WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565

GOV4 copy

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565

          คณะรัฐมนตรีรับทราบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 และเห็นชอบมอบหมายให้หน่วยงานหลักประสานการดำเนินการตามนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เสนอ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงานและ สำนักงบประมาณและข้อเสนอแนะของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

          สาระสำคัญของเรื่อง

          คสช. รายงานว่า คสช. ได้ประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 (โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุม มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2565 รวม 3 มติ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายให้หน่วยงานหลักประสานการดำเนินการตามนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป สรุปได้ ดังนี้

 

มติ 1 การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG : การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน

สภาวะความยากจนของครัวเรือนกลุ่มฐานรากนอกเหนือจากมิติด้านรายได้ยังครอบคลุมถึงมิติการขาดโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น การขาดแคลนที่อยู่อาศัย การขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงบริการสาธารณสุข สวัสดิการและบริการภาครัฐ ซึ่งมีความแตกต่างในแต่ละบริบทของพื้นที่และจำเป็นที่จะต้องจัดทำข้อมูลคนจนที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และสร้างความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถออกแบบแก้ไขปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์ โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการบูรณาการการดำเนินการขจัดความยากจน ซึ่งการทำงานอาจมีการทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงานและข้อมูลในระบบฐานข้อมูลคนจนอาจยังไม่มีความแม่นยำและไม่เป็นที่เข้าใจตรงกัน ทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนยังไม่ประสบผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการข้อมูลกันอย่างเป็นระบบผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนายั่งยืน (Bio Circular Green Economy: BCG Model) เป็นการนำองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติ ทุนทางศาสนา ความเชื่อและวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก โดยมุ่งเน้นในเรื่องความสามารถด้านการบริหารการเงินโดยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย ซึ่งมีหน่วยงานหลักประสานการดำเนินการ ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยมีการกำหนดกรอบทิศทางนโยบาย ดังนี้

 

กรอบทิศทางนโยบาย

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

1. การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบแม่นยำและมุ่งเป้าควบคู่ไปกับการค้นหาสาเหตุความยากจน

          1.1 กำหนดนิยามและเกณฑ์บ่งชี้ลักษณะของบุคคล ศักยภาพและฐานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ชัดเจน เนื่องจากการจัดเกณฑ์คนจนของแต่ละหน่วยงานแตกต่างกัน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและทับซ้อนของคำนิยามความยากจนที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ ตามงบประมาณของภาครัฐ

          1.2 ปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ให้ถูกต้องแม่นยำเป็นระบบข้อมูลที่แสดงทั้งปัญหาและทุนศักยภาพในการดำรงชีพคนจน 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนการเงิน ทุนกายภาพ และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้มีการจัดการสำรวจและตรวจสอบข้อมูลจากสภาพความเป็นจริงแบบการตรวจสอบสามเส้า (Triangulation)1 ทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกและการ สังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม2 ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงก่อนนำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลคนจน เพื่อหาคนจนเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนหรือส่งต่อระบบสวัสดิการภาครัฐที่เหมาะสม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ขัดขวางโอกาสการก้าวข้ามความยากจน

          1.3 จัดทำรายงานข้อมูลคนจนและแสดงผลการดำเนินงานเชิงพื้นที่ในรูปแบบ dashboard (การนำข้อมูลที่สำคัญมาสรุปให้เห็นภาพในหน้าเดียวเข้าใจง่าย) โดยบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานและเครือข่ายต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงได้แบบเปิด โดยเปิดเผยข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ และสถาบันการศึกษาสามารถเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว เพื่อแจ้งแก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ รวมถึงตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงาน

 

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อว. มท. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

2. การบูรณาการกลไกการทำงานการขจัดความยากจนในระดับพื้นที่ตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG

          2.1 กำหนดให้การขับเคลื่อนการขจัดความยากจน ตามแนวคิด BCG Model เป็นระเบียบวาระแห่งชาติและระเบียบวาระการพัฒนาจังหวัด โดยให้ความสำคัญกับการส่งต่อประโยชน์สู่ชุมชน และขับเคลื่อนกลไกแบบพหุภาคีผ่านการผสานพลังภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน

          2.2 จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบมุ่งเป้าและแผนปฏิบัติการขจัดความยากจนในระดับจังหวัดเป็นการเฉพาะ บูรณาการกลไกส่งต่อความช่วยเหลือกลุ่มคนยากจน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนพิการ และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอื่นๆ เข้าสู่ระบบสวัสดิการของรัฐและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เชื่อมโยงกลุ่มที่มีศักยภาพสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบาย กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดที่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนา และวิธีการบรรลุเป้าหมายในการขจัดความยากจนที่สอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงศักยภาพและอัตลักษณ์ของพื้นที่

          2.3 เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเจ้าภาพในการบูรณาการการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยประสานการดำเนินงานและเชื่อมโยงร่วมกับกลไกที่มีอยู่เดิม จัดทำโครงการปฏิบัติการแก้ความยากจนร่วมกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีระบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัวในการทำงานเชิงพื้นที่ รวมทั้งจัดให้มีการติดตามประเมินผลต่อการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยรายงานผลการดำเนินงานทุกไตรมาสต่อคณะรัฐมนตรีตามระบบราชการ

 

กระทรวงการคลัง (กค.) พม. อว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) มท. กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สธ. และ สศช.

3. การเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ พัฒนาทักษะอาชีพ สร้างผู้ประกอบการ BCG แก้จน และชุมชน BCG เช่น

          3.1 สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตเกี่ยวกับแนวทางของ BCG Model โดยส่งเสริมให้มีการรับรู้ เรียนรู้ และเข้าใจแนวคิด BCG Model บนฐานวัฒนธรรมและธรรมชาติ รวมถึงสนับสนุนให้บุคคลมีศักยภาพในการจัดการสุขภาพตนเอง

          3.2 สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คำแนะนำ ฝึกอบรม บ่มเพาะพัฒนาทักษะด้านต่างๆ สำหรับคนจนขาดโอกาส เช่น การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความรู้ทางด้านการเงิน ความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและทักษะความเป็นผู้ประกอบการ

          3.3 ส่งเสริมการยกระดับกลุ่มอาชีพ กลุ่ม OTOP ที่มีความเข้มแข็งสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน BCG จดทะเบียนรองรับให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อให้สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องและเข้าถึงการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐได้ เช่น แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การเงิน บัญชี และความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีและการตลาด

          3.4 สนับสนุนภาคเอกชนในพื้นที่เชื่อมโยงกลไกตลาดที่สร้างโอกาสให้ครัวเรือนกลุ่มฐานราก กลุ่มเกษตรฐานราก และคนจนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยเชื่อมโยงสู่ช่องทางการตลาดที่หลากหลาย เช่น การตลาดออนไลน์ การเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการหรือห้างสรรพสินค้ารายใหญ่และตลาดภาครัฐ

          3.5 ส่งเสริมผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเยาวชนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน รวมถึงสามารถทำงานเชื่อมโยงข้ามหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชนได้

 

พม. อว. กษ. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) มท. ศธ. กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานบริหาร

และพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

4. การปรับโครงสร้างการบริหารและกลไกสนับสนุนเพื่อกระจายโอกาสสู่กลุ่มฐานราก เช่น

          4.1 สนับสนุนกลไกขององค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณะประโยชน์ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย จัดให้มีเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาด

          4.2 ปรับปรุงแนวทางการจัดสรรงบประมาณเพื่อขจัดความยากจน ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และสร้างโอกาสสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวคิด BCG Model โดยพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณ ประกอบด้วย จำนวนประชากรในจังหวัด รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี สัดส่วนคนจนในจังหวัดและดัชนีความก้าวหน้าของคนในจังหวัด รวมถึงสภาพภูมิศาสตร์สภาพแวดล้อมตามบริบทของแต่ละจังหวัด เพื่อชดเชยหรือลดความแตกต่างของการจัดสรรงบประมาณระหว่างจังหวัดที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานความเป็นธรรม

          4.3 เร่งรัดการปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการขจัดความไม่เป็นธรรม เช่น ระบบจัดสรรและครอบครองที่ดิน ระบบภาษี ระบบบำนาญประชาชน ธรรมาภิบาล ตลาดที่กระจายโอกาสและรายได้สู่ท้องถิ่นและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก การปกป้องอาชีพ ที่อยู่ที่ทำกินของคนในพื้นที่ ขณะเดียวกันต้องระมัดระวังในการปรับแก้กฎหมายหรือระเบียบที่จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเกิดความเหลื่อมล้ำต่างๆ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมือง ความปลอดภัยทางชีวภาพ การจัดสรรคาร์บอนเครดิต การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติที่ไม่เน้นเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล การนำเข้าขยะอุตสาหกรรม รวมทั้ง โครงการพลังงานชีวมวลที่กระทบต่อสิทธิชุมชน และธุรกิจการจัดการขยะสารพิษที่มีผลต่อระบบสุขภาพชุมชน

 

 

กค. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) อว. กษ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มท. รง. สธ. สศช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

มติ 2 การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge; CCC)3 ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)

การทำให้ประชากรในประเทศไทยออกกำลังกายมากขึ้นเป็นเป้าหมายที่สำคัญในระดับประเทศโดยสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผ่านแพลตฟอร์ม CCC ที่เป็นเครื่องมือในการกระตุ้น จูงใจ ให้ประชาชนทุกคนและทุกพื้นที่เห็นความสำคัญและอยากออกกำลังกายอย่างมีเป้าหมายให้เป็นวิถีชีวิต ด้วยการสะสมปริมาณแคลอรี่ที่ได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลถึงการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้นและเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยจัดเก็บเป็นข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับติดตามและประเมินผล ซึ่งเมื่อนำมาเชื่อมโยงกับแนวคิด BCG Model ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการกีฬาและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับสร้างสุขภาพของประชาชนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการออกกำลังกายอย่างยั่งยืน ซึ่งมีหน่วยงานหลักประสานการดำเนินการ ได้แก่ กก. โดยมีการกำหนดกรอบทิศทางนโยบาย ดังนี้

 

กรอบทิศทางนโยบาย

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

1. ส่งเสริมและผลักดันให้มีหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการในการสร้างมาตรฐานของข้อมูลการออกกำลังกายในแพลตฟอร์มที่จัดเก็บข้อมูลกลาง ให้สามารถนำข้อมูลสถิติดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการติดตามการประเมินผลและพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิด BCG Model

 

กค. กก. พม. อว. กระทรวง

ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ

และสังคม (ดศ.) มท. ศธ.

สธ. สสส. และสำนักงาน

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

(สปสช.)

 

2. สร้างและสนับสนุนพื้นที่รูปธรรมการขับเคลื่อนกิจกรรมการออกกำลังกายการเล่นกีฬาและกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยภายใต้แนวคิด BCG Model ทั้งในระดับบุคคลและเชิงพื้นที่

 

3. สนับสนุนการออกกำลังกาย การจัดแข่งขันกีฬา และการท่องเที่ยวเชิงกีฬาทั้งในกลุ่มเมืองหลักและเมืองรองที่เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมและเกิดเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชน

 

4. ส่งเสริม สนับสนุนให้สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ศึกษา วิจัย คิดค้นเพื่อสร้างนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่จับต้องได้

 

 

มติ 3 หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์4 ตั้งแต่ปี .. 2565 เป็นต้นมา และจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน ต่อเนื่องไปอีก 20 ปี ขณะที่ประชากรวัยแรงงานส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในภาคการจ้างงานแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้มักเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมและไม่มีความมั่นคงทางรายได้เมื่อชราภาพ อีกทั้งจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมากจำนวนคนยากจนเพิ่มขึ้น คนว่างงานเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุด จึงมีความจำเป็นที่จะจัดให้มีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นระบบที่คนทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพจากทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานซึ่งมีหน่วยงานหลักประสานการดำเนินการ ได้แก่ กค. พม. มท. รง. สธ. และ สศช. โดยมีการกำหนดกรอบทิศทางนโยบาย ดังนี้

 

กรอบทิศทางนโยบาย

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

1. กำหนดให้การพัฒนาระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ โดยมีกลไกบูรณาการระดับชาติเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการเชื่อมโยงกลไกระดับพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน โดยคำนึงถึงการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ

 

กค. พม. มท. รง. สธ. สศช.

สสส. และ สปสช.

2. ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันออกแบบและขับเคลื่อนระบบหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ครอบคลุมทุกคนทุกกลุ่มอย่างเหมาะสมตามสภาพด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สังคมและสุขภาพที่หลากหลาย เช่น

          2.1 การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย โดยการสนับสนุนให้เกิดการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตเชื่อมโยงการศึกษาเข้ากับการทำงานและการฝึกอบรมในสถานประกอบการมีระบบเตรียมความพร้อม ความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาศักยภาพเพิ่มเติมทักษะ เปลี่ยนทักษะ หรือสร้างทักษะที่หลากหลายที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่เยาว์วัยและเหมาะสมตามช่วงวัย มีตลาดแรงานรองรับ รวมทั้ง สนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบหรือกองทุนในการประกอบอาชีพ อีกทั้งส่งเสริมค่านิยมเชิงบวกในเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุ

          2.2 เงินอุดหนุนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพที่ผู้สูงอายุทุกคนควรได้รับและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การขยายฐานภาษี และการปฏิรูปงบประมาณ เพื่อให้การพัฒนาสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพของกองทุนต่างๆ ในระบบของรัฐ รวมถึงการจัดบริการสังคมที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แรงงานนอกระบบและกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ภายใต้สถานการณ์ค่าครองชีพสูง

          2.3 การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะระบบการดูแลระยะยาว (long-term care) ระบบการดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ระบบการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและการป้องกันโรคหรือภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุ เพื่อลดรายจ่ายด้านสุขภาพของปัจเจกบุคคลและครัวเรือนด้วยการเพิ่มคุณภาพระบบบริการสุขภาพแบบปฐมภูมิให้มีบริการใกล้บ้านทั่วถึง จัดให้มีระบบการตรวจคัดกรองความเสี่ยงและการป้องกันโรคหรือภาวะพึ่งพิงในผู้สูงอายุทั้งอาการและความเจ็บป่วยทางด้านร่างกายและจิตใจ

          2.4 การดูแลและการบริหารจัดการโดยผู้ดูแลผู้สูงอายุ ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น สนับสนุนให้มีระบบที่เอื้อให้สมาชิกครัวเรือนเกื้อกูล ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเรื้อรังหรือมีภาวะพึ่งพิงในบ้าน เช่น สิทธิการลางานเพื่อดูแลบุพการีที่ป่วยเรื้อรังและมีภาวะพึ่งพิงและสิทธิด้านการลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น

 

 

_________________

1การตรวจสอบสามเส้า (Triangulation) เป็นการตรวจสอบด้านข้อมูลโดยพิจารณาแหล่งเวลา แหล่งสถานที่ และแหล่งบุคคลที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ถ้าข้อมูลต่างเวลากันจะเหมือนกันหรือไม่ ถ้าข้อมูลต่างสถานที่จะเหมือนกันหรือไม่ และถ้าบุคคลผู้ให้ข้อมูลเปลี่ยนไปข้อมูลจะเหมือนเดิมหรือไม่

2การสังเกตแบบมีส่วนร่วม คือ การที่ผู้สังเกตเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มคนที่ถูกศึกษา มีการทำกิจกรรมร่วมกันจนผู้ถูกศึกษายอมรับผู้สังเกตว่ามีสถานภาพบทบาทเช่นเดียวกับตนเอง โดยผู้สังเกตจะต้องปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มคนที่ศึกษาเพื่อให้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติที่สุด

3แพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน เป็นแพลตฟอร์มจัดเก็บข้อมูลการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา และกิจกรรมทางกายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ประชาชนทุกช่วงวัยเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพออกกำลังกายและกีฬาสม่ำเสมอ และเป็นวิถีชีวิต 

4สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศหรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 27 มิถุนายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A6887

Click Donate Support Web  

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!