WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560

GOV6

รายงานตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560

          คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้

          1. รับทราบรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2565 และรายงานผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษารับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ปรากฏในรายงานผลการประเมินสถานการณ์ฯ ไปพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้รับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

          2. ให้ส่งความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งได้แจ้งเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่สามารถดำเนินการได้ ไม่อาจดำเนินการได้ หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อทราบและประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ หากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประสงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามข้อเสนอแนะในเรื่องใดเป็นการเร่งด่วนและแจ้งผลการดำเนินการให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการได้หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติส่งข้อเสนอแนะดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย

          สาระสำคัญของเรื่อง

          กสม. รายงานว่า

          1. รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2565 มีสาระสำคัญครอบคุลมภาพรวมของสถานการณ์ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยแบ่งการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนออกเป็น 4 ด้าน 19 ประเด็นย่อย ประกอบด้วย

                  1.1 ด้านสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์เฉพาะ จำนวน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) สถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ยังมีข้อท้าทายในเรื่องต่างๆ เช่น เดิมกำหนดให้ โควิด-19 เป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาล และเมื่อยกเลิกเรื่องดังกล่าวโดยกำหนดให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งสามารถเข้ารับการรักษาตามสิทธิของแต่ละคน จึงอาจทำให้บุคคลบางกลุ่มที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล เช่น แรงงานข้ามชาติและคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชนอาจประสบปัญหาในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล) และ 2) สถานการณ์เกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ปี 2565 (มีบางเหตุการณ์ที่มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง)

                  1.2 ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จำนวน 5 ประเด็น ได้แก่ 1) สิทธิในกระบวน การยุติธรรม (ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงการช่วยเหลือและการเยียวยาตามกฎหมาย เนื่องจากผู้ที่มีสิทธิขอความช่วยเหลือไม่ทราบถึงสิทธิที่พึงได้รับเท่าที่ควรและเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์อาจมีความซับซ้อนและใช้ภาษาที่เป็นทางการ) 2) การกระทำทรมานและการบังคับให้สูญหาย (กสม. มีข้อห่วงกังวลต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ในประเด็นต่างๆ เช่น ไม่ควรมีการนิรโทษกรรมหรือยกเว้นโทษให้ผู้กระทำความผิดใดๆ จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ) 3) นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (พบการแจ้งความดำเนินคดีในลักษณะกลั่นแกล้ง แม้จะมีการปรับปรุงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามมาตรา 161/1 และมาตรา 165/2 ที่ให้อำนาจศาลในการพิจารณายกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องหากพบว่าเป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง รวมทั้งให้จำเลยมีโอกาสในการแสดงหลักฐานว่าการฟ้องคดีเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อประกอบการพิจารณาในการสั่งคดี) 4) สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ [กสม. มีข้อห่วงกังวลต่อกลุ่มเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบที่อยู่ในความดูแลของภาคประชาสังคมและมูลนิธิต่างๆ ประมาณ 1,400 คน ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เนื่องจากคณะกรรมการ 3 ฝ่าย (ฝ่ายปกครอง ทหารและตำรวจ) ยังไม่มีการรับรองว่ากลุ่มดังกล่าวจะต้องได้รับการเยียวยา] และ 5) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการรวมกลุ่ม (ตามที่ได้มีประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ต้องลบข้อมูลเนื้อหาที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์)

                  1.3 ด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) สิทธิแรงงาน [สถานการณ์การว่างงาน ณ เดือนตุลาคม 2565 มีผู้ว่างงาน จำนวน 204,781 คน และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 ที่มีจำนวน 281,820 คน (ลดลงคิดเป็นร้อยละ 27.34) แต่สูงกว่าก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่มีเพียง จำนวน 174,529 คน เนื่องจากมีการปิดกิจการและหยุดกิจการชั่วคราว ดังนั้น จึงเป็นความ ท้าทายของรัฐในการส่งเสริมการมีงานทำและพัฒนาทักษะที่จำเป็นให้แก่แรงงานและกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพื่อให้คนที่ว่างงานมีงานทำและได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งพบกรณีนายจ้างเอกชนเลิกจ้างโดยไม่แจ้งเตือนการกระทำผิดเป็นหนังสือก่อนการเลิกจ้าง ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่ง กสม. เห็นว่า เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ ผู้ร้อง นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติผ่านระบบออนไลน์มีความซับซ้อน กระบวนการขั้นตอนมีระยะเวลาจำกัด ส่งผลให้ต้องจ้างบริษัทนำเข้าหรือนายหน้าซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูง] 2) สิทธิในสุขภาพ (แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่มีหลักประกันสุขภาพทั้งระบบประกันสังคม1 หรือระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว2 เสี่ยงต่อสุขภาพโดยมีสาเหตุ เช่น นายจ้างไม่นำแรงงานเข้าสู่ระบบ) 3) สิทธิด้านการศึกษา (กสม. มีข้อห่วงกังวลต่อกลุ่มนักเรียนที่ต้องหยุดเรียนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัย ซึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงการเรียนในรูปแบบออนไลน์ได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์เทคโนโลยี ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนำไปสู่การสูญเสียการเรียนรู้ที่เป็นปัญหาสำคัญต่อพัฒนาการของผู้เรียนให้สมวัย) และ 4) สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (ภายหลังจากที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความล่าช้า)

                  1.4 ด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มบุคคล จำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ 1) สิทธิเด็ก (มีเงื่อนไขบางประการที่เป็นอุปสรรคในการลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดที่จัดสรรเงิน 600 บาท ให้แก่เด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี ทำให้มีเด็กแรกเกิดจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าว เช่น กำหนดให้มีผู้รับรอง จำนวน 2 คน โดยหนึ่งในนั้นต้องเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ) 2) สิทธิผู้สูงอายุ (เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ3 ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะหากเกิดปัญหาภาวะวิกฤติและผู้สูงอายุที่ใช้สื่อออนไลน์ถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น) 3) สิทธิคนพิการ (การจ่ายเบี้ยความพิการยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากมีคนพิการจำนวนมากยังไม่มีการจัดทำบัตรประจำตัวคนพิการ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐจัดให้) 4) สิทธิสตรีและความเสมอภาคทางเพศ [ปี 2561 - 2565 ผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว จำนวน 4,581 คน4 โดยในปี 2565 มีผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงดังกล่าว จำนวน 1,024 คน ซึ่งเกิดจาก 1) การทำร้ายร่างกายจากคู่สมรส/ผู้ที่อยู่กิน/เคยอยู่กิน 2) การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และ 3) การถูกลวนลามและการทำอนาจาร ซึ่ง พม. ได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว เช่น การเข้ารับการรักษาจากแพทย์ อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงความช่วยเหลือของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบ้านเมื่อถูกกระทำความรุนแรงและต้องพักอาศัยอยู่ในบ้านของนายจ้าง โดยแรงงานข้ามชาติไม่แจ้งเหตุดังกล่าวเนื่องจากกลัวการจับกุมและถูกส่งกลับประเทศต้นทางหรือให้ออกจากงาน สำหรับความเสมอภาคทางเพศ พบว่า การพิจารณากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของบุคคลหลากหลายทางเพศมีความล่าช้า] 5) ผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ/คนไร้รัฐไร้สัญชาติ5 [กรมการปกครองอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนกลุ่ม G6 (เป็นเด็กนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย) ซึ่งประสบปัญหาการเข้าถึงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาและสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เช่น สิทธิด้านสาธารณสุขและเสรีภาพในการเดินทาง ทั้งนี้ ระหว่างปี 2561 - 2565 ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 มีจำนวนสะสมของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว จำนวน 90,795 ราย โดยได้กำหนดเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว จำนวน 27,153 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.91 และอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา จำนวน 63,642 ราย] 6) สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์7 (มีข้อท้าทายจากการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ทำให้ขาดการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาพรวม [เช่น ปี 2564 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ซึ่ง ณ เดือนธันวาคม 2565 อยู่ระหว่างจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน] และ 7) สิทธิของกลุ่มคนจนเมือง8 (พบปัญหาและข้อท้าทายด้านที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่คนจนเมืองต้องเผชิญ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบปัญหา เช่น ข้อจำกัดในการเข้าถึงไฟฟ้าและน้ำประปาที่สะอาด เนื่องจากที่อยู่อาศัยไม่มีบ้านเลขที่หรือตั้งอยู่โดยการบุกรุก และจังหวัดภูเก็ตพบปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยชุมชนหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ระหว่าง การดำเนินโครงการจัดที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยถูกไล่รื้อที่พักอาศัย)

          2. รายงานผลการปฏิบัติงาน กสม. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

                  2.1 การตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กสม. รับเรื่องร้องเรียน รวม 1,149 เรื่อง แบ่งเป็น 1) เรื่องที่รับไว้พิจารณาดำเนินการ จำนวน 924 เรื่อง และ 2) เรื่องไม่รับพิจารณา เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามมิให้ กสม. รับไว้พิจารณา เช่น เรื่องที่มีการฟ้องร้องคดีอยู่ในศาลและเรื่องที่อยู่ในอำนาจขององค์กรอิสระอื่น จำนวน 225 เรื่อง

                  2.2 การเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กสม. ได้จัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรายกรณี รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอันเป็นหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 247 (3) จำนวน 7 เรื่อง เช่น 1) กรณีร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. .... และ 2) กฎหมายลำดับรองประกอบพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

                  2.3 การจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ซึ่ง กสม. ได้จัดทำรายงานฯ ประจำปี 2564 เสนอคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 14 มิถุนายน 2565)

                  2.4 การสร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน เช่น การพัฒนาหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย (เช่น การพัฒนาหลักสูตรการสร้างเสริมความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูงและการจัดทำเนื้อหารายวิชาสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับผู้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปแบบ E-learning)

                  2.5 การศึกษาวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน มีการดำเนินโครงการ จำนวน 7 โครงการ โดยโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ เช่น โครงการศึกษาแนวทางการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนผู้ต้องขังสูงอายุในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ต้องขังสูงอายุสามารถดำรงชีพอยู่ได้ระหว่างการบังคับโทษ และช่วยเหลือผู้ต้องขังสูงอายุเมื่อได้รับ การปล่อยตัวไปแล้ว เพื่อให้ผู้พ้นโทษเหล่านั้นสามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมปกติได้อีกครั้งโดยไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำอีก

                  2.6 การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เนื่องจาก กสม. ได้ผลักดันกิจกรรม ต่างๆ ตามข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI)9 เพื่อสร้างการคุ้มกันทางกฎหมายให้กับ กสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การจัดทำร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยให้ยกเลิกมาตรา 26 (4) และมาตรา 247 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป) ส่งผลให้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 กสม. ได้รับการประเมินสถานะจากสถานะ B10 (เป็นประเทศที่มีการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับหลักการปารีสในบางส่วน) เป็นสถานะ A (เป็นประเทศที่มีการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับหลักการปารีส11 โดยสมบูรณ์) ซึ่งการจัดให้อยู่ในสถานะ A จะทำให้ กสม. ได้รับความเชื่อมั่นในการดำเนินงานจากทุกภาคส่วนรวมทั้งสามารถมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในเวทีสหประชาชาติได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขกฎหมายต่อไป เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่ SCA จะติดตามเมื่อ กสม. ต้องเข้ารับการทบทวนสถานะในอีก 5 ปีข้างหน้า

                  2.7 ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน เช่น ข้อจำกัดด้านกฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มิได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของ กสม. ทำให้ กสม. ไม่สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ ซึ่ง กสม. มีข้อเสนอแนะว่า รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีควรเร่งรัดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้ กสม. มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการให้คู่กรณีทำความตกลงเพื่อประนีประนอมและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันจะทำให้การคุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ล่าช้า และสอดคล้องกับหลักสากลต่อไป

_____________________

1 แรงงานนอกระบบสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 บัญญัติให้บุคคลใดซึ่งมิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 หรือไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้อาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัตินี้ได้ โดยแสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม

2 ระบบประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวดำเนินการภายใต้กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

3 ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบ่งตามช่วงอายุ คือ อายุ 60 - 69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท อายุ 70 - 79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท อายุ 80 - 89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท

4 เป็นข้อมูลสถิติผู้เข้ามารับบริการสายด่วน 1300 ของศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

5 คนไร้รัฐไร้สัญชาติ หมายถึง บุคคลที่ไม่ได้รับการพิจารณาให้มีสัญชาติจากรัฐใดภายใต้บทบัญญัติกฎหมายของรัฐนั้น

6 เด็กนักเรียนกลุ่ม G สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนชาวไทยตามนโยบายในการจัดการศึกษาให้เด็กทุกคนในประเทศไทยได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคโดยไม่เลือกปฏิบัติตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง การรับนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2562

7 กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นกลุ่มคนที่มีความสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์กับสังคมไทยและมีคำนิยามตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. .... ว่าหมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่เป็นกลุ่มเดียวกันหรือหลายกลุ่ม ซึ่งมีอัตลักษณ์และการสั่งสมทางวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และความเชื่อตามจารีตประเพณีร่วมกัน สำหรับประเทศไทยมีการสำรวจกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานกระจายตามจังหวัดต่างๆ จำนวน 56 กลุ่ม

8 คนจนเมือง เป็นคนที่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการขั้นพื้นฐานหรือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนรวมถึงคนด้อยโอกาสที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ซึ่งข้อมูลจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองระบุว่า จำนวนชุมชนใน กทม. มีทั้งหมด 2,016 ชุมชน เป็นชุมชนแออัด จำนวน 640 ชุมชน (คิดเป็นร้อยละ 32 ของจำนวนชุมชนทั้งหมด)

9 GANHRI เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก

10 SCA ได้ปรับลดสถานะ กสม. ของประเทศไทยจากสถานะ A เป็นสถานะ B เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยมีสาเหตุสำคัญ เนื่องจากบทบัญญัติภายใต้พระราชบัญญัติ กสม. พ.ศ. 2542 ยังไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส เช่น การขาดการคุ้มกันทางกฎหมายให้กับ กสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรและความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระของ กสม.

11 หลักการปารีสหรือหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหลักเกณฑ์ขั้นต่ำเพื่อให้แต่ละประเทศนำไปเป็นแนวทางจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนภายในประเทศของตนได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยมีหลักการครอบคลุมเรื่องต่างๆ เช่น สถาบันแห่งชาติจะต้องมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและต้องมีอาณัติที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยจะต้องมีการระบุอาณัตินั้นไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอย่างชัดเจน

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 มิถุนายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A6682

Click Donate Support Web  

kasat 720x100MTL 720x100

TU720x100sme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!