WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2565) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

GOV 5

รายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2565) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอรายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2565) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565[เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (12 กรกฎาคม 2559) ที่เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564)1 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทฯ ไปปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่งคณะกรรมการฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 [โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน] ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ภาพรวมการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทฯ

ยุทธศาสตร์

 

ผลการดำเนินงาน

1. วางระบบรากฐานการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย

 

สนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาชุมชน องค์กร อำเภอ จังหวัดคุณธรรมโดยใช้เกณฑ์การส่งเสริมและพัฒนาใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับส่งเสริมคุณธรรม ระดับคุณธรรม และระดับคุณธรรมต้นแบบ ด้วยการนำมิติทางวัฒนธรรมมาสร้างความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ผ่านการบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น ได้แก่ (1) การปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนนับถือ (2) น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และ (3) ธำรงรักษาไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม โดยมีชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดที่ผ่านการประเมินใน 3 ระดับทุกพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งสิ้นจำนวน 39,102 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 9.24 นอกจากนี้ มีชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดในระดับคุณธรรมต้นแบบ จำนวน 243 แห่ง ได้รับการคัดเลือกเพื่อรับโล่รางวัลคุณธรรมต้นแบบโดดเด่นจากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีผลสำเร็จการเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของประชาชนจนเป็นที่ประจักษ์ ทำให้เกิดสังคมคุณธรรมที่เข้มแข็งมีการสืบสานความเป็นไทย

2. สร้างความเข้มแข็งในระบบบริหารจัดการด้านการส่งเสริมคุณธรรมให้เป็นเอกภาพ

 

ทุกภาคส่วนได้ร่วมบูรณาการการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ โดยใช้กลไกภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรอิสระ ส่งผลให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ประสบความสำเร็จทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพโดยมีการขยายจำนวนเครือข่ายส่งเสริมคุณธรรมทั่วประเทศ อีกทั้งเกิดแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมของหน่วยงาน จำนวน 109 แห่ง และแผนปฏิบัติการประจำปีของหน่วยงาน จำนวน 109 แห่ง และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 20 ล้านคน ส่งผลให้มีการดำเนินงานเพิ่มขึ้นในทุกตัวชี้วัด ดังนี้ (1) หน่วยงานสนับสนุนให้มีการจัดอบรมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม จำนวน 130,585 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 363.28 และมีโครงการ/กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมเพิ่มขึ้น จำนวน 18,878 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 20.97 (2) บุคลากรและประชาชนทั่วไป ได้รับการอบรมพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ประมาณ 26 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 304.23 (3) จัดกิจกรรมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จำนวน 155,308 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 406.35 และ (4) จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ประมาณ 29 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 55.84 จากปี 2564

3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรม

 

หน่วยงานทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและเกิดการขยายเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรม โดยมีการจัดทำโครงการสำคัญสนับสนุนการขับเคลื่อนคุณธรรมของสังคมไทยผ่านการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ เช่น (1) โครงการส่งเสริมบุคคลและองค์กรต้นแบบด้านคุณธรรม (2) การประกวดรางวัลคุณธรรมอวอร์ด(Moral Awards 2021) (3) โครงการครอบครัวคุณธรรมพลังบวก และการศึกษาระบบเครดิตสังคม (Social Credit System)2 ที่ได้มีการทดลองปรับใช้กลไกเครดิตสังคมในพื้นที่นำร่อง รวมทั้งถอดบทเรียนองค์ความรู้กรณีศึกษาผลสำเร็จการขับเคลื่อน ชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมมาพัฒนาระบบฐานข้อมูลเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นคุณธรรมต้นแบบ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนสืบค้นและใช้ประโยชน์ในรูปแบบดิจิทัล และ (4) การจัดประกวดคลิปวีดิโอ และ Tiktok ภายใต้ประเด็นคุณธรรมสรรค์สร้างเพื่อสังคมไทย หัวข้อวินัยเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้เด็กและเยาวชนที่ใช้การสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์

4. ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก

 

ดำเนินการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการบูรณาการของหน่วยงานทุกภาคส่วน ด้วยมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมผ่านกิจกรรมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่น

 

          2. ผลสำเร็จจากการดำเนินงานของแผนแม่บทฯ จากการประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของหน่วยงานต่างๆ สามารถสรุปผลที่ได้รับได้ 3 ระดับ ดังนี้ 

                  2.1 ระดับประชาชน ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้องดีงามด้วยหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม จากพลังขับเคลื่อนของผู้นำชุมชน พลังบวรในชุมชนสังคม การสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างประชาชนกับท้องถิ่น รวมถึงผลจากการดำเนินโครงการ/กิจกรรมด้าน ต่างๆ ทั้งส่วนตน และส่วนรวมผ่านชุมชน หรือสังคมที่ตนอยู่ ด้วยกลไกการประสานภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนและส่งเสริมคุณธรรมร่วมกันของภาคประชาชนและระดับชุมชนในลักษณะแนวราบ (Horizontal) ทำให้การประสานการขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

                  2.2 ระดับสังคม องค์กร ชุมชน หน่วยงาน เป็นสังคมคุณธรรม ยึดมั่นในสถาบันชาติ สถาบันศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความเอื้ออาทรและแบ่งปันด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนโดยบูรณาการการทำงานร่วมกันตามพันธกิจและศักยภาพที่ถนัด ทั้งระดับกระทรวง ทบวง กรม จังหวัด อำเภอ หน่วยงาน/องค์กร ชุมชน โดยยึดข้อปฏิบัติหลัก 3 ประการ คือ ปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมไทย ร่วมกับการนำคุณธรรม 4 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” มาปรับใช้กับบริบทและภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

                  2.3 ระดับชาติ คนไทยมีลักษณะนิสัยรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังมีความโอบอ้อมอารี มีจิตสาธารณะ เอื้อเฟื้อ แบ่งปันไม่ทอดทิ้งกันที่เป็นทุนทางสังคมให้กับประเทศชาติ ซึ่งทุนทางสังคมดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ และแผนปฏิบัติด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

          3. แนวทาง/แผนการดำเนินการต่อไป

                  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นการสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินงานของแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 และ ก้าวเข้าสู่แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)3 ซึ่งเป็นการต่อยอดหลักคิดการส่งเสริมคุณธรรมตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 1 คือการส่งเสริมให้คนไทยดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางศาสนาที่ตนเองนับถือ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิถีวัฒนธรรมไทยไปใช้ในการดำรงชีวิต มีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรม “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” วธ. (กรมการศาสนา) จึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป ดังนี้

                  3.1 จัดประชุมสร้างการรับรู้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้ง 4 ภาค 

                  3.2 ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม ได้ปรับปรุงและกำหนดตัวชี้วัด และหลักเกณฑ์การประเมินให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

                  3.3 ส่งเสริมและยกย่องบุคคลที่ทำความดี มีคุณธรรม สร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดประกาศยกย่อง “คนดีศรีจังหวัด” เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจแก่ผู้ได้รับ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนและบุลคลทั่วไปให้ประพฤติดีมีคุณธรรม สร้างสรรค์คุณประโยชน์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคมเพิ่มมากขึ้น 

                  3.4 กำกับ ติดตาม และส่งเสริมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนด

__________________________

1คณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ต่อไปจนถึง 30 กันยายน 2565 (โดยไม่มีการทบทวน แก้ไข เพิ่มเติม) เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับห้วงเวลาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายระยะเวลาบังคับแผนดังกล่าว

2ระบบเครดิตสังคม (Social Credit System) คือ เครื่องมือและกลไกในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดกรอบพฤติกรรมเชิงบวกที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข โดยการกำหนดค่านิยมและพฤติกรรมเชิงบวกที่ทุกสังคมเห็นพ้องร่วมกันแต่แตกต่างไปตามบริบททางพื้นที่และวัฒนธรรม

3คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 พฤศจิกายน 2565) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 20 มิถุนายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A6684

Click Donate Support Web  

kasat 720x100MTL 720x100

TU720x100sme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!