WORLD7

BANPU2024

smed PIONEER 720x100

รายงานผลการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 56 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

GOV8

รายงานผลการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 56 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ครั้งที่ 26 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอรายงานผลการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB ครั้งที่ 56 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2 – 5 พฤษภาคม 2566 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Minister’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ณ สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (2 พฤษภาคม 2566) ที่ได้เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 26 (แถลงการณ์ร่วมฯ) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ กค. ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ 

          1. การประชุม AFMGM+3 ครั้งที่ 26 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประเทศญี่ปุ่นเป็นประธานร่วมการประชุม และมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 และผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ประธาน ADB และรองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) โดยมีผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้ 

 

ประเด็น/การหารือ

 

สาระสำคัญ

(1) เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค

 

- ผู้แทนจาก IMF ADB และ AMRO เห็นว่าเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคอาเซียน+3 ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากการเปิดเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

- IMF คาดการณ์ว่าในปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ขณะที่เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 และคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ หนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเงินโลก ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน และดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนกลุ่มเปราะบาง

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปี 2566 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 เนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 2.8 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 15 เดือน

(2) การปรับปรุงเอกสารแนวปฏิบัติของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM)*

 

- ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของการปรับปรุงเอกสารแนวปฏิบัติของ CMIM เพื่อให้สมาชิกสามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้ CMIM ด้วยเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศสมาชิกได้

- ที่ประชุมสนับสนุนการพัฒนากลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยได้มอบหมายให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส กค. และธนาคารกลางอาเซียน+3 จัดทำข้อเสนอรูปแบบของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินแบบเร่งด่วนและแผนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

(3) การดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3

 

ที่ประชุมรับทราบ

- การดำเนินงานของ AMRO และแนวทางการดำเนินงานในอนาคต เช่น การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและการเงินในภูมิภาคอาเซียน+3 และทิศทางเชิงยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่ปี 2573 ของ AMRO 

- ผลการดำเนินการตามแผนระยะกลางของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ปี 2562 – 2565 และให้การรับรองแผนงานระยะกลางฉบับใหม่ของ ABMI ปี 2566 – 2569 

- ความคืบหน้าของทิศทางการดำเนินการของกรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน+3 ในอนาคต เช่น การจัดหาเงินทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างทางการเงินเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติ และการส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

(4) เอกสารผลลัพธ์ของการประชุม AFMGM+3

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 ได้เห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม AFMGM+3 ในรูปแบบแถลงการณ์ร่วมฯ โดยมีการปรับปรุงถ้อยคำเพื่อให้มีความเหมาะสมและสะท้อนข้อเท็จจริงมากขึ้น ซึ่งไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 เช่น เห็นชอบร่วมกันให้ศึกษาแนวทางการสร้างความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาค และการเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของประเทศสมาชิกอาเซียนในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ AMRO

 

          2. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งที่ 56 ประกอบด้วย 

                  2.1 พิธีเปิดการประชุม เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 โดยประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีได้กล่าวเปิดการประชุมโดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือที่แน่นแฟ้นของประเทศสมาชิกและระบุว่าเกาหลีซึ่งมีความเข้มแข็งด้านการผลิตชิ้นส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (Semiconductor) จะสนับสนุนการผลิตในห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและในระดับโลก ขณะที่ประธาน ADB ได้กล่าวว่าสถานการณ์ปัจจุบันส่งผลให้ ADB มีความจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับการดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การตอบสนองและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (2) การเป็นผู้นำในด้านการลงทุนในสินค้าสาธารณะระดับโลก (Public Goods) และ (3) การเป็นผู้นำในการเพิ่มแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาจากระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นระดับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

                  2.2 การประชุม Business Session เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 โดยประธาน ADB ได้รายงานผลการดำเนินงานของ ADB ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้าและความมั่นคงด้านอาหาร นอกจากนี้ ผู้ว่าการของแต่ละประเทศสมาชิกใน ADB ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและแนวนโยบายการดำเนินงานของ ADB ภายใต้แนวคิด “Rebounding Asia: Recover, Reconnect, and Reform” โดยประเทศสมาชิกได้เรียกร้องให้ ADB ให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และภาวะเงินเฟ้อ รวมทั้งให้ ADB สนับสนุนประเทศสมาชิกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการของประเทศไทยใน ADB ได้กล่าวถ้อยแถลงว่าไทยพร้อมสนับสนุนแนวคิดในการดำเนินงานของ ADB และเสนอแนะให้ ADB ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนและการเจริญเติบโตอย่างทั่วถึง รวมทั้งแนะนำให้ ADB พิจารณานำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) ไปประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนประเทศสมาชิกอื่นต่อไป 

                  2.3 การประชุม Governors’ Plenary เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเพิ่มศักยภาพของ ADB ในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้นภายหลังจากวิกฤตต่างๆ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอให้ ADB พัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่มีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกมากยิ่งขึ้น รวมถึงแสวงหาความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาอื่นๆ โดยคำนึงถึงความมั่นคงและความยั่งยืนทางการเงินของ ADB 

                  ทั้งนี้ การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ ADB ครั้งที่ 57 มีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงทบิลิซี ประเทศจอร์เจีย 

          3. การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน-ญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอให้อาเซียนและญี่ปุ่นขยายบทบาทและยกระดับความร่วมมือทางการเงินระหว่างกันให้ครอบคลุมประเด็นการใช้เทคโนโลยีทางการเงินและการเงินที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ 

          4. งานเปิดตัวรายงาน เรื่อง “แนวทางการจัดหาเงินทุนใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่นในอาเซียน+3” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดทำนโยบายและมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพของไทย 

          5. การหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับคู่เจรจาต่างๆ สรุปได้ ดังนี้ 

 

คู่เจรจา

 

ผลการหารือ (เช่น)

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่สอง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติคนที่สองของสาธารณรัฐสิงคโปร์

 

สิงคโปร์แสดงความยินดีที่ไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2569 และทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างกัน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

- สปป. ลาว ได้กล่าวถึงการขออนุญาตออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในไทย ของ กค. สปป. ลาว เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และดำเนินการอื่นๆ จำนวน 5,000 ล้านบาท และได้แจ้งความคืบหน้าของโครงการสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ เช่น (1) โครงการก่อสร้างทางรถไฟระหว่างไทย-สปป. ลาว ระยะที่ 2 (สายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์) ที่ดำเนินโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว และ (2) โครงการปรับปรุงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องรูปแบบการปรับปรุงสะพานเพื่อรองรับการขนส่งทางรางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอแนะและสนับสนุนให้ สปป. ลาว แสวงหาการระดมทุนในรูปแบบใหม่ๆ เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC)

 

- JBIC ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้กำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งนี้ JBIC จะให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการที่มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยด้วย

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าไทยมีการกำหนดนโยบาย BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมีนัยสำคัญและได้ยกตัวอย่างการออกตราสารหนี้สีเขียวซึ่งเป็นโอกาสที่ JBIC จะเข้ามาร่วมลงทุน รวมทั้งขอให้ JBIC ร่วมดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเพื่อต่อยอดไปสู่การขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ธนาคารแห่งอเมริกา

 

- ธนาคารแห่งอเมริกาสนใจเข้ามาลงทุนในไทยและประสงค์จะขอเข้าพบเพื่อขอทราบมุมมองทางเศรษฐกิจจากระดับนโยบาย

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความมั่นใจว่าไทยมีความแข็งเกร่งทางเศรษฐกิจสูง โดยเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (Sumitomo Mitsui Banking Corporation: SMBC)

 

- SMBC สนใจลงทุนและให้เงินกู้แก่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และได้สอบถามนโยบายการสนับสนุนการร่วมลงทุนใน EEC โดยเฉพาะโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอให้ SMBC ช่วยผลักดันให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นมาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญและให้ความสำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนภาคเอกชนในรูปแบบต่างๆ

ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (Hongkong and Shanghai Banking Corporation Limited: HSBC)

 

- HSBC ได้หารือในประเด็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย นโยบายเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเงินสีเขียว ซึ่งเป็นสาขาที่ HSBC ให้ความสำคัญโดยเฉพาะการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าไทยมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นตามลำดับและปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยเกินกว่าที่ประมาณการไว้ นอกจากนี้ไทยให้ความสำคัญกับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนของไทยไปลงทุนด้านพลังงานสะอาดในประเทศเพื่อนบ้าน โดยขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างศึกษาการกำหนดราคาและแสวงหาช่องทางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

 

_____________________ 

* มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (CMIM) คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 กรกฎาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A7365

 Click Donate Support Web 

EXIM One 720x90 C JTU720x100sme 720x100

BANPU 720x100

วิริยะ 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!