WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

GOV 9

รายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะกรณีการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลายหลายทางเพศ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม) เสนอ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป

          เรื่องเดิม 

          1. กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า หน่วยงานราชการ สถานศึกษา รัฐวิสาหกิจ รวมถึงหน่วยงานเอกชน ไม่มีบริการห้องน้ำสาธารณะที่รองรับการใช้งานของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ อันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสภาพ จึงได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          2. กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง ที่ต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศและความปลอดภัยบนพื้นฐานการเคารพเสรีภาพในความเป็นอยู่ส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลทุกเพศและทุกวัย ทำให้การจัดให้มีห้องน้ำตามเพศสรีระอันเป็นเพศแต่กำเนิด ได้แก่ ห้องน้ำชายและหญิง มีผลกระทบต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศบางกลุ่มที่ไม่อาจใช้ห้องน้ำได้ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศหรือตามการแสดงออกทางเพศของตนได้ การจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะในลักษณะที่เป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นเรื่องที่สมควรได้รับการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบอันนำไปสู่การสร้างความเสมอภาคและการไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล

          3. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งมอบหมายให้ พม. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ พม. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง

          พม. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับ กก. อว. คค. มท. รง. ศธ. และ สธ. แล้ว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ซึ่งมีผลการพิจารณาสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้ 

 

ข้อเสนอแนะของ กสม.

 

สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม

1.ระยะสั้น ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานของรัฐพิจารณากำหนดนโยบาย มาตรการ หรือแนวทางในการใช้ห้องน้ำในสถานที่ราชการและหน่วยงานอื่นในกำกับของรัฐ โดยส่งเสริมให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถใช้ห้องน้ำได้ตามเพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจำนงของตนได้ โดยให้พิจารณาบริหารจัดการจากห้องน้ำที่มีอยู่แล้ว หรืออาจจะเพิ่มเติมห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศนอกเหนือไปจากห้องน้ำชาย ห้องน้ำหญิง และห้องน้ำสำหรับคนพิการ

 

พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับการจัดให้มีห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มเติมจากห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง โดยต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) ความปลอดภัย เช่น ต้องไม่ตั้งอยู่ในที่เปลี่ยวหรือลับตา 2) ความสะอาด ต้องถูกสุขลักษณะ สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศของ สธ. และ 3) ความสะดวกใจของผู้ใช้บริการทุกเพศ

มท. ได้แจ้งเวียนหน่วยงานภายในเพื่อขอความร่วมมือให้จัดให้มีห้องสุขาสำหรับบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างน้อย 1 ห้อง หรือตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่โดยติดป้าย All Gender Restroom และป้ายบอกทางให้ชัดเจนแล้ว

2. ระยะยาว ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานของรัฐทำการศึกษาและออกแบบการจัดทำห้องน้ำว่าห้องน้ำสาธารณะควรมีลักษณะอย่างไรจึงจะรองรับการใช้งานของบุคคลทุกคนได้อย่างเหมาะสม เป็นไปตามหลักความเสมอภาคของบุคคล เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือระเบียบกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดให้มีห้องน้ำที่สามารถรองรับการใช้งานของบุคคลทุกเพศทุกวัย และต้องไม่มีกฎเกณฑ์ข้อห้ามหรืออุปสรรคต่อการที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะเลือกเข้าห้องน้ำตามอัตลักษณ์ทางเพศของตน ทั้งนี้ ควรให้ประชาชนทุกภาคส่วน เช่น คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีครรภ์ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะประกอบการดำเนินการด้วย

 

● พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นว่า กรณีแนวทางจัดทำห้องน้ำสาธารณะสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรศึกษา วิจัยเพิ่มเติมโดยในปีงบประมาณ .. 2566 ได้ดำเนินการ ดังนี้

     1) พม. (กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นต่อแนวทางดังกล่าว ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) พิจารณาต่อไป

     2) กก. ได้จัดทำแบบแปลนห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยวระดับสากล เพื่อรองรับทุกเพศทุกวัยรวมถึงผู้พิการ ซึ่งแบบแปลนดังกล่าวสามารถใช้เป็นทางเลือกเพื่อพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานที่ต่างๆ ได้

3. ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมาย พม. กก. อว. มท. รง. ศธ. สธ. และหน่วยงานที่จัดบริการสาธารณะอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้แก่บุคลากรภาครัฐและประชาชนทั่วไป

 

พม. (กรมกิจการสตรี และสถาบันครอบครัว) ได้ส่งเสริมความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยผ่านกลไกผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชายและศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในหน่วยงานภาครัฐจำนวน 138 หน่วยงาน ให้สอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรวมทั้งหลักการสากลต่างๆ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 27 มิถุนายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A6890

Click Donate Support Web  

kasat 720x100MTL 720x100

TU720x100sme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

TOA 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!