2) พิธีเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตตภาวนา และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ถวายพระราชกุศลถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณี สิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรและทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการและประชาชนทั่วประเทศเข้าร่วมพิธีฯ จัดขึ้นในสถานที่ต่างๆ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดหนองคาย วัดโพธิ์ชัย และจังหวัดยะลา วัดนิโรธสังฆาราม

1.3) พิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทานผ้าลายดอกรักราชกัญญาให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่มทุกเทคนิคนำไปเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล

1.4) จัดกิจกรรมแนวทางตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกเช่น จังหวัดกำแพงเพชร จัดกิจกรรม รักษ์ผ้าไทย ผ้าถิ่นกำแพงเพชร จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดกิจกรรม สวมใส่ชุดไทยพื้นถิ่นและจังหวัดนครราชสีมา จัดกิจกรรม พัฒนาศักยภาพสตรีด้านการใช้ชีวิตวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและพัฒนาอาชีพสตรีการประยุกต์ใช้ผ้าทอ

2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ

 

2.1) มหกรรมดืองันฮาตีสานพลัง สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และวันคนพิการสากล จังหวัดปัตตานี เปิดพื้นที่บูรณาการเครือข่ายสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความสุขเสริมพลังกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้เข้าถึงสวัสดิการทางสังคม ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 1,500 คน

2.2) การกวาดล้างต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย ผลการดำเนินการปีงบประมาณ .. 2566 (วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 12 มีนาคม 2566) มีการตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศแล้ว จำนวน 18,966 แห่ง ซึ่งพบต่างชาติแย่งอาชีพคนไทยรวม 883 คน โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด เช่น งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด

3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

 

3.1) จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2566 โดยทุกจังหวัดและประชาชนในพื้นที่ได้จัดกิจกรรมเพื่อละ ลด เลิกการทำบาป ทั้งปวง และให้ทำความดี เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต

3.2) จัดกิจกรรมมหกรรมหน้ากากนานาชาติส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ยกระดับการท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ งานสีสันเมืองเลย และเทศกาลศิลปะร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง ปี 2566: Mask Festival” ระหว่างวันที่ 17 - 19 มีนาคม 2566 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามแนวคิดยกระดับ Soft power ของไทยสู่เวทีโลก

4) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย

 

4.1) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว เช่น จัดแข่งขันเจ็ตสกีนอกชายฝั่งชิงแชมป์โลก หรือ WGP#1 Water Jet offshore World Championship 2023 เพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นหมุดหมายสำคัญของกีฬาทางน้ำระดับโลก ซึ่งมีนักกีฬาและทีมงานเข้าร่วมงาน จำนวน 729 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 320 ล้านบาท โดยถ่ายทอดการแข่งขันผ่านช่อง EUROSPORT บนเครือข่ายกว่า 155 ล้านครัวเรือนทั่วโลก และจัดกิจกรรม Amazing Thailand Mega FAM Trip to Phangnga 2023 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ “Visit Thailand Year 2023: Amazing New Chapters” เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว และรายได้ให้กับท้องถิ่นผ่านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นคืนอย่างรวดเร็ว

4.2) พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค โดยจัดกิจกรรมเพื่อชักจูงนักลงทุนเป้าหมายให้มาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจในกลุ่มเป้าหมาย 9 ประเทศ (โปรตุเกส อิตาลี ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา จีน สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และเดนมาร์ก) เช่น ประเภทอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว และการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา

4.3) พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน (ด้านคมนาคม) โดยมีความคืบหน้า เช่น

(1) โครงการก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดมหาสารคามแห่งที่ 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างฐานรากของอาคารสถานี คิดเป็นร้อยละ 45 (2) โครงการรถไฟทางคู่หัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ มีผลการเบิกจ่ายร้อยละ 98.150 อยู่ระหว่างปรับแผนงานใหม่ คิดเป็นร้อยละ 99.99 (ช้ากว่าแผนร้อยละ 0.01) และ (3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบเดินรถเสมือนจริง คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2566

(4.4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนาและนวัตกรรม เช่น ความสำเร็จในการใช้แสงซินโครตรอน ย่านอินฟาเรดเพิ่มสารออกฤทธิ์ทางยาในสมุนไพรฟ้าทะลายโจร เป็น 2 เท่า ซึ่งมีสารสำคัญทางยาที่มีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบ ลดไข้ ลดอาการหวัด ไอ เจ็บคอ ดีขึ้นกว่าเดิม และอนุมัติหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์หลักสูตรใหม่เพิ่มเติมอีก 2 หลักสูตร ได้แก่ (1) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายที่จะผลิตกำลังคนในกลุ่มวิศวกรคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล 1,200 คน และ (2) หลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ การจัดการบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการบินนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เพื่อเพิ่มการผลิตกำลังคนในกลุ่มพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินให้ได้รับการจ้างงาน ร้อยละ 100

5) การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งของฐานราก

 

จัดกิจกรรมเติมเต็มทุกความสุขโดยจังหวัดสกลนครร่วมกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 2 - 4 มีนาคม 2566 ที่ตลาดเติมสุข พีทีที สเตชั่น สาขามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เพื่อช่วยส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนและสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม

6) การพัฒนาระบบสาธารณสุข และหลักประกันสังคม

 

6.1) โรงพยาบาลตรัง รักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยวิธีใส่สายสวนหลอดเลือดสมองร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ (Mechanical Thrombectomy) ไม่ต้องผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ โดยในปี 2563 - 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 204 ราย โดยตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลตรังเป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ในปี 2570

6.2) กิจกรรมปกป้องกลุ่มเปราะบาง เสริมสร้างภูมิคุ้นกันเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รับปีแห่งสุขภาพสูงวัยไทยโดยให้ทุกจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรณรงค์บริการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปในผู้สูงอายุทั้งในสถานดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาล

6.3) นำรูปแบบ “Screening Ageing Health Club Long term care End of Life Care: SALE Model” มาใช้ในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อ และครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) สนับสนุนการคัดกรองและประเมินสุขภาพผู้สูงอายุให้ครอบคลุมทุกมิติ (2) สนับสนุนให้ทุกพื้นที่มีชมรมผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและพัฒนาเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ (3) สนับสนุนการจัดบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และ (4) สนับสนุนให้เกิดระบบการดูแลระยะสุดท้ายของชีวิต

6.4) กิจกรรมทันตกรรมจิตอาสาเพื่อกลุ่มเปราะบาง โครงการ Smiles for Everyone Thailand (SFET) เพื่อให้บริการทันตกรรม บริการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 และตรวจอัลตราซาวด์มะเร็ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

7) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

จัดกิจกรรมรวมพลังฟื้นฟูเขาขยาย จากเขาทะเลทราย สู่เขาสวรรค์เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว จังหวัดชัยนาท และพลิกฟื้นพื้นที่เสื่อมโทรม และขับเคลื่อน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน1 (United Nations Sustainable Development Goals: UN SDGs)

8) การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ

 

พัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) เฟส 5 กรมบัญชีกลาง เชื่อมโยงข้อมูลผ่าน Blockchain 2 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บข้อมูลราคาวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าถึงข้อมูลราคาได้ โดยเริ่มใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566

 

          2. นโยบายเร่งด่วน 6 เรื่อง ประกอบด้วย

 

นโยบายเร่งด่วน

 

มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

1) การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

 

1.1) กิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ Gender Fair 2023 ภายใต้แนวคิด “Innovation for Gender Equality: ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศและมอบประกาศเกียรติคุณแก่ 17 องค์กร ที่มีความมุ่งมั่นในการนำแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศไปใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและการประกอบกิจการมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 300 คน

1.2) ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม (Emergency Social Services: ESS Thailand) เพื่อเป็นช่องทางในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคมในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยทำงานผ่าน LINE Official Account ชื่อว่า ESS Help Me สามารถแชร์พิกัดจุดเกิดเหตุได้อย่างแม่นยำ สามารถติดตามสถานการณ์การช่วยเหลือได้แบบ Real Time โดยจะเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566

1.3) ขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัว โดยจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตและอาชีพผ่านกลไกศูนย์บริการแม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวในส่วนภูมิภาค ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ 4 แห่ง โดยมีการให้บริการแบบครบวงจร เช่น ให้บริการฝึกอาชีพการให้คำปรึกษา และมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้ารับบริการ จำนวน 1,371 ราย

2) การให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม

 

2.1) เปิดโครงการจับคู่ธุรกิจผลไม้สด แปรรูป และผลิตภัณฑ์เกษตรอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยมีการจัดกิจกรรม เช่น (1) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ซื้อขายล่วงหน้า 6 คู่ มูลค่า 1,600 ล้านบาท และ (2) จับคู่เจรจาธุรกิจ มีบริษัทส่งออก 84 แห่ง บริษัทนำเข้า 57 แห่ง จาก 17 ประเทศ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ไม่น้อยกว่า 385 คู่ ยอดไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท

2.2) เปิดโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยสวนยางพารา) โดยดำเนินการประกันภัยยางพาราในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีการขยายผลในพื้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความรู้ความเข้าใจและใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยง ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางพารามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

3) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน

 

3.1) จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยในปี 2566 มีโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย - อิสราเอล เพื่อการจัดหางานจำนวน 6,500 คน ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม - 20 มีนาคม 2566 จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานแล้ว 1,513 คน และในปี 2566 มีโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 4,400 คน ดำเนินการจัดส่งแล้ว 1,697 คน แบ่งเป็น ประเภทงานภาคอุตสาหกรรม 1,061 คน ภาคการเกษตรและปศุสัตว์ 163 คน ภาคการก่อสร้าง 176 คน และเป็นแรงงานที่ได้รับการจ้างงานซ้ำ 297 คน

3.2) บูรณาการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษาและแรงงานทุกระดับ โดยบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ Big Data ทั้งนี้ ได้นำร่องแล้วในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียน นักศึกษา จำนวน 658,455 คน

3.3) ยกระดับผู้ประกอบการสู่ธุรกิจด้านบริการสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อให้เรียนรู้ถึงศาสตร์ของการดูแลสุขภาพ การดำเนินการในด้านธุรกิจ Wellness แบบครบวงจร โดยจัดอบรมรุ่นแรกที่สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำหรับอุตสาหกรรม (DSD Wellness Academy) อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 30 คน

4) การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21

 

จัดงาน “CODING ERA Next Wave of Thailand’s Education” ยุคโค้ดดิ้ง : คลื่นลูกใหม่แห่งการศึกษาไทย เมื่อวันที่ 17 - 18 มีนาคม 2566 เพื่อการเรียนรู้แบบ Coding Edutainment3 จากแพลตฟอร์มเว็บเบส โค้ดดิ้งเกม “CodeComba” ส่งเสริมเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ Coding พร้อมผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะ Coding สร้างบุคลากรตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานแห่งอนาคต

5) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

 

ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 4,767 ราย รวมทั้งสิ้น 10.39 ล้านบาท ได้แก่ (1) มอบเงินฟื้นฟูสมรรถภาพผู้บาดเจ็บสาหัส/พิการ 1 ราย จำนวน 200,000 บาท (2) มอบเงินยังชีพรายเดือนแก่บุตรผู้เสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส/พิการ ตามระดับการศึกษา 3,941 ราย จำนวน 8.06 ล้าน (3) มอบเงินยังชีพรายเดือนแก่ผู้ที่พิการจากเหตุความไม่สงบตามลักษณะความพิการ 789 ราย จำนวน 2.04 ล้านบาท และ (4) มอบเงินอุดหนุนแก่ครอบครัวที่อุปการะเด็กที่ทั้งบิดามารดาเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบแบบครอบครัวอุปถัมภ์ 36 รายๆ ละ 2,000 บาท/เดือน จำนวน 82,000 บาท

6) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน

 

6.1) โครงการระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ผ่านแอปพลิเคชัน “ThaID” หรือไทยดีโดยพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับใช้งานบนสมาร์ทโฟนชื่อว่า “D.DOPA” ใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ Android หรือ iOS สำหรับการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA ได้แก่ (1) ตรวจสอบข้อมูลตนเองผ่านระบบ Linkage Center (2) ขอรับบริการล่วงหน้า Q - Online (3) ย้ายที่อยู่ตนเอง (4) มอบหมายปลูกสร้างบ้านใหม่ (ขอเลขที่บ้าน) (5) บริการงานทะเบียนด้วยตนเอง และ (6) ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง การแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่นำแอปพลิเคชัน D.DOPA ไปใช้งานแล้ว จำนวน 26 หน่วยงาน

6.2) อำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอตุสาหกรรมเป้าหมายของประเทศผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ SMART Visa ทั้งนี้ ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2566 มีผู้ขอรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 1,182 คำขอ และมีผู้ผ่านการรับรองคุณสมบัติ ทั้งสิ้น 465 คำขอ

6.3) การดำเนินงานตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูง (Long - Term Resident Program: LTR) ผลการดำเนินการ LTR Visa ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 มีจำนวนคำขอ 3,277 คำขอ โดยมีผู้ขอรับรองคุณสมบัติประเภท Wealthy Pensioners4 มากที่สุด จำนวน 1,102 คำขอ รองลงมาคือ Work-from-Thailand Professionals จำนวน 852 คำขอ

6.4) เปิดตัวบัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS LINE BKK X BMTA โดยบูรณาการการจัดทำบัตรเหมาจ่ายที่สามารถใช้เดินทางร่วมรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ - รังสิต และบางซื่อ - ตลิ่งชัน) จำนวน 50 เที่ยว และรถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศไม่จำกัดเที่ยว โดยต้องใช้บัตรภายใน 30 วัน นับจากวันที่ผู้โดยสารใช้บัตรครั้งแรก มีค่าออกบัตร 100 บาท และราคาบัตร 2,000 บาท ซึ่งสามารถซื้อบัตรครั้งแรกได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง และเขตการเดินรถตามที่ ขสมก. กำหนด

_____________________

1 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติเพื่อทำให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030 ด้วยการพัฒนาที่คำนึงถึงความเป็นองค์รวมของทุกๆ ด้าน อย่างสมดุลบนพื้นฐานของทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ประกอบด้วยเป้าหมาย 17 ข้อ ได้แก่ (1) ขจัดความยากจนทุกรูปแบบทุกสถานที่ (2) ขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (3) สร้างหลักประกันการมีสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนทุกช่วงอายุ (4) สร้างหลักประกันการศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ทุกคน (5) บรรลุความเท่าเทียมทางเพศ พัฒนาบทบาทสตรีและเด็กผู้หญิง (6) สร้างหลักประกันการมีน้ำใช้ การจัดการน้ำและสุขาภิบาลที่ยั่งยืน (7) สร้างหลักประกันการมีพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ยั่งยืน ทันสมัย (8) ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานที่มีคุณค่า (9) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม (10) ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ (11) ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัยทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (12) สร้างหลักประกันการบริโภค และการผลิตที่ยั่งยืน (13) ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ (14) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (15) ปกป้อง ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน (16) ส่งเสริมสังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (17) สร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

2 Blockchain คือ เทคโนโลยีการประมวลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ หรือที่เรียกว่า Distributed Ledger Technology (DLT) ซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่ใช้หลักการ Cyptography ร่วมกับกลไก Consensus โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบ Blockchain นั้นจะสามารถทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก ช่วยเพิ่มความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของข้อมูล

3 Coding คือ การเขียนชุดคำสั่งหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในรูปโค้ด (Code) เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจและทำในสิ่งที่ผู้เขียนโค้ดต้องการเป็นการเขียนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงานด้วยภาษาหรือรหัส (Code) ที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ เช่น ภาษา Python, JavaScript และ C

4 ผู้เกษียณที่มีอายุ 50 ปี หรือมากกว่า โดยมีเงินบำนาญรายปี หรือ passive income ที่มั่นคง

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 13 มิถุนายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A6405

Click Donate Support Web  

MTL 720x100

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!